‘เอ๋ - ปกรณ์ รุจิระวิไล’ กับการบอกลาศิลปะแบบเมืองใหญ่ และความท้าทายของอาร์ตสเปซในเมืองเล็ก ๆ

Post on 15 August

สงขลาเป็นเป้าหมายสำคัญที่นักเดินทางสายศิลปะต้องไปเยือนสักครั้งให้ได้แล้วในตอนนี้ โดยมี ‘a.e.y.space’ เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของสายนี้ในเมือง ในฐานะอาร์ตสเปซที่จัดทุกอย่างตั้งแต่ฉายหนัง โชว์ศิลปะ จัดเสวนา โดยที่พี่เอ๋ (ปกรณ์ รุจิระวิไล) เจ้าของอาร์ตสเปซแห่งนี้ ก็เป็นจุดศูนย์รวมของผู้คนในท้องถิ่นเหมือนกัน ไม่ว่าจะรุ่นเด็กรุ่นใหญ่ที่เขาชักชวนเข้ามาร่วมกันทำงานแล้วทั้งนั้น แต่รู้หรือไม่ ว่าครั้งหนึ่งพี่เอ๋คนนี้ก็เคยถูกคนท้องถิ่นตั้งคำถามเหมือนกันว่าที่มาทำอยู่เนี่ย “มีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงหรือเปล่า”

พี่เอ๋เป็นคนเมืองใหญ่ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่งที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์กและกรุงเทพฯ สองมหานครที่เต็มไปด้วยแกลเลอรี่และพื้นที่มากมายให้คนทำงานสร้างสรรค์ได้ปล่อยของ แต่พี่เอ๋ก็เป็นคนเมืองเล็ก เขาเติบโตจากครอบครัวที่ทำการประมง และนั่นก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาและ “เอ๋สเปซ” ของเขา เป็นจุดที่ประวัติศาสตร์ ความผูกพัน พลังงานสร้างสรรค์ และทุก ๆ อย่างเดินทางมาพบกันอย่างลงตัว

และในช่วง 17 - 25 สิงหาคม 2567 นี้ ที่สงขลาก็กำลังจะมี ‘เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567’ (Pakk Taii Design Week 2024) อีกครั้งในธีม ‘The South's Turn ถึงทีใต้ ได้แรงอก!’ ซึ่งรวบรวมงานอาหาร, ภาพยนตร์, ศิลปะและงานฝีมือ รวมไปถึงโปรเจกต์พัฒนาเมือง ซึ่งพี่เอ๋ของเราก็มีเซอร์ไพรส์จากการทำงานร่วมกับชุมชนรออยู่แน่นอน ซึ่งดูจากความคึกคักในปีที่แล้วก็มั่นใจได้เลยว่างานนี้สนุกแน่ ๆ (แต่ตอนนี้พี่เอ๋น่าจะเตรียมงานหัวหมุนอยู่)

ก่อนจะกดตั๋วจองที่พักกัน GroundControl อยากชวนทุกคนมาอ่านบันทึกบทสนทนาสบาย ๆ ของเรากับเขากัน โดยพี่เอ๋ได้เล่าให้เราฟังตั้งแต่การเดินทางออกจากบ้านไปหาเมืองใหญ่ ไปจนถึงการเดินทางกลับบ้านในเมืองเล็ก ๆ การตัดสินใจสร้างพื้นที่ศิลปะ ที่เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจภายในพื้นที่เอง ก่อนจะชี้ให้ดูความสุขในนิยามของเขา ภายในพื้นที่แห่งนี้ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยศิลปะ เต็มไปด้วยเพื่อนฝูง และเต็มไปด้วยความเป็น “บ้าน”

เด็กจากเมืองเล็ก ๆ ผู้เติบใหญ่ในสองมหานคร

“โชคดีที่เราเกิดในเมืองเล็กครับ” พี่เอ๋บอก แต่ทำไมคนที่ไปใช้ชีวิตในมหานครกรุงเทพฯ และอภิมหานครอย่างนิวยอร์กมาแล้ว ทำไมเขาถึงยังคิดอย่างนั้น?

“พี่เอ๋จบมหาวิทยาลัยแล้วก็ไปต่อที่นิวยอร์คซึ่งก็ใหญ่กว่าอีก แล้วกลับมาที่กรุงเทพฯ จนสุดท้ายก็กลับมาที่บ้านเกิด มันทำให้เราเรียนรู้ตัวเองนะครับว่าจริง ๆ เมืองไหนก็อยู่ได้ แล้วสุดท้ายความพอใจของเราคือการอยู่ในที่ที่เราสามารถจะไปพัฒนาหรือมีความท้าทายบางอย่างที่เราสามารถทำได้ พอไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาในเมืองใหญ่แบบกรุงเทพฯ หรือนิวยอร์ก มันก็ทำให้เห็นว่า เห้ย มันทำได้นะบ้านเราที่นี่เนี่ย” เขาชวนให้เรามองอีกแง่หนึ่งของเมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้และโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอีก

“อย่างน้อยมันก็เป็นบ้านเราเอง อย่างน้อยเราก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เรามีกลุ่มผู้คน มีพื้นที่ที่จะเริ่มต้นอะไรได้ มีเครือข่ายที่ดี สามารถเข้ามาคอนเนกต์กับเราได้ แล้วทำให้ต่อยอดได้กว้างกว่า สมมุติตอนนี้ยังทำงานอยู่กรุงเทพฯ พี่อาจจะไม่ได้ทำสเปซใด ๆ ก็ได้ อาจจะทำงานประจำมีบริษัทอะไรอย่างนี้

“มันไม่ได้กลับมาด้วยเหตุผลแบบ ตอบแทนบ้านเมืองอะไร ไม่เคยมีความรู้สึกอย่างนั้นเลยนะ เพียงแต่ว่าเป็นความต้องการของครอยครัวว่าอยากให้ทำงานที่บ้าน” พี่เอ๋เล่า เขาเติบโตมาในครอบครัวชาวประมง แต่กลับทำงานด้านศิลปะและดีไซน์ แต่ถึงยังไง เราความผูกพันกับคลื่นลมทะเลก็คงเป็นสิ่งที่ฝังลึกเข้าไปในตัวตนของเขาแล้ว “พอกลับมาแล้วก็แฮปปี้ที่ได้อยู่ในที่ที่ไปทำทุกอย่างได้ในสามนาที จากบ้านไปทะเลสามนาที เดินทางไปไหนก็สามนาที ใกล้ไปหมด แล้วก็มีเวลามากขึ้น ต่อให้งานยุ่ง ๆ เรายังมีเวลาที่จะไปเดินดูอะไรน่าสนใจด้วย เลยรู้สึกว่าเห็นโอกาส มันทำได้ แล้วก็ประกอบกับได้มาซื้อบ้านหลังเก่าที่อยู่ใจกลางถนนนางงามเลย ก็เห็นว่าเราจัดงานอะไรก็จะมีคนผ่านเข้ามาดูตลอด”

“จริง ๆ จะบอกว่าพ่อแม่เป็นคนเปิดกว้างมากฮะ แค่เรากลับมาอยู่บ้านเขาก็แฮปปี้ละ ต่อให้เราจะไม่ทำงานที่บ้าน แต่คราวนี้พอกลับมาแล้วเขาก็ไม่เข้าใจหรอกเอาจริง ๆ ว่าเราทำอะไร ศิลปะคืออะไร เพราะเขาไม่ได้อยู่ในแวดวงอะไรแบบนี้เลย แต่เขาเห็นว่าพอเราจัดงานแล้วก็มีคนเข้ามาเยอะแยะเขาก็มีความสุข รู้สึกว่าเห้ย มันเป็นอะไรที่แปลกใหม่ของเมือง แล้วก็สามารถสร้างคุณค่าบางอย่างให้เกิดในเมืองได้ หลาย ๆ ครั้งพอจัดงานก็มีคนไปพูดกับพ่อแม่ว่างานนี้ดีจังเลยอะไรแบบนี้ เพราะเอาเรื่องราวท้องถิ่นมาตีความและนำเสนอใหม่ พ่อกับแม่ก็ยิ่งชอบ จริง ๆ เวลามีงานแม่ก็จะทำขนมมาให้ทุกครั้งด้วยครับ”

“ในภาคอื่น ๆ เราก็คงเห็นแล้วว่าหัวเมืองใหญ่ ๆ จะมีพื้นที่ทางศิลปะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดร หรือที่อื่น แต่อย่างภาคใต้เนี่ย เอาจริง ๆ เรารู้สึกว่าการกระจายลงมาของศิลปะอาจจะยังค่อนข้างน้อย” ภาพของเมืองสงขลาในปัจจุบันอาจเต็มไปด้วยงานศิลปะที่สอดแทรกอยู่แทบทุกมุมแล้ว แต่ก็คงยังมีเส้นทางอีกยาวไกล กว่าที่ศิลปะใน “เมืองรอง” ทั้งหลายจะได้เติบโต “ที่เห็นหลัก ๆ เลยก็มีปัตตานี หรือสงขลาก็เริ่มมีคนเอาศิลปะเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น แต่ขนาดเมืองใหญ่อย่างภูเก็ต เรายังนึกไม่ออกเลยว่าที่นั่นมีอาร์ตสเปซหรือหอศิลป์ใด ๆ บ้าง ถ้าให้มองแบบใกล้ตัวเรานะ ทุกอย่างมันไปกระจุกรวมกันอยู่ในเมืองใหญ่จริง ๆ อย่างเราคนต่างจังหวัด ถ้าอยากจะไปดูงานอะไรครั้งหนึ่งก็ต้องบินไปกรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้ก็รู้สึกดีที่มีการจัดงานที่จังหวัดอื่น ๆ อย่างล่าสุดก็เพิ่งไปที่เพชรบุรีมา ที่ ‘โรงเรียนสังเคราะห์แสง’ (โรงเรียนสอนถ่ายภาพอิสระ) ไปจัดงาน Portrait (Taste) of Phetchaburi ก็รู้สึกดีที่มีอะไรเแบบนี้เกิดขึ้นในเมืองเล็ก ๆ บ้าง แล้วมันก็เป็นตัวดึงคนให้ไปที่นั่น ไปสำรวจเมือง ได้ลงลึกในส่วนอื่น ๆ ของเมืองด้วย”

“มันขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่อาศัยด้วยแหละครับเป็นหลัก” เขาเสนอจากประสบการณ์ที่ทำมา “สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะมีการกระจายศิลปะไปสู่สถานที่ใด ๆ หรือพื้นที่ใด ๆ มันขึ้นอยู่กับว่าตรงนั้นมีกลุ่มคนที่จะเป็นผู้ดำเนินงานหรือจะเป็นผู้เสพบ้างหรือเปล่า”

ศิลปะจากในเมือง ทำเมืองให้เป็นศิลปะ

จุดเริ่มต้นของ a.e.y.space พื้นที่ศิลปะที่มีทั้งการจัดแสดงผลงานและพื้นที่สำหรับศิลปินในพำนัก ไม่ได้มาจากไอเดียความฝันอะไรที่พี่เอ๋แบกมาจากไหน แต่เกิดขึ้นจากอิฐปูนในตัวอาคารและผู้คนในพื้นที่ต่างหาก ที่จุดประกายให้พี่เอ๋เริ่มต้นทำมัน

“จริง ๆ ถ้าย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว มันเริ่มจากการที่ผู้คนเริ่มมาปรับปรุงบ้าน ดัดแปลงตึกเก่ามาที่เหมือนไม่มีคนอยู่ มาปัดฝุ่นใช้งานใหม่ ให้มันเห็นความสวยงาม มันก็จะเห็นความเป็นไปได้ของการนำมาใช้งานอย่างอื่นนอกจากใช้อยู่หรือเป็นร้านค้าอย่างเดียว แล้วแกลเลอรี่หรือพื้นที่ศิลปะมันก็จะเริ่มมีมากขึ้นจากอะไรอย่างนี้ ก็เลยรู้สึกว่าการทำเมือง หลัก ๆ มันมาจากตัวสถาปัตยกรรมของเมืองก่อน แล้วคนถึงจะรู้สึกว่าทำได้ และมีการจับกลุ่มกันมากขึ้น สามารถพัฒนามีกิจกรรมอะไรมากขึ้นได้

“สมมุติเราจะเพิ่มศิลปะเข้าไปในเมืองอีก ก็ต้องมาแบบธรรมชาติเนอะ อยู่ ๆ จะเอาศิลปะมายัดเยียดคนที่อยู่ที่นี่มันก็คงไม่ได้ แต่ถ้ามีกลุ่มคนที่ทำอยู่แล้วมันก็จะค่อย ๆ ไปเองแบบเป็นธรรมชาติ เราลองเอาศิลปะรอบตัว หยิบจับมันขึ้นมา แล้วก็องตีความหรือนำเสนอมันในรูปแบบใหม่ เรารู้สึกว่าของรอบตัวในเมืองมันมีของดี ๆ เยอะเลยที่จะหยิบจับออกมา แล้วก็ลองตีความหรือนำเสนอมันในรูปแบบใหม่ แล้วคราวนี้ถ้าเกิดทำตรงนั้นได้ เริ่มก็เริ่มรู้สึกว่าเชิญคนจากที่อื่นมาทำงานศิลปะก็ได้อะไรอย่านี้ มันแตกไปได้อีกมากมายเลย”

เมื่อเริ่มต้นด้วยผู้คนท้องถิ่น แน่นอนว่าสิ่งที่จะเป็นความสำเร็จสำหรับเขาก็ต้องเป็นการยอมรับจากคนในท้องถิ่น “เราถือว่าทำงานแค่มีคนท้องถิ่นในพื้นที่มาซื้องานหรือเสพงานแล้วรู้สึกเอ็นจอยไปกับเราก็ถือว่าทำสำเร็จไประดับหนึ่งแล้ว แต่การจะทำให้มันมีการซื้อขายงานกันเนี่ยก็ยิ่งยากเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นเราก็ทำให้มันมีคุณค่าในตัวเองมากที่สุด ว่าศิลปะเนี่ยมันทำงานยังไงในเมืองนี้ แล้วมันทำงานยังไงกับผู้คนที่อยู่ข้างในเมืองนี้ด้วย ถ้าตรงนี้เวิร์คก่อนมันค่อยไปเวิร์คกับคนที่มาจากที่อื่นแล้วมาเสพศิลปะในเมืองนี้”

“พี่เชื่อว่าแต่ละชุมชนมันก็มีอะไรที่ไม่เหมือนกัน จริง ๆ สุดท้ายถ้าอยากทำอะไรกับชุมชนไหนก็อย่าเอาความเป็นระดับประเทศมาครอบ เข้าไปเรียนรู้ในชุมชนนั้นหรือเรียนรู้กับพวกเขาเหล่านั้น แล้วดูว่าเราจะทำอะไรให้มันสอดคล้องกับเขาหรือเสริมเขาได้ดีกว่า”

“เรารู้สึกว่าคนพื้นที่เขาเป็นเหมือนแหล่งข้อมูล เวลาทุกคนจะทำอะไรก็ต้องมาเอาเรื่องราวของเขาไปทำ เราก็ไม่อยากเป็นผู้ฉวยโอกาสนั้น เรารู้สึกว่าเราเข้ามา โอเคเอาข้อมูลของเขาจริง ๆ มาถ่ายรูปเขาไปใช้งานจริง แต่เราไม่อยากเป็นผู้ฉวยโอกาสนั้นไปสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง เราอยากให้เขามั่นใจว่าสิ่งที่เขาเล่าให้เราฟัง มันถูกนำไปใช้และทำให้เมืองนี้ขับเคลื่อนไปด้วยเสน่ห์ของพวกเขาได้ จากที่ผ่าน ๆ มาหลายโปรเจกต์ก็คิดว่าเขาเข้าใจและมองเห็น”

“มันมีคำถามในวันแรก ๆ ที่ทำว่า “คุณมีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงหรือเปล่าเนี่ย” คำนี้มันยังก้องอยู่ในหู เราก็หน้าชาเหมือนกันนะ แต่ก็อาศัยความใจเย็นนิดหนึ่งแล้วอธิบายว่า เดี๋ยวผมเอาไปทำแบบนี้ ๆ นะครับ แล้วเดี๋ยวคุณลุงมาดูในงานกันว่ามันเป็นยังไง พอใจงานจริง ๆ เราก็ชวนเขามาดูว่านี่ไง สิ่งที่เขาเล่าให้ฟัง เรื่องราวของพวกเขาถูกเอาไปทำเป็นแบบนี้ ๆ แล้วพอเขาเข้าใจเราก็รู้สึกโล่ง มันไม่ใช่การยอมรับจากคนที่มาดูแล้วสนุกกับมัน แต่มันคือคนในท้องถิ่นยอมรับเรา”

“ยิ่ง TCDC ได้มาทำงานด้วยกันที่สงขลาเราก็เลยได้ไปมีส่วนร่วมกับงานใหญ่ ๆ หลายอย่าง เลยได้ทำงานสเกลแบบทั้งย่าน ซึ่งก็น่าจะดีกับตัวชุมชนเองและคนที่อยู่ที่นี่ด้วย หลังจากนั้นคนก็เริ่มรู้สึกว่างานศิลปะมันต่อยอดได้ ไม่ใช่แค่ดูแล้วมีความสุขใจอย่างเดียว แต่ไปทำให้เศรษฐกิจหรือการค้าขายของผู้คนในย่านมันดีขึ้นด้วย”

สเปซของเอ๋ บันทึกของเมือง

“คนสงขลาก็มักจะเรียกที่นี่ว่าเอ๋สเปซนะ ไม่ได้เรียกว่าเออีวายอะไรหรอก” เขาตอบคำถามคาใจที่เราเองก็แอบสงสัยมานานเหมือนกันว่าชื่อที่นี่ต้องอ่านว่าอะไร “เราก็แฮปปี้นะ เรียกยังไงก็ได้ อย่างน้อยคนก็รู้จักว่าเออีวายคืออะไร มันทำอะไร มีงานศิลปะมีฉายหนัง แค่นี้เราก็แฮปปี้แล้ว

“ตอนแรกที่มาซื้อบ้านเก่าตรงนี้ก็ยังไม่รู้จะทำอะไร แต่พี่โก๋ (นพดล ข่าวสำอางค์ - ผู้ร่วมก่อตั้ง a.e.y.space) ชวนว่า เห้ยเอ๋ ทำอาร์ตสเปซเลย แล้วพี่โก๋ตั้งชื่อให้ ไม่งั้นเราคงไม่แบบ เอาชื่อตัวเองมาตั้งเนาะ มันก็ตลกไง”

“พี่โก๋เป็นคนช่วยทำนิทรรศการแรกเลย เชิญศิลปินมาเยอะมาก เครือข่ายของทางพี่โก๋ เราไม่น่าเชื่อว่าแบบ งานแรกพี่ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (ศิลปินไทยระดับโลก) ก็มา เยอะมาก คือเราไม่ได้เป็นคนทำงานในวงการนี้ ก็ค่อย ๆ ทำมาเรื่อย ๆ ครับ จนได้รีโนเวตครั้งใหญ่ ปรับชั้นบนให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย (residency) และข้างล่างเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงาน (exhibition)” เขาเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ กับอาร์ตสเปซแห่งนี้ตั้งแต่อดีต และกำลังจะมีต่อไปเรื่อย ๆ

“พื้นที่ residency ให้ศิลปินมาพำนักก็สามารถทำประโยชน์ให้กับสเปซได้มาก เหมือนกับที่เล่าว่า เวลาชวนศิลปินมาอยู่ บางทีอยู่แบบวันสองวันก็อาจจะไม่ได้อะไร แต่พอมาอยู่ยาวนิดนึง เขาก็อาจจะได้สำรวจเข้าไปในความเป็นสงขลามากขึ้น งานที่เขาทำออกมาไม่ว่าจะในรูปแบบใด ๆ ถึงจะไม่ได้แสดงที่นี่เนี่ย ก็จะมีความเป็นสงขลาอยู่ในนั้นโดยที่เขาไม่รู้ตัว เลยรู้สึกแฮปปี้กับการทำโปรเจกต์ให้ศิลปินมาพำนักที่นี่ครับ”

“ข้อดีอย่างหนึ่งของอาคารเก่าที่เราเห็นชัด ๆ ก็คือเพดานจะสูงมาก ๆ เกือบสามเมตร แล้วพอเป็นอาคารเก่ามันก็มีความพิเศษที่ว่าคนสามารถดูงานศิลปะไปด้วยแล้วก็ได้สังเกตุจุดอื่น ๆ ของอาคารไปด้วย คือพื้นที่แกลเลอรี่มันก็เป็นอะไรก็ได้อยู่แล้ว แค่มันได้รับการเติมเต็มโดยศิลปะมันก็สวยงามเสมออยู่แล้ว”