มนุษย์เดินทางไปไหนมาไหนบนโลกด้วยตา เท่านั้น จริงหรือ? ถ้าดูตามตัวอักษรหรือสัญลักษณ์บนป้ายต่าง ๆ ก็อาจจะคิดกันไปได้อย่างนั้น แต่กับพื้นที่ปิดทึบไร้แสงจากด้านนอกที่ภายในนิทรรศการ ‘the night laid a hundred eyes on my skin’ ภาพที่สว่างซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ อยู่บนผืนตาข่ายผิวบางตรงกลางห้อง กลับทำให้เราไขว้เขว ไม่แน่ใจในความใกล้ไกลแบบที่เคยรู้จัก และกลิ่นที่อบอวลอยู่ในนั้น ก็ยิ่งชวนให้เราก้าวเท้าไปต่อ ถึงแม้ประสาทสัมผัสเดิม ๆ แบบที่เราใช้สำรวจโลก จะกำลังปั่นป่วนไปหมด
อภิชญา วันเที่ยง ศิลปินเจ้าของนิทรรศการนี้เป็นชาวไทยที่ไปจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาจากเบลเยียม และปริญญาโทจากนอร์เวย์ที่ซึ่งเธออาศัยอยู่ปัจจุบัน แต่ในนิทรรศการนี้ เธอกลับมาสู่โลกในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยต้นปาล์ม ต้นยาง แม่น้ำลำคลอง และความมืดอันกว้างไกล ภาพวาดที่เป็นมุมมองตามท้องถนนยามค่ำของเธอ บันทึกข้อมูลที่สายตาและแสงไฟไปถึงอย่างชัดเจน และบันทึกรวมไปถึงความมืดที่ดำแต่ก็ดำไม่สนิท จนพื้นผิวของเวลากลางคืนในภาพกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับพื้นผิวของสีอคริลิกบนเฟรมภาพของเธอ
งานศิลปะเหล่านี้ พาเราไปยืนอยู่กลางพื้นที่ชายแดนที่ทุก ๆ สิ่งมีอยู่อย่างทับซ้อนกันเต็มไปหมด — ชายแดนระหว่างโลกแบบที่มันเป็นอยู่ ซึ่งสามารถสัมผัสได้ผ่านหู ตา จมูก หรือสัมผัสอื่น ๆ กับโลกที่เราสร้างขึ้นมาในความคิด จากประสบการณ์สัมผัสเหล่านั้น, ระหว่างโลกแบบต่าง ๆ ซึ่งเราสร้างขึ้นมาจากสิ่งที่ได้สัมผัส โลกที่มีชายควบม้าถือหอกมาบุกโจมตี มีวิญญาณผีสางเทวดาผู้อาศัยอยู่ในต้นพลูป่า และมีการอ่านดวงชะตาจากไส้ควาย ตามเรื่องเล่าประกอบนิทรรศการ ซึ่งสำหรับบางคนอาจเป็นเพียงจินตนาการ แต่อีกบางคนคือความทรงจำ, และระหว่างประสาทสัมผัสของเราแต่ละคนเอง ซึ่งบางทีก็มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป
เพราะสิ่งใดที่ใกล้ชิดทางตาก็แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดทางใจ และแน่นอนว่าความใกล้ชิดของเราแต่ละคนย่อมมีไม่เท่ากัน การยินยอมให้แสงไฟส่องจ้าเข้าหาตัวเราได้ (แบบที่นิทรรศการนี้ทำกับเราด้วย) เป็นการทำลายกำแพงแห่งความมืดที่ปกปิดสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับเรา พื้นที่ส่องสว่างภายในนิทรรศการนี้จึงเป็นเขตแดนอีกรูปแบบหนึ่งที่สงวนไว้สำหรับความรู้สึกคุ้นเคย
แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่ซึ่งหลุดพ้นออกไปจากขอบเขตของแสงไฟ ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องมีแต่ความกังวลหรือความไม่เข้าใจอยู่ในนั้น เพราะในขณะที่เราอาจจะสัมผัสความมืดเป็นความไม่คุ้นเคยหรือความเป็นอื่น อย่างเช่นภาพของพื้นที่หลังแนวรั้ว (ถ้าข้ามเข้าไปจะเกิดอะไรขึ้น?) หรือพื้นที่ริมเขื่อน (ถ้าพลัดตกไปจะทำอย่างไร?) แต่ในความมืดนั้นก็อาจเป็นพื้นที่แห่งความใกล้ชิด ที่เต็มไปด้วยความสบายใจ ความรู้สึกไว้วางใจ ที่มาจากความเข้าใจก็ได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นตรงนี้แหละ ที่เป็นจุดตัดของความเป็นเจ้าถิ่นและความเป็นอื่น ซึ่งก็อาจแปรเปลี่ยนสถานะไปได้ ตามกาลเวลา เช่นเดียวกับเรากับนิทรรศการศิลปะ ที่คงจะพัฒนาความสัมพันธ์และความเข้าใจกันไปได้ ถ้าได้ลองใช้เวลาและเปิดทุกประสาทและความคิดของตัวเองให้มีส่วนร่วมไปกับงาน
นิทรรศการ ‘the night laid a hundred eyes on my skin’ โดยศิลปิน อภิชญา วันเที่ยง จัดแสดงที่ Storage (ถนนพระสุเมรุ) ตั้งแต่วันนี้ - 8 กันยายน 2567