สำรวจชีวิตและการเติบโตข้างหลังภาพ ‘พอร์เทรต’ ของ ‘ธีรพงศ์ กมลภุส’ ผู้ชนะการเวทีประกวดศิลปะพอร์เทรตที่ใหญ่ที่สุดในไทย RCB Portrait Prize 2022

Post on 29 May

พ่ออยู่ด้านซ้าย พี่ชายอยู่ด้านขวา ถอดเสื้อหรี่ตาสู้แดด ขนาบข้างแม่ที่ถือโล่ดีเด่นอยู่ตรงกลาง ภาพที่เต็มไปด้วยปริศนาในความลักลั่น กับสีหน้าท่าทางที่แผ่รังสีออกมาดูอึดอัด คือภาพ ‘ความสัมพันธ์’ ที่ไม่ลงรอยกันนักของคนในครอบครัว

แต่ใครจะรู้ว่าการถ่ายทอดเรื่องราวมาเป็นภาพนี้ จะทำให้แบบทั้งสามและศิลปินผู้วาด ได้เจอกับเส้นทางชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม เพราะนี่ไม่ใช่แค่ผลงานที่ถ่ายทอดลักษณะของคนบนผืนผ้าใบออกมาให้เหมือน แต่เป็นงานที่ทำให้ ‘โอ๊ต - ธีรพงศ์ กมลภุส’ ได้โลดแล่นบนผนังแกลเลอรี ในฐานะศิลปิน และทำให้พ่อ แม่ และพี่ชายผู้เป็นแบบให้ภาพของเขา ได้ย้อนมองความสำคัญของสายสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้าน

สำหรับเด็กที่ชอบวาดรูปธรรมดาคนหนึ่ง การได้มีชื่อในฐานะเจ้าของรางวัลชนะเลิศของงานประกวดภาพพอร์ตเทรตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้เปลี่ยนชีวิตของเขาให้กลายเป็นศิลปินดังที่พร้อมออกไปสำรวจจักรวาลศิลปะในระดับนานาชาติ

การประกวด RCB Portrait Prize หรือที่กลับมาในปีนี้ในชื่อ ITALTHAI Portrait Prize 2023 คือหนึ่งในเวทีที่เปิดกว้างทั้งในแง่คอนเซ็ปต์และตัวเจ้าของงาน เพราะนี่คือการประกวดที่ผู้สร้างสรรค์ภาพสามารถเป็นได้ทั้งเป็นศิลปินรุ่นเยาว์หรือรุ่นเก๋า โดยผลงานทั้งหมดจะถูกส่งเข้ากระบวนการตัดสินแบบไม่เปิดชื่อคนวาด และมีจุดหมายปลายทางเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานของผู้ผ่านเข้ารอบ ที่กลายเป็นพื้นที่โชว์ฝีมือของศิลปินไทย และโชว์ความหลากหลายของผู้คนในสังคมสู่สายตาโลกอีกด้วย

เรื่องราวข้างหลังภาพที่คว้ารางวัลชนะเลิศในปีที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร? ทำไมถึงตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวด และอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับการวาดพอร์เทรต? ไปฟังจากปากคำของศิลปินเจ้าของรางวัลประจำปี 2022 ร่วมกัน

เด็กชายผู้ขายภาพดราก้อนบอล ศิลปินพอร์ตเทรตแห่งจตุจักร

“ปกติผมชอบวาดภาพคนอยู่แล้ว แต่ไม่เคยวาดครอบครัวเลย” ตลอดชีวิตการศึกษาและการทำงานในโลกศิลปะ โอ๊ตเล่าว่าเขาวาดภาพบุคคลมาตลอด ตั้งแต่วาดตัวการ์ตูนไปขายเพื่อน จนนั่งวาดพอร์ตเทรตเป็นอาชีพที่จตุจักร จนไปถึงโปรเจกต์ส่วนตัว แต่ก็อย่างที่บอก เขาไม่เคยมีภาพวาดครอบครัวเลย

นอกจากงานโชว์ในนิทรรศการที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก อีกภาคหนึ่งของโอ๊ตคืองานเลี้ยงชีพที่ทำให้เขาพบความงามของแบบวาดมาแล้วมากมาย แต่สำหรับศิลปินคนหนึ่ง แนวคิดและคอนเซ็ปต์ของเขาก็เติบโตขึ้นจนปลดปล่อยออกมาในโปรเจ็กต์ส่วนตัว รวมถึงในการเรียนที่เขาทดลองทั้งงานภาพพิมพ์และงานปั้น แต่ถ้าให้บอกเทคนิคที่ชอบที่สุด เขาก็ยังยืนยันว่าเป็นสีน้ำมันหรือสีน้ำ

“ผมเป็นคนชอบคัดลอก จากหนังสือการ์ตูนบ้าง หน้าปก แผ่นเกม ย้อนไปตั้งแต่เด็กวาดดราก้อนบอล พอเพื่อนในห้องมาเห็นแล้วชอบก็จ้างวาดรูปละสิบบาท ด้วยสถานะที่บ้านไม่ได้มีเงินมากก็ใช้อาชีพนี้หาเลี้ยงมาเรื่อย ๆ ไปเช่าที่ที่จตุจักรกับเพื่อนวาดพอร์ตเทรตขาย แล้วก็มีรุ่นพี่กับเพื่อน ๆ ชวนไปทำงานเพนท์ผนังที่ต่าง ๆ ด้วย แต่เมื่อทำงานในหมวดนั้นเยอะมันไม่มีเวลาทำงานส่วนตัวเท่าไร”

“ที่ผ่านมาเราวาดแต่ผู้หญิงมาตลอดเลย ไม่ค่อยวาดผู้ชายหรือเด็กเท่าไร มีแฟนเป็นแบบวาดด้วย แล้วก็ผู้หญิงที่เราชอบฟิกเกอร์เขาด้วย แต่การคัดเลือกแบบจะเป็นเหตุผลรอง เหตุผลหลักเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมเมืองที่อยากเล่าในจังหวะนั้นมากกว่า”

วาดใครต่อใครมาก็เยอะ แต่ไม่รู้ทำไมเขาถึงไม่ได้วาดพ่อ แม่ และพี่ชาย ในบ้านของตัวเองสักที จนกระทั่งวันนั้นมาถึง ที่เขาตัดสินใจเลือกครอบครัวเป็นแบบวาด สำหรับภาพที่จะส่งเข้าเวทีประกวดภาพพอร์ตเทรตระดับประเทศ โดยที่ไม่คิดเลยด้วยซ้ำว่าจะได้รางวัล

“ภาพเหมือน” ที่ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม

การประกวดวาดภาพ RCB Portrait Prize 2022 คือโอกาส(และข้ออ้าง)ที่เขาจะได้พาทุกคนในครอบครัวมายืนข้างกัน เพื่อมาเป็นแบบให้กับเขา

จากแรกเริ่มที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวห่างเหินกันจนสร้างความกังวลให้เขาขึ้นเรื่อย ๆ โอ๊ตใช้การประกวดนี้เป็นข้ออ้าง หาเหตุให้คนในบ้านมายืนข้างกันในเฟรม จากบรรยากาศที่ห่างเหิน ใครจะรู้ว่าการยืนชิดกันในภาพ จะทำให้พวกเขาใกล้กันมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

“ผมเผชิญกับความสัมพันธ์ครอบครัวที่ค่อนข้างอึดอัดจากการเป็นคนกลาง เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างตัวบุคคล ทั้งอุปนิสัย ความคิดเห็นทางการเงิน ความต้องการของแต่ละคนที่แตกต่างกัน คำพูดที่ทำร้ายอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว สะสมเรื้อรังมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเงียบใส่กันถือเป็นทางออกในการแก้ปัญหา/ตัดปัญหาที่อาจจะเห็นผลลัพธ์ในช่วงแรก แต่ระยะยาวกลับทำให้เกิดระยะห่างของโครงสร้างความสัมพันธ์ครอบครัวมากยิ่งขึ้น การที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันในทุกวัน เวลา เกิดความแตกแยกกัน การกิน การทำกิจกรรม เที่ยว นอน ภาพถ่ายที่พร้อมหน้ากันหรือแม้แต่การเดินผ่านสายตาของคนในครอบครัวที่สบตาต่อกันยิ่งน้อยลง ในที่สุดต่างฝ่ายต่างเหมือนอากาศธาตุของกันและกัน รู้ว่ามีอยู่แต่กลับมองไม่เห็น มองข้ามไป” คือถ้อยคำที่เขาใช้บรรยายภาพนี้ พร้อมเล่าถึงขั้นตอนการพาสมาชิกที่ห่างเหินกัน มาขยับเข้าใกล้กันแบบไหล่ชิดไหล่ในผลงานชิ้นนี้ว่า

“ผมทะยอยเดินไปบอกทีละคน ให้ออกมาช่วยยืนเป็นแบบ ก็อ้างว่าต้องยืนด้วยกันตอนนั้นเลย เดี๋ยวแสงเงามันจะไม่เข้ากัน ระหว่างวาดก็มีออร่าความตึงระดับหนึ่ง เพราะต้องยืนข้างกันประมาณครึ่งชั่วโมงได้”

“ผมอยากให้เกิดการย้อนแย้งด้วยแสงที่ลงมาบนหัว ทำให้เกิดเงาบนหน้าเยอะ ซึ่งในแง่สุนทรีย์จะดูไม่ค่อยสวยนัก เลยให้เขาไปยืนกันตอนเที่ยงเลย ในมือคุณแม่ก็วาดเป็นโล่ครอบครัวดีเด่นสไตล์ไทย ๆ ขึ้นมาเองเป็นการย้อนแย้งด้วย”

ผลจากการวาดภาพนี้กลายเป็นทุก ๆ คนในบ้านได้ใกล้ชิดกันในทางความรู้สึก จนอาจพูดได้ว่าคอนเซ็ปต์ภาพที่เขาวางไว้ ได้เดินทางมาถึงผลลัพธ์ที่เกินคาดแล้ว แม้ระหว่างทางตลอด 3 สัปดาห์ที่วาดจะเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย ในการจัดภาพ ยังไม่นับเรื่องการวาดผู้สูงอายุที่เขาไม่ได้ทำมาบ่อยนัก แต่ท้ายที่สุดจากที่คุณพ่อหยอกว่า “วาดพ่อน่าเกลียดจัง” ก็กลายเป็น “วาดได้เหมือนมาก ๆ” แทน

รางวัลที่มากกว่ารางวัล โอกาสที่ได้เกินคิด

จากความตั้งใจให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นเท่านั้น วันนี้เขาเป็นผู้ชนะรางวัล RCB Portrait Prize 2022 ที่ยังยืนยัน ว่ารางวัลที่ได้ มีมากกว่าที่คิด

“ถ้าผ่านไปสักยี่สิบห้าสิบปีเราย้อนมาดูภาพ ก็อยากให้มันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในการนึกถึงช่วงเวลานั้นด้วย เลยเลือกวาดให้มีความ Realist ระดับหนึ่ง บันทึกพวกเขาในช่วงอายุเท่านั้น การแต่งตัวอยู่บ้านอย่างนั้น”

“พอชนะแล้วก็รู้สึกมั่นใจขึ้น แต่ก็ทำให้ถ่อมตัวลงด้วย รู้สึกว่าได้รับโอกาสที่ดีมาก ๆ เลยทำให้ตั้งใจทำงานที่เข้ามายิ่งขึ้นไปอีก”

“ตอนแรกก็กังวลระดับหนึ่งเพราะเราไม่เคยเอาเรื่องส่วนตัวในครอบครัวมาพูดขนาดนี้ ไม่คิดว่าจะได้รางวัล ก็รู้สึกว่าความจริงใจกับตัวผลงานสำคัญมาก ๆ ทั้งเรื่องคอนเซ็ปต์หรือรูปแบบงาน มันเป็นตัวเรา เป็นเรื่องที่เราสนใจ ทำให้ผลลัพธ์มันสื่อสารออกมาได้ดี”

ซึ่งใครได้เห็นก็คงสัมผัสได้เหมือนกัน ว่าใบหน้าและท่าทางของครอบครัวของเขา ล้วนกำลังเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ ทั้งระหว่างแบบด้วยกันเอง และตัวศิลปินผู้วาดด้วย “ถึงพอร์ตเทรตจะเป็นภาพคน แต่มันไม่ใช่แค่การเอาแบบมานั่งแล้วก็จบ มันเป็นเรื่องราวของเขาและเราด้วย”

เคล็ดลับสำหรับคนรักภาพพอร์ตเทรต

ตอนนี้ RCB Portrait Prize ได้อัปเกรดเป็น ‘ITALTHAI Portrait Prize 2023’ ซึ่งโอ๊ตเห็นว่าเป็นการยกระดับเวทีประกวดพอร์ตเทรตที่สำคัญสำหรับศิลปินไทย เพราะปีนี้ได้เพิ่มรางวัล Youth Prize สำหรับศิลปินที่อายุไม่เกิน 16 ปีอีกด้วย โดยแชมป์เก่าอย่างเขาก็มาเตือนว่าโอกาสแบบนี้ไม่ควรพลาด พร้อมฝากคำแนะนำสำหรับทุก ๆ คนที่สนใจส่งผลงาน

ตอนนี้เดดไลน์การส่งผลงานมาประกวดก็ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว แต่ก็คงไม่เกินความสามารถของคนที่มีไฟและใจรักในศิลปะ “ในฐานะคนที่ส่งประกวดมาก็เชื่อว่าหลายคนมีฝีมืออยู่แล้ว แต่อาจใช้เวลาในการคิดก่อนออกมาสร้างผลงาน ก็อาจลองให้คนอื่น ๆ มาวิจารณ์งานเราดูระหว่างทำ จะได้รู้ว่าคนดูเห็นอะไรคิดอย่างไรด้วย”

“จุดเด่นของเวทีนี้คือเป็นที่แจ้งเกิด สำหรับศิลปิน นักเรียน นักศึกษา ก็สามารถเข้าร่วมได้ ศิลปินไทยที่เห็นก่อนนี้กว่าจะมีชื่อเสียงก็ต้องใช้เวลา หรือมีกลุ่มคนรู้จัก แต่เวทีที่เปิดแบบนี้เลยเหมือนแสงส่องให้ใครที่เข้ามา”

“ความจริงใจกับตัวผลงานสำคัญมาก ๆ ทั้งเรื่องคอนเซ็ปต์ตัวรูปแบบงาน ถ้าค่อนข้างเป็นตัวเราระดับหนึ่ง หรือเป็นเรื่องที่เราสนใจ มันจะทำให้ผลลัพทธ์ที่ออกมาสื่อสารได้ดีกว่า”

“ถ้าเราเชื่อในงานชิ้นนั้นจริง ๆ มันจะสามารถสัมผัสได้ เป็นสิ่งที่ทำให้งานของเราโดดเด่นขึ้นมา ใส่ความเป็นตัวเองลงไปได้เลย ถึงพอร์ตเทรตจะเป็นภาพคน แต่มันไม่ใช่แค่การเอาแบบมานั่งแล้วจบ แต่มันโดดเด่นตรงเรื่องราวของเราด้วย”

“สำหรับเวที ITALTHAI Portrait Prize 2023 ก็ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้เข้าร่วม ที่จะได้แสดงความสามารถ ทำให้มีโปรไฟล์ว่าอยู่บนเวทีระดับประเทศ แล้วยังต่อยอดไปได้อีกไกลในวงการศิลปะโลกอีกด้วย”

ดูรายละเอียดและส่งภาพเข้าประกวด ITALTHAI Portrait Prize 2023 ที่ https://portraitprizethailand.com/