ถ้านี่คือการเติบโต ก็คงเป็นการเติบโตที่แสนจะแซดสุดใจ เพราะจากเด็กหนุ่มที่ “ลืมแฟนเก่าไม่ได้” วันนั้น ในวันนี้พวกเขาได้กลายมาเป็นฝ่ายถูกกระทำแทน จนต้องขอร้องออกมาดัง ๆ ว่า “ฉันน่าจะรู้นี่ไม่ใช่รัก เธอต้องการ f**k ต้องการแค่เท่านั้น” กับซิงเกิลล่าสุดอย่าง ‘ไหนบอกเลิกกันแล้ว’ ที่เป็นดังเสียงตัดพ้อจากชายคนหนึ่งผู้ยังติดอยู่ในความอึดอัดสับสน ถึงเธอคนนั้น ที่ใช้เขาเป็นเครื่องแก้เหงา…
แค่เนื้อเพลงก็พาหน่วงแล้ว แต่มิวสิกวิดีโอเพลงนี้ยิ่งถ่ายทอดอารมณ์ภายในไปอีกชั้น เพราะในห้วงเวลาแห่งความสับสน คงมีน้อยคนที่จะระบายความอัดอั้นออกมาเป็นคำพูดได้หมด ‘ภาษาภาพ’ จึงกลายเป็นเครื่องมือเข้ารหัส ซ่อนอารมณ์ความรู้สึกไว้ในรูปทรง แสงเงา และสัญลักษณ์ เชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้ามาตีความ เหมือนภาพแห่งความคลั่งสไตล์ Expressionism, วังวนแห่งความสับสนในสเปซของแสงเงา, คาแรกเตอร์ ‘สาวสังหาร’ ผู้ถืออำนาจเหนือชายหนุ่ม และสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่แอบตะโกนความรำคาญใจออกมาเบา ๆ เผื่อให้เราช่วยกันมองหาในเอ็มวี ‘ไหนบอกเลิกแล้ว’
ถึงจะมีเนื้อหาที่เข้าใจง่ายเพราะใครก็โดนกระทำอย่างนี้กันได้ทั้งนั้น แต่เราอยากชวนมาถอดความหมายเอ็มวีนี้ไปอีกขั้น ด้วยการสำรวจประวัติของสไตล์และสัญลักษณ์ ที่น่าสนใจว่าวิดีโอสั้น ๆ นี้มีองค์ประกอบที่ชวนย้อนสำรวจไปได้ตั้งแต่ศิลปะโมเดิร์น ไปจนถึงหนังขาวดำอเมริกัน ส่วนจะมีอะไรบ้าง เลื่อนอ่านในแต่ละรูปได้เลย
ร่างกายบิดเบี้ยว เพราะจิตใจที่บุบสลาย
“เธอรู้ดีอยู่แล้ว
เธอรู้ดีอยู่แล้ว
เธอรู้ดีว่าฉัน…”
ในห้วงอารมณ์แห่งความสับสน คนที่จิตใจสั่นไหวคงไม่สามารถอธิบายอะไรออกมาเป็นคำพูดได้ง่าย ๆ ใครเคยฟังเพื่อนบ่นคงรู้ดีว่าวิธีเรียงประโยคของคนเศร้ามันฟังแล้วเข้าใจยากแค่ไหน ไม่ต่างอะไรกับการเล่าด้วยภาพ ที่พอโลกทั้งใบของเราสะเทือน จะสะท้อนออกมาเป็นภาพเหมือนในโลกจริงก็คงไม่ใช่ ในโลกศิลปะสมัยใหม่ ภาพวาดไม่จำเป็นต้องเหมือนกับโลกความเป็นจริง เมื่อโลกภายในเราบิดเบี้ยวพร่ามัวไปทั้งตัวคนและสิ่งรอบข้าง ซึ่งก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกันกับคนที่กำลังสงสัยว่า ‘ไหนบอกเลิกแล้ว’
ในเอ็มวี ‘ไหนบอกเลิกแล้ว’ ร่างกายกายของกิต - กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์ นักร้องนำของวง ยืดยาวไปซ้ายทีขวาทีจนดูประหลาดปนน่าขนลุก เกือบจะถึงขั้นสยองขวัญเหมือนในภาพของเหล่าศิลปินแห่งยุคสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) ซึ่งเป็นศิลปะที่โชว์ฝีแปรงแบบชัดเจนรุนแรงจนเห็นความเป็นเส้นและความเป็นสี เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกภายใน หรือโลกทั้งใบที่อัดแน่นอยู่ข้างในศิลปิน แทนที่จะถ่ายทอดโลกแห่งความจริงที่เห็นได้ด้วยตาเท่านั้น
ฟรานซิส เบคอน เป็นหนึ่งในศิลปินผู้ชำแหละและยืดถ่างร่างกายมนุษย์เพื่อขุดจิตใจที่ปวดแสบออกมา เช่นในภาพ ‘The Screaming Pope’ ที่นอกจากจะทรมานโป๊ปบนเก้าอี้ช็อตในภาพแล้ว ยังทรมานคนดูด้วยเสียงกรีดร้องที่ลั่นออกมาจากฝีแปรงอีกด้วย
หรือภาพ ‘The Scream’ ที่โด่งดังของ เอ็ดเวิร์ด มุงก์ ซึ่งมี ‘ความบ้า’ จับมือให้วาดอาการออกมาเป็นฉากที่บิดเบี้ยวและร่างกายที่โค้งงอ เหมือนกับ “เสียงกรีดร้องที่ดังสนั่นของธรรมชาติ” ที่มีแต่เขากับ ‘ความบ้า’ ของเขาเท่านั้นที่ได้ยิน
เทคนิคการยืดย้วยร่างกายให้แปลกตานี้เรียกว่า Elongation หรือการวาดมนุษย์แบบหลุดไปจากสัดส่วนตามธรรมชาติ แต่อิงกับสิ่งอื่นมากกว่า เช่นประสาทสัมผัสภายใต้อำนาจ ‘ความคลั่ง’ ที่บิดการรับรู้ให้ร่างเบี้ยว
แต่นอกจากร่างจะเบี้ยวแล้ว สถานที่และแสงไฟในเรื่องนี้ยังเหยียดยาว หลุดออกจากมิติธรรมดาของโลกไปด้วย และยิ่งไปกว่านั้นคืออาการของภาพที่กะพริบ สะดุด เป็นสติที่ติดขัด วิ่งไล่จังหวะหายใจไม่ค่อยทัน ซึ่งคอหนังอาจพอปรับสายตาได้ถ้าเคยผ่านหนังของ Wong Kar-wai เจ้าแห่งเทคนิคการสะดุดเวลาด้วยการยืดเฟรมให้ดูช้าลง เพื่อเน้นย้ำหรือไฮไลต์ความรู้สึกอ้างว้างท่ามกลางแสงไฟนีออนของตัวละครให้ผู้ชมได้รับรู้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
หรือที่จริง ความเจ็บปวดทางใจ ถึงจะมองเห็นได้ไม่ง่ายเหมือนความเจ็บปวดทางกาย แต่ถ้ามองจนเห็น ก็อาจพบว่ามันทรมานไม่น้อยกว่ากัน ซึ่งศิลปะแบบ Expressionism ที่บิดเบี้ยว ก็เป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่ง ที่ใช้ปลดปล่อยจิตใจหรือ ‘สำแดงพลังอารมณ์’ ออกมาได้ตามประสบการณ์ที่หลุดไปจากโลกความจริง
ปลดปล่อยร่างกายกับอันตรายในเงามืด
“เธอก็คงไม่รู้ไงทําใครติดในวังวนของการหลอก
ขอให้เธอนั้นไม่เหลือใครให้กอดเลยสักคน”
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับคนที่อ่อนไหวในค่ำคืน คือเสียงโทรศัพท์ตอนตีสองของเธอที่มีผลต่อใจ กลางคืนเป็นช่วงเวลาแห่งความเงียบ ความมืด ความสับสน และความไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ในหนังอาชญากรรมมักมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นตอนกลางคืน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ที่คู่รักในหนังจะปล่อยใจปล่อยกายให้กับความปรารถนาในความมืด โดยเฉพาะใน Film Noir สกุลหนังอเมริกันแห่งอาชญากรรม ความตาย และความชั่วร้าย ที่สะท้อนองค์ประกอบทั้งหมดนี้ผ่านการจัดแสงและเงามืดแบบลึกลับอันเป็นเอกลักษณ์
ไม่ว่าเธอจะพูดอะไรความไว้ใจก็คงไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ ตัวตนที่ลึกลับเบื้องหลังเสียงออดอ้อนในสายเป็น ‘พื้นที่’ เปราะบางที่เราอยากรู้แค่ไหนก็ไม่อาจส่องไฟให้เห็นอีกด้านของชีวิตเธอชัด ๆ เราไม่รู้เลยว่าเธอมาแบบไหน ไม่รู้ว่าอดีตของเธอจบหรือยัง และไม่รู้ว่าจะออกไปจากภาวะแบบนี้อย่างไรดี สภาพแบบนี้เป็นเซนส์ที่เราได้จากสถานที่สลัว กับเงาดำที่เห็นแค่ร่างกายของเธอ แต่จับสีหน้าท่าทางได้ไม่ชัดเจน
หนึ่งในหนังที่เล่นกับความมืดได้โดดเด่นที่สุดในยุคเราคือ The Batman (2022) ที่ล้วงลับด้านดำมืดในเมืองก็อตแธมของฮีโร่ชื่อดัง สืบสวนอดีตที่ถูกปกปิด เพื่อชำแหละความสัมพันธ์ของเหล่าตัวละครที่อยู่นอกบรรทัดฐานสังคม ฝุ่นโคลนและความมืดในเรื่องนี้สร้างบรรยากาศที่ลึกลับและสับสน ทำให้การขุดค้นปริศนาของแบทแมนยิ่งกดดันขึ้นไปอีก แต่ถึงจะลึกลับดำมืดยังไง ท้ายที่สุดก็ยังมีแสงสว่างอยู่ที่ทางออกอุโมงค์เสมอใช่ไหม?
“เธอมันคนใจดำ อย่าทําร้ายคนอย่างฉันที่จําใจทน”
นอกจากความมืดและแสงเงาที่น่าหวาดระแวง อีกเอกลักษณ์ของ Film Noir ที่แอบอยู่ในเอ็มวีนี้คือ Femme Fatale คาแรกเตอร์หญิงร้ายที่อันตรายเกินคาด ผู้ใช้เสน่ห์อันเย้ายวนเป็นฉากหน้าซ่อนความร้ายกาจแบบ ‘ถึงฆาต’ ถึงชีวิต คาแรกเตอร์สาวร้ายเช่นนี้มักปรากฏตัวในเดรสดำที่สื่อถึงความลึกลับชวนค้นหา เหมือน Gilda Mundson ใน Gilda (1946) สาวสังหารที่สร้างตำนานกับเดรสสวยดุของเธอ
ลองนึกถึงลุคของคาแร็กเตอร์แคทเธอรีน ใน Basic Instinct (1992) ที่แค่ไขว่ห้างเฉย ๆ ก็ทำคนเสียวตัวสั่นแล้ว หรือเจนนิเฟอร์ใน Jennifer’s Body (2009) สาวปีศาจ(สิง)ที่โหดเลือดสาด ตัวละครหญิงไร้ชื่อในเอ็มวีนี้ก็มากับรังสีความโหดที่แผ่ความดุทะลุจอ เพราะเพียงแค่ลูบไล้ใบหน้าของกิต ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเธอคุมเกมนี้ได้แค่ไหน
แต่สิ่งที่น่าสังเกตของเอ็มวีนี้เลยคือชุดของกิต ที่ก็แฝงความดุและลึกลับแบบ Femme Fatale ไว้ไม่น้อย จนชวนให้คิดว่า หรือที่จริงทั้งเขาและเธอต่างก็เป็นผู้กระทำที่ต้องการความสัมพันธ์แบบนี้กันทั้งนั้น หรือที่จริงคนที่อันตราย อาจไม่ใช่ผู้หญิงแค่ฝ่ายเดียว
คนที่ไว้ใจ สุดท้าย ‘ร้าย’ ถึงตาย
“แค่คนที่คอยคั่นเวลา ยามเธอเหงาใจ
เป็นตัวแทนใช่ไหม เวลาเขาไป เธอก็มา”
ลองนึกถึงวันที่เราป่วย ไข้ขึ้น ไม่อยากลุกจากเตียง สิ่งที่จะเยียวยาเราได้คงเป็นเครื่องดื่มร้อน ๆ หรือซุปอุ่น ๆ จากใครสักคนที่เป็นห่วงเรา ซุปจึงเป็นอาหารที่เชื่อมโยงกับความหมายเรื่องการปลอบประโลมและเอาใจใส่
แต่ในเอ็มวี ‘ไหนบอกเลิกแล้ว’ ซุปซึ่งเป็นอาหารแห่งความห่วงใย กลับถูกย้อมสีประหลาดที่ดูเป็นพิษ ราวกับผู้สร้างตั้งใจจะพลิกกลับความหมาย ทำให้ซุปกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายอีกคนในความสัมพันธ์
ในโลกภายในที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์แห่งนี้ ทั้งกิตและหญิงสาวคนนั้นต่างก็ถูกมัดเตรียมหย่อนลงไปใน “บ่อซุป” ที่ต้มด้วยไฟ สภาพไม่ต่างกับแมลงที่ถูกแมงมุมโยงใยรัดตัวจนหนีจากการถูกกัดกินไม่พ้น ซุปที่ร้อนแรงนี้เป็นคำถามปลายเปิดที่ Three Man Down โยนมาให้คนดู ว่าใครกันแน่ที่กำลังต้มอีกฝ่าย หรืออะไรกันแน่ ที่พาทั้งคู่จมลงไปในซุปสีขาวข้นนี้
ความสัมพันธ์ของคนสองคนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนแล้ว แต่สิ่งที่อยู่ในใจของทั้งคู่กลับยิ่งซับซ้อนเข้าไปอีก จากอาหารที่สื่อถึงการดูแลสู่สัญญะแห่งการทำลาย เอ็มวีนี้กลับด้านความหมาย ทำให้เราเข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว ที่เข้าใจว่าเราถูกเขาใช้เป็นของเล่น ในใจที่วกวนของเราก็อาจมีบางอย่าง หล่อเลี้ยงค่ำคืนแห่งความปรารถนานี้เร่าร้อน ก่อนที่จะตัดสินอะไร บางทีถ้าลองมองใกล้ ๆ เราอาจมองเห็นภาวะน่าอึดอัดนี้ชัดขึ้น เห็นอารมณ์และความปรารถนาลึก ๆ ในสัญญะต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมา โดยที่เราเองก็อาจยังไม่เคยรู้