‘ซ้อมกี่ปีก็ไม่ได้เล่น’ แล้วศิลปิน จะเริ่มปฏิวัติกี่โมง?

Post on 29 May

นักปฏิวัติกับศิลปินเป็นเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน ความฝันและจินตนาการเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้พวกเขามีชีวิต ไม่ว่ามันจะเป็นภาพของสังคมอุดมคติ หรือรูปแบบงานศิลปะที่ล้ำสมัยเกินกว่าที่ใครเคยเห็น บางทีในสังคมที่การต่อสู้เข้มข้น เราอาจได้เห็นใครบางคน เป็นได้ทั้งนักปฏิวัติผู้คลั่งไคล้ศิลปะแนวทดลองที่สหายร่วมอุดมการณ์คนอื่น ๆ อาจต้องเกาหัว และศิลปินที่ตะโกนคำใหญ่สไตล์ซ้ายชายไทย ซึ่งทั้งหมดนี้กรูกันออกมาอยู่ที่ละครเวที ‘ซ้อมกี่ปีก็ไม่ได้เล่น’

จากบทละครชิลี ‘พยายามประดิษฐ์ละครที่จะเปลี่ยนโลก’ (TRYING TO CREATE A PLAY THAT WILL CHANGE THE WORLD) สู่ละครเวทีไทยที่ไม่บอกก็คงไม่รู้ว่ามาจากต่างประเทศ เพราะถ้าใครผ่านคลื่นการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยสองสามปีที่ผ่านมา คงเห็นได้ไม่ยากว่าละครเวทีที่แสดงอยู่ในโรง THEATRUM นี้บันทึกอารมณ์ ความคิด และปรากฏการณ์ของเหล่านักปฏิบัติการ(ทางศิลปะ)ได้ครบถ้วน แถมด้วยการจิกกัดพอให้ขำ แต่ต้องเก็บไปนอนคิดทั้งคืน

เพราะนี่คือเรื่องราวของกลุ่มละครเวทีที่รวมนักแสดงคาแรกเตอร์จัด ซึ่งกำลังหลบเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองมาอยู่ในบังเกอร์ และพยายามคิดค้นเทคนิคการละครใหม่ ๆ ที่จะทำให้ละครเวทีของพวกเขาปฏิวัติโลกได้ ซึ่งแต่ละคนก็โยนไอเดียกันแบบทะลุกรอบ (หรือทะลุโลก?) จนเราคนดูก็ได้แต่พยายามตั้งตัวคิดว่า ไอเดียพวกนี้มันจำเป็นด้วยหรือ? แล้วขีดจำกัดของความเป็นไปได้อยู่ตรงไหน? ซึ่งก็ดูเป็นคำถามประเภทเดียวกับที่นักปฏิวัติทั้งหลายต้องตอบสังคม

ในปี 2563 สังคมไทยได้รู้จักม็อบประเภท “ไร้แกนนำ” ที่ยืนยันเรื่องการรวมตัวแบบออร์แกนิก ในปี 2566 เราก็เจอละครเวทีที่บอกได้ไม่ชัดนักว่าใครเป็นตัวละครนำ และยิ่งไปกว่านั้น คือเหล่าตัวละคร/นักแสดงในเรื่องเอง ก็เผชิญกับวิกฤติของกลุ่ม ที่ไม่ต้องการมีผู้นำ หลังผู้นำคนก่อนตายไป

อาการร้ายทั้งหมดในความสัมพันธ์ของพวกเขา ชี้ไปที่ความกลัวสูงสุดของผู้ที่สู้เพื่อเสรีภาพและผู้ที่ใช้เสรีภาพทำงานสร้างสรรค์ คือความกลัวที่จะเป็นเผด็จการ

อยากให้ลองสังเกตสีหน้าท่าทางและการกระทำของแต่ละคนดี ๆ ว่าจริงหรือ ที่กลุ่มการละครแห่งนี้ทุกคนมีบทบาทเหมือนกัน จริงหรือที่กลุ่ม “ไร้แกนนำ” จะ “ไร้การนำ” เพราะในขณะที่พวกเขาขยับออกจากการละครแบบเดิม ๆ ไปหาละครที่ลึกล้ำทางความคิดเรื่อย ๆ พร้อมขยับหนีการจัดตั้งผู้นำไปหาความออร์แกนิกมากขึ้น พวกเขาก็ยิ่งห่างจากความ “บ้าน ๆ” ที่ไม่เก็ตทฤษฎีศิลปะยาก ๆ และยิ่งเฉียดเข้าใกล้ภาวะวงแตก จากการเถียงกันเรื่องแนวทางละครของแต่ละคน

‘ซ้อมกี่ปีก็ไม่ได้เล่น’ เลยเป็นละครเวทีที่สะท้อนทฤษฎีการละครไปหาทฤษฎีการเมือง และสะท้อนกลับไปมาแบบไม่กลัวคนดูเหนื่อย ซึ่งยิ่งขีดเส้นเน้นว่าทั้งสองเรื่องเกี่ยวพันกันยังไง

แฟน ๆ ละครโรงเล็ก ต้องถูกใจกับการแหกขนบละครกระแสหลัก ที่ให้ทั้งความสะใจและความขำแบบหวั่น ๆ ว่านี่เล่นอะไรกันอยู่ แต่นี่ก็ไม่ใช่ละครที่ทดลองเพื่อทดลอง แต่ตรงกันข้าม ‘ซ้อมกี่ปีก็ไม่ได้เล่น’ เป็นละครที่ใส่ใจกับรสนิยม “แมส” เพราะถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่ทำให้นักปฏิวัติต่างจากนักทดลองก็คือมวลมหาประชาชนที่ก็คือ “Mass” นี้เอง ไม่ใช่การทดลองที่ลึกล้ำ แต่ไม่สามารถนำการลุกฮือได้ ไม่ว่าจะเป็นการทดลองทำละครหรือการทดลองในการรวมกลุ่ม

ละครเวที ‘ซ้อมกี่ปีก็ไม่ได้เล่น’ แสดงที่ THEATRUM.bkk ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม - 11 มิถุนายน 2566 ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/TheatrumBkk

#GroundControlTH