‘Shakespeare Must Die’ หนังที่ว่าด้วยการแปลนิมิตต้องคำสาปอายุกว่าร้อยปี และคำสาปกว่าสิบปีจากกองเซ็นเซอร์ไทย

Post on 19 June

การจะแปลบทละครของเชคสเปียร์มาให้คนไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่เพราะมันเป็นงานคลาสสิกที่มีการแปลและศึกษากันจนพรุนไปหมดแล้ว แต่เพราะมันเป็นการแปลหลายชั้นหลายระดับเหลือเกิน คือการแปลบรรยากาศยุคราชาธิปไตยมาให้คนยุคประชาธิปไตยมีสิทธิ์เลือกตั้งได้รู้เรื่องด้วย การแปลสถานการณ์เหนือจริงแบบอังกฤษให้ยังคงรู้สึกลี้ลับสำหรับคนไทย และยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีของหนัง ‘Shakespeare Must Die เชคสเปียร์ต้องตาย’ ยังเป็นการแปลละคร ‘แม็คเบ็ธ’ ตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะเผยแพร่ได้อีก ถึงแม้เราจะเคยได้ยิน มานิต ศรีวานิชภูมิ โปรดิวเซอร์หนังเรื่องนี้พูดว่ายังไงแก่นสารของเรื่องก็ยังคงไม่ล้าสมัย เพราะคนกระหายอำนาจมีอยู่ทุกยุค เราก็ยังอดคิดไม่ได้อยู่ดีว่า ผู้กำกับ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ จะเลือกแปลงานชิ้นนี้อย่างไร ให้แก่นของเรื่องยังทำงานอยู่?

พวกเขาแปล(ง) พระนามของแม็คเบ็ธ ทหารกระหายอำนาจผู้ชิงบัลลังก์แล้วกลายเป็นกษัตริย์ทรราช ให้กลายเป็น ‘เมฆเด็ด’ ออกแบบฉากและเครื่องแต่งกายให้ดูไทยสุด ๆ (ชอบ “หัวโขน” ของพิราบข่าวมาก ๆ) แต่ยังรักษาบทพูดดั้งเดิมของเชคสเปียร์ไว้ในซับไตเติลภาษาอังกฤษแบบตรงตามตัวอักษรต้นฉบับทุกพยางค์ ทำให้ระดับชั้นของการแปลเพิ่มการย้อนกลับขึ้นไปอีก แต่เวทย์มนตร์แห่งการแปลของหนังเรื่องนี้จริง ๆ อาจอยู่ที่การแปลเนื้อเรื่องของแม็คเบ็ธในโรงละคร ให้ออกไปสู่โลกความจริงนอกโรงละครของผู้ชมในหนังตอนท้ายเรื่อง และการแปลทั้งหมดนั้นออกมาสู่โลกของพวกเราคนดูอีกที

ใครที่คุ้นเคยกับละครต้นฉบับของเชคสเปียร์อยู่แล้วคงจะจำได้ดีว่าละครเรื่องนี้เต็มไปด้วยนิมิต ภาพหลอน และคำทำนายทายทักอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมดทั้งเรื่อง ที่ตัวเมฆเด็ดเห็นเอง หรือตัวละครอื่น ๆ เห็นก็ตาม ตั้งแต่คำทำนายของสามแม่มดหมอผี, นิมิตปีศาจกับมีดที่ลอยได้ และนิมิตเลือดแดงอาบมือ ที่ทำให้นายเมฆเด็ดตัวสั่นเทิ้มด้วยความกลัว แต่เป็นเหมือน “ภาพวาด” เฉย ๆ ภาพหนึ่งเท่านั้น สำหรับคุณหญิงเมฆเด็ด

“นิมิต” เหล่านี้เป็นภาพยนตร์คู่ขนานที่ซ้อนอยู่ในละครเวที ที่ซ้อนอยู่ในหนังอีกที เช่นเดียวกับตอนที่คุณหญิงเมฆเด็ดปลุกใจสามีให้กล้าลงมือสังหาร ด้วยการเล่าว่าเธอสามารถพรากลูกที่กำลังดูดน้ำนมออกจากหน้าอกเธอแล้วก็สังหารเขาอย่างเหี้ยมโหดได้ ด้วยลีลาการเล่าที่เห็นภาพชัดสุด ๆ

ถ้าใครเคยเห็นเพื่อนหลอนยาแล้วทำอะไรบ้า ๆ อย่างอาการหวาดผวาหรือถลากางปีกบิน ก็คงเข้าใจปรากฏการณ์นี้ว่า “นิมิต” เป็นมากกว่าแค่ภาพหลอน

มันเป็นพลังที่แปลงเป็นความรุนแรงทำร้ายผู้คน เป็นกฎเกณฑ์สร้างความชอบธรรมให้ระบอบการปกครอง เป็นศีลธรรมกำหนดความผิดชอบชั่วดี หรือเป็นนิยามตัวตนของกลุ่มคนเลยก็ได้ ตามแต่ผู้เล่าจะแปลความหมายของมัน เสียงนกแสกที่ใครสักคนได้ยินอาจหมายถึงลางร้าย ความตาย และหายนะของเขาได้ แต่ก็อาจหมายถึงความตายของผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน (หรืออีกคนอาจไม่ได้ยินเป็นเสียงนกร้องเลยด้วยซ้ำ) คำทำนายทายทักถึงโชคชะตาในอนาคต ก็อาจสถาปนาทหารใจเหี้ยมธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นกษัตริย์ที่ผู้คนก้มหัวให้ก็ได้

ชวนให้คิดว่า สิ่งที่ทำให้สังคมใดคงอยู่ได้ อาจไม่ใช่ระบบกฎหมายด้วยซ้ำ แต่เป็นนิมิตมหัศจรรย์ ที่เป็นเสาหลักค้ำยัน “ความปกติ” (ที่ไม่ปกติ) ต่าง ๆ ของสังคมต่างหาก

แต่สิ่งที่ Shakespeare Must Die ทำ คือการเว้นระยะห่างระหว่างเรากับนิมิตเหล่านี้เอาไว้ ให้คนดูเห็นว่าภาพหลอนในดวงตาของเมฆเด็ด จริง ๆ ก็เป็นแค่การแสดงละครเวที ที่อยู่ในหนังด้วยซ้ำ มันตั้งคำถามกลับออกมายังนิมิตจำนวนมากที่เราก็เห็นในสังคมไทยมานับร้อยปี ว่ายังไม่เสื่อมมนต์ขลังลงใช่ไหม? Shakespeare Must Die แปลละครคลาสสิกเรื่องนี้ให้ออกมา “ไม่สมจริง” สุด ๆ จนสิ่งแท้จริงบนโลกทั้งหลายกลับดูลวงตาไปเสียเอง

มันคือเรื่องราวของเชคสเปียร์ แต่ภาพที่เราเห็นคือมงกุฎแบบไทย ๆ มันคือการแย่งบัลลังก์ของฝรั่ง แต่ก็เป็นภาพสะท้อนบรรดา “วรรณคดี” ไทย ๆ รวมไปถึงนาฏกรรมมหรสพต่าง ๆ ที่เล่าการขึ้นสู่อำนาจแบบเปื้อนเลือดไม่ต่างกัน

นิมิตเล็ก ๆ ที่เราเห็นตลอดเรื่อง สะท้อนออกมาเป็นนิมิตใหญ่ ๆ ที่เรียกว่าภาพยนตร์ ให้คนดูอย่างเราแปลอีกทีว่ามันสมเหตุสมผลอย่างไร มีความเชื่อมโยงอย่างไรกับโลกความเป็นจริง นิมิตขนาดใหญ่ของคนไทยทุกคน กำลังแปลงตนมาเป็นคนจริง ๆ คนไหนอยู่บ้าง

ในตอนท้ายของหนัง โลกละครกับโลกของผู้ชมเข้ามาปะทะกันอย่างแรง จนเกิดเป็นเหตุการณ์ “ฟาดเก้าอี้” ทำร้ายผู้ชมละคร ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการแสดงละครที่ถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับกษัตริย์เช่นเดียวกัน ซึ่งตอนจบนี้เองที่เป็นปมปัญหา ที่ ‘กองเซ็นเซอร์’ อ้างว่าเป็นการถ่ายทอดเหตุการณ์จริง และสั่งห้ามฉายตั้งแต่ปี 2555 จนเพิ่งได้ฉายในปีนี้ในที่สุด

ภาพยนตร์ ‘Shakespeare Must Die’ ทำหน้าที่ทั้งแปล (ง) เหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลขนาดใหญ่เหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ มาเป็นภาพที่ “สมจริง” จนโลกภายนอกสั่นสะเทือน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ขยี้ปมปัญหาแห่งการแปล ว่าผู้ชมจะรับรู้นิมิตขนาดใหญ่ ที่มาในรูปแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างไร มันเป็นนิมิตแปลกประหลาด ที่มาก่อกวนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับนิมิตปกติแห่งสังคมไทย

แล้วเราอาจจะมองฉากพิธีสดุดีสรรเสริญเกียรติต่าง ๆ ด้วยสายตาใสสะอาดเหมือนเดิมไม่ได้อีกต่อไป

เชคสเปียร์ต้องตาย / Shakespeare Must Die เตรียมเข้าฉาย 20 มิถุนายนนี้ ที่ Cinema Oasis, HOUSE สามย่าน, Major Cineplex, SF Cinema