ปลาย 2024 ออกซ์ฟอร์ดประกาศให้ ‘สมองเน่า’ (brain-rot) เป็นคำประจำปี ที่สื่อถึงปรากฏการณ์สมองชาของชาวเน็ต ที่เกิดจากการไถคลิปสั้นในมือถือนานเกินไป ตอนแรกเราก็คิดว่ามันเป็นเรื่องตลกที่ไม่ได้สำคัญอะไร แต่หลังจากคุยกับพีพี - พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิทยาศาสตร์และหนึ่งในผู้สร้างซีรีส์ไซไฟเน็ตฟลิกซ์สัญชาติไทย ‘อนาฅต’ เราเริ่มรู้สึกกลัวขึ้นมาแล้ว ว่ามันอาจเป็นสัญญาณหนึ่งของฝันร้ายที่กำลังรอเราอยู่ในอนาคต
ไม่ใช่เพราะมันจะกลายเป็นเครื่องมือแห่งปีศาจปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมาจัดการเรา แต่เพราะว่ามันชวนให้นึกถึง ผู้คนที่ละทิ้ง ‘ความเป็นมนุษย์’ โดยสมบูรณ์แบบต่างหาก
“ดิสโทเปียที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่การที่หุ่นยนต์สู้กับมนุษย์ แต่คือวันที่หุ่นยนต์ไม่มองว่ามนุษย์เป็นคู่แข่งที่ต้องต่อกรด้วย นั่นสะท้อนว่าเราสูญเสียความเป็นมนุษย์จนหุ่นยนต์ไม่สนใจเราอีกต่อไป แต่ตราบใดที่หุ่นยนต์ยังมองเราเป็นศัตรู ก็แสดงว่ามนุษย์ยังมีจิตวิญญาณ มีความโหยหาอิสรภาพ แต่เมื่อไรก็ตามที่มนุษย์บอกว่าไม่เป็นไร หุ่นยนต์ครองโลกไปก็ได้ เดี๋ยวเรานั่งไถติ๊กต่อกเล่น นั่นคือดิสโทเปียที่แท้จริง เพราะมนุษย์ละทิ้งทั้งความเป็นคนและการแสวงหาอิสรภาพไปแล้ว” เขากล่าว
ในบทบาทหนึ่ง พีพีเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับ Human-AI Interaction หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ โดยล่าสุดเขาเป็นผู้บริหารร่วม (Co-director) ของสถาบันใหม่ใน MIT อย่าง Advancing Human-AI Interaction Initiative (AHA!) แต่เราอาจจะเรียกบทบาทของเขาเหล่านั้นว่างานหลักได้ไม่เต็มปากนัก เพราะอีกแง่หนึ่ง เขาก็ทำงานศิลปะอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมงานกับ แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินผู้ใช้ร่างกายถ่ายทอดเรื่องราวของแรงงานในสังคมบริโภคนิยมในผลงาน the machine ghost in the human shell ที่เเสดงในเทศกาล Asia Pacific Triannale ที่ออสเตรเลีย หรือ กับพิเชษฐ์ กลั่นชื่น ศิลปินร่วมสมัยที่ถอดรื้อระบบนาฏศิลป์ไทยออกมาเป็น AI ร่วมกับพีพีเเละทีม เเละล่าสุดในฐานะหนึ่งในผู้สร้าง (creator) ของซีรีส์ Netflix ‘อนาฅต’ ที่เขาบอกว่า “อยากให้คนคิดลึก”
“เราไม่อยากทำซีรีส์ที่ให้คนดูคิดลบว่าอนาคตมันแย่ หรือคิดบวกว่ามันจะดีมาก สิ่งที่เราต้องการคืออยากให้คนดูคิดอย่างลึกซึ้ง” เขากล่าวถึงซีรีส์เรื่องนี้ “ไม่ว่าจะเป็นยูโทเปียหรือดิสโทเปีย มันล้วนเป็นภาพจินตนาการที่สุดโต่งทั้งสิ้น แต่ในสังคมของเรา ประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันไป ถ้าเป็นคนรวยในกรุงเทพฯ อาจมีความสุข แต่ถ้าเป็นคนจน ก็อาจต้องต่อสู้ชีวิตมากขึ้น ดังนั้น ยูโทเปียกับดิสโทเปียจึงสามารถอยู่ในพื้นที่เดียวกันและเวลาเดียวกันได้” ซึ่งอาจจะทำให้ทุกคน ดูศิลปะไซไฟ ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป
GroundControl ชวนเขามาคุยถึงความสำคัญของ ‘จินตนาการ’ จากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ (ที่ทำงานศิลปะด้วย) และความสำคัญของจินตนาการอนาคตไซไฟแบบไทย ๆ ที่ตั้งคำถามกับทั้งเทคโนโลยีและความหมายของ ‘วัฒนธรรม’ ไปด้วย
เพราะก็คงไม่มีที่ไหนอีกแล้วจริง ๆ ที่จะสร้างโลกไซไฟ ให้มีหุ่นยนตร์ให้บริการทางเพศ แบบอ้าขาแล้วยิงลูกปิงปองออกมาได้ นอกจากไซไฟไทย ๆ ที่มาจากเขา
โปรเจกต์แบบซีรีส์ ‘อนาฅต’ ถือเป็นงานแพสชัน นอกเวลางานหลักที่ MIT ไหม แบ่งเวลาทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์กับการทำงานศิลปะอย่างไร
ตอบในระดับปรัชญาก่อน คือเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์กับศิลปะมันเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ถ้าเราอยากจะมีความคิดสร้างสรรค์เราต้องทำทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ การออกแบบ และการวิศวกรรม มันจะกระตุ้นให้เราคิดอะไรออกมา และคิดแบบเชื่อมโยงกัน
ซึ่งงานแต่ละชิ้นของพีพีมันก็จะแตะไปเรื่องความเป็นคนในแต่ละมิติ อย่างโปรเจกต์นี้จะพูดถึงคนในอนาคต คือหนังไซไฟมันไม่ใช่แค่ปืนเลเซอร์หรือยานอวกาศ แต่คือการเอามนุษย์เข้าไปอยู่ในบริบทที่แตกต่างออกไปจากที่เป็น แล้วทำให้เราตั้งคำถามว่าพอมนุษย์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่มันถูกผลักออกไปขนาดนั้นแล้วมันท้าทายความเป็นคนของเราอย่างไรบ้าง
แต่ในระดับส่วนตัว เราเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยอยู่ที่ MIT ก็จะสามารถเลือกโจทย์ที่เราจะทำได้เอง ทำให้เราจัดการเวลาของเราเองได้ เราก็ทำงานวิจัยที่ให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นโปรเจกต์ต่าง ๆ ซึ่งพีก็ถือว่าการเล่าเรื่องเป็นภาพยนตร์ก็เป็นรูปแบบการนำเสนออย่างหนึ่งของงานวิจัย เหมือนถ้าเป็นการวิจัยเทคโนโลยีอื่น ๆ ก็อาจจะได้ผลลัพธ์เป็นตัวต้นแบบ (Prototype) หรือรายงานวิจัย แต่ของเราเป็นหนัง
มิติความเป็นมนุษย์สำคัญสำหรับวิทยาศาสตร์อย่างไร
สำหรับพี ตอนเรียนปริญญาตรีพีเรียนในวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (College of Liberal Arts and Sciences) ซึ่งเขาไม่แยกระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การท่องจำ แต่คือการพัฒนาวิธีคิดและการตีความอย่างลึกซึ้ง เช่น การนำวรรณกรรมคลาสสิกมาตีความใหม่ในบริบทปัจจุบัน ถ้าตัวละครเหล่านั้นใช้โซเชียลมีเดียจะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องอาศัยทั้งตรรกะวิทยาศาสตร์และความเข้าใจในความเป็นมนุษย์
ซัลบาโด ดาลี (Salvador Dalí) เคยกล่าวว่า ‘Every painter paints the cosmogony of himself’ หมายความว่าศิลปินทุกคนสร้างงานที่สะท้อนโลกในยุคของตน เช่นเดียวกับดาลีที่อยู่ในยุคนิวเคลียร์ของไอน์สไตน์ ผลงานของเขาจึงมักแสดงถึงการแตกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
ในยุคที่เทคโนโลยีอย่างเช่น AI มีบทบาทมากขึ้น ศิลปินก็ต้องสร้างเรื่องราวที่ร่วมสมัยกับยุคของตัวเอง พีตั้งคำถามว่ามนุษย์จะทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไร และมันเกี่ยวข้องกับมิติต่าง ๆ ของมนุษย์อย่างไร หากเรามองเทคโนโลยีในแง่วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว โดยลืมเรื่องความเป็นมนุษย์ เราอาจเข้าสู่ยุคที่คนกลายเป็นเครื่องจักร (machinized humans) และเครื่องจักรกลายเป็นคน (humanized machines) ซึ่งเป็นความย้อนแย้งที่น่าเศร้า
พีพี พี่ผ้าป่าน สิริมา และพี่แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร เคยพูดคุยกันถึงประเด็นที่ว่า มนุษย์อาจกลายเป็นเพียงร่างทรงของเทคโนโลยี สูญเสียความเป็นคนไปหมดสิ้น การศึกษาความเป็นมนุษย์ หรือมนุษยศาสตร์ จึงสำคัญต่อการตั้งคำถามและสะท้อนว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในยุคที่เปลี่ยนแปลงนี้
พี่พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินการแสดงไทยร่วมสมัย เคยบอกพีว่า งานร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์หรือศิลปะ ไม่ใช่แค่ความล้ำสมัยหรืองานที่ดูมินิมัลสวยงาม แต่มันคือการตั้งคำถามว่า “เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในอนาคต” งานร่วมสมัยจึงชวนให้เราคิดถึงอนาคตในเชิงแก่นสาร และตั้งคำถามว่านี่คืออนาคตที่เราอยากเห็นจริงหรือไม่
วิทยาศาสตร์ไม่ได้ให้ความสำคัญในแง่คุณค่าหรือจิตวิญญาณ มันไม่ได้ถามต่อว่าการพัฒนานิวเคลียร์จะนำไปสู่การสร้างโรงงานไฟฟ้า หรือเอาไปถล่มคน แต่ศิลปะมันหาคำตอบเชิงจิตวิญญาณหรือความเป็นมนุษย์ด้วย ว่าจะพัฒนาสิ่งเหล่านั้นเพื่ออะไรและอย่างไร
อะไรทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์ไป
ในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างง่ายและเร็วขึ้น พร้อมคำตอบสำเร็จรูปมากมาย สิ่งนี้อาจดีในแง่หนึ่ง แต่การที่ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องง่ายทำให้ความซับซ้อนหายไป เราจึงมองโลกในแง่ขาว-ดำ ซึ่งทำให้การถูกชักจูงง่ายขึ้น และในหลาย ๆ เรื่องราวในหนังไซไฟ เราก็มักเห็นว่าคนในสังคมถูกชักจูงง่าย จนทำให้ประชาธิปไตยยากขึ้น ถ้าหากประชาธิปไตยคือการที่แต่ละคนสามารถคิด วิเคราะห์ และพูดคุยกันได้ เมื่อทุกอย่างถูกลดทอนให้เหลือแค่ขาวกับดำ ความอิสระทางความคิดของเราก็ลดลงตามไปด้วย
เราจึงต้องพูดถึงประเด็นนี้ เพราะมันเป็นปัญหาระดับ ‘Meta-crisis’ หรือปัญหาของตัวปัญหาเอง เพราะปัญหาที่เราพูดถึง เช่น ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือ ปัญหาเทคโนโลยี สุดท้ายก็กลับมาที่คำถามว่า มนุษย์เรามีศักยภาพในการเข้าใจสังคม ตัวเอง เเละสิ่งต่างๆลดลงไหม ทั้งที่เรารับข้อมูลได้เร็วขึ้น แต่เราอาจกำลังสูญเสียความสามารถในการคิดและประมวลผลไปหรือเปล่า?
สำหรับพี ดิสโทเปียที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่การที่หุ่นยนต์สู้กับมนุษย์ แต่คือวันที่หุ่นยนต์ไม่มองว่ามนุษย์เป็นคู่แข่งที่ต้องต่อกรด้วย นั่นสะท้อนว่าเราสูญเสียความเป็นมนุษย์จนหุ่นยนต์ไม่สนใจเราอีกต่อไป แต่ตราบใดที่หุ่นยนต์ยังมองเราเป็นศัตรู ก็แสดงว่ามนุษย์ยังมีจิตวิญญาณ มีความโหยหาอิสรภาพ แต่เมื่อไรก็ตามที่มนุษย์บอกว่าไม่เป็นไร หุ่นยนต์ครองโลกไปก็ได้ เดี๋ยวเรานั่งไถติ๊กต่อกเล่น นั่นคือดิสโทเปียที่แท้จริง เพราะมนุษย์ละทิ้งทั้งความเป็นคนและการแสวงหาอิสรภาพไปแล้ว”
ปกติท่าทีของศิลปะอย่างภาพยนตร์หรือวรรณกรรมต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ มักจะมองมันอย่างหวาดกลัว หรือไม่ก็มองมันในแง่ดีสุด ๆ ไปเลย สำหรับคุณพี เราควรมีท่าทีต่อเทคโนโลยีอย่างไรกันแน่
“นี่คือแนวคิดที่เราเริ่มต้นตั้งแต่แรกว่า เราไม่อยากทำซีรีส์ที่ให้คนดูคิดลบว่าอนาคตมันแย่ หรือคิดบวกว่ามันจะดีมาก สิ่งที่เราต้องการคืออยากให้คนดูคิดอย่างลึกซึ้ง
“ไม่ว่าจะเป็นยูโทเปียหรือดิสโทเปีย มันล้วนเป็นภาพจินตนาการที่สุดโต่งทั้งสิ้น แต่ในสังคมของเรา ประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันไป ถ้าเป็นคนรวยในกรุงเทพฯ อาจมีความสุข แต่ถ้าเป็นคนจน ก็อาจต้องต่อสู้ชีวิตมากขึ้น ดังนั้น ยูโทเปียกับดิสโทเปียจึงสามารถอยู่ในพื้นที่เดียวกันและเวลาเดียวกันได้ เพียงแค่มีมุมมองที่แตกต่างกัน
“มันง่ายที่จะจินตนาการถึงการล่มสลายของทุกสิ่ง แต่สิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจกว่าคือการแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในอนาคต (แต่ไม่ได้เเปลว่าดูยากหรือต้องไต่กระไดดู) เราไม่ได้มาอวยหรือด่าเทคโนโลยี แต่เราต้องการกระตุ้นให้คนดูคิดถึงผลกระทบของมัน ว่าเทคโนโลยีอาจทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้น ถ้ามันพัฒนาไปในทิศทางนี้ เราจะโอเคกับมันไหม? ถ้าไม่โอเค ทางเลือกของเราคืออะไร? นี่คือสิ่งที่เราจะได้พบในซีรีส์เรื่องนี้”
โลกอนาคตไทย ๆ แบบในซีรีส์นี้เป็นอย่างไร ทำไมโลกถึงต้องมีฟิวเจอริสม์ (Futurism) แบบไทย ๆ ด้วย
การที่เราจะสร้างอนาคตได้ เราต้องจินตนาการถึงมันให้ได้ก่อน เมื่อสังคมจินตนาการร่วมกันถึงสิ่งที่อยากเห็น มันก็เป็นขั้นแรกของการเปลี่ยนแปลง
สำหรับพี การทำงานแนวฟิวเจอริสม์ (Futurism) คือการทำงานเชิงวัฒนธรรม เช่นแอโฟรฟิวเจอริสม์ (Afrofuturism) ที่เกี่ยวกับการปลดแอกของคนดำ ซึ่งไม่ใช่แค่ปลดแอกทางกายภาพหรือกฎหมาย แต่เป็นการปลดแอกทางความคิดให้คนดำสามารถลุกขึ้นมาสร้างยานอวกาศ หรือควบคุมทรัพยากรได้
มันสำคัญที่เราจะต้องจินตนาการถึงอนาคตจากพื้นที่ของเราได้ ไม่ใช่ไปนำเข้ามาจากต่างประเทศหมด เพื่อจะคิดว่าสังคมไทยจะโตไปอย่างไรได้บ้าง ในซีรีส์เราก็พูดถึงวงการพระ ว่าจะมีการปรับตัวตามเรื่อง AI อย่างไร หรือเรื่องชุมชนคลองเตยที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ แล้วในอนาคตจะเป็นอย่างไรถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรุนแรง มันก็คือการเอาเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคมมาตั้งคำถาม
หรืออย่างหุ่นยนต์ให้บริการทางเพศหรือ Sex robot ในเรื่องของเราก็ไม่ใช่หุ่นยนต์ธรรมดา ของเราอ้าขาและปล่อยลูกปิงปองได้ด้วย ซึ่งเราจะไปเห็นจินตนาการอนาคตแบบนี้ที่ไหนได้อีกบ้าง มันก็ต้องที่นี่แหละ
จินตนาการแบบนี้นี่แหละคือซอฟต์พาวเวอร์ พีว่ามันน่าสนุกที่เราจะได้เห็นว่าแต่ละสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันมันจะกลายไปเป็นอะไร — นี่คือวัฒนธรรมของเรา — วัฒนธรรมมันคือสิ่งที่งอกงามขึ้นมา ไม่ได้อยู่กับที่ ถูกแช่แข็งไว้ แต่มันมีชีวิตและเติบโตต่อไปได้เรื่อย ๆ
เราคิดว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่เปิดให้คนได้ตั้งคำถามหลากหลาย เรามีคนทำหนังทั้งแบบพจน์ อานนท์ (ผู้กำกับเจ้าของ ‘หอแต๋วแตก’) และอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ผู้กำกับ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของเราที่มีหลากหลายรูปแบบ และสิ่งสำคัญคือเราทำออกมาแล้วตั้งคำถามกับมันอย่างเข้าใจจริง ๆ ไม่ใช่หยิบมาแค่เปลือก
หลังจากซีรีส์เผยแพร่แล้วก็มีเสียงจากคนดูมาเหมือนกัน ว่ามันพูดถึงอนาคตในแบบที่ซีรีส์จากต่างประเทศยังไม่ได้พูดถึงจริงจัง อย่างเรื่องศาสนาหรือเรื่องความไม่เท่าเทียมในสังคม เพราะถ้าเทียบกัน ที่อเมริกาประเด็นเรื่องการเหยียดสีผิวอาจจะเป็นเรื่องหลักของสังคมมากกว่าเรื่องความไม่เท่าเทียม แต่ว่าสังคมไทยเราก็ไม่ได้มีเรื่องเหยียดเชื้อชาติแบบเดียวกับเขา แต่เป็นเรื่องของคนจนคนรวยมากกว่า ซึ่งพีว่าถ้าทำเรื่องที่ใกล้ตัวเราอย่างแม่นยำ ขบคิดกับมันอย่างดี แล้วมานำเสนอ มันก็จะให้อะไรบางอย่างกับโลกได้