SUPHAN's Echoes หลากวิธีเล่าเรื่องเมืองของเรา จากสิงโตจีน กระปุกออมสิน และกลิ่นโรงสี

Post on 27 June

ถ้าต้องรับหน้าที่ไกด์ ขายจังหวัดบ้านเราให้เพื่อน ๆ รู้จัก เราจะเลือกหยิบอะไรขึ้นมาอธิบาย? เมืองไหนมีแหล่งท่องเที่ยวหน่อยก็คงพอพูดชื่อแลนด์มาร์คมาขายได้ แต่สถานที่เหล่านั้นจะมีความหมายอะไร ถ้าไร้เรื่องราวของผู้คน หรือเบื้องลึกเบื้องหลัง ที่มอบชีวิตให้กับเมือง

จังหวัดอย่างสุพรรณบุรี นอกจากจะมีนักการเมืองชื่อดังแล้ว ยังมีตลาดโบราณ อุทยานมังกร และบ้านควาย ที่เป็นจุดเช็กอินของนักเที่ยว แต่สำหรับศิลปิน 16 ชีวิตที่มาร่วมถ่ายทอดมุมมองที่พวกเขามีต่อ ‘สุพรรณฯ’ ในนิทรรศการ ‘SUPHAN's Echoes’ นั้น รูปปั้นสิงโต ปลาสลิด กระสอบข้าว ควาย และพระเยซู คือสิ่งที่พวกเขามองเห็น และนำมาถ่ายทอดเป็นผลงานสะท้อนเสียงของเมืองสุพรรณฯ ในอีกมิติหนึ่ง

16 ศิลปินในนิทรรศการ SUPHAN's Echoes สร้างงานประติมากรรมน่ารัก ๆ เพอร์ฟอร์แมนซ์น่าหวาดเสียว ไปจนถึงงานศิลปะเสียงที่สร้างจากเครื่องจักรขนส่งข้าว โดยพร้อมกันนั้นก็เป็นการคัดเลือกความทรงจำ ความผูกพัน และความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ถึงเมืองเมืองนี้ ย่อมาไว้ในโรงสีขนาดยักษ์ที่กลายเป็น 1984+1 gallery ของศิลปินสุพรรณฯ ปรีชา รักซ้อน ผู้รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ของงานนี้ด้วย

'ปั้น' โดย รุจน์ ถวัลย์อรรณพ

'ปั้น' โดย รุจน์ ถวัลย์อรรณพ

“กลิ่นไอ” ในวัตถุศิลปะจากการเกษตร

กลิ่นไอความขลังในพื้นที่โรงสีทำให้เรากล้าบอกเลย ว่านิทรรศการนี้คุ้มค่ากับการจัดทริปมาชมที่สถานที่จริง “มหาวิหารทางศิลปะ” แห่งนี้ ซึ่งเกิดใหม่มาจากชีวิตของ ‘โรงสีข้าวบูรณะกิจ’ อาคารใหญ่โตซึ่งรองรับธุรกิจของครอบครัวคุณปรีชา ซึ่งคงไม่ใช่ความบังเอิญเสียทีเดียว ที่ช่องไฟสูงใหญ่ที่เรียงแถวกันดังเสาโรมันเต็มฝั่งด้านหนึ่งของอาคาร จะทำหน้าที่เกินฟังก์ชั่นเป็นทางแสง มามีบทบาททางสัญญะเสมือนกระจกสีในโบสถ์คาทอลิก เพราะศาสนาคริสต์ก็เป็นส่วนใหญ่ ๆ ส่วนหนึ่งของชีวิตคุณปรีชา ในฐานะเด็กที่พักประจำในโรงเรียนคริสต์ ซึ่งบ่มเพาะความหลงใหลในศิลปะคริสเตียน จนกลายมาเป็นนิทรรศการ ‘ฉันอยู่ที่นี่’ ที่เขาบันทึกความทรงจำของเด็กโรงเรียนคริสต์ในชุมชนชนบท เป็นศิลปะฝาผนังในโรงสีนี้ ซึ่งก็ยังเล่าเรื่องควบคู่อยู่กับนิทรรศการ SUPHAN's Echoes นี้อีกด้วย

ทั้งผนัง กำแพง เพดาน ล้วนถ่ายทอดความเป็นสังคมเกษตรกรรมของเมืองสุพรรณฯ ที่เต็มไปด้วยนาข้าว โดยนอกจากกลิ่นของข้าวและไม้จริง ๆ แล้ว ในนี้ก็มีงานที่เล่นกับเสียงอย่าง ‘Instrumental’ โดย พชร ปิยะทรงสุทธิ์ ที่สร้างเสียงดนตรีขึ้นมาจากเศษสนิม เศษเหล็ก ของเครื่องจักรโรงสี มาสะท้อนเรื่องราวจากช่วงชีวิตของมัน

นอกจากงานที่กล่าวมาแล้ว ยังมีผลงานอีกไม่น้อยที่ดึงจิตวิญญาณของชาวนาสุพรรณฯ ขึ้นมาจากพื้นผิวของวัสดุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมพระเยซูของ ประกิต กอบกิจวัฒนา และ นพพร พลวิฑูรย์ ที่สร้างจากการจักสานวัสดุธรรมชาติ จนดูเหมือนหุ่นไล่กา หรือภาพควายของกริช จันทรเนตรที่วาดลงบนผิวสาก ๆ ของกระสอบข้าว และลูกบอลสีดำเต็มพื้นของตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์ ที่สร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้จากการเผาไหม้ทางการเกษตร ซึ่งยังคงปล่อยฝุ่นละอองอยู่เรื่อย ๆ เพียงแค่เราเข้าไปตั้งใจมองใกล้ ๆ

หนึ่งในไฮไลท์ของงานนี้ คือการแสดง Contemporary Dance โดยชานนท์ ทัสสะ ที่ผสมผสานอัตลักษณ์ของนาฏศิลป์ไทย เข้ากับการเคลื่อนไหวร่างกายแบบสากล เล่าเรื่องราวการตั้งแต่การเกี่ยวข้าวจนถึงจุดสิ้นสุดของธุรกิจโรงสีแห่งนี้ โดยทิ้งร่องรอยการแสดงไว้เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยภาพวาดของตำนานความเชื่อ

ปรีชา รักซ้อน เป็นภัณฑารักษ์นิทรรศการ SUPHAN's Echoes

ปรีชา รักซ้อน เป็นภัณฑารักษ์นิทรรศการ SUPHAN's Echoes

'ชาวนาผู้เสียสละ กระดูกสันหลังของชาติ' โดย ประกิต กอบกิจวัฒนา และ นพพรพลวิฑูร (sensei k.a)

'ชาวนาผู้เสียสละ กระดูกสันหลังของชาติ' โดย ประกิต กอบกิจวัฒนา และ นพพรพลวิฑูร (sensei k.a)

'Memorial of Dust' โดย ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์

'Memorial of Dust' โดย ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์

ให้ใครก็ตามเล่าเรื่องจังหวัดของเขาเอง

ส่วนที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ สำหรับเราคือเรื่องเล่าส่วนตัวที่ศิลปินเก็บชิ้นส่วนความทรงจำจากสิ่งของรอบตัวมาประกอบเป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจ เช่น ‘กระปุกออมสินริมทาง’ และโปสเตอร์บ้าน ๆ (ชม) ของ ชญานิษฐ์ ม่วงไทย และ พรยมล สุทธัง ซึ่งเป็นเหมือนจดหมายรักถึงปลาสลิดในวัดไผ่โรงวัว เหล่าแมวโรงสี และเหล่ากระปุกออมสินปูนพลาสเตอร์โทนสีของเล่นที่วางขายเต็มข้างถนน หรือโปรเจ็กต์ภาพถ่ายของคุณพ่อ/ช่างภาพ วิสูตร สุทธิกุลเวทย์ ที่ชวนลูกชายซึ่งอยู่ที่อิตาลีมาแลกเปลี่ยนมุมมองเปรียบเทียบสองเมืองสองคนกัน

งานนี้ศิลปินรุ่นใหม่ชาวสุพรรณฯ อย่างวัชรนนท์ สินวราวัฒน์ ก็มีผลงานภาพวาดสีไม้และนิยายเล่มเล็ก ๆ ที่เขาอุทิศให้ความทรงจำของเครือญาติและบรรพชนในชื่อ ‘ให้สิงโตเล่าเรื่องสั้นๆ’ ซึ่งแค่เรื่องราวจากโต๊ะกินข้าวในครอบครัวของศิลปินที่ร้อยเรียงมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ก็ให้ภาพและบรรยากาศที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และความรู้สึก ที่กว้างใหญ่และยาวนานเกินกว่าชีวิตคนคนหนึ่งจะสัมผัสได้แล้ว

ถ้าย้อนกลับมาถามตัวเองใหม่ ว่าจังหวัดบ้านเราเป็นอย่างไร มีอะไรดีบ้าง คำตอบของเราก็คงไม่ได้มีแค่ผลไม้ขึ้นชื่อหรือศูนย์การค้าประจำย่านเท่านั้นแล้ว เพราะหากการเดินทางไปที่อื่นทำให้เรามองเห็นตัวตนของตัวเองชัดขึ้น การเดินทางมาที่ SUPHAN's Echoes ก็สะท้อนกลับมาว่าเราหรือใคร ก็สามารถเลือกวัตถุสิ่งของ มาเล่าเรื่องราวของบ้านเรา ที่เราผูกพันจริง ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเหมือนกับบ้านเราในสายตาคนอื่นเสมอไป

'กระปุกออมสินริมทาง' โดย ชญานิษฐ์ ม่วงไทย และ พรยมล สุทธัง

'กระปุกออมสินริมทาง' โดย ชญานิษฐ์ ม่วงไทย และ พรยมล สุทธัง

'Instrumental' โดย พชร ปิยะทรงสุทธิ์

'Instrumental' โดย พชร ปิยะทรงสุทธิ์

'ให้สิงโตเล่าเรื่องสั้นๆ' โดย วัชรนนท์ สิทวราวัฒน์

'ให้สิงโตเล่าเรื่องสั้นๆ' โดย วัชรนนท์ สิทวราวัฒน์

'Suphan buffalo' โดย กริช จันทรเนตร

'Suphan buffalo' โดย กริช จันทรเนตร

โปสเตอร์สุพรรณบุรีโดย ชญานิษฐ์ ม่วงไทย และ พรยมล สุทธัง

โปสเตอร์สุพรรณบุรีโดย ชญานิษฐ์ ม่วงไทย และ พรยมล สุทธัง

'บ้านเรา' โดย วิสูตร สุทธิกุลเวทย์

'บ้านเรา' โดย วิสูตร สุทธิกุลเวทย์

'Memorial of Dust' โดย ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์

'Memorial of Dust' โดย ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์

📍นิทรรศการกลุ่ม SUPHAN's Echoes
โดยภัณฑารักษ์ ปรีชา รักซ้อน และ 16 ศิลปิน
จัดแสดงที่ 1984+1 gallery
เข้าชมฟรีตั้งแต่วันนี้ - 6 สิงหาคม 2566