ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2561 ไม่มีใครคิดว่าผลงานของศิลปินระดับตัวแม่ของโลกอย่างมารีนา อบราโมวิช และ ยาโยอิ คุซามะ จะถูกนำมาจัดแสดงที่ ‘กรุงเทพฯ’ และคงไม่มีใครคิดด้วยซ้ำว่ากรุงเทพฯ จะมีเทศกาลศิลปะที่กระจายจุดจัดแสดงทั่วทั้งเมืองไปอยู่ตามวัด ตามห้าง และตามโรงแรม สถานที่ที่เป็นดังสัญลักษณ์ไลฟ์สไตล์แบบเมืองใหญ่ ที่ความทันสมัยอยู่เคียงข้างกับประเพณีโบราณ
ไม่ถึงสิบปีที่แล้ว ใครจะคิดว่ากรุงเทพฯ ในวันนี้จะกลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญทางศิลปะของโลก ที่นำเข้าและส่งออกศิลปะ ศิลปิน และวัฒนธรรม ความคิด
ไม่มีใครคิดถึงสิ่งนั้น จนกระทั่งการมาถึงของ ‘Bangkok Art Biennale’ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่จัดขึ้นทุกสองปีในกรุงเทพฯ
แม้ว่าเทศกาลศิลปะนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2024 หรือ ‘BAB 2024’ ในปีนี้ จะผ่านมาครึ่งทางแล้ว แต่เรายังคงเห็นความคึกคักของวัยรุ่นที่ยังพากันมาเดินชมงานศิลปะกันจนทำให้หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ แน่นขนัด เห็นชาวต่างชาติเดินชมงานศิลปะและแลกเปลี่ยนบทสนทนากันหลากหลายสำเนียงภาษา
นี่คงเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดแล้ว ในการชวน ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ของ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) ย้อนกลับไปสำรวจจุดเริ่มต้นของแนวคิดเกี่ยวกับงานระดับ ‘เบียนนาเล่’ ในประเทศไทย จากเพียงภาพฝันของคนรักศิลปะคนหนึ่งในวันนั้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ในงานนี้ เพื่อร่วมกันหาคำตอบในปัจจุบัน ว่าตอนนี้ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ อยู่ในจุดไหนของประวัติศาสตร์ศิลปะระดับโลก?
“ผมใส่หมวกหลายใบมาก อย่างงานนี้เป็นผู้อำนวยการศิลป์ ก็ต้องบริหารด้วย ในบริบทของมูลนิธิ ให้อยู่รอดได้ แล้วสร้างคน พัฒนาคน ให้พวกเขามีโอกาสได้แจ้งเกิด คนทำงานศิลปะของเราบางทีก็มีไอเดียดี ๆ นำมาใช้ก็เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ทำงานไปเรื่อย ๆ วัน ๆ” คำพูดจาก ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ หนึ่งในบุคคลสำคัญของแวดวงศิลปะร่วมสมัยไทยที่เคยขยับไปอยู่ในทุกมุมของโลกศิลปะ ทั้งในฐานะศิลปินผู้ได้รับเหรียญรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติถึงสามครั้ง ศิลปินไทยที่ได้แสดงนิทรรศการเดี่ยว วิดิโอ อาร์ต ที่ Johnson Museum of Art, มหาวิทยาลัย Cornell, นิวยอร์ก อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำแหน่งปลัดกระทรวงฯ และรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย รวมไปถึงการได้รับเลือกเป็น ผู้อำนวยการคนแรก ของ National Gallery Singapore แต่เขาเลือกที่จะอยู่เมืองไทยเพื่อพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัย และประสบการณ์อันหลากหลายในวงการศิลปะระดับโลก
‘รักษา กายา’ หรือ ‘Nurture Gaia’ คือธีมของบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ประจำปีนี้ ที่ชวนคนดูมาร่วมกันสำรวจประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราต้องโอบอุ้มรักษา สิ่งนี้ทำให้ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เป็นอีกหนึ่งความพยายามจากโลกศิลปะที่จะชวนผู้คนมาทำความเข้าใจ พูดคุย และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การพูดคุยถึงประเด็นระดับมนุษยชาตินี้ทำให้แสงไฟในโลกศิลปะทั้งไทยและต่างชาติ พากันส่องแสงไปที่ ศ.ดร.อภินันท์ หัวเรือใหญ่ของงาน
ในบทสัมภาษณ์นี้ เรามองหาความหมายในทางปฏิบัติของการรักษากายาร่วมกับเขา ทั้งในระดับตัวเอง ในระดับของเมืองกรุงเทพฯ และในระดับโลก เรามองเห็นพลังของศิลปะ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการชมงานของคนแต่ละรุ่น ที่มาทั้งครุ่นคิดและมาเช็คอินที่เทศกาล BAB รวมทั้งมองเมืองกรุงเทพฯ ผ่านสายตาของเขา ผู้มองความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ว่าเป็นสิ่งที่ยังต่อยอดไปได้ไกลอีกเยอะ
ศิลปะจะ ‘รักษากายา’ ของเราและโลกได้อย่างไร
ในขณะที่โลกกำลังมองหาความสุขท่ามกลางวิกฤติต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา BAB 2018 ชวนให้เรามองหานิยามใหม่ของความสุขที่แฝงอยู่ในศิลปะ ผ่านแนวคิด ‘Beyond Bliss: สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต’, ในช่วงที่โรคระบาดแพร่กระจายทำให้บรรยากาศโลกดูมืดมน BAB 2020 กลับมาพร้อมกับแนวคิด ‘Escape Routes: ศิลป์สร้างทางสุข’ ที่กระตุ้นให้ทุกคนเดินทางไปหาความสุขตามเส้นทางของตัวเองผ่านศิลปะ และเมื่อ BAB 2022 มาถึง พวกเขาได้นำเสนอแนวคิด ‘CHAOS: CALM โกลาหล: สงบสุข’ ซึ่งเป็นมุมมองที่ทำความเข้าใจโลกทั้งดีและร้าย ผ่านเลนส์หลากหลายรูปแบบ ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น และในปีนี BAB 2024 กลับมามาพร้อมแนวคิด ‘รักษากายา’ หรือ ‘Nurture Gaia’
การ ‘รักษา กายา’ หรือการจัดการปัญหาธรรมชาติ สังคม และความเป็นหญิง อันเป็นธีมหลักของ BAB ในปีนี้ ถือเป็นแนวคิดที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ก็อาจจะกว้างเกินไปสำหรับศิลปะที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ได้จริง ๆ ดังที่ มารินา อบราโมวิช ก็เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งมาไทยรอบที่แล้วว่า ศิลปะอาจไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ ในแง่ของการจัดการปัญหาความขัดแย้งอย่างสงครามและการก่อการร้าย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามองดู BAB 2024 ที่เดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว เรากลับมองเห็นพลังของศิลปะในการกระตุ้นให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามและเปิดมุมมองใหม่ ๆ ต่อประเด็นเหล่านี้ ผ่านการนำเสนอที่มีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของเนื้อหาและรูปแบบของผลงาน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตจริงและสร้างการสนทนาทางสังคมที่ลึกซึ้ง และแม้การเปลี่ยนแปลงอาจไม่เกิดขึ้นทันที แต่ก็สามารถจุดประกายให้ผู้ชมมองเห็นความสำคัญของการดูแลธรรมชาติและการสนับสนุนความเท่าเทียมได้มากขึ้น
หรือนั่นล่ะคือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของศิลปะ?
“ปัญหาโลกแตกอย่างเรื่องธรรมชาติ สภาพแวดล้อม พิษสงคราม พิษของโรคภัย เรื่องเศรษฐกิจ ทุกอย่างนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราต้อง ‘Nurture’ หรือ ‘รักษา’ ซึ่งมันเป็นสองคำที่เล่นกับสำนึก สำนวน หรือเสียงที่ต่างกันด้วย ทำให้ความหมายของแนวคิดนี้กระจายตัวไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ” อภินันท์ตอบข้อสังเกตของเรา
“ดังนั้นมันเลยไม่มีสูตรสำเร็จ ถ้าจะคำตอบว่าการดูแลรักษาสิ่งต่าง ๆ ต้องทำอย่างไร เหมือนกับถามว่าจะป้องกันสงครามโลกครั้งที่สามได้อย่างไร เราอาจจะหาคำตอบที่ถูกต้องเลยไม่ได้ แต่คำตอบจะแตกกระจายไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ โจทย์ที่ทำให้งานนี้น่าตื่นเต้นคือการนำผลงานกว่า 200 ชิ้นของศิลปินทั่วโลกมาวางในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างพิพิธภัณฑ์พระนครหรือหอศิลป์เจ้าฟ้า รวมไปถึง One Bangkok ด้วย ทีมคิวเรเตอร์ก็ต้องมาคิดกันว่าจะแสดงผลงานชิ้นไหนที่ไหนให้สื่อสารแนวคิดนี้ และชวนคนดูมาครุ่นคิดถึงประเด็นเหล่านี้
“การเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ชมเอง เพราะประเด็นเหล่านี้กระจายไปในหลายแง่มุม ผู้ชมแต่ละคนอาจต้องเลือกจับประเด็นใดประเด็นหนึ่งไปตามการรับรู้และการตีความของตัวเอง”
ศิลปะร่วมสมัย ในแบบที่ใกล้ใจคนดู
หนึ่งในความท้าทายของศิลปะร่วมสมัยคือแนวโน้มที่มันมักจะเข้าถึงยาก ด้วยหน้าตาที่บางครั้งต้องตีความหลายขั้นตอนก่อนที่จะเข้าใจ หรืออาจจะเป็นเพราะวิธีการจัดแสดงที่มักจะอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมสีขาวที่ตัดขาดผลงานออกจากบริบทอื่น ๆ
BAB คือหนึ่งในงานศิลปะที่ทลายกำแพงความเข้าใจระหว่างผู้ชม หรืออย่างน้อยก็ลดช่องว่างระหว่างงานศิลปะกับคนดูมากขึ้น ด้วยการพลิกพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างศิลปะ ผู้ชม และสังคม พาคนดูตั้งแต่วัยรุ่นยุคอินสตาแกรมไปจนถึงคอพิพิธภัณฑ์สายลึกมาแบ่งปันช่วงเวลาในพื้นที่ศิลปะร่วมกัน ด้วยการนำผลงานที่หาชมได้ยากมาจัดแสดงในพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย และทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใกล้ชิดกับมันได้มากยิ่งขึ้น
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการเปิดประตูใหม่สำหรับผู้ชมจำนวนมากที่อาจไม่เคยสัมผัสศิลปะร่วมสมัยมาก่อน และเปิดประตูใหม่สำหรับศิลปะร่วมสมัยเอง ที่จะเดินทางไปหาผู้ชมในวงกว้าง
“จริง ๆ แล้วน่าแปลกใจมาก ๆ เลย ไม่คิดว่าผู้ชมจะเยอะขนาดนี้” คือคำตอบของศ.ดร.อภินันนท์ เมื่อเราถามว่า ตัวเลขผู้เข้าชมในปีนี้เป็นสิ่งที่ทีมงานคาดการณ์ไว้แล้วหรือไม่ “ตอนนี้เรามีผู้ชมมากกว่า 700,000 คนแล้ว แต่ตัวเลขก็เป็นแค่เครื่องมือที่ใช้วัด เพราะสิ่งที่สำคัญจริง ๆ คือสิ่งที่คนพูดกับเรา หรือสิ่งที่พวกเขาแสดงออกขณะชมงาน ที่สะท้อนถึงความสนใจของผู้ชม
“สิ่งที่เราสนใจคือการได้พบว่า นอกจากวัยรุ่นที่หันมาสนใจศิลปะร่วมสมัยแล้ว ยังมีผู้ใหญ่ กลุ่มครอบครัว และนักวิชาการจากหลากหลายสาขาที่มาชมงานและเกิดบทสนทนาต่อ เช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้มีอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มาชมงานของ นักรบ มูลมานัส และเห็นความเชื่อมโยงกับวรรณกรรม หรือผลงานของดุษฎี ฮันตระกูล ที่เกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยาและพิพิธภัณฑ์ศึกษา ซึ่งตั้งคำถามว่าพิพิธภัณฑ์คืออะไร ควรทำหน้าที่อย่างไร มันทำให้กลุ่มคนใหม่ ๆ ได้ทบทวนความหมายของคำว่าพิพิธภัณฑ์ไปพร้อมกัน”
ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดในงานนี้คือภาพงานศิลปะที่ถูกแชร์ผ่านไทม์ไลน์ จนกลายเป็นที่คุ้นตาและสะท้อนความประทับใจที่ผู้คนมีต่องานครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางเสียงที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ 'ความเข้าถึงง่าย' ของงาน ซึ่งอาจทำให้เนื้อหาทางสังคมและการเมืองที่ผลงานต้องการสะท้อนดูเบาบางลงไป ปรากฏการณ์นี้เป็นความท้าทายที่ผู้จัดงานศิลปะในยุคปัจจุบันต้องเผชิญและหาทางรักษาสมดุลให้ได้ และเป็นสิ่งที่ BAB คำนึงถึงมาตั้งแต่แรกเริ่ม
“ดีเอนเอของเราตั้งแต่เริ่มต้น BAB ในปี 2018 คือการผสมผสานความยากกับง่ายในงานศิลปะ เพราะเราได้รับแรงบันดาลใจจาก มารีนา อบราโมวิช ศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะแบบการแสดงสด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของเรามาตั้งแต่แรก เมื่อปี 2018 เขาพาลูกศิษย์ 6-7 คนเข้ามาทำการแสดงหนึ่งเดือนเต็มที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการนั่งสมาธิ นับเมล็ดพันธุ์พืช ปิดตาเดิน ฯลฯ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากพุทธศาสนาด้วย ทำให้คนที่เข้าไปดูทั้งงง ทั้งฉงน แต่ก็วนกลับมาดูแล้วดูอีก แสดงให้เห็นว่ามันโดนใจคน ช่วงนั้นจะเห็นเลยว่ามีเด็กวัยรุ่นมานั่งแล้วก็ร้องไห้ รู้สึกถึงอะไรบ้างอย่างข้างใน นั่นทำให้เรามองงานศิลปะอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการแสดงสด ว่ามันต้องมีเนื้อหาที่เข้มข้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไปสื่อสารกับกลุ่มผู้ชมให้โดนใจได้ด้วย
“อย่างปีนี้ก็มีงานของ ชเว จอง ฮวา ชุด ‘Breathing’ ผลงานรูปทรงผัก ผลไม้หลากสีสันที่เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ ราวกับจังหวะลมหายใจเข้าออก จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ซึ่งไวรัลแบบปากต่อปาก เพราะรูปลักษณ์มันเข้าใจง่าย และผลงานก็สัมผัสได้ด้วย ไม่เหมือนศิลปะสมัยก่อนที่ห้ามจับ แล้วก็เข้าถึงได้ยาก แต่เมื่อผลงานเขาเป็นอย่างนี้แล้วเราก็ต้องตั้งคำถามด้วย ว่าผักผลไม้แบบที่เห็นในงานนี้ มันแตกต่างไปจากผักผลไม้ทั่วไปอย่างไร มันถูกดัดแปลงหรือเปล่า? เป็นพิษหรือเปล่า? แล้วมันกำลังบอกอะไรเราเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มันไม่ใช่แค่ผลไม้ขนาดยักษ์ที่ดึงดูดคนให้เข้าไปถ่ายภาพได้เฉย ๆ
“ผมเองก็คงไม่สามารถเข้าไปอยู่ในความคิดของเด็กรุ่นใหม่ ๆ ได้ แต่เรื่องที่พวกเขาสนใจอย่างเรื่องการเมือง เราก็เปิดให้มีการนำเสนอด้วย อย่างเมื่อปี 2022 เราก็มีผลงาน ‘เมื่อปลากำลังส่งเสียงจิ๊บๆ’ ของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ที่เป็นการสัมภาษณ์เด็กนักเคลื่อนไหวกลุ่มทะลุฟ้า แล้วตอนนั้นการเมืองก็กำลังแรง ๆ ผมก็คิดว่ามันเป็นทั้งเรื่องการเมืองและสุนทรียะปนกัน”
สร้างเมืองศิลปะบน ‘เมืองเสพติด’
เอกลักษณ์หนึ่งที่ทำให้ BAB (Bangkok Art Biennale) เป็นที่ประทับใจของผู้คนเสมอ คือการเลือกสถานที่จัดแสดงที่สะท้อนถึงความเป็นกรุงเทพฯ ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งการค้าหรือวัดวาอารามที่มีชื่อเสียงและเป็นที่จดจำของชาวต่างชาติ เช่น วัดบวรฯ วัดโพธิ์ วัดอรุณ และวัดประยูร ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของเมืองที่ทำให้กรุงเทพฯ ยังคงดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกอยู่เสมอ แต่คำถามที่ตามมาคือ กรุงเทพฯ ยังมีอะไรให้ค้นหาในแง่ของงานศิลปะอีกบ้าง?
“กรุงเทพฯ เป็นเมืองเสพติด คนมาแล้วก็มาอีกเรื่อย ๆ ด้วยสถานที่อย่างเช่นวัดบวรฯ วัดโพธิ์ วัดอรุณ วัดประยูร ที่เป็นเสน่ห์ของเรา ซึ่งก็ต้องขอบคุณเขาด้วยที่ให้โอกาสเรา กรุงเทพฯ มีศักยภาพเยอะมากทั้งในแง่การต้อนรับของเราหรือแง่การเปิดกว้าง อย่างที่นักท่องเที่ยวหลายคนเข้ามาแล้วก็สลัดตัวตนเดิมไปกลายเป็นคนใหม่ หรือในแง่ความบันเทิงด้วย
“ตอนวางแผนจัดงานนี้เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลย ในแง่การดึงคนเข้ามา เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องต่อยอดเสน่ห์ของเมืองด้วย เราเชิญศิลปินเกือบร้อยคนเข้ามา เราก็ต้อนรับเขาอย่างดี แล้ววงการศิลปะตอนนี้ก็เติบโตขึ้นมาก ไม่ใช่แค่ใน BAB เท่านั้น แต่แกลเลอรี่ต่าง ๆ ก็จัดงานแสดงกันมากขึ้น แล้วขยายวงออกไปอีก สำหรับผมผมคิดว่าเราเอื้อซึ่งกันและกัน ศิลปินที่เข้ามาแสดงงานกับเราก็สร้างชื่อและออกไปแสดงงานที่ต่าง ๆ ต่อไปอีก”
อีกหนึ่งแนวทางที่เรามักเห็นในงานศิลปะร่วมสมัยคือการคัดเลือกผลงานและสถานที่จัดแสดงที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อตรวจสอบประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ใหม่ ๆ แต่ BAB กลับยึดติดอยู่กับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่ผู้คนทั่วโลกคุ้นเคย ศ.ดร.อภินันท์มองว่า นี่คือโอกาสที่ดีในการพัฒนาและต่อยอดศิลปะในกรุงเทพฯ มากกว่าที่จะเป็นข้อจำกัด
“เรากำลังมองหาพื้นที่จัดแสดงใหม่ ๆ ต่อเนื่อง และมีผู้เสนอว่าควรไปจัดแสดงในชุมชนหรือนอกพื้นที่ที่ถูกพัฒนาแล้ว เช่น วัดหรือหอศิลป์ต่าง ๆ ซึ่งเราก็ต้องขอขอบคุณพื้นที่จัดแสดงที่ให้ความช่วยเหลือเราอย่างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ และภาคเอกชนหลายแห่ง ในปีนี้เรามีพันธมิตรเพิ่มขึ้น เช่น การรถไฟฟ้า (MRT) เรือด่วน เจ้าพระยา ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ตามสถานีต่าง ๆ ทำให้ผู้คนสนใจงานศิลปะมากขึ้น รวมถึงโรงแรมที่ให้สถานที่จัดกิจกรรม
“เช่นเดียวกับเครือเซ็นทรัล ททท. การบินไทย ธนาคารกสิกร โตโยต้า Sumsung และ TCL ที่ช่วยเรามาตลอด ปีนี้เราตั้งใจจะนำประติมากรรม ‘ศีรษะผู้หญิงอินเดียสีทอง’ ของราวินเดอร์ เรดดี ไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร ซึ่งเป็นการคืนความหมายให้กับผลงานที่เคยตั้งอยู่ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในช่วงเหตุการณ์เพลิงไหม้ปี 2553 และสร้างการเชื่อมโยงใหม่กับประวัติศาสตร์ศิลปะในกรุงเทพฯ โดยมีการจัดสัมมนาและเชิญเรดดีมาพูดถึงความตั้งใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะ
“ผมเชื่อว่าเมื่ออยู่ในกรอบเมืองเดียว การวางแผนและดำเนินงานจะลึกซึ้งมากขึ้น เนื่องจากสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องและมีกลุ่มพันธมิตรที่ดีมาร่วมมือ
โลกในการเลือกของภัณฑารักษ์ผู้เห็นโลกในแววตาผู้ชม
ในเทศกาลที่เต็มไปด้วยศิลปินใหญ่เต็มไปหมด เราได้แต่จินตนาการว่าผู้อำนวยการศิลป์อย่าง ศ.ดร.อภินันท์ มีบทบาทรับมือกับความหลากหลายซับซ้อนทั้งทางความคิดและการทำงานของศิลปินเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ในเทศกาลที่วัฒนธรรม ความเชื่อ และอาจรวมถึงอุดมการณ์ที่แตกต่างเข้ามาอยู่ด้วยกัน ภัณฑารักษ์คงไม่ได้มีหน้าที่แค่การรวมงานศิลปะมาวางโชว์ให้นักสะสมเลือกเก็บกันแน่ แต่คือการร้อยเรียงผลงานทั้งหมดนี้เข้ามาอยู่ในเรื่องราวเดียวกัน และอยู่ในวงสนทนาร่วมกับประเด็นร้อนทั้งหลายของโลก ที่คนจากทุกวงการต่างก็สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้
แต่ที่จริงแล้วเขาคิดอย่างไรกับคำว่าภัณฑารักษ์กันแน่ ในวันที่โลกตั้งคำถามกับ ‘เรื่องเล่า’ ในโลกศิลปะตอนนี้
“เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้ไปสัมมนาที่มีการตั้งคำถามว่า "ภัณฑารักษ์สูญพันธุ์หรือยัง?" ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของบทบาทภัณฑารักษ์ในปัจจุบัน ถ้ากลับไปที่รากศัพท์ของคำว่า "คิวเรเตอร์" (Curator) หรือภัณฑารักษ์ในภาษาอังกฤษ มันก็มาจากภาษาละตินที่หมายถึงการดูแลหรือการแคร์ ซึ่งเมื่อก่อนคนทำงานนี้จะอยู่กับคลังวัตถุของพิพิธภัณฑ์ แต่มาสมัยนี้ก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่ช่วง 90s มานี้มันกลายเป็นว่าคิวเรเตอร์มีอำนาจขึ้นมา มีสิทธิคัดสรรวัตถุ แล้วก็มีอำนาจในการซื้อขายด้วยซ้ำ ซึ่งจริง ๆ การซื้อขายเดิมศิลปินกับนักสะสมก็ทำกันเองได้ แต่เรามองบทบาทของภัณฑารักษ์ปัจจุบันมีหน้าที่แนะนำศิลปินให้โลกได้รู้จักด้วย เหมือนที่เราพาศิลปินไทยไปจัดแสดงงานที่ต่างประเทศ หรือเปิดพื้นที่ให้ศิลปินหน้าใหม่ได้แจ้งเกิด
“แต่ผมใส่หมวกหลายใบมาก อย่างงานนี้เป็นผู้อำนวยการศิลป์ ก็ต้องบริหารด้วย ในบริบทของมูลนิธิ ให้อยู่รอดได้ แล้วสร้างคน พัฒนาคน ให้พวกเขามีโอกาสได้แจ้งเกิด คนทำงานศิลปะของเราบางทีก็มีไอเดียดี ๆ นำมาใช้ก็เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ทำงานไปเรื่อย ๆ วัน ๆ”
และในการจัดงานใหญ่อย่างนี้ แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือการต่อให้ติดกับผู้สนับสนุนที่ไม่ใช่แค่ศิลปินด้วย แต่คือหน่วยงานภาคเอกชนที่นำมาสู่คำถามจากผู้คน ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรกันแน่ สำหรับแนวทางการจัดการศิลปะเช่นนี้
“การจัดงานศิลปะครั้งนี้ถึง 4 ครั้ง ถือเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศศิลปะในประเทศไทยหลายด้าน ผมเห็นว่าการนำศิลปินระดับโลกมาแสดงในประเทศไทยไม่ใช่แค่การโชว์ศิลปะจากต่างประเทศ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนในประเทศได้ชมงานระดับโลกที่ไม่ต้องเดินทางไปที่อื่น และยังเกิดการเชื่อมโยงกับบริบทของบ้านเรา เช่น ผลงานของมัดหมี่ พิมดาว พานิชสมัย ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการแบ่งแยกเพื่อนมนุษย์ หรือการนำเสนอของศิลปินรุ่นใหม่วัย 20 กว่า เช่น ศุภวิชญ์ วัสเพ็ญ และ ถวิกา สว่างวงศากุล
“การจัดงานนี้ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรหรือการสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเสริมสร้างระบบนิเวศศิลปะในประเทศ ทำให้กรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็นจุดหมายของศิลปะในเอเชีย ซึ่งไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ผลกระทบจากการจัดงานนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขหรือเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาวงการศิลปะในไทย ให้มีการไขว้กันระหว่างศิลปะ, วรรณกรรม, แฟชั่น,มานุษยวิทยา และศาสตร์อื่น ๆ โดยให้เป็นเวทีกลางที่ศิลปินต่าง ๆ สามารถมาพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดกันได้”
ความหมายจริง ๆ ของภัณฑารักษ์ อาจเป็นสิ่งเดียวกันกับการ ‘รักษา กายา’ เลยก็ได้ แต่ถ้าอย่างนั้นเราจะสามารถมองหาเทคนิคการภัณฑารักษ์จากเทคนิคการรักษากายาตัวเขาเองได้บ้างไหมนะ?
“ผมไม่ค่อย Nurture ตัวเองมาแต่ไหนแต่ไรเลยครับ (หัวเราะ) ผมเสพติดงาน แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกได้มากเลยนะ คือสายตาของคนที่เขามองงาน มันชื่นใจ การเห็นว่าคนใกล้ตัวหรือแม้แต่คนที่ไม่รู้จักเราเลยเขาคิดกับนิทรรศการและรู้สึกกับมัน ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้วงการศิลปะเติบโตต่อไปในระยะยาวด้วย” เขากล่าว