ศิลปะแห่งการออกแบบสัตว์ประหลาด ความเป็นมนุษย์ และสงครามเย็น คุยกับ ‘มะเดี่ยว-ชูเกียรติ’ และ ‘เอก-เอกสิทธิ์’ จาก 13 เกมสยอง สู่ Taklee Genesis: ตาคลี เจเนซิส

Post on 16 September

เริ่มต้นด้วยการตีแมลงวันด้วยหนังสือพิมพ์แล้วกลืนลงท้อง แล้วจบลงด้วยการสังหารพ่อตัวเองที่ถูกมัดไว้ที่เก้าอี้ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง ‘13 เกมสยอง’ ผลงานการกำกับของ ‘มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล’ ร่วมเขียนบทกับ ‘เอก-เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์’ ที่ได้พาเราไปสำรวจศีลธรรมของมนุษย์ในยามที่อับจนหนทางจนเกิดเป็นความระทึกขวัญที่คาดเดาไม่ได้

การกระทำอันโหดร้ายที่เล่นกับศีลธรรมของมนุษย์ดั่งที่เราเห็นใน 13 เกมสยองนั้น จริง ๆ แล้วเกิดมาจากหนังสือการ์ตูนเรื่อง ‘13th Quiz Show’ ของเอกสิทธิ์ ที่มีตั้งใจให้การ์ตูนเรื่องนี้มีกลิ่นอายความเป็นหนังมากที่สุด เมื่อมะเดี่ยวเห็นจึงชักชวนให้เอกมาเริ่มเขียนบทและร่วมสร้าง 13 เกมสยองด้วยกัน

‘สังคม’ ‘มนุษย์’ และ ‘สัตว์ประหลาด’ คือสิ่งที่เรามักจะได้เห็นในผลงานของทั้งสอง เช่นเดียวกันกับหนังเรื่องล่าสุดอย่าง ‘Taklee Genesis: ตาคลี เจเนซิส’ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่มะเดี่ยวอยากทำหนังวิทยาศาสตร์ พ่วงด้วยบริบทของสงครามเวียดนามที่ไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงมากนักในวงการหนังไทย

เศษซากของประวัติศาสตร์ที่ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่สงครามเวียดนามและเรื่องเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ กลายเป็นไอเดียตั้งต้นที่ทำให้เกิดองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างในตาคลี Taklee Genesis: ตาคลี เจเนซิส โดยเฉพาะ ‘สัตว์ประหลาด’ ที่ปรากฏตัวขึ้นในหนัง ซึ่งเป็นความตั้งใจของมะเดี่ยวที่ต้องการให้เอกมาช่วยออกแบบเพื่อให้เกิดความสยองขวัญแบบไซไฟอย่างที่ควรจะเป็น

วันนี้ GroundControl จึงชวนทั้งสองมาพูดคุยเกี่ยวกับไอเดียและการทำงานร่วมกันใน ตาคลี เจเนซิส ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงการออกแบบสัตว์ประหลาด ที่เป็นส่วนสำคัญในหนังเรื่องนี้ รวมไปถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองที่มีความสยองเป็นจุดร่วม

จุดเริ่มต้นของ ตาคลี เจเนซิส

“ไอเดียมันเริ่มมาจากสงครามเวียดนามที่เรามีบทบาทในเวทีโลกเยอะมาก และยังส่งผลบางอย่างมาจนถึงปัจจุบัน แต่เหมือนเราพยายามไม่พูดถึงมันด้วยอะไรบางอย่าง แล้วก็ได้ยินมาว่าชาวบ้านเขาชอบร่ำลือกันว่าสมัยนั้นอเมริกันชอบมาทำอะไรเฮี้ยน ๆ ในบ้านเรา เช่นการสร้างฐานที่ตั้งกองบินในอีสาน แล้วก็มีกองบินใหญ่อยู่ที่ตาคลี และมีอีกอันนึงที่อยู่ตรงค่ายรามสูร ซึ่งก็เกิดความสงสัยว่าทำไมถึงต้องสร้างอะไรเยอะแยะ?" มะเดี่ยวเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของ ตาคลี เจเนซิส และการเข้ามาร่วมโปรเจกต์ของเอกในฐานะ ‘นักออกแบบสัตว์ประหลาด’ หรือ ‘Monster Designer’ ที่คอยออกแบบสัตว์ประหลาดหลาย ๆ ตัวที่มีหน้าที่และเรื่องราวที่ต่างกันออกไป

“ก็เลยคิดโม้ขึ้นมาอันนึง อย่างภาคอีสานก็จะมีตำนานพญานาคและพื้นที่หลาย ๆ ที่ที่มันเซอร์เรียลมาก ๆ ก็เลยผูกเรื่องมาเป็นเรื่องราวใน ตาคลี เจเนซิส พอมันเป็นเรื่องที่มันเหนือจริง ก็เลยอยากให้มีสัตว์ประหลาด ซึ่งตอนแรกเราก็ตีความสัตว์ประหลาดไว้หลากหลายมาก เช่นมีตัวหนึ่งที่ค้องคอยทำหน้าที่เฝ้าของวิเศษบางอย่างในป่า แต่ด้วยเราวาดการ์ตูนก็ไม่เป็น ดีไซน์อะไรก็ห่วยแตก ก็เลยนึกถึงพี่เอก เลยโทรชวนเขามานั่งฟังว่าเราจะทำเรื่องนี้เป็นอย่างไร

“พี่รู้สึกว่าเป็นคนแรก ๆ ที่ได้อ่านบทหนัง เราก็แอบตื่นเต้น เพราะทุกซีนในบทมันทำให้เราเห็นวิชวลในหัวเลย เรารู้สึกว่ามันอลังการและความไซไฟ เลยรู้สึกว่ามันเจ๋งดี ก็เลยดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์นี้” เอกเสริมถึงความรู้สึกที่เขาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในตาคลี เจเนซิส

‘สัตว์ประหลาด’ จุดเชื่อมโยงกันระหว่างคนดูและความสยอง

หลังจากที่ได้พูดคุยกับทั้งสองไปสักพักเราจะพบว่า เหตุผลที่ทำให้มะเดี่ยวเลือกเอกมาเป็นผู้ออกแบบสัตว์ประหลาดในตาคลี เจเนซิส ไม่ใช่แค่เพียงประสบการณ์หรือการทำงานร่วมกันมาก่อน แต่เป็นการที่ทั้งคู่เข้าใจหลักการของความบ้าและความสยองแบบเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นเหมือนส่วนผสมที่ของความประหลาดที่ลงตัว

“การออกแบบนั้นจะขึ้นอยู่กับเรื่องและบริบท สำหรับอันนี้มะเดี่ยวก็บรีฟชัดเจนและเคลียร์ คือก็ดูจากบริบทของมัน ว่ามีการกำเนิดมาเชื้อมาจากอะไร เช่นในหนังจะเป็นเชื้อ ‘Cosmic Virus’ ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่อยู่ในอวกาศ แล้วเขาไปติดมาจากดาวดวงไหนก็ไม่รู้ เราก็เลยปรับให้มันมีวัสดุผสม จะมีความเป็นไบโอผสมผลึกอะไรบางอย่าง มันไม่ใช่เป็นไบโอชีวะอย่างเดียว” เอกเล่าให้ฟังถึงการออกแบบสัตว์ประหลาดในตาคลี เจเนซิส ที่มีไอเดียตั้งต้นมาจากมะเดี่ยวอยู่แล้ว

สิ่งสำคัญในการออกแบบสิ่งมีชีวิตที่เอกมักจะพูดถึงอยู่เสมอคือการเชื่อมโยงระหว่างความจริงและจินตนาการ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมให้ได้มากที่สุด

“เวลาที่เราดีไซน์มันก็จะมีการจินตนาการที่มันต้องเชื่อมโยงกับที่สิ่งที่คนเราคุ้นชิน เช่นขาหลังของสัตว์ประหลาด เราก็จะรู้สึกว่าขาหลังของสัตว์มันจะมีความโค้งอีกแบบหนึ่ง ก็จะเอามาใช้ คือถ้าเราดีไซน์สัตว์ประหลาดที่ไม่เคยมีเลย มันจะไม่ค่อยเชื่อมโยงกับความรู้สึกของคน ถ้าเราเห็นบางส่วนที่มันคุ้น ๆ เหมือนตัวนี้เหมือนตัวนั้น มันจะทำให้รู้สึกขนพองสยองเกล้าไปอีกแบบ หรืออย่างฟันที่เราก็จะทำให้ให้มันเป็นฟันแบบมนุษย์ไปเลย จะได้รู้สึกสยองเวลามันยิ้ม”

ซึ่งนอกจากการออกแบบสัตว์ประหลาดจะมีส่วนผสมของสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างสิ่งรอบตัวของมนุษย์แล้ว ในตาคลี เจเนซิส จะมีอีกสิ่งหนึ่งที่มะเดี่ยวต้องการนำเสนอเลยก็คือ ‘ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น’ และ ‘ตํานานภาคอีสาน’

“มันก็มีผีต่าง ๆ ในภาคอีสาน แต่ว่าความที่ลี้ลับตัวนี้มักจะอยู่ตามป่าตามดอน สมมติเราขับรถไปทางอีสานก็จะเห็นทุ่งนาเวิ้งว้าง ซึ่งมันก็จะมีกลุ่มของป่าใด ๆ อยู่ เราคิดว่ามันจะน่ากลัวแค่ไหนถ้าป่าเขาไม่ให้เข้าเพราะเข้าไปแล้วมันจะออกมาไม่ได้เลย? มันจะทะลุไปที่ไหนหรือเปล่า? หรือในนั้นมีตัวอะไรหรือเปล่า? คือสัตว์ประหลาดในความคิดของชาวบ้านกับของเราจะไม่เหมือนกัน ไม่รู้ว่ามีการเติมแต่งสร้างจากจินตนาการอะไรบ้าง บางทีเขาเล่าเราก็พยายามปะติดปะต่อภาพที่มันดูไม่เมคเซนส์ มันดูแล้วเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ แต่เราชอบ ก็เลยนำมาประกอบเป็นไอเดียแล้วไปเล่าให้พี่เอกฟัง” มะเดี่ยวเล่าให้ฟังถึงการออกไอเดียตั้งต้นของสัตว์ประหลาดที่เริ่มต้นมาจากความเชื่อทางภาคอีสาน

ตำนานภาคอีสานและเศษซากที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากสงครามเย็น

ในช่วงสงครามเย็น ไทยได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรหลักกับสหรัฐฯอย่างแนบแน่น และเนื่องจากไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดี สหรัฐฯจึงเข้ามาสนับสนุนไทยในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ลอจิสติกส์ไปจนถึงการร่วมร่วมมือกันทางทหาร ทำให้เรายังคงสามารถพบเห็นอาคารปลูกสร้าง วัฒนธรรม หรือฐานทัพต่าง ๆ ของสหรัฐฯยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

องค์ประกอบสำคัญที่สามารถเติมเต็มความลึกลับให้กับตาคลี เจเนซิสได้ คือเศษซากของฐานทัพอากาศที่สหรัฐฯได้สร้างทิ้งไว้ในช่วงของสงครามเย็น ซึ่งมะเดี่ยวเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศของค่ายรามสูรที่อุดรธานี ว่าเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความลึกลับและกลิ่นอายบางอย่างที่ยังคงหลงเหลือจากช่วงสงครามเย็น เป็นเหตุให้ตัดสินใจใช้สถานที่นั้นในการถ่ายทำ

“ตอนไปรีเสิร์ช เราก็ไปเจอค่ายรามสูร จังหวัดอุดรธานี ที่มันเป็นฐานทัพลับกลม ๆ ตั้งอยู่บนดอนนั้น แล้วรอบข้างก็หายไปหมดเพราะเขารื้อไปหมดแล้ว เหมือนตอนสงครามจบเขาก็กลับไปหมดเลย ก็เกิดเป็นความสงสัยว่าทำไมต้องรีบเอาของกลับไปขนาดนั้น แล้วตอนยุคนั้นไม่ให้มีใครเข้าไปได้ ชาวบ้านก็เลยลือกันว่าเขาคงเอาเชลยมาทดลอง ซึ่งพอเราลงไปข้างใต้ค่ายรามสูรมันมีอุโมงค์จริง ๆ อุโมงค์ยาวและน่ากลัวมาก พอเดินทะลุออกมา ก็จะเป็นทางออกโล่ง ๆ แต่จริง ๆ แล้วเคยเป็นอาคารที่ล้ำมาก”

“ตอนนั้นเราขับรถไปที่บ้านดุง เราก็เห็นเสาสูงใหญ่ล้อมเป็นรั้วไว้ประมาณ 400-500 ไร่ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นที่ตั้งของ VOA (Voice of America) ก็ทำเป็นหลงเข้าไปแอบดู แต่เขาก็ไม่ให้เข้า ซึ่งตรงนั้นคนก็สันนิษฐานกันว่าเป็นฐานลับอะไรของอเมริกาหรือเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันยังดำเนินอยู่ในโลกของเรา ณ ปัจจุบันที่เราไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะมีฐานลับอะไร มีการทดลองอะไรเกิดขึ้นในพื้นแผ่นดินอีสานนี้หรือเปล่า หรือที่เขาเห็นพญานาคกันในแม่น้ำโขงมันมาจากตรงนี้”

เช่นเดียวกันกับเอกที่เห็นว่าพื้นที่ทางภาคอีสานส่วนใหญ่มักจะซุกซ่อนความลึกลับและพิศวงเอาไว้ ไม่ว่าจากสิ่งลี้ลับหรือฝีมือมนุษย์ใด ๆ ก็แล้วแต่ “เมื่อก่อนก็เคยคิดนะว่าถ้าเราทำอะไรที่มันล้ำ ๆ หรืออยากทดลองอะไรน่าจะมาแถวนี้เพราะเขาจะไม่เชื่อ เป็นสถานที่ที่ใช้ซุกซ่อนดีที่สุดเพราะว่าทุกคนก็จะจุดธูปพนมมือเป็นพิธีรีตอง ซึ่งก็สามารถใช้ในการกลบเกลื่อนได้ดี”

มะเดี่ยวยังเล่าให้ฟังถึงความสนใจเกี่ยวกับตำนานและวัฒนธรรมของภาคอีสานที่ถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจหลาย ๆ อย่างในตาคลี เจเนซิส “ตอนเราไปพื้นที่อีสานเราจะรู้สึกมหัศจรรย์ จะรู้สึกอินกับมันมาก เพราะความน่ากลัวของความเป็นภาคอีสานมันคือความเวิ้งว้าง มันคือความโล่ง ซึ่งถ้าเกิดเราไปเจอสัตว์ประหลาดกำลังวิ่งไล่ตามเรา เราจะไปหลบที่ไหน ต้องวิ่งจนขาดใจตายแน่เลย หรือแม้กระทั่งแม่น้ำโขงที่อยู่ใหญ่มากจนเหมือนมันมีอะไรอยู่ข้างใต้ เช่น ตำนานพญานาคเมืองหนองหาน หรือตำนานผาแดง-นางไอ่ เราก็ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งยังสปอยล์ไม่ได้”

เรื่อง: อธิบดี ตั้งก้องเกียรติ