ความเป็นจริงของเกษตรกรไร้หน้า และระบบขายดอกไม้ที่ท้าทายมาตรฐานความงาม ในนิทรรศการร้านค้า ของศิลปิน นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ และ ภัณฑารักษ์ ธิติ ธีรวรวิทย์

Post on 13 May

เมื่อผลักประตูเข้าไปในพื้นที่จัดแสดงงาน ภาพที่ปรากฏตรงหน้ากลับทำให้เรานึกว่าเราได้ผลักประตูเข้าไปในร้านค้าสักแห่งที่เรียกลูกค้าด้วยภาพถ่ายสินค้าซึ่งเรียงรายอยู่เต็มผนัง ส่วนที่อยู่บนพื้นก็คือกล่องลังบรรจุกระปุกแยมวางซ้อนกันอัดแน่นอยู่ข้าง ๆ และเมื่อเราเกือบจะปรับความเข้าใจได้แล้วว่านิทรรศการนี้ถูกนำเสนอด้วยบรรยากาศของร้านรวง จอบเคียวที่วางอยู่ใกล้กันก็ทำให้เราพลันเกิดความสงสัยต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวไปอีก

‘ชนชั้น’ ‘ทุนนิยม’ และ ‘มาตรฐานความงาม’ คือสามคำใหญ่ที่เราจับได้จากการพูดคุยกับ บอล – นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ และ ฉั่ง – ธิติ ธีรวรวิทย์ สองคู่หูศิลปินและภัณฑารักษ์ผู้จับมือกันใช้ดอกกุหลาบสวยสดใสการตลบหลังทุนนิยมและค่านิยมความงามใน ‘YUMMY ROSE’ นิทรรศการที่เปิดให้ชมอยู่ที่ HOP Hub of Photography ณ ตอนนี้

‘กุหลาบ’ ดอกไม้ที่เห็นได้ทั่วไปในทุกที่และแทบทุกโอกาส แต่ในนิทรรศการนี้ กุหลาบกลับถูกนำมาเป็นวัตถุในการตีแผ่ประเด็นหนักหน่วง (แต่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา) อย่างกลไกภายใน (ตลาดดอกไม้สด) ที่ตบตาให้ผู้บริโภคอย่างเราเชื่อว่ามีสิทธิ์เลือกซื้อตามใจชอบได้อย่างเสรี (?) รวมไปถึงโลกในการรับรู้ของคนทำงานสวน ผู้ไร้ชื่อ ไร้หน้า และอาจจะห่างไกลเหลือเกินจากสินค้าในมือเรา

“ในขณะที่คนดมปลายทางอันตรายแล้ว คนที่พ่นต้นทางยิ่งอันตรายกว่ามาก ๆ เวลาพ่นยาฆ่าแมลง คนที่ได้รับสารพิษมากที่สุดคือตัวพวกเขานะครับ แต่ด้วยความเลือกไม่ได้ ผลิตภัณฑ์มันต้องถูกผลิตมาให้มันสมบูรณ์แบบจริง ๆ ทำให้เขาก็ต้องยอมเสี่ยง” นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ศิลปินผู้หลงใหลในดอกไม้ เล่าความจริงที่โหดร้ายให้เราฟัง ตรงข้ามกับภาพของดอกไม้แสนสวยที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

การเดินทางของนิทรรศการนี้เริ่มต้นจากการทำงานศิลปะที่ทำให้เขาต้องเดินทางไปเลือกซื้อดอกไม้ที่แหล่งค้าดอกไม้กลางกรุงฯ ลบคำว่าปากคลองตลาดออกไป แต่เมื่อได้ไปทำงานที่สวนจริง ๆ ก็กลับพบกับเรื่องเศร้าเบื้องหลังโลกที่อยู่ใกล้ตัวมาก ๆ แต่ก็ดูห่างไกลเหลือเกินในแง่ของการรับรู้ และทำให้เกิดเส้นทางการสืบสวน ที่ย้อนทางไปจนเห็นโครงสร้าง ‘ความเป็นจริงในสังคม’ ที่ออกจะชวนหดหู่อยู่ไม่น้อย

“จากเรื่องดอกไม้ที่มีความสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ เราก็มานึกถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ว่าสุดท้ายแล้ว ในชีวิตมนุษย์ เราก็เลือกของที่สมบูรณ์แบบตลอดเวลา อย่างกระเป๋า รองเท้า เราก็ขอให้เซลเอาของมาให้ดูก่อน ขอเช็คตะเข็บความสมบูรณ์หน่อย ตรงไหนมีตำหนิมั้ยนะ มันเป็นอุดมคติอย่างหนึ่งที่เราสร้างภาพมันขึ้นมา แล้วสังคมก็ไปยึดถือว่าสิ่งนี้คือความสวย สิ่งนี้คือความสมบูรณ์แบบ สุดท้ายมันก็กลายเป็นมาตรฐาน ซึ่งศิลปินก็เอาจุดนี้เนี่ยล่ะมารื้อสร้างมันใหม่ มาพัฒนา และส่งต่อเป็นสิ่งใหม่อีกที” ภัณฑารักษ์ ธิติ ธีรวรวิทย์ ชวนเราคิดต่อว่าเราเองก็มีส่วนแค่ไหนในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ และเราเอง สามารถทำอะไรได้บ้าง เมื่อกลไกในระบบ ยังคงทำงานด้วยคุณค่าแบบนี้ ในเมื่อเราเอง ก็ตกอยู่ใต้การควบคุมของมัน

ในนิทรรศการนี้ พวกเขาจำลองดอกไม้ร้อยดอกที่ถูกสั่งในหนึ่งออร์เดอร์ พวกเขาแปรรูปดอกกุหลาบที่ปนเปื้อนสารเคมีมาเป็นแยมที่กินได้ (ด้วยความระมัดระวัง) และโกดังสินค้า ที่ซ่อนชีวิตจริง ๆ ของผู้ผลิตล่องหนไว้ด้านหลัง
.
เราเพิ่งรู้ว่าดอกลิลลี่ที่จริงบานคว่ำไม่ได้บานหงายจากบทสนทนานี้ เราเพิ่งรู้ว่าเราไม่ได้เลือกดอกไม้ในตลาดได้ตามใจนึก แต่เลือกภายใต้สิ่งที่มีคนกำหนดมาแล้ว และก็ยังมีอีกหลายสิ่งเหลือเกินที่เราเพิ่งรู้จากบทสนทนากับพวกเขา และถ้าอยากรู้เรื่องราวทั้งหมดกันแล้ว เราก็อยากชวนทุกคนมาอ่านบทสัมภาษณ์นี้กัน ก่อนจะเดินเข้าช็อปกุหลาบแดงแสนอร่อยของพวกเขากัน

#นรภัทร: ต้องเล่าก่อนว่างานนี้มันมีที่มาจากงานครั้งก่อนที่พูดถึงกระบวนการปลูกดอกไม้ที่มีการดัดแปลง เช่นการเปิดไฟใส่ดอกไม้ในตอนกลางคืน จนดูเหมือนเป็นการบังคับให้พวกเขาโตทันเวลาเก็บเกี่ยว ทั้งที่มันเป็นเวลาที่ผิดธรรมชาติของดอกไม้ งานนี้ก็ย้อนกลับไปที่รากของความเป็นเกษตรกรในสวนดอกไม้ โดยย้อนกลับไปที่สวนดอกกุหลาบในจังหวัดเชียงใหม่ ปัญหาที่ไปเจอมาก็คือเกษตรกรจะไม่มีทางรู้เลยว่าดอกไม้ที่พวกเขาปลูกมันจะขายได้ในราคาเท่าไร จนกว่าพ่อค้าแม่ค้าในตลาดดอกไม้สดจะตัดสินใจร่วมกันว่าให้ขายราคาเท่านี้ แต่คราวนี้ดันมีพ่อค้ากลุ่มหนึ่งที่อยากจะโกงเกษตรกร ก็แจ้งยอดกลับไปว่าดอกไม้ที่ได้รับในออร์เดอร์มีสภาพไม่สมบูรณ์ ทำให้เขาได้รับยอดเงินต่ำกว่าที่ตกลงกันเอาไว้

ในการออร์เดอร์หนึ่งครั้ง มันจะมาพร้อมกันหนึ่งร้อยดอก เราก็จำลองการออร์เดอร์ตรงนั้นมาอยู่ในนิทรรศการนี้ ให้เห็นว่าในออร์เดอร์หนึ่งก็มีความแตกต่างในด้านสรีระ ระยะเวลาการบานของดอกไม้ หรือ ‘ความสมบูรณ์’ ของมัน

ถัดจากกำแพงที่เป็นภาพดอกกุหลาบ ก็จะเป็นกำแพงที่โชว์ตัวแยม ซึ่งมาจากการต้องการของเราที่จะทำลายความสมบูรณ์แบบของดอกกุหลาบที่จะถูกส่งไปตลาดดอกไม้สด เราเลยจัดการทำให้ดอกกุหลาบที่เป็นดอกไม้สด ถูกนำไปแปรรูปกลายเป็นวัตถุที่สมบูรณ์แบบ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ โดยการดึงเอากลีบดอกมาเข้ากระบวนการที่เปลี่ยนเค้าโครงเดิมของดอกไม้ นั่นก็คือการเอาไปแปรรูป

แยมที่จัดแสดง (และขาย) ในนิทรรศการนี้ก็เป็นผลลัพธ์ที่มาจากฟาร์มเหมือนกัน ก็จะมีสารเคมี มียาฆ่าแมลงเหมือนกัน แต่ในกระบวนการทำแยม เราก็มีการลดปริมาณสารเคมีให้อยู่ในระดับที่คนสามารถรับประทานได้ แต่ก็แจ้งไว้ก่อนว่าการรับประทานอาจจะส่งผลกระทบกับบางคนได้ ก็อยากให้ตัดสินใจเรื่องนี ก่อนที่จะลองเปิดชิม เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาทั้งในฐานะผลิตภัณฑ์และงานศิลปะด้วย

#GC: ดูเป็นกระบวนการรีเสิร์ชที่น่าสนใจมากสำหรับการทำนิทรรศการศิลปะ โดยเฉพาะเรื่องเบื้องหลังลับ ๆ ของอุตสาหกรรมนี้ที่น่าจะหาข้อมูลได้ยากพอสมควร

#นรภัทร: คือจริง ๆ มันเริ่มจากการที่ทางสวนดอกไม้ I Love Flower Farm ชวนเราไปทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันสวนผ่านมุมมองศิลปะ พอไปถึงสวน ทีแรกก็ยังไม่มีเรื่องประเด็นอะไรเกิดขึ้นนะ เราใช้ชีวิตอยู่ในสวนประมาณหนึ่งเดือน บินไปกลับกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ด้วยความสนับสนุนจากทางสวนเอง แล้วก็เห็นว่าเกษตรกรทำงานกันหนักมากๆเลย แดดร้อนมาก แม้ว่าจะเป็นช่วงปลายปี แล้วเขาต้องขุดดิน หว่านเมล็ดกัน

มันเป็นสวนที่ปลูกต้นบลูซันเวียสลับสีม่วงเข้มกับอ่อน แต่ประเด็นคือถ้าจะให้มันสลับสีกันไปมา เราต้องรอดูมันโตก่อน ถึงจะรู้ว่าต้นนี้ออกดอกเป็นสีอะไร แล้วบางทีเมล็ดพันธ์มันมีการปนเปื้อน มีสีอื่นมาปนบ้าง ก็ต้องคอยย้ายต้นพวกนี้ออกไปสู่แปลงที่ถูกต้องของมัน ก็เลยเห็นกระบวนการในการจัดการสวนให้สวยสมบูรณ์แบบ มันลำบากมากจริง ๆ แล้วพอเราเห็นการทำงานของเกษตรกรก็รู้สึกชอบ ประทับใจมาก และรู้สึกขอบคุณกับทาง I Love Flower Farm มากๆ ที่ชวนไปร่วมงานกับเขา เพราะเราเกิดในกรุงเทพฯ การจะได้เห็นอะไรแบบนี้มันเป็นไปได้ยากมาก ๆ คงเหมือนหนึ่งในร้อย ที่คนทำงานศิลปะมาตลอดจะได้รู้ต้นกำเนิดของดอกไม้

ตอนเราไปถึงก็เห็นแม่เจ้าของสวนเหมือนปลอมตัวมาแบบในหนังเลย ใส่ชุดเกษตรกรมาเดินไปนั่นไปนี่ ตัดหญ้าถางหญ้า มารู้ทีหลังว่าเป็นแม่ของเจ้าของสวน เราก็เดินไปคุยเล่นปกติ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ปลอมตัวมานะ แต่นี่คือกิจวัตรที่เขาทำมาโดยตลอดจริงๆ เราก็คุยเล่นมาจนรู้สึกแฮปปี้ที่ได้คุยกับเขา ผ่านไปอีกวันเราก็เห็นเกษตรกรกำลังพ่นยาฆ่าแมลงใส่ดอกกุหลาบ เราก็เลยถามว่ามันจำเป็นจะต้องพ่นใช่ไหมครับ เขาบอกว่าถ้ามันไม่พ่น มันก็ไม่สามารถจะผลิตดอกกุหลาบที่สมบูรณ์แบบพอที่จะตัดขายได้จริง ๆ

ซึ่งในขณะที่คนดมปลายทางอันตรายแล้ว แล้วคนที่พ่นต้นทางยิ่งอันตรายกว่ามาก ๆ เวลาพ่นยาฆ่าแมลงคนที่ได้รับสารพิษมากที่สุดคือตัวพวกเขานะครับ แต่ด้วยความเลือกไม่ได้ ผลิตภัณฑ์มันต้องถูกผลิตมาให้มันสมบูรณ์แบบจริง ๆ ทำให้เขาก็ต้องยอมสละอะไรบางอย่าง พ่นยาฆ่าแมลงในสวนดอกไม้ เพื่อให้มันสมบูรณ์แบบที่สุดจริง ๆ ต้องบอกก่อนนะครับว่าพวกสารเคมีต่างๆที่เกาะตามดอกไม้ เมื่อผ่านมาซักระยะมันจะเจือจางจนเหลือสารเคมีไม่ได้มากจนเป็นอันตราย หากไม่ได้สูดดมโดยตรงแบบหนักหน่วงจริงๆ เรื่องยาฆ่าแมลงก็ค่อนข้างเปลี่ยนความคิดเรามากพอสมควรไปเลยเหมือนกัน

แล้วพอไปในสวนก็ทำให้พบว่าดอกกุหลาบที่ถูกปลูก ส่วนมากมาจากเกษตรกรเป็นคนหัวศูนย์ คือคนที่เลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลขศูนย์ เป็นคนพื้นเมือง คนบนดอย ที่เขามีสิทธิไม่เท่ากับคนที่อยู่แบบเรา ก็เลยอยากพูดเรื่องราวของพวกเขาผ่านงานชิ้นนี้ด้วย เพราะมันคือตัวแทนของการลงมือ ลงแรง ลงใจของเขา จนเป็นดอกไม้พวกนี้ได้

สิ่งที่อยากพูดถึงต่อก็คือส่วนที่เป็นเหมือนพื้นที่โกดังเก็บผลิตภัณฑ์ในนิทรรศการ เพราะโกดังเป็นพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับสินค้า คนที่สามารถเข้าไปได้ก็จะมีแค่เจ้าของหรือคนเท่าที่จำกัดจำนวนไว้เท่านั้น พอเราเดินไปที่ด้านหลังของโกดังในงานนี้ แล้วมองย้อนกลับมา ก็จะพบคนอีกกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลังกล่องผลิตภัณฑ์เหล่านี้ คือเกษตรกร เราเลยนำภาพอุปกรณ์การเกษตรที่ถ่ายมาจากสถานที่จริงมาจัดแสดงไว้ด้วย

ทีนี้ถ้าเราดูนิทรรศการทั้งงาน ก็จะเห็นว่ามีแค่สองส่วนเท่านั้นที่เป็นภาพถ่าย ก็คือเครื่องมือการเกษตร กับดอกกุหลาบที่เป็นผลผลิต เป็นสองสิ่งที่อยู่กับเกษตรกรโดยตรง การที่มันกลับกลายเป็นภาพถ่าย เพราะเราต้องการจะเล่าว่า ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกทำให้อยู่ในอีกมิติหนึ่งนั่นก็คือมิติของความเป็นภาพถ่าย ซึ่งมองเห็นได้ว่ามีอยู่จริง แต่ไม่สามารถสัมผัสได้

ก็จะเห็นว่ามันมีแค่ผลิตภัณฑ์กับตัวแพ็คเกจที่เป็นสิ่งของสามารถจับต้องได้ แต่ของที่สัมผัสกับเกษตรกรเราไม่สามารถเข้าไปหยิบจับได้ มองเห็นได้แค่เป็นภาพถ่าย

#GC: งานอื่น ๆ ของคุณบอลก่อนหน้านี้ดูจะโยงไปหาเรื่องส่วนตัวได้ทางใดทางหนึ่ง แต่งานนี้กลับดูเป็นเรื่อง ‘โครงสร้าง’ ประเด็นเหล่านี้ยังเชื่อมโยงไปที่เรื่องส่วนตัวได้อยู่ไหม

#นรภัทร: ถ้าย้อนที่มาของงานนี้ มันเป็นเรื่องของคนอีกกลุ่มที่ไกลตัวเรามาก ๆ ที่ไม่มีโอกาสได้เห็น ซึ่งถ้าไม่ทำงานก็คงไม่รู้เลย เรื่องพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่ตัดราคาเกษตรกรไทย เรื่องทุนจีนที่เข้ามา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มคนอีกหลายแบบหลายพื้นที่ ที่เจอประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน แม้จะไม่ได้ถูกพูดถึงในงานนี้

ถึงงานนี้จะพูดถึงเกษตรกร แต่กลับไม่มีภาพเกษตรกรเลย จึงเป็นการตั้งคำถามกลับไปว่า ในอนาคต เมื่อคุณได้เห็นดอกกุหลาบ คุณจะนึกถึงเขาได้บ้างหรือเปล่า

#GC: เท่าที่ฟังดูเหมือนนายทุนจะมีความเป็นตัวร้ายอยู่เลย เพราะคนปลายทางก็ได้รับผลกระทบ คนทำงานก็ได้ผลกระทบ แต่คนกลางได้ประโยชน์

#นรภัทร: เราเองก็ไม่ได้อยากให้คนกลางเป็นตัวร้ายเหมือนกันนะ เพราะสุดท้ายแล้ว มนุษย์เราก็จะเลือกซื้อดอกไม้ที่ราคาจับต้องได้ที่สุด การมีอยู่ของนายทุนจีนที่เข้ามาในตลาดดอกไม้สดของไทย ก็เป็นส่วนที่ทำให้เกษตรกรไทยถูกกดราคาด้วยเหมือนกัน แต่ประเด็นหลักเลยคือมันมี พ่อค้าคนกลางบางคนที่ต้องการตัดราคาจริง ๆ ด้วยการแจ้งว่ามันเน่า มันเสีย ทั้ง ๆ ที่จริงมันไม่มีปัญหาอะไรเลย

#GC: จากประสบการณ์ตรงนั้น ศิลปินและคิวเรเตอร์มีการทำงานร่วมกันอย่างไรบ้าง จนออกมาเป็นการจัดแสดงแบบนี้

#ธิติ: เราเห็นความเชื่อมโยงกันกับงานที่ศิลปินเล่าว่าเคยแสดงมาก่อน ก็เลยพยายามหาความเป็นไปได้อื่น ๆ ในเชิงภาพถ่าย เพราะเราเป็นแกลเลอรี่ที่โฟกัสภาพถ่าย เหมือนเป็นส่วนต่อขยายจากชิ้นนั้น แล้วในความเป็นภาพถ่ายนี้ มันก็มีมุมมองในการอ่านประเด็นที่มันต่างออกไป
จริง ๆ มันเริ่มจากโมเดลที่จะเป็นมินิมาร์ทหรือชอปประมาณนั้นเลย คือมีความเป็นระเบียบและระบบอยู่ในตัว ตัวงานก็เลยจะมีการรันนัมเบอร์ในเชิงพาณิช เชิงคอมเมอร์เชียลโดยตรง เป็นโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นด้วยในการซื้อขาย เป็นร้านค้า

#นรภัทร: (หันไปพูดกับฉั่ง) ส่วนที่สำคัญคือที่ฉั่งทำให้งานนิทรรศการนี้สมบูรณ์แบบมากขึ้น คือเรื่องราวที่เรามีร่วมกันผ่านตัวตนของฉั่งเองบ้านก็ทำธุรกิจเป็นร้านขายของชำ แล้วเรารู้สึกว่านี่คือจุดสนใจแรกของเราสอดที่มันคล้องกัน เลยมีเรื่องราวที่อยากเล่าไปด้วยกัน แต่พอทำงานไปเรื่อย ๆ ตัวพี่เองก็ไปเจอประสบการณ์อีกจุดที่สวน แล้วคิดว่าเราสามารถดึงแก่นของเรื่องนี้กับความเป็นสินค้ามาทำให้คนเข้าใจได้ ซึ่งก็ต้องบอกตรง ๆว่ างานนี้สามารถพูดถึงหลายมิติได้เพราะได้มุมมองจากชีวิตจริงของภัณฑารักษ์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญด้วย

เราอยากให้คนเข้าใจงานนี้ได้มากที่สุด ไม่ต้องเล่าแบบอ้อม ๆ ให้คนไปตีความกันเอง แต่ทำให้เห็นแล้วเข้าใจ นำไปคิดต่อได้ อย่างถ้าไม่ใช่ดอกกุหลาบ แต่เป็นกระเป๋า มือถือ หนังสือ รองเท้า หรือของสะสมของคุณที่ชอบมาก ๆ เราก็ไม่มีโอกาสได้รับรู้เบื้องหลังก่อนจะมาเป็นของเหล่านี้เลยเหมือนกัน แต่ดอกกุหลาบเป็นสิ่งที่แทนประสบการณ์ที่พี่ได้ไปเจอมาเฉย ๆ

#GC: จากที่คุยมาจะได้ยินคำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’ บ่อยมาก อยากให้อธิบายเพิ่มเติมหน่อยว่าความสมบูรณ์แบบนี้มันเป็นอย่างไร มีที่มาจากไหน

#นรภัทร: ตัวพี่เองเวลาไปซื้อดอกไม้เมื่อก่อนเราก็จะนึกเสมอ ว่าดอกไม้ที่เลือกมาต้องหน้าตาสมบูรณ์แบบที่สุดในการทำอะไรก็แล้วแต่

#ธิติ: จากเรื่องดอกไม้ที่มีความสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ เราก็มานึกถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ว่าสุดท้ายแล้ว ในชีวิตมนุษย์ เราก็เลือกของที่สมบูรณ์แบบตลอดเวลา อย่างกระเป๋า รองเท้า เราก็ขอให้เซลเอาของมาให้ดูก่อน ขอเช็คตะเข็บความสมบูรณ์หน่อย ตรงไหนมีตำหนิมั้ยนะ มันเป็นอุดมคติอย่างหนึ่งที่เราสร้างภาพมันขึ้นมา แล้วสังคมก็ไปยึดถือว่าสิ่งนี้คือความสวย สิ่งนี้คือความสมบูรณ์แบบ สุดท้ายมันก็กลายเป็นมาตรฐาน ซึ่งศิลปินก็เอาจุดนี้เนี่ยล่ะมารื้อสร้างมันใหม่ มาพัฒนา และส่งต่อเป็นสิ่งใหม่อีกที

#นรภัทร: สิ่งที่น่าคิดตรงนี้คือพอมันเป็นภาพถ่ายแล้วลงขายก่อนจะเปิดงาน คนกลับแย่งกันเลือก ‘ความสวย’ ในแบบที่ตัวเองตั้งเอาไว้ในใจได้ ตามที่ตัวเองชอบที่สุด แม้ว่ามันจะไม่ได้ ‘สมบูรณ์แบบ’ อย่างใครชอบกุหลาบที่มีสีเขียวของกลีบเลี้ยงแบบนี้ ชอบที่กลีบมันบานไม่ตรงรูปร่างแบบนี้ ชอบที่มันมีริ้วรอยแบบนี้ แต่ในชีวิตจริงเรากลับไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้อดอกกุหลาบในรูปแบบที่ยังมีความแตกต่างกันได้ เพราะมันมีแต่ความ ‘สมบูรณ์แบบ’ ทุกครั้งที่มันถูกขาย

มีภาพหนึ่งที่ดอกมันเล็กกว่าปกติมาก ๆ ถ้าซื้อไปจัดแจกันปกติก็คงไม่มีใครใช้แน่ ๆ แต่พอเป็นภาพถ่าย คนกลับเห็นความงามของมัน มีคนมาแย่งกันซื้อไปจริง ๆ เลือกดอกที่ถูกจริตตามแต่ละบุคคลกันจริง ๆ โดยไม่ได้ว่ามันจะต้องเลือกจากที่มัน ‘สมบูรณ์ที่สุด’

งานครั้งก่อนเราพูดเรื่องการที่มนุษย์ดัดแปลงสิ่งที่เป็นธรรมชาติ แต่งานครั้งนี้เราอยากกลับไปถามงานตัวเองมากกว่า ว่าเพราะเหตุใดถึงเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ทำไมดอกไม้ถึงต้องบานแบบนี้ อย่างดอกลิลลี่ เมื่อก่อนมันบานแบบคว่ำลง แต่พอมนุษย์จะเอามันไปจัดช่อ ทำให้ดอกลิลลี่ต้องบานหงายขึ้นมา เพราะมนุษย์ไปดัดแปลงสายพันธุ์มัน แล้วตัวตนมันก็ถูกทำลายหมดเลย ซึ่งดอกไม้บางดอก ไม่สามารถจะย้อนกลับไปหาได้เลยด้วยซ้ำว่ามันเป็นอย่างไรมาก่อน เพราะมันถูกปรับเปลี่ยนดัดแปลงมาตั้งแต่ยุคก่อนหน้ามาก ๆ แล้ว เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องการให้ค่าของสังคม แล้วก็ไปตกลงกันว่าแบบนั้นน่ะสมบูรณ์แบบ

การดัดแปลงด้วยตัวเองอะไม่ได้แย่ แต่การที่มนุษย์ดัดแปลงแล้วกลายเป็นภาพจำ ทำให้คนไม่ได้รับรู้ว่าหน้าตาของมันจริง ๆ เป็นอย่างไร เราไม่ได้จะไปโทษการดัดแปลงธรรมชาติของมนุษย์เสมอ แตงโมไม่มีเมล็ดเราก็กิน แต่แค่อยากให้คนได้รู้ ว่านี่ไม่ใช่รูปทรงของมันที่แท้จริง ก่อนที่มันจะกลายมาเป็นแบบนี้ มันเป็นอะไรมาก่อน และมันก็คงจะดีสำหรับคนที่ถูกสังคมหล่อหลอมอัตลักษณ์ขึ้นมาให้กลายเป็นอะไรบางอย่าง ให้สังคมได้รู้ว่าพวกเขาเป็นอย่างไรมาก่อน ประสบปัญหาอะไรมาก่อน ก็อาจจะเป็นส่วนที่ทำให้เราเข้าใจสิ่งสิ่งนั้นขึ้นก็ได้