แฟน ๆ ของวงร็อคสายทดลอง อย่าง Radiohead คงจะคุ้นชื่อของ สแตนลีย์ ดอนวูด เป็นอย่างดี เพราะเขาคือนักวาดผู้อยู่เบื้องหลังอาร์ตเวิร์คระดับขึ้นหิ้งของวงตั้งแต่ปกอัลบั้ม The Bends, OK Computer, In Rainbows และ Kid A และล่าสุดกับ Wall of Eyes อัลบั้มล่าสุดจาก The Smile วงซูเปอร์กรุ๊ปรวมยอดฝีมืออย่าง ทอม ยอร์ก และ จอนนี กรีนวูด จาก Radiohead และ ทอม สกินเนอร์ แห่งวงแจ๊ส Sons Of Kemet ซึ่งก็ยังได้อาร์ตเวิร์คจากดอนวูดมาเพิ่มมิติให้แต่ละเพลงในอัลบั้มอีกด้วย
และหลังจากเราได้ไปนั่งดู/ฟังจนครบทุกเพลงในอีเวนต์ ‘Wall Of Eyes, On Film’ ที่ทาง @BeggarsThailand ชวนเรามานั่งฟังทุกเพลงในอัลบั้มนี้ แต่จับคู่เพลงกับการฉายวิดีโอและผลงานอื่น ๆ ที่ผู้กำกับ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ทำร่วมกับวงและทอม ยอร์กในโรงหนัง สิ่งหนึ่งที่แฟนคลับพี่ทอมอย่างเราสังเกตุเห็นก็คือภาพภูมิทัศน์คล้ายภูเขาที่ยังตามมาหลอกหลอนเราตั้งแต่ปกอัลบั้ม Kid A จนถึง Wall of Eyes นี้ เราเลยอยากลองชวนมาแกะรอยเจ้าภูเขานี้กัน ว่ามันมีความหมายกับพวกเขาอย่างไรกันแน่
ความสัมพันธ์ของนักวาดและนักร้องนำที่แปลกประหลาดพอกันนี้เริ่มต้นที่โรงเรียนศิลปะ Exeter College of Art and Design ตั้งแต่ช่วงปี 1980 “เขาดูเหมือนแค่บังเอิญไปอยู่ตรงนั้น” สแตนลีย์ ดอนวูด เคยเล่าไว้ถึงครั้งแรกที่เขาเจอ ทอม ยอร์ก “ผมตัดสินใจว่าจะไม่ไว้ใจเขา ก็รู้สึกอยู่ว่าจะได้ทำงานด้วยกันท้ายที่สุด”
ผลงานของพวกเขาแสดงให้เห็นถึงพลังงานในตัวประเภทเดียวกัน แม้จะถ่ายทอดออกมาคนละแบบ แต่ก็เต็มไปด้วยการทดลอง การแหกนอกกฎเกณฑ์ กลิ่นอายของการเมือง และกลิ่นอายของธรรมชาติในชนบท
ช่วงปี 2000 ขณะที่ Radiohead กำลังทำอัลบั้ม Kid A มีเว็บไซต์หนึ่งที่แตะตานักร้องและนักวาดคู่นี้ คือเว็บไซต์ของสถาบันด้านสิ่งแวดล้อม Worldwatch Institute ซึ่งเต็มไปด้วยสถิติเรื่องสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงบนโลก ซึ่งทำให้พวกเขาลงลึกไปตามความสนใจและเป็นที่มาของภาพยอดเขาปลายแหลมทั้งหลายบนปกอัลบั้มนั้น แต่นอกจากเรื่องภูมิอากาศแล้ว ภาพและเพลงที่หม่นทะมึนของพวกเขายังได้อิทธิพลมาจากภูมิทัศน์ที่น่าหดหู่ของโลกขณะนั้นด้วย “มันมีหลายอย่างติดอยู่ในหัวผมเกี่ยวกับความขัดแย้งในดินแดนที่เคยเป็นยูโกสลาเวียแล้วก็จำนวนคนที่ตายทั้งหมด มันคือพลังแห่งหายนะสักอย่างที่อยู่บนภูมิทัศน์นั่น” Donwood เล่า โดยนักดนตรีคู่หูของเขาก็เสริมว่า “ตอนนั้นพวกเราหมกมุ่นอยู่กับพวกภูเขาสามเหลี่ยม” และ “มีนิมิตเห็นปิรามิดลอยอยู่เหนือเราเหมือนกัน”
“ผมเคยมีช่วงสมองตันแล้วราเชลคนรักของผมในตอนนั้นบอกให้หยุดทำดนตรีไปเลยสักช่วง ผมก็เลยท่องไปทั่ว วาดอะไรก็ตามที่มองเห็น ทิวทัศน์ (landscape) ภาพทิวทัศน์เลยเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ เพราะมันช่วยผ่อนคลายผม” ทอม ยอร์ก กล่าวในบทสัมภาษณ์กับ The Guardian “การนั่งลงตรงหน้าทิวทัศน์แล้วพยายามถ่ายทอดมันออกมาตามความรู้สึก ฟังเสียงมัน ไม่ใช่เรื่องบ้าอะไรที่อยู่ในหัว มันเป็นประสบการณ์ที่ปลดปล่อยอิสระมาก ๆ ผมใช้เวลาอยู่คนเดียวเยอะมาก ๆ พยายามกำจัดเสียงที่รบกวนในหัวนี้ แต่มันเหมือนเส้นทางคดไปคดมาจากทางตันเลย” เขาเล่า
คำอธิบายของเขาชวนให้เรานึกถึงความรู้สึกตกตะลึงตรึงใจหรือที่เรียกกันว่า ‘Sublime’ ในทางศิลปะไม่น้อย เพราะหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ดอนวูดเคยพูดถึงอยู่ก็คือ แคสปาร์ เดวิด ฟรีดริช ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่จากยุคโรแมนติกที่มักใช้ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่มาสำรวจความเล็กจิ๋วของมนุษย์
และล่าสุด สแตนลีย์ ดอนวูด และ ทอม ยอร์ก ก็ได้ทำงานศิลปะร่วมกันอีกครั้งในอัลบั้ม Wall of Eyes ของ The Smile พวกเขาวาดภาพปกร่วมกัน และดอนวูดก็ยังทำภาพประกอบให้แต่ละเพลงในอัลบั้มด้วย ซึ่งยังคงเต็มไปด้วยทิวทัศน์และคลื่นเสียงที่ดูหลอกหลอนไม่ต่างจากงานก่อน ๆ ที่เขาทำร่วมกันมา แต่ความพิเศษของอัลบั้มนี้สำหรับเราคือกลิ่นอายความเป็น ‘ศิลปะคนนอก’ (Outsider Art) หรือ ‘ศิลปะนาอีฟ’ (Naïve art) ที่มาจากมือสมัครเล่นที่วาดภาพแบบเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ศิลปะอะไร ทั้งที่นี่เป็นผลงานของอดีตนักเรียนศิลปะแท้ ๆ
สำหรับภาพที่พวกเขาวาดสำหรับ The Smile พวกเขาถอยออกจากภูมิทัศน์ที่หดหู่มาดูไกล ๆ ในรูปแบบแผนที่ ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจจากแผนที่มากมายในประวัติศาสตร์ตั้งแต่แผนที่ทางการทหารยุคสงครามโลก ไปจนถึงแผนที่โดยนักเดินเรืออาหรับจากยุคกลางที่พวกเขาสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ภาพที่ใช้กับวงนี้มีสีสันสดใสขึ้น(?) และมีกลิ่นอายที่ต่างไปจากศิลปะตะวันตกทั่วไป ทำให้นี่เป็นการผจญภัยที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ใหม่ ๆ แต่กลับสืบย้อนไปได้ถึงวัฒนธรรมต่าง ๆ ของโลกในอดีต
การเล่นตัวโน้ตนอกคีย์นอกคอร์ดหรือถึงขั้นคร่อมจังหวะ หรือภาพที่สัดส่วนดูสับสน ไปจนถึงเสียงของเครื่องดนตรีและลายเส้นที่ชวนให้นึกถึงดนตรีพื้นบ้านจากส่วนต่าง ๆ ของโลก ภายใต้โครงสร้างเพลงที่เล่นวนทำนองซ้ำ ๆ บนจังหวะที่คงที่ ทำให้อัลบั้ม Wall of Eyes นี้เป็นงานยำรวมขนานใหญ่ที่ไม่ได้สืบทอดขนบของขบวนการทางศิลปะใดเป็นพิเศษ แต่กลับชวนให้นึกถึงสิ่งต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่อุดมคติแบบชาวโมเดิร์นนิสต์ ที่หยิบเอาสไตล์ศิลปะจากชาวแอฟริกันมาสร้างงานที่ดูก้าวหน้าในแบบของตัวเองในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 หรือกลุ่มนักดนตรี Krautrock จากเยอรมนีที่ผสมแจ๊สและดนตรีพื้นเมืองต่าง ๆ เข้ากับโครงสร้างเพลงที่น้อยแต่มากแบบมินิมัล จังหวะที่แม่นยำราวเครื่องจักรอุตสาหกรรม และสำเนียงแห่งความขบถแบบร็อคแอนด์โรล
อัลบั้ม Wall of Eyes เต็มไปด้วยความหมายแฝงอยู่มากมาย แต่จริง ๆ แล้วความหมายของมันอาจไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึกลึก ๆ ที่ถูกกระตุ้นผ่านภาพและเสียงที่เข้ารหัสอย่างแปลกประหลาดมาสื่อสารกับเราไว้เต็มไปหมด ไปฟังและดูกันได้แล้วที่ https://thesmile.ffm.to/wall-of-eyes-album
อ้างอิง
- https://www.christies.com/en/stories/meet-radioheads-favourite-artist-stanley-donwood-33bfa7fa7c5942029eacb3daa47f518c
- https://faroutmagazine.co.uk/radioheads-kid-a-cover-artist-creative-influences/
- https://thamesandhudson.com/news/inside-the-work-a-photo-essay-with-radiohead-art-collaborator-stanley-donwood/
- https://www.theguardian.com/music/2021/nov/04/thom-yorke-and-stanley-donwood-kid-a-amnesiac-art
- https://www.monsterchildren.com/articles/the-crow-flies
ภาพจาก - https://www.artsy.net/partner/tin-man-art
- https://www.monsterchildren.com/articles/the-crow-flies