‘บรรพบุรุษ’ เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ (แทบจะ) เสมอ โดยเฉพาะสำหรับคนเอเชียแบบเรา ๆ ที่สืบทอดกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ มาเต็มไปหมด บางอย่างก็จำได้ว่าพ่อแม่ต้องสอนแล้วสอนอีกถึงจะยอมทำได้ แต่บางอย่างเราก็ทำไปเองเหมือนกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายเราโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสัตว์ต่าง ๆ ในธรรมชาติก็มีวัฒนธรรมที่แทบจะเหมือนกับเราเป๊ะเลย…
ใน ‘Think Evolution #1 : Kiku-ishi (Ammonite)’ หนึ่งในผลงานของศิลปินญี่ปุ่น อากิ อิโนมาตะ (AKI INOMATA) ที่จัดแสดงอยู่ในหอศิลปฯ กรุงเทพฯ ตอนนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Art Biennale 2024 เทศกาลศิลปะสองปีครั้งแห่งเมืองกรุงเทพฯ ปลาหมึกยักษ์ค่อย ๆ คืบคลานเข้าไปในเปลือกหอยแอมโมไนต์ สัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว ซึ่งศิลปินสร้างขึ้นใหม่จากเครื่องสแกนและเครื่องพิมพ์สามมิติ สำหรับเธอ มันแสดงให้เห็นทั้ง ‘ความฉลาด’ ของสัตว์ในการนุ่งห่มร่างกายตัวเองไม่ต่างจากมนุษย์ และแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์ระหว่างบรรพบุรุษและลูกหลานที่มีต่อกัน ทั้งที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน
เธอเป็นศิลปินที่ ‘ทำงานร่วมกับ’ สิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ตั้งแต่ปูเสฉวน หอย ไปจนถึงสุนัขของเธอเอง ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และความร่วมมือข้ามสาย ไปหาโลกวิทยาศาสตร์ โดยมีผลงานโชว์มาแล้วอย่างเช่นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) นครนิวยอร์ก, ลา เกรียนนาเล่ ดีมิลาโน่, ไทยแลนด์เบียนนาเล่ (กระบี่) และพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเมืองนองต์
เธอผสมผสานศิลปะกับวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกันได้อย่างไร ปลาหมึกมีความสำคัญอย่างไรสำหรับเธอ และธรรมชาติจะมี ‘สิ่งประดิษฐ์’ เหมือนกันกับมนุษย์ไหม GroundControl นั่งลงคุยเรื่องเหล่านี้กับอากิ อิโนมาตะ ในบทสัมภาษณ์นี้
พาวิทยาศาสตร์กลับมาอยู่กับศิลปะ
“ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วศิลปะกับวิทยาศาสตร์ไม่ได้แยกกันขนาดนี้ ฉันคิดว่ามันมาจากรากเดียวกันเลยด้วยซ้ำ ก็เลยคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องแยกศิลปะกับวิทยาศาสตร์ในการทำงาน”
“ที่ญี่ปุ่นตอนนี้ก็มีแพล็ตฟอร์มสำหรับวิจัยของศิลปินชื่อ metaPhorest สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งสนับสนุนการทำงานศิลปะแบบ biological/biomedia art (สื่อศิลปะเชิงชีววิทยา) หรือ bioaesthetics (สุนทรียศาสตร์เชิงชีวะ) ที่นั่นมีทั้งศิลปินและนักวิทยาศาสตร์ มาสนทนากัน ทำให้ฉันได้รับทั้งไอเดียในการทำงานและความรู้ใหม่ ๆ จากความร่วมมือแบบนี้ด้วย”
ความฉลาดไม่ได้เป็นสมบัติแค่ของมนุษย์
“แอมโมไนต์ (สัตว์ทะเลโบราณที่มีเปลือกขดเป็นก้นหอย) เป็นบรรพบุรุษของปลาหมึกยักษ์ในปัจจุบัน แต่ทั้งสองเหมือนกับญาติที่มาเจอกันไม่ได้ เพราะแอมโมไนต์สูญพันธ์ไปก่อนนานมากแล้ว งานชุด ‘Think Evolution #1 : Kiku-ishi (Ammonite)’ เลยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ญาติสองคนนี้มาเจอกัน ใช้ ซีที สแกน (CT SCAN: Computerized Tomography Scan) สร้างฟอร์มของแอมโมไนต์แล้วก็พิมพ์เปลือกแอมโมไนต์แบบสามมิติขึ้นมา มันอาจเป็นการเจอกันข้ามเวลาและสถานที่ก็ได้ หรือจะมองมันเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่เลยก็ได้”
“ความจริงปลาหมึกยักษ์ในอดีตเขาก็มีเปลือกของเขาอยู่แล้ว แต่ระหว่างที่วิวัฒนาการมันก็หายไป เหลือแต่ร่างกายอย่างเดียว ฉันรู้สึกว่ามันเหมือนกับมนุษย์ที่ปัจจุบันก็ไม่มีขนแล้ว ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนมีขนเยอะมาก ในปัจจุบันเราเปลี่ยนขนที่อยู่บนตัว แล้วมาใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายแทน ให้รับกับสภาพแวดล้อม ปลาหมึกเองก็มีความฉลาดของเขาเหมือนกับมนุษย์ยุคปัจจุบัน พวกเขาใช้ชีวิตในทะเล แล้วพอเห็นอะไรที่พอจะเอาร่างกายเข้าไปอยู่ข้างในได้เข้าก็จะพยายามเข้าไปเพื่อปกป้องตัวเองจากอันตราย ซึ่งก็เหมือนที่มนุษย์ปกป้องตัวเองด้วยการใส่เสื้อผ้าเลย”
การสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงธรรมชาติ
“ถ้าดูงาน Why Not Hand Over a “Shelter” to Hermit Crabs? จะเห็นว่าด้านล่างของเปลือกหอยที่ฉันสร้างจากเครื่องพิมพ์สามมิติจะเป็นรูปทรงตามธรรมชาติเลย แต่ด้านบนจะเป็นสถาปัตยกรรมในเมืองต่าง ๆ — ถ้าไม่ทำอย่างนี้ปูเสฉวนจะไม่ยอมเข้าไปอยู่ในเปลือกหอยนั้น”
“การทำอย่างนี้ทำให้เห็นรูปทรงตามธรรมชาติชัดเจนด้วย และสถาปัตยกรรมที่มาจากมนุษย์ชัดเจนด้วย เหมือนจะเป็นความขัดแย้งกัน แต่ก็เป็นเหมือนการทำงานร่วมกันระหว่างสิ่งที่มนุษย์สร้างและสิ่งที่สิ่งอื่นสร้างในธรรมชาติ”