ความเจริญหน้าตาอย่างไร? ถ้าถามจอมพลผู้นำเมื่อกึ่งศตวรรษที่แล้วก็คงตอบว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” ผู้คนสัญจรไปไหนมาไหนได้โดยสะดวก ไม่ว่าจะบนรถทัวร์จากโคราชสู่กรุงเทพฯ หรือจากออฟฟิศกลางกรุงเทพฯ สู่ซอยเล็ก ๆ ที่เราพักอาศัยในยามค่ำคืน
แต่ถ้าไม่ใจลอยจนเกินไปนัก เราคงสังเกตกันได้ไม่ยากเลย ว่าถนนหนทาง ที่เป็นสัญลักษณ์ทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งของ “ความเจริญ” หรือ “การพัฒนา” กลับมีสภาพย่ำแย่ แม้ในวันธรรมดาก็ดูผุพัง และในวันที่อากาศร้าย ๆ ก็อาจได้คราบน้ำฝนสาดขึ้นมาตามตัวจากหลุมบ่อเป็นอีกหนึ่งหลักฐานของการ “เหมือนจะ” พัฒนา ของสังคมไทย

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON
ใน ‘A ROCKING ROAD TO THE MOON’ หรือ ‘ยืนบนถนนคนสู้เพื่อฝัน’ นิทรรศการใหม่ของศิลปินและดีเจ ‘ธาดา เฮงทรัพย์กูล’ เจ้าของผลงานวิดีโอซากรถถังจมน้ำที่วิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างเจ็บแสบ เขากลับมากวนใจผู้มีอำนาจเมืองไทยอีกครั้ง ผ่านผลงานเชิงติดตั้งลักษณะคล้ายถนนขรุขระดังพื้นผิวพระจันทร์ที่เราคนไทยคุ้นเคย
เพราะโครงสร้างสังคมนี้ มันรบกวนชีวิตเขา และเราอยู่ตลอด ทั้งโครงสร้างสังคมที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเมืองจริง ๆ อย่างถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง และโครงสร้างสังคมที่หมายถึงระบอบการเมืองการปกครองที่อยู่เบื้องหลังความทรุดโทรมของโครงสร้างพื้นฐานนั้น และมันแปลกประหลาดไม่ใช่น้อยจริง ๆ สำหรับเรา ว่าทำไมโครงสร้างทั้งสองที่เห็นกันอยู่กับตา และประสบปัญหากันอยู่กับตัวนี้ ถึงได้ดูเป็นเรื่องห่างไกลจากความสนใจของผู้คนไม่น้อย? และงานศิลปะจะมีหน้าที่อย่างไร ท่ามกลางศิลปะแห่งการทรุดโทรมที่อยู่รอบตัวตลอดเวลา?
ในบทสนทนานี้ ธาดา เฮงทรัพย์กูล ย้อนกลับไปมองที่มาความหลงใหลในท้องถนนของเขา ซึ่งมาจากทั้งประวัติศาสตร์ของมันและประสบการณ์ส่วนตัว ลองวิเคราะห์ปมปัญหาหลักใจกลางความผุพังเหล่านี้ และร่วมกันจินตนาการภาพแห่งการพัฒนาอีกรูปแบบ ที่หมายถึงการพัฒนาจริง ๆ ไม่ใช่การเหมือนจะพัฒนาอย่างที่เห็นกันอยู่นี้…

ศิลปิน ธาดา เฮงทรัพย์กูล ในนิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON

ธาดา เฮงทรัพย์กูล ขณะกำลัง casting หลุมถนนที่จังหวัดโคราช
คุณหลงใหลอะไรในท้องถนน จึงมาทำงานชุดนี้
งานนี้ผมพัฒนาต่อจากงานชุดที่ชื่อว่า “ถนนนี้หัวใจข้าจอง” ซึ่งเป็นหนังสือรวมภาพถ่ายอุบัติเหตุจากเฟซบุ๊ค “กลุ่มข่าวคนโคราชบ้านเอ็ง” เป็นภาพที่ชาวบ้านเขาถ่ายมาร้องทุกข์ พวกถนนทรุด เจอสัตว์ น้ำประปาแตก อะไรพวกนี้ แล้วเรารู้สึกถึงคุณสมบัติบางอย่างในภาพเลยจับมารวมเล่ม ซึ่งพอเราใช้ถนนกันทุกคนในทุก ๆ วัน มันก็เหมือนเป็นสิ่งนามธรรมอะไรบางอย่างที่คนรู้สึกเหมือนกันพร้อม ๆ กัน— คือใช้ถนนเป็นตัวอธิบายความรู้สึกนามธรรมของเราและคนรอบข้างทุกคน ไม่ว่าจะคนจน คนรวย คนในชนชั้นไหน หรือสถานะไหนของประเทศ คุณก็ต้องใช้ถนนร่วมกัน ระหว่างทำงานนี้ผมก็เห็นรถอีแต๋น รถกระบน รถพอร์ช ทุกอย่าง ผ่านมาบนถนนเส้นเดียวกัน
งานนี้ก็จะพูดถึงสภาพเศรษฐกิจที่มันถดถอย และสิ่งต่าง ๆ ที่ทรุดโทรมไปเรื่อย ๆ ผ่านการทุจริตคอรัปชั่น ผมก็เลยถอดรูปแบบของถนนจากที่เคยสัมผัสมาเป็นงานศิลปะ
งานทั้งสองชุดมันเกี่ยวกันตรงที่ทั้งคู่พูดถึงเรื่องถนนมิตรภาพ ที่อเมริกันมาสร้างไว้ให้ตั้งแต่ยุคสงคราม แล้วมันก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทำให้รัฐมีช่องโหว่มาคอร์รัปชันในการทำถนน ชุดนี้ผมก็เลยเอารูปความวินาศสันตะโรต่าง ๆ ของท้องถนน ที่มันเห็นเป็นเชิงประจักษ์ เป็นทัศนียภาพเลย มาชวนมองโครงสร้างหลักทางการเมือง เช่นโครงสร้างอำนาจทางการทหาร หรือระบอบการเมืองต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเห็นผ่านภาพสถาปัตยกรรมที่สะท้อนผ่านเงาน้ำในหลุม
ผมใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เวลากลับบ้านก็ขับรถมอร์เตอร์ไซค์หรือรถเก๋ง แล้วถนนกรุงเทพฯ หลุมมันก็เยอะ พอจะนั่งรถทัวร์กลับบ้านไปโคราชก็เจอหลุมอีก ไม่เปลี่ยนเลย เหมือนมันทำถนนกันตลอดเวลาทั้งประเทศเลย ไปดูวิดีโอเก่า ๆ ที่ถ่ายถนนมิตรภาพมันก็ดูเป็นอย่างนี้ไม่เปลี่ยนเลยตั้งแต่ตอนสร้างถนนแล้ว แล้วมันไม่ใช่แค่ถนน ตึกเก่า ๆ รอบตัวมันก็เริ่มทรุดโทรม สิ่งก่อสร้างรอบตัวเรามันแสดงให้เห็นความทรุดโทรมของประเทศได้เลย
ถนนเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งที่เราหยิบขึ้นมา แต่จริง ๆ มันมีเยอะมากเลย ตอนเราทำงานนี้ทีแรกก็กลัวว่าคนจะเข้าใจเรื่องที่เราทำไหม เพราะมันดูเป็นเรื่องปกติทั่วไปประจำวัน — ถึงมันจะไม่ควรเป็นเรื่องปกติ — แต่พอมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้วตึกถล่ม คนก็ยิ่งเชื่อมโยงงานกับเรื่องนั้นเข้าไปอีก
ผมขับมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ แล้วผมรู้สึกว่าแม่งจะตายขึ้นมาวันไหนวะ ชีวิตกูมันอยู่บนเส้นด้ายมากเลย จะล้มขึ้นมาวันไหนจะกลิ้งวันไหนก็ได้อะไรอย่างนี้— ความปลอดภัยในชีวิตไม่มีเลย ถนนมันทำให้รู้ว่าเราโดนทอดทิ้ง

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON
ตอนนี้คนเริ่มพูดถึง “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” กันมากแล้ว เวลาพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เช่นเรื่องการเมือง สำหรับคุณปัญหาเชิงโครงสร้างที่เห็นได้จากถนนที่ผุพังเหล่านี้คืออะไร
หลัก ๆ เลยมันคือการคอร์รัปชัน คือความขี้โกงของคน การไม่สนใจคนอื่น หรือเห็นแก่ตัว และมันไม่ได้เป็นแค่คนไทย แต่ในอาเซียนเป็นกันหมดเลย มันมีวิธีที่คนจะเอาเปรียบคนได้ตลอด
เช่นเรื่องคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่ม เราก็เห็นว่าคนไม่มีความเห็นใจคนอื่นกัน ถ้าผมเป็นแรงงานพม่าที่มาทำงานที่นี่ หนีสงคราม หนีพิษเศรษฐกิจมายังที่ที่เหมือนจะดีกว่าในเชิงเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายอาจต้องเสียชีวิตแบบไม่มีการรับผิดชอบอะไรเลยด้วยซ้ำ ผมว่ามันดูเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนไป
อย่างถนนที่เห็นว่ามันทำมาอย่างดี แต่ถ้าเราไปดูความทรงจำภายในตัวหลุมถนนเอง จะเห็นว่ามันมีรอยเป็นชั้น ๆ เลย ที่ทำถนนกันแบบบางมาก เพื่อให้มันลอกออกเป็นชั้น ๆ ทุก ๆ ปี วัดดูได้เลยว่า 10 เซนติเมตร สังเกตได้เลยมันจะลึกเท่ากัน เพราะเขาตั้งใจทำให้มันเผื่อซ่อม เขาไม่ได้ทำให้มันคงทน
ผมว่านี่เป็นเรื่องหลัก ๆ เลย เวลามองดูเงาในน้ำไปแล้วเห็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลกของไทย เห็นสะพานสุดโอ่อ่า หรือสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสถาปัตยกรรมที่กดทับคน มันดูถูกคน คุณเอาเงินไปลงกับเรื่องพวกนี้ แต่กลับเรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุข หรือเรื่องความเป็นอยู่ของคนโดยทั่วไป มันยังไม่ได้รู้สึกถึงความพัฒนาเลย แต่สิ่งก่อสร้างทุกอย่างกลายเป็นเรื่องของการเอาหน้า
หลาย ๆ อย่างเราไปให้อำนาจกับภาครัฐมากเกินไป จริง ๆ เขาไม่ควรมีอำนาจอะไรขนาดนั้น

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON

ธาดา เฮงทรัพย์กูล ในนิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON
งานก่อน ๆ ของคุณเต็มไปด้วยพลังวัยรุ่น ความกวน ความท้าทาย แต่งานนี้กลับมีความนิ่งขึ้นในเชิงการจัดแสดง คุณรู้สึกว่าตัวเองนิ่งขึ้นไหม
ผมว่าอันนี้กวนตีนมากเลยด้วยซ้ำนะ (หัวเราะ) มันเป็นการกวนตีนภาครัฐ กวนความเว่อร์วังอลังการของเขา ที่สร้างอะไรก็ดูยิ่งใหญ่ แต่ก็สร้างไม่เสร็จสักทีบ้าง หรือมีอุบัติเหตุเป็นประจำบ้าง

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON
ถ้ามันเป็นประสบการณ์ทั่วไปบนท้องถนนที่ทุกคนเจออยู่แล้ว แล้วงานศิลปะจะมีหน้าที่อย่างไร
ผมทำงานชิ้นนี้เพื่อบันทึก ว่ามันมีเหตุการณ์และเรื่องราวอะไรบ้าง มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ระหว่างการเดินทาง แล้วก็สร้างงานติดตั้งมา ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม มาจินตนาการด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ซึ่งการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เองก็อาจไม่ใช่เรื่องที่คนเอเชียอย่างเราคุ้นชินเท่าไร ทำให้หลาย ๆ อย่างสูญหายไปกับการเวลา แต่ภาพถ่ายมันเป็นเรื่องของการบันทึก และการจัดแสดงก็เป็นวิธีให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการบันทึกนี้ด้วย
อย่างแบริเออร์ที่มันโยกเยกไปมา ก็มาจากแบริเออร์ข้างถนนกรุงเทพฯ ที่ชอบติดตั้งรูปธรรมชาติเอาไว้ แต่ในงานนี้เป็นภาพตึก คนที่เข้ามาดูก็พูดคุยกันเรื่องแผ่นดินไหว จากตอนแรกที่ตั้งใจจะพูดเรื่องเศรษฐกิจที่มันล้มลุก เรื่องความเป็นเมืองที่มันกระจุกอยู่แค่หย่อมเล็ก ๆ
เมื่อก่อนผมชอบวัดความเป็นเมืองว่า มันขยายออกไปกว้างแค่ไหน เช่นเวลาถอยออกไปยืนหากจากตัวเมืองกรุงเทพฯ สัก 5-10 กิโลเมตร แล้วเอามือมาเล็งเทียบ จะเห็นว่าความเป็นเมืองมันกระจุกอยู่แค่ในพื้นที่ฝ่ามือนี้เอง
แล้วกรุงเทพฯ พอฝนตกนิดหนึ่งมันก็มีแอ่งน้ำอยู่ พอเห็นเงาสะท้อนของอาคารรัฐก็รู้สึกแปลกตาดี มันดูยิ่งใหญ่มาก แต่ก็ไม่สมเหตุสมผล มันตัดกันมาก ระหว่างตัวสถาปัตยกรรมกับตัววัสดุถนนที่ผุพัง

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON
ถนนมิตรภาพเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่หลายคนเรียกกันว่า “ยุคพัฒนา” — ซึ่งคุณมองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของการไม่พัฒนาจริง ๆ ด้วยซ้ำ — ถ้าอย่างนั้นเราควรตั้งชื่อยุคนี้ที่ถนนผุพังก็ยังมีอยู่เต็มเมืองว่าอะไรดี
ยุคแห่งความโสมมประชาคมอาเซียน ไทยเคยเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เรากลายเป็นอะไรก็ไม่รู้แล้วตอนนี้ ซึ่งก็เกี่ยวข้องกันหมดทั้งอาเซียน การเข้ามาลงทุนในเชิงลึกหรือการทุ่มลงทุนมันไปลงกับประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วแทน

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON
ประเทศเราไม่พัฒนาตรงไหน
ประเทศเราเหมือนจะพัฒนาแต่ก็ไม่ได้พัฒนาเลย ตั้งแต่ไหนมาแล้ว กรุงเทพฯ เองมีห้างมีอะไรเยอะแยะ แต่ท้ายที่สุดคุณภาพชีวิตคนมันก็ไม่ได้ดีเลย แค่จะพักผ่อนเราก็ไม่มีสถานที่อะไรให้พักผ่อนกันนักเลยจนต้องไปช็อปปิ้งที่ห้าง
อย่างชื่อภาษาอังกฤษของนิทรรศการคือ ‘A ROCKING ROAD TO THE MOON’ — คำว่า “TO THE MOON” ถ้าคุณเล่นคริปโตหรือเล่นหุ้นจะรู้ว่ามันหมายถึงการไปให้ถึงจุดขีดสุด มันควรจะไปให้ถึง แต่นี่มันไปไม่ถึง เพราะมันอยู่ในถนนที่มันล้มลุกคลุกคลาน เหมือนแบริเออร์มันล้มลุก หรือเก้าอี้โยกเยก
มีภาพหนึ่งที่พิมพ์ลงบนหลุมถนนแบบกลับด้าน เป็นรูปยานอวกาศแชลเลนเจอร์ของนาซ่าเมื่อปี 1986 ที่เขาปล่อยขึ้นไปแต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงดวงดาว ยานระเบิดก่อน แล้วก็มีคนเสียชีวิต

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON
ถนนเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการพัฒนา แต่ถนนที่ผุพังก็สะท้อนภาพของความไม่พัฒนาอย่างแท้จริง แล้วการพัฒนาที่แท้จริงจะมีหน้าตาอย่างไร เป็นถนนที่แข็งแรงราบเรียบแล้วใช่ไหม
ไม่ใช่แค่ถนน แต่คือเรื่องคุณภาพชีวิตด้วย ถนนเป็นแค่สิ่งนามธรรมที่ทำให้เราเห็นว่าสภาพการพัฒนาตอนนี้มันห่วยขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณเกิดอุบัติเหตุจากถนน มันก็กลายเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล เรื่องการทำงาน การลางาน หรือแค่ถนนแตก ๆ แล้วก้อนหินจากถนนมันกระเด็นมาโดนรถจนกระจกแตก มันก็มีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนกระจก แล้วคนไทยที่ได้เงินเดือนแบบไม่พอใช้ เราเจออุบัติเหตุไม่ได้หรอกในชีวิต ถ้าเกิดอุบัติเหตุทีหนึ่งชีวิตก็เปลี่ยนได้เลย

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON
คุณเคยพูดถึงช่วงเวลาที่หยุดนิ่ง ไม่สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ คุณมองว่าตอนนี้เรายังอยู่ในเวลาที่ถูกหยุดไว้เหมือนกันหรือเปล่า
ใช่ ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ เข้าใจได้ว่าการพัฒนามันต้องใช้เวลา แต่ผมเข้ามากรุงเทพฯ ใหม่ ๆ ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี จนผมจบมานานแล้ว ก็ยังเห็นมันเหมือนเดิม พัฒนาเท่าเดิม ผมอยากให้ความเป็นอยู่มันดีขึ้น โอเค มันมีห้างขึ้นมาใหม่ แต่มันก็ไม่ได้มีอะไรให้คนทำใหม่ ๆ เลย ขนาดคนกรุงเทพฯ ยังไม่มีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากนัก แล้วคิดดูว่าคนต่างจังหวัดจะขนาดไหน มองในเชิงความรู้สึกของการเป็นคน มันก็ควรจะมีความหลากหลายในการได้ใช้ชีวิตมากขึ้นไหม

นิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON

ธาดา เฮงทรัพย์กูล ในนิทรรศการ A ROCKING ROAD TO THE MOON

การ casting หลุมถนนที่จังหวัดโคราช

การ casting หลุมถนนที่จังหวัดโคราช