สำรวจภาวะ​​ ’คนนอก’ ของตัวเองและของตัวละครแซฟฟิกอมนุษย์ต่างชนชั้น ใน ‘ฝนเลือด’ ของศิลปินคนทำหนัง อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ

Post on 9 September

เขาแต่งตัวเหมือนกับผู้กำกับเจ้าของหนังอาร์ตเฮาส์สักเรื่องในสายตาเรา — ผมยาว แววตาอยู่เบื้องหลังแว่นดำ — ดูเท่ แต่ก็เป็นความเท่ที่มาจากปมลึกเบื้องหลัง ของเด็กที่ต่อต้านอำนาจครอบงำทุกสิ่งอย่าง จนไม่สามารถทนอยู่กับระบบเดิม ๆ ได้

“ผมคิดว่าจิตใจของผมมันพัังไปแล้ว ผมเลยทำทุกสิ่งที่ตรงข้าม; เมื่อก่อนเขาบังคับให้ตัดผมสั้น ผมก็ไว้ผมยาว ผมไม่ได้คิดว่ามันดูดีอะไร ผมแค่คิดว่าผมไม่อยากเป็นอย่างที่ตัวเองเกลียดตอนเด็ก ๆ เท่านั้น” อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ ศิลปินคนทำหนัง เล่าย้อนถึงชีวิตแสนอึดอัดในช่วงเวลาที่เขาพบกับตัวละครผู้ท้าทายโลกของชาติ กอบจิตติ, 'รงค์ วงษ์สวรรค์, และ วอลแตร์ (และอาจรวมไปถึงธเนศ วงศ์ยานนาวากับนิทานปรัมปราอีกด้วย)

GroundControl นัดสัมภาษณ์กับเขา หลังรู้ข่าวว่า ‘ฝนเลืิอด’ ภาพยนตร์อนิเมชันที่อิงจากนิยายแวมไพร์แซฟฟิกระดับตำนานอย่างคาร์มิลล่า (Carmilla) ของ โจเซฟ เชริดัน เลอ ฟานู (Joseph S. Le Fanu) ซึ่งนอกจากจะได้พูดคุยกันเรื่องหนังสือที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตช่างต่อต้านของเขาแล้ว ตลอดบทสนทนาเรายังแอบได้ยินประโยคติดปากของเขาว่า “คำถามก็คือ…” ซึ่งมักจะตามมาด้วยประเด็นชวนคิด ที่ติดความเป็นปรัชญามาด้วยเสมอ ซึ่งเขาเห็นว่าการสำรวจรากความคิดเหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญที่อาจทำให้เราหลุดพ้นออกจากการควบคุมต่าง ๆ ได้

แต่จะหลุดพ้นได้จริงไหม และเขาจะตีความประเด็นเรื่องแวมไพร์ – แซฟฟิก – และความแตกต่างระหว่างชนชั้นในคาร์มิลล่าอย่างไร ลองหาคำตอบจากบทความนี้ได้ และไปสัมผัสประสบการณ์แปลกประหลาดในภาพยนตร์ ‘ฝนเลืิอด’ ของเขา ที่ House Samyan, Doc Club & Pub. และ Cinema Oasis กัน

วิชาวรรณกรรม ของเด็กที่เกลียดโรงเรียน

“เราดูหนังจักร ๆ วงศ์ ๆ กับยายมาตั้งแต่เด็ก ตอนเราเรียนหนังสือ เราแม่งเกลียดทุกวิชาเลย เกลียดครูด้วย เกลียดโรงเรียนด้วย เราชอบอย่างเดียวคือหนังสือวิชาภาษาและวรรณคดีไทย เพราะมันมีเรื่องอื่นให้เราอ่าน และมันไม่ถามด้วยว่าเราอ่านผิดหรืออ่านถุูก”

อชิตพนธิ์เล่า ‘ปรัมปรากากี’ หนังยาวเรื่องแรกของเขา เป็นเหมือนเวอร์ชั่นเต็มของหนังธีสิสที่ทำก่อนจบการศึกษาสาขาภาพยนตร์ เรื่องราวของมันเกี่ยวกับ ‘กากี’ ตัวละครจากนิทานพื้นบ้านของไทยผู้อยู่อาศัยกับเจ้าอาณาจักรหน้าทอง แต่ดูจากภาพที่แปลกประหลาดของมันแล้ว นี่ก็คงไม่ใช่หนังรักธรรมดาแน่นอน

“มันเป็นเรื่องของการถูกปกครอง การอยู่ใต้อำนาจเพราะความรัก โดยสะท้อนออกมาผ่านอาร์ตไดเรกชั่นที่มีความอิหลักอิเหลื่อ” เขาเล่า ในด้านภาพ เราจะเห็นอิทธิพลของสไตล์ศิลปะแบบดาด้าไปจนถึงเซอร์เรียลลิสม์ ที่เขาสอดแทรกไว้อย่างชัดเจนหลายช่วงตอน แต่ในด้านเนื้อหา เราสงสัยว่าเขาเป็นคนที่อินกับงานวรรณกรรมอะไรแบบนี้ได้อย่างไร? ซึ่งคำตอบที่ได้ก็เป็นเรื่องราวของเด็กนอกคอกคนหนึ่ง ที่ฟังดูแล้วน่าจะชวนให้นึกถึงชีวิตของใครหลาย ๆ คนได้เหมือนกัน

“ผมเป็นคนนอกตั้งแต่จำความได้เลย ผมจำได้ว่าตอนประถมเถียงกับครูเรื่องจุดไข่ปลาที่คัดลายมือยันเย็นจนพ่อแม่มารับ ผมก็รู้สึกไม่ไหวกับระเบียบเส้นประเหล่านี้มาตั้งแต่ตอนนั้นเลย”

“ช่วงที่มันเปลี่ยนแปลงตัวผมมาก ๆ เลยคือช่วงม.3 เพราะช่วงมัธยมปลายผมไม่ได้เรียน มาสอบเทียบเอาแทน เพราะผมอยู่กับระบบโรงเรียนไม่ไหว คือแค่ผมจุดบุหรี่ดูดแล้วคนมามีปัญหากับผม ผมก็ไม่อยากอยู่กับคุณแล้ว ทำไมผมดูดบุหรี่แล้วผมจะเรียนหนังสือไม่ได้วะ”

“ช่วงนั้นผมก็เลยอ่านหนังสือเองเยอะมาก ๆ แต่ถ้าให้เลือกที่ส่งอิทธิพลกับผมจริง ๆ คงเป็น ‘ก็องดิด’ นิยายของนักปรัชญาวอลแตร์ ที่ตั้งคำถามกับจริยธรรมของแต่ละตัวละคร และเรื่อง ‘เพศ’ ของธเนศ วงศ์ยานนาวา เกี่ยวกับการสืบเสาะหาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาที่มันสร้างจริยศาสตร์ของเรื่องเพศว่ามันมีระเบียบ (discipline) การวัดคุณค่าต่าง ๆ เต็มไปหมด”

“พออ่านงานเขียนของคนอย่างชาติ กอบจิตติ, 'รงค์ วงษ์สวรรค์, หรือ วอลแตร์ มันทำให้เราคิดว่าจะจัดการกับสถานการณ์ที่ตัวเองไม่พอใจเหล่านี้อย่างไร เหมือนตัวละครในนิยายเหล่านั้นที่มันจัดการสถานการณ์ของตัวเองตลอด เราก็คิดว่าโดดเรียนไปเลยดีไหม ครูบอกให้ทำกิจกรรมทางศาสนาก็ไม่ทำ บอกเขา “ขอโทษครับผมไม่มีศาสนา” พอจะถึงช่วงมัธยมปลายผมก็เรียนหนังสือไม่ได้เลย”

“เคยคุยเล่น ๆ กับหลายคนที่สนิทกัน เขาจะเห็นผมแต่งตัวดูเป็นระเบียบรัดกุมตลอดเวลา แต่จริง ๆ ผมไม่ได้อยากเรียบร้อยนะครับ ผมคิดว่าจิตใจของผมมันพัังไปแล้ว ผมเลยทำทุกสิ่งที่ตรงข้าม — เมื่อก่อนเขาบังคับให้ตัดผมสั้น ผมก็ไว้ผมยาว — นี่ไม่ใช่เรื่องแฟชั่นนะครับ เมื่อก่อนเขาให้ใส่แขนสั้น ตอนนี้ผมก็ใส่เสื้อแขนยาวทุกวัน เมื่อก่อนเขาใส่ขาขั้นผมใส่ขายาวทุกวัน ผมไม่ได้คิดว่ามันดูดีอะไร ผมคิดว่าแค่ไม่อยากเป็นอย่างที่ตัวเองเกลียดตอนเด็ก ๆ เท่านั้น”

ทำหนังแบบหมุนรอบความเป็นปรัชญา

“งานเราในแง่เนื้อหามันจะหลากหลาย แต่สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือเราตั้งใจจะคิดกับสิ่งต่าง ๆ แล้วเมื่อคิดเสร็จก็สลัดทิ้งมันออกมาผ่านงานศิลปะ” เขาตอบเมื่อเราลองให้เขาสรุปดู ว่าเขามีประเด็นอะไรที่สนใจเป็นพิเศษบ้าง ถ้ามองย้อนกลับไปยังงานก่อน ๆ ของเขาดู

“ผมไม่เคยแช่แข็งตัวเองว่า[ผลงานที่ทำ]จะต้องมีเอกลักษณ์ไหม ต้องพูดเรื่องเดิมไหม เพราะถ้าถามว่าคุณจะมีเอกลักษณ์ไปทำไม? ก็เพราะว่าคุณต้องกลายเป็นสินค้า เหมือนรองเท้าแบรนด์หนึ่งต้องต่างจากแบรนด์อื่น เพราะมันมีความเป็นแบรนด์นั้นอยู่ แต่จริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่มีความเป็นแบรนด์นั้นเลยก็ได้ถ้าคุณรื้อมันออกมา แค่มันถูกผลิตซ้ำจนคุณเชื่อว่าแบรนด์นั้นเป็นอย่างนี้

“เรื่องเอกลักษณ์เป็นสิ่งที่ทุนนิยมพยายามจะบอกว่าสิ่งต่าง ๆ มีความเฉพาะ ที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ แยกออกจากกัน แต่คำถามคือภาพต่าง ๆ เหล่านั้นมันเป็นเอกลักษณ์คุณได้จริง ๆ ไหม เอกลักษณ์ของคุณมันแยกออกจากสิ่งอื่น ๆ ได้จริงไหม”

“เราอาจจะสนใจเรื่องความตายเยอะ เพราะมันเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่อยู่ในตัวคุณตลอดเวลา ทุกคนอาจจะอยู่ดี ๆ ก็ตายได้ตลอดเวลา ความตายมันอยู่ในตัวคุณตลอด แค่มันจะออกมาเมื่อไร”

“ถ้าจะมองสิ่งที่เราสนใจมาก ๆ เราว่ามันคือการหมุนรอบภาวะความเป็นปรัชญา และความย้อนแย้งของวิธีคิดแบบสาขาต่าง ๆ ชนกันไปชนกันมา มองความซับซ้อนมากว่าตัดสินคุณค่าของอะไร”

“มันจำเป็นมากที่ความซับซ้อนจะปรากฏขึ้นผ่านศิลปะให้เห็น และในไทยเองวิชาปรัชญาก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้เรียน คือในที่สุดแล้วความซับซ้อนมันทำให้คุณหลุดออกจากการควบคุมได้ในระดับหนึ่ง”

“ทำไมแฟนกลับบ้านดึกเรายังคิดมากได้ทั้งวันเลย เรื่องบางเรื่องเราคิดเยอะได้ แต่บางเรื่องกลับไม่คิด แล้วพอไม่คิดคนอื่นก็มาคิดแทนคุณ ถ้าไม่ตั้งคำถามกับเรื่องเครื่องแบบชุดนักเรียนนักศึกษา ก็ใส่ไปตามที่คนอื่นคิดมาให้ ผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นขบถไปต่อสู้กับคนอื่น ผมแค่คิดว่าอย่ามายุ่งกับผมได้ไหมวะ”

อนิเมชันของ “คนนอก”

“ผมคิดว่าการทำหนังหรือทำงานศิลปะของผม มันไต่ขอบอะไรทำนองนี้อยู่ ความที่ว่าไม่ได้อยากเป็นเด็กเรียบร้อยเชื่อฟังสถาบันไหน ๆ”

‘ฝนเลือด’ ภาพยนตร์อนิเมชันขนาดยาวของเขากำลังเข้าฉายที่ House Samyan, Doc Club & Pub. และ Cinema Oasis อยู่ขณะนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของหนังที่สื่อถึงความเป็นคนนอก จากคนทำ มาสู่ตัวละครของเขา และสื่อสารกับผู้ชมที่คงจะเข้าใจได้ไม่ยากเหมือนกัน

“เวลาคนบอกว่าทำไมผมทำหนังแปลกจัง ทำหนังทดลองหรือเปล่า ผมว่าน่าจะตั้งคำถามกันมากกว่านะว่าทำไมคุณเหมือนกันไปหมด เวลาเข้าโรงหนังไปเจอ 7-8 เรื่องทำไมมันดูโครงสร้างเดียวกันหมดเลย มันเป็นไปได้ไง อะไรดลใจให้คุณทำแบบนั้น เหมือนกับที่คุณใส่ชุดนักเรียนเลยไหม แล้วการแตกต่างมาสักหน่อยเนี่ย มันทำให้เป็นตัวประหลาดเลยหรอ”

ฝนเลือด เล่าถึง ‘การหลอกหลอนของผีสางกับเสียงฝน’ ด้วยแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมผีดูดเลือดที่ว่ากันว่าเป็นต้นฉบับของตัวละครแบบ ‘แวมไพร์แซฟฟิก’

“หนัง ‘ฝนเลือด’ มันมาจากที่ตอนเด็กเราอ่านนิยายคาร์มิลล่า ของ โจเซฟ เชริดัน เลอ ฟานู ที่เป็นนิยายสั้น ๆ ไม่แน่ใจว่าอ่านฉบับสำหรับฝึกอ่านภาษาอังกฤษอะไรอย่างนั้นไหม แต่เรื่องมันชวนให้คิดต่อมาก ๆ” เขาบอก

“ตอนนั้นมันยังไม่ได้มีการเปิดกว้าง มีการเรียกร้องความหลากหลายทางเพศอะไรขนาดนั้น เรื่องนี้มันก็เป็นอุปลักษณ์ (metaphor) ที่น่าสนใจมาก ว่าคนสองคนจะเข้ากันไม่ได้เพราะอะไร? มันเป็นเรื่องของอมนุษย์ลึกลับคนหนึ่งกับหญิงสาวอีกคนที่เป็นลูกเศรษฐี เป็นเจ้าของปราสาท คำถามคือพวกเขาเข้ากันไม่ได้เพราะอะไร เพราะชนชั้นหรือเปล่า? หรือเพราะว่าเป็นอมนุษย์? หรือเพราะเป็นเลสเบี้ยน? หรือว่ามันคือทั้งหมด?

“มันคือการไม่ถูกยอมรับตามบรรทัดฐานของสังคม (norm) มันเลยไม่ได้เป็นแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่มันคือเรื่องของการเป็นคนนอก ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กติกาไหน ๆ มันก็จะไม่ถูกยอมรับอย่างนั้น มันไม่ได้พูดถึงองค์ประกอบหนึ่ง ไม่ได้เรียกร้องแต่เรื่องเพศ เรื่องชนชั้น แต่การเป็นคนนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน มันก็จะไม่ถูกยอมรับอยู่ดี ถ้าไปดูในหนังจะเห็นเลยว่าเราตีความตัวละครในเรื่องนี้ออกมาไม่ได้นำเสนอในกรอบความเป็นแซฟฟิกเท่านั้น แต่เน้นไปที่ความเป็นคนนอกอีกด้วย”

“อนิเมชันมันคือสื่อเคลื่อนไหว รากศัพท์หนึ่งของมันคือคำว่า Anima ในภาษาละติน คือเรื่องวิญญาณและ/หรือลมหายใจ ซึ่งทำให้ภาพยนตร์อนิเมชันมันเป็นเหมือนจิตวิญญาณ

“เวลาคุณถ่ายหนัง สิ่งต่าง ๆ มันจะมาควบคุมคุณ ถ้าฝนตกมันก็ส่งผลต่อการถ่ายของคุณแล้ว แต่ในอนิเมชันคุณต้องควบคุมทุกสรรพสิ่ง ถ้าอยากให้ต้นไม้ขยับก็ต้องวาด หรืออยากให้สัตว์พูดคุณก็ทำได้ ดังนั้นมันอาจจะทำให้คุณนึกถึงคติความเชื่อทางจิตวิญญาณ (animism) แบบที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้วก็ได้"