คุยกับผู้กำกับเอ็มวี ‘ธาตุทองซาวด์’ เฟ่ยเฟ่ย—พิสิณี ขาวสมัย ว่าด้วยการทำเอ็มวีฮิปฮอปที่สูบฉีดด้วยหัวใจ แบบเดียวกับในทุก Thai Subculture

Post on 18 April

“อีกี้นี้มันเป็นสก้อย ไปกับผู้บ่อย ผู้พาไป skrt อีกี้ชอบไป skrt แต่เปลี่ยนผู้บ่อย สงสัยไม่เวิร์ก”

ไม่ว่าในชีวิตจริงของคุณจะมี เคยมี หรือไม่เคยมี ‘อีกี้’ เป็นของตัวเองก็ตาม แต่เชื่อว่า เมื่อพูดถึงหนึ่งในตัวละครสำคัญของสังคมไทยอย่าง ‘สก๊อย’ วัยรุ่นสาวผู้หลงใหลการซ้อนท้ายเบาะมอเตอร์ไซค์ปาดเรียบ ท่อดัง ภาพสก๊อยในมโนทัศน์ของทุกคนคงไม่แตกต่างกันนัก

ซึ่งสมมติฐานว่าภาพจำของสก๊อยในความเข้าใจของทุกคนนั้นเป็นภาพตรงกัน ก็ได้ถูกพิสูจน์แล้วในเอ็มวี ‘THATTHONG SOUND’ ของ YOUNGOHM บทเพลงและเอ็มวีที่เฉลิมฉลองความเป็น ‘แว้นบอย สก๊อยเกิร์ล’ ประชากร (กลุ่มใหญ่) ในสังคมไทย และไม่ว่าจะมีมุมมองต่อพวกเขาอย่างไร ก็ไม่อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าวัยรุ่นผู้รักในความเร็วเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของสังคมไทย และหนึ่งในผู้ก่อร่างสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมไทย’ ที่มีชีวิตและพลวัต ไม่ใช่ภาพวัฒนธรรมไทยแบบแช่แข็งที่ผู้ใหญ่บางคนที่ชอบใส่คำว่า ‘soft power’ ลงไปในเอกสารโครงการ แต่ไม่เคยเข้าใจมันอย่างแท้จริง

“สิ่งที่เราใส่เข้าไปในเอ็มวี เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นกันอยู่แล้ว แต่มันไม่เคยถูกหยิบออกมานำเสนอในมุมมองอื่นนอกจากในแง่ความตลก” เฟ่ยเฟ่ย—พิสิณี ขาวสมัย ผู้กำกับเอ็มวี THATTHONG SOUND อธิบาย โดยแว้นและสก๊อยไม่ใช่แค่เรื่องราวความเป็นไทยเรื่องเดียวที่เธอหยิบมานำเสนอใหม่ แต่ยังมี ‘ความเรียล’ อื่น ๆ ในสังคมไทยอีกมากมายที่เธอจับมาใส่ในเอ็มวี เช่น ผู้หญิงไทยกับฝรั่ง ที่กลายเป็นมีมหน้าตู้เอทีเอ็มในตำนาน

“ในมุมมองของเรา มันมีความสวยงามบางอย่าง ใช่ ในด้านหนึ่ง สิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหาในสังคมที่เราต้องมาคุยกัน แต่มันก็คือสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันด้วย”

ภายใต้น้ำยาอุทัยและเสียงกระหึ่มของท่อไอเสีย อาจมีเรื่องราวน่าถอดรหัสสะท้อนนัยยะของตัวตน ที่เชื่อมโยงตัวตนของผู้ชมเอ็มวี จนทำให้เอ็มวีที่ว่าด้วยกลุ่มแว้นสก๊อยซึ่งเคย (และยังคง) ถูกมองต่ำ กลายเป็นกระแสไวรัลที่คนนอกกลุ่มยังอยากร่วมเฉลิมฉลอง

สูตรตั้งต้นที่งอกเงยกลายเป็นมหกรรมยำรวมมิตร Subculture แบบไทย ๆ จนถูกใจคนรับชมทุกหมู่เหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร? ไอเดียอะไรที่เธอได้เรียนรู้มาจากการคลุกคลีวงการฮิปฮอป? ทำไมตู้เอทีเอ็มและรถโรตีจะเป็นตัวแทนความเป็นไทยไม่ได้? และเคล็ดลับของการถ่ายฉากเด็กแว้นนอนท่าซูเปอร์แมนบนมอเตอร์ไซค์คืออะไร? กดเปิดบีทสายตื้ด แล้วมาฟังไรม์ของเธอกันเลย

หลงใหลอย่างฮิปฮอป

‘จริงใจแบบฮิปฮอป’ ‘จริงจังแบบฮิปฮอป’ สองแนวคิดง่าย ๆ ที่เราสกัดได้จากบทสนทนากับผู้กำกับสายแร็ป ‘เฟ่ยเฟ่ย - พิสิณี ขาวสมัย’ aka feifei1234555 ผู้ลับฝีมืองานวิดีโอมากับ RAP IS NOW และคลุกคลีกับแรปเปอร์ไทยจนได้ผลลัพธ์เป็นสารคดีเล่าชีวิตแรปเปอร์อย่าง ‘GVNG’ มาหนึ่งเรื่อง

ลำพังการทำเอ็มวีให้เพลงดังก็คงกดดันอยู่แล้ว แต่เฟ่ยเฟ่ยยังเล่าเรื่องราวเล็ก ๆ ที่ฟังแล้วเรายังกดดันแทน แต่ก็ทำให้เราเข้าใจแก่นไอเดียของเอ็มวีนี้ และวิถีความบ้าพลังของชาวฮิปฮอป ที่จะว่าไปแล้ว ความบ้าพลังและทุ่มหัวใจให้สิ่งที่ตัวเองรักก็คือดีเอ็นเอสำคัญในทุก Subculture

“เลยแบบ ฉิบหายละ ความกดดันมันมีอยู่แล้ว แล้วเรารู้สึกว่าเขาลงทุนตั้งใจลงทุนทำจริง ๆ อีก” เฟ่ยเฟ่ยเล่าถึงการรับลูกบ้า (พลัง) จากแรปเปอร์สายแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เธอตกหลุมรักวัฒนธรรมฮิปฮอป

“เวลาอยู่ในคัลเจอร์ฮิปฮอป เรารู้สึกได้ถึงพลังบางอย่างที่เราไม่เคยสัมผัสที่ไหน

“เขาจะรักเพลง รักอุดมการณ์ รักอะไรบางอย่าง และใช้หัวใจกับมันมาก ๆ เราจะไม่ตัดสินว่าเขาเป็นยังไง หรือสิ่งที่เขารักถูกหรือผิด แต่เรารู้สึกถึงอะไรคล้าย ๆ กันนี้ที่ก็มีอยู่ใน Subculture แว้น-สก๊อย สิ่งพวกนั้นมันคือหัวใจของเขา คือความรักที่เรารู้สึกว่าคนบนโลกควรจะมี เราเห็นสิ่งนี้จากเด็กฮิปฮอป จากคนใน Subculture ที่มีหัวใจให้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และเป็นพลังสำคัญให้กับชีวิตเขา ไม่มีใครทุบหม้อข้าวหม้อแกงลงทุนเพื่อสิ่งที่ตัวเองไม่รักได้หรอก มันยาก เขายังต้องสู้เพื่อหาเงินให้ได้จากสิ่งนี้เพื่อรักษาความรักของเขาไว้ นี่เป็นสิ่งที่รู้สึกมาก ๆ และอยากเล่าออกมา

“เราอินในความเป็นฮิปฮอปที่สุด ไม่ใช่โอมคนเดียว มันเป็นพลังที่เจอจากทุกคนในคัลเจอร์ มันทำให้เรารู้สึกว่าต้องไปต่อว่ะ ถ้ามีพลังขนาดนี้ เราจะหยุดตรงนี้ไม่ได้ ให้เป็นฟันเฟืองทำงานรับใช้เงินใต้ทุนนิยมแค่อย่างเดียวหรอ พอไดเห็นศิลปินที่เขาทำงานที่รัก แล้วได้เงินจากมัน เราก็อยากสู้ไปกับเขา นี่คือสิ่งที่รู้สึกอิน อยากชวนน้อง ๆ เพื่อน ๆ มาทำ มาลุย มาสนุกไปด้วยกัน พาทีมไปเจอสิ่งใหม่ ๆ เติบโตไปด้วยกัน โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน นั่นคือความตั้งใจของเราในการทำงานตรงนี้”

จริงใจกับความไทย ๆ จริงใจกับคนดู

“พอนึกทีแรกเลยก็เออ เราจะทำเรื่องความเป็นไทยนี่แหละ ก็เอาคนที่มีแนวความคิดเหมือนกับฮิปฮอปเข้ามาอยู่ในเอ็มวีเพื่อระเบิดพลัง” และนั่น คือจุดเริ่มต้นของความป่วงสุดมันทั้งหมดในเอ็มวีเพลงธาตุทองซาวด์

“เราเอาคนที่เป็นแบบนั้นจริง ๆ มา มีพี่สิงห์อ่วม นักมวย Mr. Fight มีเชียร์ลีดเดอร์ที่เป็นตัวแทนระดับประเทศ ครูสอน Twerk แล้วก็มีไอเดียโอมที่เปิดรับสมัครคนเข้ามาเต้นในเอ็มวี

“ฉากซิ่งรถท่าซูเปอร์แมน ก็เหมือนจะเทคเดียวเลย ทุกอย่างมันถูกต้อง เขาทำได้ เราเห็นศักยภาพเขาแล้ว ได้เลย มายกล้อนานหนึ่งนาทีเลย

“หัวใจสำคัญของคนทำอะไรพวกนี้มันคือความเชื่อมั้ง ถ้าเราไม่เชื่อคนดูหรือใครก็ไม่เชื่อ เราต้องเชื่อมั่นในตัวเขาก่อน แล้วเราเชื่อ แล้วคนดูก็จะเชื่อเหมือนที่เราเชื่อ”

แล้วคนดูก็เชื่อเหมือนที่เขาเชื่อ ปล่อยเอ็มวีมาได้ไม่นานก็เป็นกระแสแรงสุด ๆ ทั้งในแง่การนำเสนอภาพลักษณ์แว้น-สก๊อยแบบไม่ตัดสิน ทั้งแง่ความเป้ะของแฟชั่นผมรากไทรของสก๊อยยุค Hi5

“มันเป็นวัฒนธรรมฮิปฮอปแหละว่าต้องพูดความจริง คนฟังจะจับได้ คนดูก็เหมือนกัน เราก็ต้องจริงใจกับคนดู พูดตรง พูดจริง พูด real shit ออกมา”

รีเสิร์ชความเป็นไทย ต้องไปดูใน Tiktok

จุดเด่นของเอ็มวีนี้ก็หนีไม่พ้นงานกำกับศิลป์ ที่นำเสนอความไทย ๆ ให้ลองมองแบบสวย ๆ รวมทั้งการทดลองเล็ก ๆ ในลำดับเรื่อง

“ตอนรีเสิร์ชเราก็ขับรถไปทั่วเมือง เข้ากร๊ปุมีมคนไทย เล่น Tiktok มันก็จะเจออะไรแบบนี้ โรตีดริฟต์นี่ก็เอามาจากตอนไถฟีด มันขึ้นพอดีแล้วมันแบบ ใช่อะ มันต้องมี อยากซื้ออะ มันถูกต้อง แล้วมันสนุกด้วย

“คนจะมองว่าอาร์ตไดเร็กชั่นไทยมันดูไม่แพง เราก็อยากจะตั้งคำถามกับมัน เล่าเรื่องผ่านมุมมองคนชั้นกลาง สิ่งที่อยู่ในเอ็มวีก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นกันอยู่แล้ว แต่ไม่เคยถูกทำออกมาเป็นภาพ ให้ทุกคนเข้าใจความสวยงาม เขาก็จะเห็นแล้วตลกกัน อย่างฉากตู้เอทีเอ็มหรือการควงกระบองไฟ เรารู้สึกว่ามันสุดยอด

“อยากให้มันคาดไม่ถึง เลยตัดต่อแบบไปแล้วไม่กลับ ซีนไหนมาแล้วก็ไปเลย เปลี่ยน ๆ ไปเจอซีนใหม่ ซีนใหม่ ไล่ระดับไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีซีนที่กลับมาเป็นจังหวะส่งเล่าเรื่องบ้าง”

แนะนำความเป็นไทย (ๆ) ให้ไปไกลถึงต่างประเทศ

“ตั้งแต่โอมปล่อยเพลง เราก็รู้ว่าเพลงนี้ดัง ก็ดูคลิปรีแอ็คชั่นต่างประเทศ ยอดวิวเป็นล้านทั้งนั้นเลย ก็อยากให้โอมไปต่างประเทศ เป็นตัวแทนหนึ่งของประเทศไทยให้ได้ เพราะเพลงโอมทำงานอย่างนั้นอยู่แล้ว เป็นเพลงแบบไท๊ย-ไทยไปแล้ว เรารู้สึกว่าภาพก็ต้องไปด้วยกัน ไปแนะนำความเป็นไทย”

เฟ่ยเฟ่ยสรุปไอเดียสำคัญของเอ็มวีนี้ ซึ่งคงโดนใจคนไทยไม่น้อย ที่อินกับ ‘วัฒนธรรมไทย ๆ’ แต่ไม่อินกับ ‘วัฒนธรรมไทย’ ที่ไม่อยู่ในชีวิตประจำวัน