สัญวิทยาสงฆ์ — พุทธวัตถุ (ไม่) นิยม ของศิลปินกะเทยผู้ฝันอยากจะบวช ในนิทรรศการ ‘SEXTING’

Post on 4 March

_“[การนำผ้าไตรจีวรมาสร้างงานศิลปะ] เป็นปัจจัยทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมถอย เพราะการแต่งกายลอกเลียนแบบหรือทำเป็นผลงานศิลปะ ทำให้คนขาดความยำเกรงต่อพระสงฆ์หรือบางคนอาจคิดเลยเถิดไปว่าศาสนาพุทธเป็นเพียงแค่ปรัชญา ผู้คนขาดความเคารพนบนอบ จึงเป็นสิ่งที่น่าสลดใจ” _

– ส่วนหนึ่งของฟีดแบ็กถึงนิทรรศการ ‘SEXTING’ จากองค์กรชาวพุทธผู้ตามติดศิลปินกะเทย ‘เอดด้า — พันเลิศ ศรีพรหม’ ซึ่งตอบคำถามเราว่า ผืนผ้าเหลืองที่ปักตัวอักษรเข้าไปไม่กี่ตัวเหล่านี้ จะยังทำให้ใครไม่พอใจได้อยู่ไหม ในยุคสมัยที่ศิลปินและคนศิลปะถกเถียงเรื่องความเป็นวัตถุ/อวัตถุของงานศิลปะกันอยู่อย่างเมามัน

ที่ใต้เงาไม้ร่มรื่นหน้าห้องจัดแสดง ผ้าเหลืองผืนใหญ่ถูกขึงตึงไว้ดังป้ายบิลบอร์ด มีตัวอักษรโลโก้แบรนด์แฟชั่นเฮาส์ลักชูฯ ปักไว้ตรงกลางว่า ‘PRADA’ หรือที่เราคนไทยอ่านกันว่าปราด้า แต่ดูเหมือนศิลปินจะอ่านคำนี้ว่า ‘พระ(เอด)ด้า’ ตามความตั้งใจจะบวชใต้ร่มกาสาวพัสตร์ของเอดด้า ศิลปินเจ้าของงาน หรือจริง ๆ มันอ่านว่า ‘ภราดา’ แบบนักบวชชุดขาวผู้ควบคุมวินัยในสังคมของอีกศาสนา — อดีตเด็กโรงเรียนคริสต์สักคนคิด มันเป็นความปวดหัวของภาพหรือวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่แบกรับความหมายตรง ๆ ความหมายแฝง และนัยอะไรไม่รู้อีกมากที่จะงอกตามแต่คนตีความออกมาได้เต็มไปหมด

เราอาจจะมอง ‘ผ้าไตรจีวร’ ว่าเหมือนกับตัวอักษร ‘BDSM’ ก็ได้ ด้วยมุมมองแบบนี้ เดิมทีทั้งผืนผ้าและตัวอักษร ต่างก็เกิดขึ้นภายในกลุ่มเฉพาะ ที่มีภาษา มีลำดับชั้นของผู้คน และมีแบบแผนกิจกรรมที่ทำร่วมกันเอง ผ้าไตรจีวรเป็นสิ่งที่ชาวพุทธเข้าใจกันว่าพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกใช้นุ่งห่มมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีคนถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ แม้จะวางไว้เฉย ๆ ไม่ได้ถูกนำไปใช้นุ่งห่มอะไร แต่สำหรับสาวแฟชั่น ผ้าเหลืองเหล่านี้ก็คือวัสดุชนิดหนึ่ง ที่พร้อมถูกนำไปแปรรูป เปลี่ยนฟังก์ชั่น และเปลี่ยนความหมาย กลายไปเป็นงานศิลปะก็ได้

และในทางกลับกันตัวอักษร BDSM ก็เป็นตัวย่อของการ “เล่น” ทางเพศ ที่รวมตั้งแต่การมัดตรึง การลงโทษ และการทำให้เจ็บปวด ไม่ว่าจะทางกายหรือใจ แต่พระรูปหนึ่ง (หลวงพี่ชาย – Dhamma Good Shine) มองตัวอักษร BDSM แล้วบอกว่าอาจจะเป็นตัวย่อของ BUDDHISM ก็ได้ หรืออาจจะสื่อถึงแนวคิดทางพุทธเรื่องพันธนาการหรือบ่วงมัด และเรื่องระเบียบวินัยก็ได้

ถ้าเราลองพูดว่า ผ้าไตรจีวรหรืออักษร BDSM ก็ล้วนเป็น ‘ภาพ’ ชนิดหนึ่งที่บรรจุพื้นที่ว่างเปล่าเอาไว้ ให้คนเข้าไปใส่ความหมาย แบบนี้จะมีทัวร์มาลงไหม
เพราะในช่องว่างเหล่านั้น บางความหมายก็ติดตลกเกิน และบางความหมายก็ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ศิลปินคอนเซ็ปชวล Marcel Duchamp สร้างงานศิลปะ Bicycle Wheel ด้วยการวางล้อจักรยานกลับด้านไว้บนสตูลที่นั่ง แล้วล้อนั้นก็หมดฟังก์ชั่นจะเป็นพาหนะพาเราเดินทางไปไหนได้ ส่วนเก้าอี้นั้นก็ไม่มีที่ให้นั่งด้วยเหมือนกัน ผลงานชิ้นนั้นหายไปแล้ว แต่เขาก็สร้างมันขึ้นมาใหม่ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็เพราะงานศิลปะของเขาคือแนวคิดหรือหลักการในการเอาล้อมาต่อเก้าอี้เท่านั้น ทำให้ถึงงานจะหาย แต่งานศิลปะนี้ก็ยังไม่ยอมตายง่าย ๆ

ผลงานของเอดด้าในนิทรรศการนี้ ก็สร้างเสียงสะท้อนเป็นคำถามคล้าย ๆ กัน ว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร เป็นหนึ่งเดียวกันกับสิ่งที่จับต้องได้ทั้งหลายอย่างหนังสือหรือผ้านุ่งห่มไหม แล้วเมื่อวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เปลี่ยนรูป เปลี่ยนฟังก์ชั่น เปลี่ยนความหมาย กลายเป็นงานศิลปะไปแล้ว พระพุทธศาสนาจะเสียหายอย่างไรไหม?

เพราะดูเหมือนว่าแนวคิด/หลักการของ BDSM หรือ PRADA ก็ไม่ได้ถูกทำลายลงอย่างใด

นิทรรศการ ‘SEXTING’
โดย เอดด้า พันเลิศ ศรีพรหม
จัดแสดงที่ Bodhisattava LGBTQ+ Gallery
ตั้งแต่วันนี้ – พฤษภาคม 2024