‘วิวาทะเรื่องการศึกษาศิลปะไทย’ จะว่าใหม่ก็ไม่ใหม่ จะว่าเก่าก็ไม่เก่า เพราะมีประเด็นผุดขึ้นมาให้ถกเถียงและขบคิดกันอยู่เสมอ ๆ และเมื่อฤดูกาลจัดแสดงผลงานธีสิสนักศึกษาศิลปะเวียนมาอีกหนในปีนี้ ประเด็นเรื่องการศึกษากับศิลปะ โดยเฉพาะเรื่อง ‘คุณภาพ’ ผลงานของนักศึกษาผู้จะไปเป็นศิลปินและคนทำงานในแวดวงสร้างสรรค์ของไทย ก็เวียนมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเช่นเคย
หลังเดือนที่แล้ว สาขาภาพยนตร์เพิ่งมีข้อถกเถียงในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการทำผลงานจบที่แพงขึ้นทุกปี ๆ มาเดือนนี้ก็เป็นเรื่องของสาขาภาพถ่าย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากสเตตัสเฟสบุ๊กของอดีตนักศึกษาสาขาการถ่ายภาพสร้างสรรค์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ออกตัวว่าตนเคยเข้าเรียนในสาขานี้ได้หนึ่งปีก็ลาออกไป ซึ่งในสเตตัสที่จุดประเด็นให้เกิดการพูดคุยเรื่องศิลปะภาพถ่ายและระบบการศึกษาครั้งนี้ เขาได้นำเสนอความคิดเห็นที่มีต่อนิทรรศการศิลปนิพนธ์สาขาการถ่ายภาพสร้างสรรค์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในชื่อ YOLO Thesis Exhibition ซึ่งจัดแสดงผลงานก่อนเรียนจบของนักศึกษา อยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตอนนี้ โดยมีใจความบางส่วนดังนี้
“หนักใจนะในการจะเขียนถึง ขออภัยเพื่อน ๆ โฟโต้ที่อยู่ในเฟสด้วย แต่สิ่งที่จะเขียนนี้เป็นการวิพากอย่างมุ่งเน้นไปที่อาจารย์และหลักสูตร ผ่านงานของนักศึกษาที่ร่ำเรียนมา 4 ปี หากได้อ่านโปรดคิดดี ๆ ว่าพวกอาจารย์สอนอะไรอยู่ (หรือนศ.ที่ผ่านมาเห็นอยาก tag อาจารย์ก็ตามแต่สะดวก)
"ผมไม่ได้สอนเด็กเป็นศิลปิน ผมสอนเด็กให้มีงานทำ" อาจารย์ท่านหนึ่ง
“สิ่งที่ท่วมท้นหลังเดินเข้าไปในงานมีแต่ เรื่องของตนเองที่ไม่มีใครอย่างฟัง เหมือนเสียงตะโกนบอกข้างหูว่ากูแม่งมีอดีตอย่างนู่น มีความรู้สึกอย่างนี้ การผลิตซ้ำทางภาพจำของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ที่ฉาบฉวย เปลือยเปล่า น่าเบื่อ สัญญะที่ไร้สาระและบีบบังคับให้เราต้องเชื่ออย่างนั้น เด็กโฟโต้กลายเป็นพวกโรแมนติกที่มองโลกอย่างสวยงาม มองไม่เป็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็มองข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ภาพที่เห็นก็ไม่ต่างอะไรกับภาพที่เห็นมาก่อนหน้านี้ เหมือนภาพอีกล้านภาพบนโลกที่สร้างในทุก ๆ วัน”
เนื้อหาในสเตตัสมีการพูดถึงผลงานบางชิ้นที่ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการ รวมถึงในตอนท้ายที่กล่าวว่า “งานกลุ่มสัญญะ มโน ปลอม แดกดันให้ผู้ดูต้องคิดอย่างนั้น ตัวงานไม่ได้สร้างสัญญะขึ้นมา มันคือข้อความข้าง ๆ ผีเสื้อหมายถึง บรา ๆ ๆ ๆ แม่งค่ดกำหนดคนดูอะ แม่งไม่สามารถทำให้เราคิดอย่างอื่นได้ หรือพวกสีนี้ สีนั้น หมายถึง โดยเฉพาะสีฟ้าแม่งแทนความเศร้า แม่งทำให้คนดูขาดไร้จิตนาการ และสั่งให้ทุกคนต้องคิดแบบนั้น
“อันนี้โดยรวมนะ ไม่ได้เจาะไปที่งานใครงานหนึ่ง ดูสิ่งที่หลักสูตรและอาจารย์สรรสร้างสิ ไม่ได้ลงรายละเอียดไปที่งานจัดการนะ สุดท้ายแล้วคุณจะให้เด็กเป็นอะไรอะ ค่าเทอม 23000 บาท ไม่อยากสร้างเด็กเป็นศิลปินแต่ก็ช่วยให้เด็กมีอนาคตที่ดีกว่านี้หน่อย "try to fly" ถ้าเด็กเป็นนกก็ดีเพราะนกบินเองได้ แต่อันนี้มันมนุษย์ ผมไม่ได้หวังว่าต้องสร้างหลักสูตรที่เด็กเป็นศิลปิน แต่สร้างคนที่สามารถคิดได้หน่อย เงิน 23000 นั้นคุณให้อะไรเด็กบ้างนอกจากอุปกรณ์ โปรแกรม ไหน หรือก็ประคบประงมเด็กจนเผชิญกับโลกภายนอก พอรู้ตัวอีกที "กูยังบินไม่ได้นี่หว่า 4 ปี ที่ผ่านมากูได้อะไรวะ"
“จากใจคนเคยเรียน ปีเดียวก็เกินพอสำหรับที่นี้ เอาใจช่วยทุกคนที่ยังอยู่ หากมหาลัยเคี่ยวไม่ได้อาจต้องพึ่งพาตัวเองไปโลกภายนอกแทน ขออภัยสำหรับภาษาที่ไม่สุภาพเป็นสำนวนส่วนตัวนิดหน่อยเพิ่มความสนุกในการอ่าน และย้ำอีกครั้ง ผมเชื่อในศักยภาพมนุษย์ นักศึกษาควรได้ดีกว่านี้
“เดี๋ยวจะมีอาจารย์โฟโต้คิดแน่ ๆ (ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้นะ) "แน่จริงมึงมาทำให้กูดูสิ" ไร้สาระมาก ผมเป็นผู้รับชมงาน มีสิทธิ์โดยชอบที่จะกล่าวเช่นนี้”
แน่นอนว่าสเตตัสสุดเผ็ดร้อนนี้ได้กลายเป็นกระแสดราม่าย่อม ๆ ในแวดวงศิลปะบนหน้าไทม์ไลน์ที่เรียกคนในแวดวงออกมาแสดงความเห็นต่อกันอีกมากมาย แต่เหตุผลที่เราอยากชวนทุกคนมาร่วมมุงสำรวจความเห็นที่มีต่อดราม่าครั้งนี้ไม่ใช่เพราะแค่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสเตตัสดังกล่าว แต่เพราะข้อคิดเห็นชุดนี้ได้จุดบทสนทนาในประเด็นต่าง ๆ อีกมากมายที่น่าขบคิดกันต่อ ทั้งเรื่องภาพถ่ายในฐานะงานศิลปะและวัฒนธรรมการวิจารณ์ของไทย เราจึงขอรวบรวมประเด็นความคิดเห็นที่น่าสนใจบางประการมาให้อ่านต่อกัน
📍 เครื่องจักรถ่ายภาพที่ไม่สามารถคิดได้?
ถ้อยคำที่ดูจะจุดประกายการถกเถียงได้รุนแรงที่สุดในต้นโพสต์ดังกล่าวคงเป็นท่อนที่ว่า “พวกคุณแม่งคุณภาพ ถ่ายได้ดี จัดแสงเป็น ไดคัทเป็น แต่งภาพเป็น แต่แล้วยังไง สุดท้ายแล้วกลายเป็นเครื่องจักรถ่ายภาพที่สร้างภาพได้ แต่ไม่สามารถคิดได้” ซึ่งถึงจะชม (?) ในแง่ทักษะฝีมือ แต่ก็มีนัยชวนให้คิดต่อถึงคำถามคลาสสิกว่า ศิลปะคืออะไร? คนถ่ายภาพที่จัดไฟได้ แต่งภาพเป็น คุณสมบัติเหล่านี้เพียงพอที่จะเรียกว่า ‘ศิลปิน’ หรือไม่?
ประเด็นเรื่องภาพถ่ายในฐานะปฏิบัติการทางศิลปะ กลายมาเป็นคำถามที่ถูกขบคิดกันต่อ และมีผู้คนในแวดวงศิลปะมากมายที่ออกมาให้ความเห็นผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น Kittiphol Saragganonda (กิตติพล สรัคคานนท์) นักเขียน บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งร้านหนังสือทางเลือก Books & Belongings ที่ชวนมองข้อหา “เครื่องจักรที่ถ่ายภาพได้” ว่าเป็นประเด็นที่มีฐานความคิดเชื่อมโยงกับแนวคิดของ ฟรองซัวส์ ฌูเลียง ( François Jullien) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่อธิบายว่า “การถ่ายภาพคือม่านหรือฉากที่กันเราจากการมองเห็น การยกกล้องขึ้นถ่ายจึงไม่ใช่การมอง อย่างน้อยก็ในความคิดของ ฟรองซัวส์ ฌูเลียง” กิตติพลเขียน
“งานในภาพรวมเน้นความชำนาญการทางเทคนิค แต่ยังขาดกระบวนการขบคิดเชิงมโนทัศน์อยู่ ทำให้ออกมาแบบสามารถเห็นได้โดยทั่วไปและนึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ่ายมาทำไม บางงานมีกระบวนการทำงานที่ดีแต่ภาพยังอยู่ในกรอบเหมารวมของอุตสาหกรรมทางศิลปะอยู่จนทำให้ภาพไม่ทำงาน” Sorayut Aiemueayut (ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ) อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนในประเด็นทักษะฝีมือเช่นเดียวกัน ก่อนจะพาเราไปสู่คำถามชวนคิดข้อใหม่ว่า แล้วสื่ออย่างภาพถ่ายนั้นมีคุณสมบัติหรือลักษณะเฉพาะอย่างไร?
“ผมมีฉันทาคติส่วนตัวว่าภาพนิ่งนั้นยากตรงที่เราจะเปล่งเสียงและความหมายให้ดังได้อย่างไรในข้อจำกัดของกล้องและกระบวนการทำภาพนิ่ง”
📍 “ผมไม่ได้สอนเด็กเป็นศิลปิน” vs “ผมสอนเด็กให้มีงานทำ”
“พูดแบบแฟร์ ๆ การที่นศ.ศิลปะจะเรียนจบออกมาแล้วเป็นศิลปินอาชีพได้นั้น เป็นสิ่งที่ยาก การจะคาดหวังให้ทุกคนเรียนจบมาแล้ว จะต้องเป็นศิลปินให้ได้ทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่เวอร์วังเกินไป” หนึ่งในเสียงสะท้อนจากอดีตนักศึกษาศิลปะที่ตรงกับความเห็นของคนจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับข้อเขียนนี้ และชวนให้คิดถึงประเด็นก่อนหน้าไม่น้อย ว่าแล้วงานที่ออกมามีภาษาภาพดูงดงามตามมาตรฐานอุตสาหกรรมนี้ มันผิดตรงไหน?
“การนำเสนอต่อกลุ่มคนดูหรือกลุ่มตลาด ในการแสดงงานของคนทำงานในเชิงสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษาศิลปะ ศิลปิน นักเขียน นักดนตรี นักแสดง และอื่น ๆ จำเป็นต้องเผยงานตนเองต่อสาธารณะชน และเมื่อมีการตัดสินนั่นคือการเมือง ทุก ๆ ที่และทุกแวดวงมีการเมือง ในตลาดที่ต้องไปแย่งชิงพื้นที่กัน แย่งชิงทามมิ่งกัน สุดท้ายแล้วก็ต้องห่ำหั่นกันในตลาด” อดีตนักศึกษาศิลปะอีกคนเขียน ซึ่งดูเหมือนจะเก็บใจความได้ครบถ้วน ทั้งข้อถกเถียงเรื่องพื้นที่การจัดแสดงผลงาน ไปจนถึงพื้นที่การแสดงความคิดเห็นออนไลน์
ความคิดเห็นดังกล่าวดูเหมือนจะพาไปสู่ข้อถกเถียงว่าด้วยความหมายของพื้นที่มหาวิทยาลัย ว่ามันควร/ไม่ควรเป็นพื้นที่ปล่อยของของนักศึกษาไหม โดยเฉพาะในโลกที่ทุกคนต้องหาเลี้ยงชีพ มหาวิทยาลัยควรจัดการศึกษาแบบไหน? โรงเรียนศิลปะควรสอนการขายงานให้ได้ไหม? โรงเรียนศิลปะควรสอนการทำงานให้ขายได้ไหม? เราควรมีชื่อเสียงก่อนแล้วค่อยติสท์ดีไหม? หรือท้ายที่สุดแล้ว ทำไมการเป็นศิลปิน/การเป็นตัวของตัวเองในตอนนี้ ถึงอยู่ตรงข้ามกับการมีงานทำ? และยังไม่นับว่า ศิลปินภาพถ่ายก็คงไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายเดียวกันที่ทุกคนทั้งหมดฝันถึงเหมือนกัน
📍 ประเทศไทยไร้ (วัฒนธรรม) นักวิจารณ์
“ก็ดีนะสมัยนี้เปิดแพลตฟอร์มให้วิพากษ์วิจารณ์วิจารณ์กันได้เยอะขึ้น ปีเราสิมีแต่อาจารย์มาวิจารณ์กันเองไม่มีความคิดเห็นคนอื่นเลย”
ในดราม่าว่าด้วยศิลปะแห่งภาพถ่ายและการศึกษาศิลปะในไทยนี้ ประเด็นที่ผู้ชมหน้าจอผู้ไม่เคยทำงานศิลปะอย่างเรา ๆ น่าจะรู้สึกเชื่อมโยงได้มากที่สุด ก็คืออีกหนึ่งประเด็นชวนคิดที่ผุดขึ้นมา ในเรื่องของ ‘พื้นที่การวิจารณ์’ ที่แม้ว่าในแง่หนึ่งจะมีผู้ที่ยินดีที่พื้นที่อินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถวิจารณ์งานศิลปะ จนขยายประเด็นอีกมากมายให้ได้มาล้อมวงครุ่นคิดกัน แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ยังมีผู้ที่มองว่า ข้อวิจารณ์ต้นทางที่เป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงครั้งนี้ มีลักษณะเป็นการ ‘ติเพื่อ (ไม่) ก่อ’ และใช้มุมมองส่วนตัวที่คับแคบเกินไปในการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นส่วนหนึ่งที่แย้งว่า ไม่ว่าคำวิจารณ์นั้นจะเป็นยังไง คนที่เป็นศิลปินก็ไม่ควรปิดหูปิดตาไม่รับฟัง
“วิจารณ์ไม่มี การสร้างสรรค์ไม่มา” Thasnai Sethaseree (ทัศนัย เศรษฐเสรี) อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียน “มีเรื่องตลก ๆ อยู่เหมือนกัน ตอนที่ใช้ซอกเล็ก ๆ ที่มหาวิทยาลัยทำงาน ในทุกวันผมก็เดินไปเดินมาอยู่แถวนั้น นั่งชิวกาแฟสูบบุหรี่บ้าง ตอนนั้นสถานที่แห่งนี้กลายเป็นที่เช็คอินสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก คนจำนวนไม่น้อยก็ขอให้ผมถ่ายรูปพวกเขากับงานที่ผมทำอยู่ตรงนั้น ผมได้รับฟังสิ่งที่เขาพูดถึงงานที่อยู่ตรงหน้าอย่างซื่อสัตย์ เพราะการไม่แสดงตนและลดความโอหังของการเป็นศิลปินลง” คือความเห็นของเขา ในรูปแบบเรื่องเล่าที่ดูจะสื่อถึงปรากฏการณ์นี้
ปรากฏการณ์แห่งการวิจารณ์ (?) ครั้งนี้ ทำให้สังคมเกิดคำถามขึ้นมาว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์ในสังคมไทยแข็งแรงหรือยัง? แล้วงานนี้เป็นบทวิจารณ์ที่ดีไหม? หรือว่ามันเป็นบทวิจารณ์ด้วยซ้ำไหม? แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยเหมือนกัน ก็คงเป็นความเห็นที่ว่า สังคมเราไม่มีนักวิจารณ์อยู่จริง มีแต่นักรีวิว/อวยศิลปะ
“เราก็มองว่างานเรามีอะไรมากกว่าการรีวิวงานศิลปะ หรืออวยศิลปินไปวัน ๆ นะ เพราะในหลายครั้ง ที่ทำงาน เราสร้างบทสนทนา ติดตามพัฒนาการของผลงานนับแต่อดีตถึงปัจจุบันของศิลปิน วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ และตั้งคำถามท้าทายคนทำงานศิลปะหลายคนซึ่งๆ หน้าอยู่เสมอมา ใครที่เคยฟังเราสัมภาษณ์หรือยกมือถามในงานทอล์คหรืองานเสวนาต่างๆ น่าจะรู้ดีอยู่” ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ นักเขียนด้านศิลปะชื่อดัง เขียน
ยังมีประเด็นอีกมากที่แตกย่อยออกมาจากยำใหญ่รวมมิตรในโพสต์ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนศิลปะ เรื่องกระบวนการทำธีสิสของนักศึกษา ฯลฯ ที่เราคิดว่าก็เป็นเรื่องที่น่าหยิบมาพูดคุยกันทั้งนั้น ทุกครั้งที่เกิด “ดราม่า (การศึกษา) ศิลปะ” ขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงเรื่องของคนบางกลุ่มเถียงกันเท่านั้น แต่ยังอาจเป็นอาการป่วยที่สะท้อนสุขภาพอันไม่ค่อยจะดีนักของวงการศิลปะไทยด้วย
ตั้งแต่ต้นทางของระบบนิเวศอย่างสถาบันการศึกษา ที่เป็นได้ทั้งผู้ผลิตศิลปินและผลิตความรู้ ความเข้าใจ หรือนิยามของงานศิลปะ ไปจนถึงเรื่องข้อจำกัดของสื่อศิลปะแต่ละประเภท เรื่องศิลปินกับคนทำงานศิลปะ ผู้สนับสนุน การหาเลี้ยงชีพของศิลปิน ไปจนถึงการวิจารณ์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักวิจารณ์อาชีพอีกต่อไป แต่เป็นวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ที่ถ้านับว่ายังมีคนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพียงเพราะวิจารณ์ศิลปะ ก็คงดูเหมือนว่าจะเป็นเส้นทางที่แสนจะยาวไกล สำหรับวงการศิลปะไทย ที่ต้องช่วยกันแก้ทีละจุด
อ้างอิง
https://www.facebook.com/techin.rung/posts/pfbid09rPg3HnNvbquwKFL2CGXDPLxReNLQNz6Zo3ksrUK2pUm9KCbd6ogGpzJH6AKWwYxl
https://www.facebook.com/s.kittiphol/posts/pfbid0vJBnKpuaKfGpCgFaTXuPmrizrgFbFy1mzDgmGHu4E4NuUHi1Vkd6QvDnDwWt1cKwl
https://www.facebook.com/sorayut.aiemueayut/posts/pfbid0N5iBvP9UqxZouBs3AdT5ugDwZpPpdRQkkKUmp3mAsLMLNw9hP3pMPzGyZ3NQdb1Ll
https://www.facebook.com/natkamol.jaisan/posts/pfbid02badwDKaijeUdcSi4HkdQagsXL8nVJyX5pRyDNHE5pPGChdNi5ct974tACt4d3Zbpl
https://www.facebook.com/ten.yossunthon/posts/pfbid02yZtCndywU6gUrDGPk8Lxtm5HCo6wjHsZZVbLj2NdT1sKgvFhYQZ8nyDxBW1xhCMMl
https://www.facebook.com/thasnai.sethaseree.5/posts/pfbid0n2kjFMG4crQaqkSumQDqtUe4XfmQBhVVFPEoGvmz4ng8S78tbDYQDUxyfC2Ahreyl