สะรุจ ศุภสุทธิเวช ประวัติศาสตร์ที่ร่วงหายในภาพเคลื่อนไหวกลางแสงไฟกะพริบ และ If I can make one wish…

Post on 26 June

ใจเราเต้นแรงโดยไม่รู้ตัว เพราะแสงสีฟ้าที่อาบห้องนิทรรศการนี้ทำให้เราต้องเพ่งมองภาพผู้คนแต่งตัวย้อนยุคที่เคลื่อนไหวช้า ๆ อยู่ในหน้าจอใหญ่หน้าที่นั่งอัฒจันทร์และจอเล็ก ๆ รอบ ๆ ซึ่งทำให้เราไม่รู้ตัวเลยตอนที่แสงสว่างจ้า กะพริบรัวใส่ดังฟ้าผ่า ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ในนิทรรศการของ ‘สะรุจ ศุภสุทธิเวช’ ศิลปินภาพเคลื่อนไหวที่คอหนังนอกกระแสต้องเคยได้ยินชื่อ

งานจัดแสดงภาพเคลื่อนไหว ‘If I can make one wish…’ ที่ Nova Contemporary คือหนึ่งในงาน ‘ยุคน้ำเงิน’ ของเขา (ถ้าเราพอจะขอเรียกได้) ซึ่งยังคงสำรวจประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บอกเล่า หรือความทรงจำของผู้คนและสถานที่ ซึ่งแม้ว่าจะมีมวลความรู้สึกเฉพาะตัว แต่ก็โยงใยไปกับเรื่องอื่น ๆ คล้ายกับงานใน ‘ยุคแดง’ ของเขาอย่าง ‘ยามรักษาการ’ ที่เขาอาบทั้งห้องในหอศิลป์ฯ ให้เป็นสีแดงดูรุนแรง

คอนเซปต์ของงานชุดนี้เจาะจงไปที่ชีวิตของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติที่ต้องมาจบลงบนเส้นทางรถไฟสายมรณะที่พาดผ่านแม่น้ำแคว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หากแต่เรื่องราวที่ศิลปินนำเสนอ หาได้มีท่าทีเหมือนการเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องราวของภาพถ่ายและวัตถุคู่กับป้ายอธิบาย แต่เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ศิลปินตั้งใจถ่ายทอด กลับถูกนำเสนอผ่านวัตถุลี้ลับที่ตั้งอยู่บนแท่น และมวลความสะเทือนใจที่มีต่อ ‘ความว่างโหวง’ ของข้อเท็จจริงบางประการ ที่ถูกตั้งใจทำให้หายไปในประวัติศาสตร์หน้านี้

ในบทสนทนาที่เราได้คุยกับเขาจากเบอร์ลินผ่านโปรแกรมออนไลน์นี้ สะรุจเล่าเกี่ยวกับเบื้องหลังการรีเสิร์ช (และเรื่องบังเอิญทั้งหลาย) ในขั้นตอนการทำงานศิลปะของเขา เทคโนโลยีดิจิทัลกับการออกแบบประสบการณ์ และการเปิดบทสนทนาเรื่องสังคมการเมือง ในยุคที่ภาพฝันอันโรแมนติกของประวัติศาสตร์ ถูกยกขึ้นมาตั้งคำถามทุกวี่วัน

ศิลปะแห่งการรีเสิร์ชเสียงเล่าของคนชายขอบ

ประโยคสั้น ๆ ที่เราว่าสะรุจอธิบายศิลปะของเขาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนนี้ได้ดีที่สุด คือเขามักทำงานแบบ “เหมือนไปฟังเพื่อนคุย แล้วเราอยากเล่าเรื่องนี้ต่อให้คนอื่นฟังเยอะขึ้น”

ซึ่ง ‘เพื่อน’ นั้นก็มีตั้งแต่คนในชุมชนย่านสามยอด ซึ่งเล่าเรื่องจนมาเป็น ‘♤(โพธิ์)’ งานเกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์ครั้งแรกในสยาม หรือเป็นชาวไต้หวัน ซึ่งนำมาสู่ผลงานเกี่ยวกับแท่งหินประดับหลุมศพและความเป็นชุมชนจินตกรรม ‘When a large typhoon arrives, Should stay with family’ ซึ่งแน่นอนว่า “เรื่องที่เพื่อนคุย” ย่อมจะแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึก

“งานที่ไต้หวันคือเราปั่นจักรยานเล่น ชมเมือง แล้วก็เจอว่ารอบ ๆ มันเป็นฮวงซุ้ยหมดเลย เจอป้ายสุสานเล็ก ๆ อันนึงในโซน แล้วก็สงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ก็ค่อย ๆ ทำความรู้จักกับพื้นที่ แล้วก็เจอคนมาเล่าให้ฟัง เป็นประวัติศาสตร์ที่เขาจำได้ของเขา มันก็มีความแตกต่างจากประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์หรือมานุษยวิทยา เราอยากสัมผัสความรู้สึกตรงนั้นแล้วมาเล่าต่ออีกที”

ในแง่กระบวนการ เขาเล่าว่าขั้นตอนของเขาจะเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งเช่น หนังสือ บทสัมภาษณ์ และจดหมายเหตุ ก่อนจะลงไปที่ภาคสนาม เพื่อค้นหาวัตถุดิบและข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากคนในท้องถิ่น รวบรวมและจัดการข้อมูลเหล่านั้น ก่อนจะแปลงข้อมูลเป็นสื่อดิจิทัล เช่น โฟโตแกรมเมตรี และการแปลงภาพ 2 มิติเป็นแบบจำลอง 3 มิติ ซึ่งเป็นเหมือนเอกลักษณ์ที่เราเห็นเสมอในงานของเขาไปแล้ว

“มันไม่ใช่แค่ข้อเท็จจริงของพื้นที่ แต่มันเป็นทั้งความรู้สึกส่วนตัวของเราที่มีต่อสถานที่ตรงนั้น หรือความรู้สึกและความทรงจำของเจ้าของพื้นที่นั้น สำหรับเรามันคือการอยากจะแบ่งปันข้อมูลความรู้สึกหรือความจำตรงนี้ให้กับผู้ชมด้วย

“ในฐานะศิลปิน เป้าหมายของเราคือการแสดงอารมณ์ ท้าทายบรรทัดฐานและการรับรู้ที่มีอยู่ เราพยายามสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้ชม และสร้างแรงบันดาลใจให้สะท้อนกลับ ให้พวกเขามีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งและเป็นส่วนตัวมากขึ้น แทนที่จะมุ่งไปที่ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างเดียว

“งานของเรานำเสนอมุมมองทางเลือก เป็นการสร้างพื้นที่สำหรับการสนทนา และสนับสนุนการเจรจาในประเด็นทางสังคมและการเมืองที่ยาก โดยใช้คำอุปมาอุปไมย สัญลักษณ์ และการเปรียบเทียบ

“เราเชื่อว่างานของเราจะก้าวข้ามอุปสรรคด้านภาษา และพูดคุยกับผู้คนในระดับที่ลึกกว่าได้ มอบการเชื่อมต่อที่ทรงพลังสำหรับผู้ชมที่อาจแบ่งปันประสบการณ์ที่คล้ายกัน และ เสนอพื้นที่สำหรับการเยียวยา การเปลี่ยนแปลง และเปิดมุมมองที่หลากหลาย”

มุมลี้ลับของสะพานข้ามแม่น้ำแคว

สิ่งที่ต่างไปจากงานชิ้นก่อนหน้าของสะรุจก็คือ การที่ ‘If I can make one wish…’ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวช่วงสงครามโลกที่เขาไม่สามารถหาคนที่มีชีวิตในช่วงเวลานั้นมานั่งเล่า
ให้ฟังเพื่อเก็บข้อมูลได้ เขาเลยตระเวนรอบพื้นที่กาญจนบุรี เพื่อหาเสียงอื่น ๆ แทน

“มันเริ่มจากเราไปเที่ยวที่กาญจนบุรี แล้วมันเป็นช่วงที่มีงานแสงสีเสียง มีเวทีข้าง ๆ สะพานข้ามแม่น้ำแคว มีการแสดง มีคอนเสิร์ต แล้วสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกแปลก ๆ คือมันไม่มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นจดหมายเหตุ ที่มีการบันทึกเก็บไว้อย่างจริงจัง

“พิพิธภัณฑ์ที่มีส่วนใหญ่เป็นของทางเอกชนหรือจากทางนอกประเทศมาร่วมทำ เลยรู้สึกเหมือนมันหายไปเลย คนในพื้นที่อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ อนุสาวรีย์ญี่ปุ่น (อนุสาวรีย์ไทยานุสรณ์) ตรงนั้นก็ยังตั้งอยู่แต่ไม่มีใครสนใจ เราก็ไม่ได้ตัดสินว่ามันถูกหรือผิดที่ตอนนี้เป็นพื้นที่อีเวนต์เฟสติวัลอย่างนี้ แต่ก็รู้สึกแปลก ๆ อยู่เหมือนกัน รู้สึกว่าถ้ามันมีข้อเท็จจริงให้ด้วยก็คงดี กับเรื่องประวัติศาสตร์ที่แสดงบนเวทีอยู่

“งานนี้ก็อยากทำให้กับ แรงงานและเชลยศึกที่เสียชีวิตในช่วงเวลานั้น เพราะที่ถูกบันทึกส่วนใหญ่มีเกี่ยวกับเชลยศึก แล้วก็ไม่ได้มีบันทึกเกี่ยวกับแรงงานชาวเอเชีย ที่มาสร้างทางรถไฟแล้วเสียชีวิตมากนัก มีแต่ตัวเลข ไม่มีบันทึกอื่น ๆ เลย ทั้งที่ความจริงจำนวนคนเสียชีวิตเป็นแรงงานชาวเอเชีย เยอะกว่าเชลยศึกด้วยซ้ำ แต่อาจจะไม่ได้มาจากสงครามโดยตรง แต่เป็นการป่วยตอนสร้างอะไรอย่างนี้”

โลกมิติสากล ในฟุตเทจจากเมืองไทย

สิ่งแรกที่เราจะเห็นตั้งแต่ยังไม่เดินเข้านิทรรศการ คือแสงสีน้ำเงินที่เปลี่ยนทั้งห้องเป็นอีกโลกหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นฉากหลังให้กับหน้าจอขนาดใหญ่ ซึ่งฉายภาพงานแสดงแสงสีเสียงเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแคว และจอเล็ก ๆ หลังที่นั่งชม ด้านข้าง และที่แอบอยู่ด้านหลังจอใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่ให้ข้อมูลเรื่องเล่าที่เขาเก็บมาจากการรีเสิร์ช

“ในแต่ละโปรเจกต์ เรามักจะสร้างพื้นที่ของโลกนึงขึ้นมา เพื่อเปรียบเปรยว่า เป็นโลกหลังความตาย โลกจินตนาการแห่งความฝัน หรือโลกคู่ขนาน มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดรับทุกบทสนทนา ไปจนถึงการแบ่งปันประสบการณ์ที่คล้ายกันเสนอ ในประเด็นที่ยากทางสังคมและการเมือง เป็นพื้นที่ที่จะเยียวยาและเปลี่ยนแปลงจากมุมมองที่หลากหลาย”

หรือที่จริง พื้นที่สีน้ำเงินและโลกจำลองสามมิติของเขาอาจเข้าใจได้ไม่ยากนัก หากเราจะลองมองว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นเหมือนพื้นที่สีฟ้าในโลกทวิตเตอร์หรือพื้นที่ดิจิทัลอื่น ๆ ซึ่งเราใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการพูดคุยประเด็นเรื่องการการเมือง ซึ่งนำไปสู่การสร้างข้อตกลง แลกเปลี่ยน หรือเชื่อมโยงกัน ซึ่งนิทรรศการของเขาก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นก็คือการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้มาสื่อสารแลกเปลี่ยนเรื่องสังคมและการเมืองต่าง ๆ

“เราเปลี่ยนวิชวลให้มันเหมือนอีกโลกหนึ่ง บิด (distort) มัน พยายามให้มันไม่เหมือนพื้นที่ตรงไหน แต่คืออีกโลกที่มันมีอารมณ์ตรงนี้เกิดขึ้น แต่สร้างผ่านการโชว์พื้นที่ตรงนั้น ไม่ได้อยากถ่ายผู้คนมาเล่า เวทีตรงนั้นมันเกิดขึ้นจริง แต่จะเป็นการบันทึกประเด็นให้ออกมาอยู่เป็นภาพเคลื่อนไหวมากกว่า

“โลกดิจิทัลของเรามันอาจจะเป็นความฝัน โลกหลังความตาย หรือโลกคู่ขนานอะไรก็ได้ เหมือนฟุตเทจนั้นอยู่ในโลกปัจจุบัน แต่ดิจิทัลมันอยู่อีกโลกแล้วมันสามารถพูดคุยอะไรก็ได้”

ในแง่หนึ่ง พื้นที่แบบนี้เลยสร้างโลกที่เป็นสากลขึ้นมาด้วย เหมือนที่เขาเล่าว่า “เราอยากทำให้งานศิลปะก้าวข้ามพรมแดนของชาติและผสมผสานอิทธิพลทางวัฒนธรรม สังคม และการเมืองต่าง ๆ จากการเจาะลึกถึงโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์และเชื่อมโยงบุคคล ผ่านภูมิหลังทางวัฒนธรรมและสังคมที่หลากหลาย”

“การจินตนาการถึงดินแดนสีน้ำเงินที่ใช้ร่วมกัน อันเป็นสถานที่ซึ่งเราถูกครอบงำด้วยเสียงสะท้อนจากแก่นแท้ของสีสันและความหมายที่ทับซ้อนกัน สีน้ำเงินนอกจากจะถ่ายทอดความโศกเศร้าได้อย่างแยบยล ก็ยังเป็นตัวแทนของความไว้วางใจในความเป็นหนึ่งเดียว(unity) และค่อย ๆ เผยให้เห็นความสงบของสัจจะ (serenity of truth) ไปพร้อมกัน” ย่อหน้าหนึ่งของคำอธิบายนิทรรศการ If I can make one wish…

📍นิทรรศการ If I can make one wish . . .
โดย สะรุจ ศุภสุทธิเวช
จัดแสดงที่ Nova Contemporary
ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน – 24 มิถุนาคม 2566