หอศิลปเพื่อชีวิต หอศิลปเพื่อสาธารณชน คุยกับ ‘ชาตรี ประกิตนนทการ’ ว่าด้วยการพาประวัติศาสตร์แสนท้าทาย กลับเข้าไปในหอศิลป พีระศรี

Post on 28 March

"ศิลปมิใช่เป็นสมบัติผูกขาดของผู้หนึ่งผู้ใด มิใช่สมบัติของพวกนายทุน ขุนศึก และพวกศักดินา แต่เป็นสมบัติของประชาชน ของสังคม ของมวลมนุษย์”

ข้อความที่คงตรงใจใครหลายคนในยุคสมัยนี้ มาจากหนังสือตั้งแต่ปี 2518 ของหอศิลปที่ได้ชื่อมาจากอาจารย์ฝรั่งผู้วางรากฐาน (และ “มาตรฐาน”) ให้วงการศิลปะไทย — หอศิลปที่ได้แรงบันดาลใจการดีไซน์มาจากลิ้นตัวกินมด หอศิลปที่เป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยแห่งการเปิดกว้างทางศิลปะ และหอศิลปที่กำลังจะถูกปลุกชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยจิตวิญญาณแบบเดิม โดยการนำของอาจารย์สถาปัตย์ เจ้าของหนังสือประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นการเมืองในโลกสถาปัตยกรรม

หอศิลป พีระศรี (Bhirasri Institute of Modern Art — BIMA) คือพื้นที่ศิลปะที่ถูกเรียกว่า “หอศิลป์สาธารณชน” แห่งแรกของไทย ด้วยพื้นที่ใช้งานที่หลากหลายและเปิดกว้างต่อนิยามใหม่ ๆ ของคำว่า “ศิลปะ” มาตั้งแต่เปิดตัวในปี 2517 จนกระทั่งปิดตัวในปี 2531 และกลายเป็นอาคารร้าง ที่เต็มไปด้วยร่องรอยและสีซีดจาง แต่ยังคงโครงสร้างที่คง “ล้ำ” มาก ๆ ในยุคที่มันยังมีชีวิต

ถ้าดูแค่ตึกเราจะเห็นกล่องขาวเส้นขอบคมและช่องบานมุมโค้งมนสุดเท่ ที่ปัจจุบันอาจจะดูสวยตรงเทสต์ของใครหลายคน แต่อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ศาตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังอยากชวนเราให้มองไปไกลกว่าตึกที่ตาเห็น ไปหาอดีตของอาคารจริง ๆ เพื่อจะได้ปลุก “ชีวิต” ขึ้นมาพร้อมกับคุณค่าที่อบอวลอยู่ในตัวอาคารเอง

“กรณีหอศิลปที่มีความสำคัญคือด้วยตัวอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สูงมากสำหรับผม เป็นตึกรุ่นเดียวกับโรงภาพยนตร์สกาล่า ซึ่งแน่นอนตึกพวกนี้มันอายุ 50 ปีต้น ๆ ในแง่การจดทะเบียนกับทัศนะแบบกรมศิลปากรเขาไม่มองอาคารพวกนี้อยู่แล้ว ตึกพวกนี้ก็จะมีอันตรายสูงมากในการจะถูกรื้อ” เขากล่าว

ความโมเดิร์นของหอศิลป พีระศรีเป็นจุดบรรจบของประเด็นที่ทับซ้อนกันอยู่จำนวนมากและบางครั้งก็ปะทะกันเองอย่างน่าขำขื่น เช่นความสัมพันธ์สามสี่เส้าของอาจารย์ศิลป, หอศิลป, กรมศิลปากร, และเหล่าศิลปินนอกสำนัก — เพราะด้วยดีไซน์อาคารแบบโมเดิร์นตามฉบับยุค 70s หอศิลปนี้ดูจะไม่เข้ารอยกับมาตรฐานความงามแบบกรมศิลปากรที่ยกย่องเฉพาะสถาปัตยกรรมแบบโบราณอายุเป็นร้อยปีเท่านั้น และด้วยกิจกรรมและผลงานที่จัดแสดงภายใน ซึ่งหลายครั้งก็เป็น “โมเดิร์น” แบบที่ไม่ค่อยจะลงรอยกับความโมเดิร์นแบบ “สำนักศิลปากร” นัก จนทำให้หอศิลปนี้ดูจะมีท่าทีวิพากษ์ตนเองอยู่ในตัว

ในวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2567 นี้ อาจารย์ชาตรีและทีม Revitalizing Bangkok จะรับหน้าที่ปลุกชีวิตหอศิลป พีระศรี เปิดพื้นที่ทางศิลปะนี้อีกครั้งกับโครงการ Revitalizing Bangkok Through Art and Architecture: A Case Study on BIMA's Vision for the City's Future ซึ่งประกอบไปด้วยนิทรรศการแสดงผลงานของ Alex Face มานิตย์ ศรีวานิชภูมิ และอีกหลายท่าน, วงสัมมนาเนื้อหาเข้มข้น, Photo Walk เดินถ่ายภาพสถาปัตยกรรมกับ FOTO_MoMo, รวมทั้งงานฉายหนังเพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องการจัดอีเวนต์ศิลปะและ Gentrification (การแปลงเปลี่ยนโฉมเมืองเพื่อเปลี่ยนชนชั้นหรือ “การทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี”)

หากอยากเห็นร่องรอยของยุคสมัย ก็สามารถเดินทางไปชมตัวตึกกันได้ในช่วงเวลางานสามวันที่หอศิลป์แห่งนี้จะกลับมาหายใจอีกครั้ง แต่หากอยากลองสำรวจบทบันทึกของประวัติศาสตร์ศิลปะไทยยุคใหม่ที่มองเห็นร่องรอยของชีวิต คุณค่า และความสัมพันธ์ระหว่างเมือง ศิลปะ และสังคม ลองเดินเข้าไปในอาคารแห่งนี้พร้อมกับเราและเรื่องเล่าจาก อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ผ่านบทสัมภาษณ์นี้

เวลาได้ยินชื่ออ.ชาตรี ก็จะนึกถึงเรื่องสถาปัตยกรรมคณะราษฎร เหมือนเป็นความสนใจทางวิชาการที่อยู่กับอาจารย์เสมอ พอได้เห็นชื่อของอาจารย์ในโปรเจกต์ Revitalizing Bangkok นี้ ก็เลยสงสัยว่าโปรเจกต์นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความสนใจนั้นหรือเปล่า หรืออาจารย์มาสนใจอาคารอย่างหอศิลป พีระศรี ได้อย่างไร

“อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ตรงกันซะทีเดียว แต่ก็เกี่ยวกันแน่นอน ตอนแรกผมทำสถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎรก็จะเห็นว่ามันถูกรื้อเยอะ ทั้ง ๆ ที่มันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และคุณค่าทางศิลปะ อย่างเช่นอาคารศาลฎีกา ผมก็จะเข้าไปพยายามรณรงค์ว่า อย่ารื้อ เพราะมันมีคุณค่าเยอะ

“แต่ประเด็นก็คือ เวลาเราทำอะไรเหล่านี้ มันก็จะมีคนพูดว่า ตึกมันไม่ได้มีคุณค่า ตึกมันใหม่ มันยุคโมเดิร์น โปรเจกต์นี้ส่วนหนึ่งเลยเกิดขึ้นเพราะว่าเราอยากจะรณรงค์เรื่องนี้ให้มันไปสู่วงกว้าง โดยต้องเข้าไปใช้งานตึกที่กำลังเป็นประเด็นจริง ๆ เพื่อทดลองชี้ให้เห็นว่าถ้ามันได้ใช้งานหรือรื้อฟื้นขึ้นมาในแบบที่เราเสนอในหนังสือ มันจะมีชีวิตชีวาและมีอะไรอย่างที่คิดจริง ๆ

“อีกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ก็คือเรื่อง Gentrification (การพัฒนาเมืองที่เอื้อต่อผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงและผลักผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำออกจากพื้นที่) ในมุมผม การเข้าไปยุ่งกับอาคารเก่าหากไม่ระวังให้ดีจะสุ่มเสี่ยงมากที่จะเป็นการจุดชนวนให้เกิด Gentrification โดยเฉพาะกระแสในช่วงหลังที่ต้องการเปลี่ยนอาคารเก่าเป็นโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ และจัดกิจกรรมแสงสีเสียงเพื่อการท่องเที่ยวอย่างมากจนเกินพอดี แทนที่จะเป็นการอนุรักษ์กลับกลายเป็นการทำลายย่านมากกว่า ซึ่งจริง ๆ การทำแบบนี้ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธทั้งหมดนะ เพียงแต่เรารู้สึกว่า อาคารหลายหลังมันน่าจะพัฒนาเชิงลึกบนฐานคิดทางประวัติศาสตร์ได้มากกว่านั้น ไม่ใช่เน้นหนักไปที่การท่องเที่ยว และควรตอบสนองคนได้หลากหลายกลุ่มมากกว่านั้น”

“ถ้าเป็นอีเวนต์สนุก ๆ สามสี่วันแบบเน้นนักท่องเที่ยว แต่ไม่ได้ลงลึกไปถึงคุณค่าที่แท้จริงของตึก งานก็กลายเป็นเอื้อให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก และถ้าทำแบบนั้นไปถี่ ๆ นาน ๆ ก็จะทำให้ย่านนั้นกลายเป็นย่านท่องเที่ยว ราคาในการใช้ชีวิตในย่านนั้นก็จะแพงอย่างผิดปกติ กลายเป็นเป็น Tourism Gentrification คุณค่าที่แท้จริงของย่านอาจดูเสมือนถูกรักษา แต่จริง ๆ เป็นเพียงเปลือกนอกที่ฉาบฉวย คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่อาศัยจริง ๆ ในย่านอยู่ไม่ได้ ซึ่งงานผมพยายามที่จะทำตรงข้าม พยายามเข้าไปหาตึกเก่าและรักษามันในแบบที่เน้นคนอยู่อาศัยในเมืองจริง ๆ เน้นมองหาพื้นที่ที่ถูกลืมแต่มีศักยภาพ เพื่อทำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้บอกว่างานผมจะทำได้สำเร็จตามนั้นจริงนะครับ แค่บอกว่ามีความพยายามจะเป็นแบบนั้น”

จากงาน Revitalizing Bangkok ที่ลุมพินีสถานที่จัดมาพอจะพูดว่าประสบความสำเร็จในการทำอย่างนั้นบ้างไหม

“ที่ลุมพินีสถานก็ถือว่าสำเร็จทั้งในแง่ปริมาณคนร่วมงาน และที่สำคัญที่สุดคือ สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงวัย (ซึ่งเรามองว่าไม่ค่อยมีพื้นที่ในการแสดงออกของเขาสักเท่าไร) เข้ามาใช้งานได้ค่อนข้างมาก อีกแง่หนึ่งคือลุมพินีสถานแต่เดิมเขามีไอเดียที่จะบูรณะอยู่แล้ว แต่เขาจะค่อนข้างปรับเยอะ รื้อโครงสร้างอาคารเยอะ เปิดหลังคาเหมือนจะทำเป็นออดิทอเรียมกลางแจ้งมากกว่า แต่เราคิดว่าด้วยคุณค่าของตึกมันควรจะเก็บฟังก์ชันอย่างพื้นที่สำหรับเต้นลีลาศหรือการเล่นละครเอาไว้ งานที่ลุมพินีสถานเราเลยจัดกิจกรรมไปเพื่อรณรงค์ในประเด็นเหล่านั้น แล้วก็โชคดีว่าสุดท้าย กทม. ยุคปัจจุบันเขาตัดสินใจจะปรับแบบที่ค่อนข้างสอดคล้องกับสิ่งที่โครงการเรานำเสนอไป”

พอจะพูดได้ไหมว่าปัญหามันอยู่ที่ช่องว่างระหว่างนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมกับนักออกแบบ/สถาปนิกหรือเปล่า

ก็ด้วย ในฐานะที่ผมเป็นคนทำงานด้านประวัติศาสตร์ เสนอความเห็นผ่านตัวหนังสือ แต่สุดท้ายมันก็จบแค่ในหนังสือ ไม่ได้ถูกเอาไปใช้งาน ดังนั้นการได้มีโอกาสมาทำโครงการนี้ก็เป็นความพยายามที่จะแปลงข้อเสนอที่เป็นแค่ตัวหนังสือมาสู่การทดลองทำจริงแม้ว่าจะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม งานนี้ผมเหมือนเปลี่ยนบทบาทมาเป็นอาร์แกไนเซอร์ผู้จัดอีเวนต์แทนคนทำงานด้านประวัติศาสตร์ แต่จริง ๆ โครงการนี้ผมไม่ได้ทำคนเดียวนะ ผมทำกับอาจารย์วิชญ มุกดามณี (คณบดี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ด้วย

สนุกไหมครับ

ไม่ค่อยสนุก เราไม่ค่อยมีคอนเนคชัน อย่างตอนทำโปรเจคลุมพินีสถานมันจะมีงานเยอะมากที่คนที่ทำงานแบบครูบาอาจารย์ที่ส่วนใหญ่เขียนหนังสือ (อย่างผม) ทำไม่เป็น

คือจริง ๆ ผมคิดว่า ตอนนี้เรามีอีเวนต์หรืองานสร้างสรรค์ทั้งหลายที่เหยียบเข้ามาในพื้นที่ประวัติศาสตร์ อาคารเก่าพื้นที่เก่าเมืองเก่าเยอะมากซึ่งดีมาก ๆ เลย แต่จากการติดตาม ผมคิดว่ามีไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่มาแล้วสนใจที่จะหาข้อมูลในเชิงลึกก่อนจริง ๆ ก่อนที่จะมาคิดงานกันว่ากิจกรรมมันควรจะเป็นอย่างไร งานส่วนใหญ่มันจะเร็วมาก ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับส่วนของข้อมูลเชิงค้นคว้าวิจัย

ยกตัวอย่างงานที่หอศิลปนี้ผมก็ไม่ได้ทำส่วนวิจัย แต่ผมเห็นว่าปีที่แล้วมีงานวิจัยใหญ่มากที่ทำโดย BACC (หอศิลปกรุงเทพฯ) ซึ่งจัดเป็นนิทรรศการ ‘ศิลปะ-ไทย-เวลา’ เราก็ใช้ข้อมูลพวกนั้นมาช่วยในการทำอีเวนต์เยอะมาก ถ้าเราไม่มีข้อมูลชุดนั้นเราก็จะไม่รู้ว่าจะมาทำอะไรที่นี่ และควรทำอย่างไร ผมไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับวงการศิลปะที่ไม่ใช่สถาปัตย์ เรามาเห็นตึก BIMA (หอศิลป พีระศรี) ก็จะเห็นแค่ตึกรูปทรงแปลก สวย ถ้าไม่มีความรู้ก็คงจะมาจัดไฟถ่ายรูปแค่นั้น

ในมุมส่วนตัวอาจารย์เคยมีประสบการณ์อะไรไหมที่ทำให้รู้สึกว่าเมืองนี้มันขาดชีวิตหรือมันต้องฟื้นฟูชีวิตอะไรเหล่านี้

ผมเป็นผู้ประสบภัยโดยตรงจากสิ่งที่เรียกว่า Tourism Gentrification (การพัฒนาเมืองเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแต่ผู้คนและชุมชนที่เคยอยู่อาศัยเดิมได้รับผลเสีย)

แถวมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ผมทำงานจะเห็นชัดเลยว่าช่วง 10 ปีหลัง พอสี่โมงครึ่ง หลังจากนักท่องเที่ยวออกไปหมดจาก วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ร้านรวงต่าง ๆ ก็ปิดเงียบกันทันทีเลย เมืองเงียบและขาดชีวิตโดยฉับพลัน ในขณะที่ในอดีต จะมีร้านค้าเปิดตลอดแม้ว่านักท่องเที่ยวจะออกจากพื้นที่ไปแล้ว เพราะพวกนี้เขาไม่ได้พุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวอย่างเดียว นักศึกษาหรือข้าราชการที่ต้องอยู่ในพื้นที่จริง ๆ ทุกวัน คือลูกค้าของเขาเช่นกัน พวกนักศึกษาที่อาจจะต้องค้างในมหาวิทยาลัย หรือใช้ชีวิตต่อหลังช่วงนั้น หรือข้าราชการอยากจะแฮงก์เอาท์กับเพื่อน มีสังคม เขาก็จะยังสามารถอยู่ในเมืองเก่าได้ แต่ตอนนี้มันอยู่ไม่ได้ เพราะว่าเงียบ ต้องไปตรอกข้าวสารหรือท่าเตียน ซึ่งคนที่ทำงานรายได้ไม่มากนักไปกินที่นั่นไม่ได้หรอก ที่ท่าช้างเมื่อก่อนจะมีร้านอาหารราคาถูกรองรับนักศึกษา ปัจจุบันก็ไม่มีแล้ว กลุ่มคนที่อยู่ในเมืองจริง ๆ ที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยวเขาก็อยู่ไม่ได้ เมืองก็กลายเป็นเมืองนักท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ

“พูดอย่างนี้แล้วจะมีดีเบตใหญ่เลยนะ คนที่ประสบภัยการท่องเที่ยวมักจะพูดว่าเราต้องรักษาร้านอาหารเก่าที่แคร์เรา (ไม่ได้แคร์แต่นักท่องเที่ยว) เอาไว้ด้วย ส่วนคนที่ไม่ได้ประสบภัยด้วยตัวเองเขาก็จะบอกว่าทำไมคุณจะต้องไปสปอยล์ร้านเก่า เขาไม่ยอมปรับตัวก็ปล่อยเขาไปสิ ซึ่งผมอยากบอกว่าผมไม่ได้สปอยล์ แล้วก็ไม่ได้รักร้านใครนะ เพียงแต่ว่าเราต้องการเก็บร้านอาหารที่มีคุณลักษณะที่คำนึงถึงคนในพื้นที่จริง ๆ เอาไว้ ร้านชื่อดังร้านโบราณในเมืองที่เขาอยู่ไม่ได้แล้วต้องออกก็ไม่มีปัญหา แต่ร้านที่จะมาแทนต้องมีลักษณะแบบเดียวกันคือไม่ได้ทำเพื่อนักท่องเที่ยวอย่างเดียว”

หอศิลป พีระศรี นี้ที่ถูกทิ้งร้างก็ด้วยเหตุผลเดียวกันไหม

“กรณีหอศิลปที่มีความสำคัญคือด้วยตัวอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สูงมากสำหรับผม เป็นตึกรุ่นเดียวกับโรงภาพยนตร์สกาล่า ซึ่งแน่นอนตึกพวกนี้มันอายุ 50 ปีต้น ๆ ในแง่การจดทะเบียนกับทัศนะแบบกรมศิลปากร เขาไม่มองอาคารพวกนี้อยู่แล้ว ตึกพวกนี้ก็จะมีอันตรายสูงมากในการจะถูกรื้อ

“สำหรับตึก BIMA ก็ยังไม่ได้เข้าความเสี่ยงอันตรายขนาดนั้น เพียงแต่ด้วยคุณค่าที่มันมี ถ้าเราปล่อยมันไปมันก็อาจจะเข้าสู่สภาวะนั้นในวันใดวันหนึ่งก็ได้ เพราะไม่มีใครเห็นความสำคัญของเขาอีกแล้ว โครงการนี้ก็เลยเข้ามาบอกว่า อาคารนี้สำคัญมากนะ ในแง่ของประวัติศาสตร์วงการศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย และตัวอาคารก็ออกแบบสวยมาก เพียงแต่บางคนก็อาจมองว่าหน้าตามันประหลาด ซึ่งสถาปนิกก็ออกแบบด้วยคอนเซปต์ที่ประหลาดจริงด้วย สถาปนิกเล่าว่าเขาออกแบบอาคารเหมือนเป็นลิ้นของตัวกินมดที่ออกมาตวัดเรียกคนเข้ามาดู พอบอกว่าคอนเซปต์ตึกเป็นแบบนี้ ก็อาจจะมีคนที่คิดว่า รื้อไปเหอะ (หัวเราะ)

“กรมศิลปากรไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับสถาปัตยกรรมโมเดิร์น เขาสนใจแต่อาคารเก่าเป็นร้อย ๆ ปีที่เต็มไปด้วยลวดลายประดับตกแต่งแบบโบราณเท่านั้น เพดานความคิดของพวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่ก้าวเข้ามาสู่งานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เลย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก และน่ากังวลมาก”

แต่พูดถึงกรมศิลป์เองก็มีประวัติกับอาจารย์ศิลป พีระศรี ก็จะมีเรื่องความศิลปากรนิยม ความศิลปะไทยตามสไตล์สำนักศิลปากร ซึ่งก็สัมพันธ์กันกับกรมศิลป์ด้วย

มีความคาบเกี่ยวกันอยู่ ในแง่หนึ่งตัว BIMA มันถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงอาจารย์ศิลป พีระศรี สร้างขึ้นมาโดยกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิด ซึ่งเป็นที่สุดของความเป็นศิลปากรอยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อหอศิลป์เปิดมาเรื่อย ๆ ก็มีความเปลี่ยนแปลง คือมันเปิดโอกาสหรือพื้นที่ให้กับศิลปินรุ่นใหม่ที่มีแนวทางที่หลากหลายมาก หลายนิทรรศการที่ถูกจัดที่นี่มีลักษณะวิพาก์วิจารณ์การทำงานศิลปะแบบศิลปากรด้วย ซึ่งตรงนี้น่าสนใจมากที่ BIMA ให้โอกาสเขา แล้วหลายคนหลายชิ้นงานที่มาโชว์ใน BIMA ก็เป็นงานเปิดตัวของเขาเลยด้วยในวงการศิลปะ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นบทบาทที่สำคัญของ BIMA

“เท่าที่ผมทราบ ไอเดียจริง ๆ ของหอศิลป์มีมานานก่อนที่ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (ประธานมูลนิธิหอศิลป พีระศรี คนแรก) จะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่พอสมควรเลย ย้อนไปได้ตั้งแต่อาจารย์ศิลป์ยังไม่ตาย แล้วแกก็อยากสร้างพื้นที่ศิลปะที่เป็นแกลเลอรี่โมเดิร์นอาร์ต ซึ่ง ณ ตอนนั้น คนไทยก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ แล้วอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็น ผอ. สำนักงบประมาณของรัฐบาลในช่วงเวลานั้นก็เห็นดีเห็นงามและคิดว่าเห็นชอบด้วย จัดหางบประมาณจากภาครัฐมาสนับสนุนโครงการนี้ แต่อาจารย์ศิลปเสียชีวิตก่อน สุดท้ายกลุ่มลูกศิษย์และอาจารย์ป๋วยก็ยังคิดว่าโครงการนี้มันดี เลยไประดมลูกศิษย์ลูกหาอาจารย์ศิลป ร่วมกันก่อตั้งเป็นมูลนิธิหอศิลปราว ๆ ปี 2507 แล้วก็ระดมทุนบ้าง ขอทุนบ้าง พร้อม ๆ กับหาที่ที่จะสร้างหลายที่ สุดท้ายม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ซึ่งถูกดึงเข้ามาตอนตั้งมูลนิธิประมาณ 2508 - 2509 ให้เป็นประธาน เลยตัดสินใจใช้ที่ดินส่วนตัวบริเวณนี้ 1 ไร่ ให้เช่าราคาถูกมาก แล้วก็ไปว่าจ้างหลานชายคือ ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล มาออกแบบ ก็เป็นงานเปิดตัวแกเลย เป็นสถาปนิกนักเรียนนอก ใช้ที่ไปเรียนมาโมเดิร์น ๆ กับที่นี่เต็มที่เลย

ฟังดูเหมือนการปลุก ‘ชีวิตของ BIMA จะไม่ได้สัมพันธ์กับการรำลึก ‘ชีวิตของอาจารย์ศิลป’ ขนาดนั้นเลย

“สำหรับผม หอศิลปนี้แม้จะเริ่มมาจากการรำลึกอาจารย์ศิลป์ แต่บริบทนับจากวันที่มันเกิดขึ้น ได้เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว โดยเฉพาะช่วงท้ายที่ความสำคัญของมันจริง ๆ ไกลห่างออกไปจากอาจารย์ศิลป์มาก หลายงานมีลักษณะต่อต้านความเป็นสถาบันศิลปากรด้วยซ้ำ ซึ่งประเด็นนี้สำคัญมาก ถ้าเกิด BIMA เน้นเพียงแค่จัดงานในรูปแบบซ้ำเดิม แล้วก็ยกย่องเชิดชูแต่แนวทางแบบอาจารย์ศิลป์ หรืองานแบบสกุลศิลปากร ตัว BIMA เองก็จะไร้ค่าทันที แล้วก็ไม่มีเหตุผลที่ผมอยากจะมารื้อฟื้น แต่ BIMA ไม่ได้ทำแบบนั้น ซึ่งตรงนี้เองที่ผมคิดว่าเป็นคุณค่าและสปิริตที่น่ารื้อฟื้นกลับคืนและนำมาสานต่อ

ในช่วงที่ BIMA ยังมีชีวิตอยู่มีกิจกรรมหรือนิทรรศการอะไรที่อาจารย์คิดว่าสำคัญบ้าง

“จากข้อมูลซึ่งต้องให้เครดิตการค้นคว้าของ BACC นะ เขาไปรวมสูจิบัตรงานทั้งหมด ปรากฏว่าในช่วงเวลาประมาณ 14 ปีมีนิทรรศการจัดมากกว่า 200 งาน เท่ากับว่าในแต่ละเดือนจะต้องมีงานที่ถูกจัดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ซึ่งมันน่าทึ่งมาก และด้วยปริมาณงานที่เยอะมันเลยทำให้งานมีความหลากหลายตามไปด้วย จนกลายเป็นพื้นที่ที่ให้โอกาสไม่เพียงแต่ศิลปิน แต่ยังเปิดพื้นที่ให้กับคนทำงานด้านวัฒนธรรมรูปแบบอื่น ๆ เยอะมาก

“กลุ่มงานหนึ่งที่สำคัญคือพวกคอนเสิร์ต เพลงฉ่อย ดูหนัง หรือละครเวที ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมแบบนี้ ณ ช่วงเวลานั้นไม่ค่อยได้รับโอกาสไปจัดงานในพื้นที่แกลอรี่ทางศิลปะเท่าไรนัก แต่ BIMA ก็ดูจะให้ความสำคัยกับกิจกรรมแบบนี้ไม่น้อย ซึ่งหากมองในแง่หนึ่ง มันก็คล้าย ๆ จะเป็นเหมือนการทำลายเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่หอศิลป์แบบเดิมกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมแบบอื่นลงไป

“กลุ่มที่สองที่ผมคิดว่าสำคัญคือหลายงานมีลักษณะที่ตั้งคำถามหรือท้าทายแนวทางการทำงานศิลปะกระแสหลักในช่วงเวลานั้น รวมถึงงานศิลปะตามแนวทางแบบศิลปากรด้วย เช่น งานของ กมล เผ่าสวัสดิ์, อภินันท์ โปษยานนท์ หรือวสันต์ สิทธิเขตต์ หรือกลุ่มที่เรียนรู้ศิลปะด้วยตนเองโดยไม่ผ่านสถาบันการศึกษาทางศิลปะแบบทางการ หลายต่อหลายคนก็เคยได้รับโอกาสมาจัดแสดงที่นี่

“แต่ที่นี่ก็ไม่ได้จัดงานที่ต่อต้านท้าทายกระแสหลักเพียงอย่างเดียว มหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดตั้งภาควิชาศิลปะไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 หลังจากนั้นไม่นานก็จะมีลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ เช่น อาจารย์เฉลิมชัย หรือกลุ่มที่ทำงานไทยประเพณีทั้งหลายของศิลปากรเองก็เคยมาจัดงานที่นี่ ดังนั้น BIMA จึงเป็นพื้นที่ศิลปะที่เปิดกว้างและหลากหลาย

“และกลุ่มที่สามซึ่งสำคัญมาก ๆ คือเป็นพื้นที่แรก ๆ ที่ให้กลุ่มนายทุนธนาคารเข้ามาใช้พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ เช่นการจัดแสดงศิลปกรรมบัวหลวงครั้งแรก ๆ เป็นจุดเริ่มต้นเลย อาจจะเรียกว่าช่วงเวลานี้ศิลปะมันเริ่มเดินออกจากการมีผู้สนับสนุนโดยรัฐหรือผู้ดีเก่า แต่นี่คือเอกชนเข้ามาทำหน้าที่เป็นนายทุนสนับสนุนงานศิลปะแทน”

มีประโยคหนึ่งของม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร จากหนังสือครบรอบ 1 ปีของการเปิด หอศิลป พีระศรี ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ คือ “ศิลปมิใช่เป็นสมบัติผูกขาดของผู้หนึ่งผู้ใด มิใช่สมบัติของพวกนายทุน ขุนศึก และพวกศักดินา แต่เป็นสมบัติของประชาชน ของสังคม ของมวลมนุษย์” อาจารย์คิดว่าข้อความนี้บอกบริบททางศิลปะหรือสังคมในยุคนั้นอย่างไรได้ไหม

ถ้าคุณเปิดดูปีจะพบว่าข้อเขียนตรงนี้มาจากปี 2518 คือเป็นช่วงเวลาที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และกำลังจะเข้าไปสู่ 6 ตุลาคม 2519 สังคมก็จะมีลักษณะของความคิดแบบอนุรักษ์นิยม การเป็นตำรวจความคิดเยอะมากคล้าย ๆ ตอนนี้ มันก็จะแบบใครทำอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เป็นภัยความมั่นคง มันมีลักษณะอย่างนี้ ซึ่งผมคิดว่าข้อเขียนตรงนี้ของม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์แม้จะไม่ได้มีลักษณะประกาศตัวตรง ๆ แต่ก็คิดว่าแสดงถึงความเปิดกว้างอยู่พอสมควร ที่จะให้ที่นี่เป็นพื้นที่ศิลปะของประชาชน พื้นที่สร้างสรรค์ที่ให้เสรีภาพกับทุกความคิด อันนี้ก็เป็นการตีความอย่างหนึ่งของผมนะ”

ถ้าจะให้สรุปคุณค่าของหอศิลป์ คิดว่าไอเดียที่มันคือแก่นเลยของหอศิลป์ที่นี่คืออะไรครับ?

ผมตอบในมุมส่วนตัวนะ ซึ่งหลาย ๆ คนที่เขามีประวัติศาสตร์ร่วมกับ BIMA อาจจะไม่ได้เห็นด้วย แต่ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าที่นี่เป็นพื้นที่ศิลปะที่ให้เสรีภาพกับศิลปินมากเลยทีเดียว การเข้ามาทำโครงการรื้อฟื้นพื้นที่ตรงนี้ของผมจึงต้องการจะรื้อฟื้นคุณค่าตรงนี้ ผมไม่ได้ต้องการรื้อฟื้นแค่ตัวตึกอย่างเดียว

คิดว่ายังพอเป็นไปได้อยู่ใช่ไหม ที่ปัจจุบันจะเปิดหอศิลปในลักษณะนี้อยู่

ผมคิดว่าโมเดลที่มีอยู่แล้วและก็ดีทีเดียวคือหอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) ซึ่งผมฟังจากคุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครมาก่อน แล้วก็เป็นผู้อำนวยการหอศิลป พีระศรี คนสุดท้ายด้วย แกบอกผมว่าลักษณะของ BACC ก็มีหลายส่วนนะที่อาจมองว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก BIMA ในแง่ของพื้นที่ใช้สอย คือโครงสร้างของกิจกรรม คือ BIMA มีแกลเลอรีที่เปิดมาก ๆ มีส่วนที่เป็นเหมือนโรงละครสำหรับการแสดง สัมมนา ประชุม มีห้องสมุดเล็ก ๆ ทางศิลปะ แล้วก็พื้นที่เหมือนคนทั่ว ๆ ไปมาจัด คือไม่ได้จำเป็นต้องมีออร่าของความเป็นศิลปินมากนัก

ถ้าคุณมองไปที่ BACC ผมว่าก็มีคาแรกเตอร์หลายอย่างที่มันคล้ายกันและเชื่อมโยงกัน แต่ว่าขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้น แต่ BACC ก็มีหลายอย่างที่ต่างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อผู้อุปถัมภ์เอกชนเพียงรายเดียวมากจนเกินไปแบบที่ BIMA เป็น ซึ่งพอม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ เสียชีวิต BIMA ก็ต้องปิดตัวลงทั้งที่มันเป็นพื้นที่ที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ ดังนั้นในด้านหนึ่ง BIMA ก็อาจมองได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของ BACC หรืออีกด้านหนึ่งเราก็อาจพูดได้ว่า BACC เป็นเสมือนเวอร์ชั่นอัพเดทของ BIMA

ในส่วนของนิทรรศการ Revitalizing BIMA ที่จะเข้าไปปลุกชีวิตหอศิลปนี้มีแนวทางในการจัดอย่างไร

ต้องขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่ศิลปิน และไม่ใช่ภัณฑารักษ์ด้วย การคัดเลือกครั้งนี้จึงมีเป้าหมายจริง ๆ คือต้องการรื้อฟื้นให้มีบรรยากาศของการเป็นพื้นที่ศิลปะที่มีการจัดแสดงผลงานกลับมาอีกครั้งแม้เพียงชั่วคราว ซึ่งแน่นอน ด้วยความเป็นมือสมัครเล่นมาก ๆ การคัดเลือกงานเข้ามาย่อมไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก ด้วยเงื่อนไขหลายประการ แต่เราก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะเลือกศิลปินที่เราคิดว่าน่าสนใจและเชื่อมโยงกับ BIMA บ้างไม่มากก็น้อย

มีงานของคุณ Alex Face (ศิลปินแนวสตรีทอาร์ท) ด้วยความที่มันเป็นตึกร้าง ก็ดูเข้ากับงานกราฟฟิตี้สมัยใหม่ และถ้า BIMA ยังเปิดถึงปัจจุบัน ด้วยสปิริตของมัน ผมคิดว่าจะต้องมีงานกราฟฟิตี้แบบนี้เข้ามาจัดแสดงอย่างแน่นอน แล้วจะเป็นผู้นำเลยด้วย คุณ Alex Face ก็มีสปิริตมาก มาทำให้อย่างเต็มที่ โดยมีคอนเซ็ปต์เกี่ยวข้องกับอาจารย์ศิลป แกบอกว่าในภาพคือ ถ้าพูดถึงอาจารย์ศิลปก็ต้องนึกถึงอนุสาวรีย์ ก็เลยให้ “น้องมาร์ดี” เด็กชุดกระต่ายของเขาเป็นเหมือนประติมากรรมหรืออนุสาวรีย์ที่มันแตกหัก แล้วก็เล่าเรื่องเข้ามาจากข้างนอกอาคารถึงด้านใน

“งานชิ้นที่สองจะติดตั้งอยู่บนชั้นลอย จะเป็นงานชุด ‘Pink Man’ ของคุณมานิตย์ ศรีวานิชภูมิ เป็นการ reproduction งานเดิมของแกในช่วงทศวรรษ 2540 โดยไอเดียของ Pink Man คือการพูดถึงทุนนิยมและภาวะฟองสบู่ซึ่งกำลังจะแตกในช่วงนั้น งานชิ้นนี้เป็นงานศิลปะที่พูดถึงประเด็นทางสังคมซึ่งมันก็เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ที่ผมทำอยู่

“ส่วนงานชิ้นที่สามจะอยู่ตรงที่เป็นเหมือนโรงละคร งานชิ้นนั้นผมให้ อาจารย์พินัย สิริเกียรติกุล นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่สนใจเรื่องตึกยุคโมเดิร์นมาทำการตีความพื้นที่และสร้างงาน installation เป็นแท่นเพื่อเป็นภาพจำลองตึก BIMA ลงมา โดยข้างในก็จะมีโมเดล BIMA เล็ก ๆ ที่ได้รับความอนุเคราะห์จาก BACC มาตั้งอยู่ภายในอีกที แล้วตรงแท่นก็จะมีการโชว์ archive บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับ BIMA ซึ่งทาง BACC เคยรวบรวมไว้ และแท่นนี้ก็ยังเป็นแท่นฉายวิดีโอ/ภาพต่าง ๆ เข้าไปในจอในเวทีของ BIMA ด้วย

เห็นว่ามีกิจกรรมอีกมากเลยด้วย

ผมอยากให้มีการพูดถึงประเด็นเรื่องการทำงานศิลปะกับ Gentrification ด้วย ซึ่งทาง doc club ก็ใจดีมาก ๆ ไปหาหนังมาได้แล้วก็ซื้อลิขสิทธิ์มาใหม่เลยคือเรื่อง ‘Alice Street’ เป็นหนังที่พูดถึงชุมชนในสหรัฐอเมริกาที่ใช้งานศิลปะเข้ามาต่อสู้กับ gentrification ซึ่งจะฉายเรื่องนี้ที่นี่ครั้งแรก แล้วหลังฉายจบจะมีกิจกรรม talk ด้วย

แล้วงานนี้เราจะจัด Photo Walk ด้วย เป็นการเดินถ่ายรูปตึกนี้ แล้วก็โยงไปกับอาคารเก่าในบริเวณโดยรอบ BIMA เช่น อาคารเก่าในเกอเธ่ โปรแกรมนี้นำโดย Foto_momo เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมที่สนใจตึกโมเดิร์น และเขาก็รณรงค์เรื่องการเก็บรักษาตึกโมเดิร์นด้วย ซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับโปรเจคผมพอดี

ในงานจะมีการจัดสัมมนา 3 ด้วยสามเรื่อง ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY คือเราวางธีมไว้ว่าจะพูดเรื่องเกี่ยวกับศิลปะและการฟื้นฟูเมืองเป็นหลัก แต่แบ่งหัวข้อย่อยเป็นเรื่องแรก พูดถึงภาพกว้างในลักษณะนโยบาย ก็จะเชิญศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากทม. มาพูด เพราะว่ากทม. ยุคนี้ก็เหมือนจะใช้ศิลปะมาขับเคลื่อนฟื้นฟูเมือง อยากให้มาพูดในเชิงว่ากทม. มีแนวคิดอย่างไรในการใช้ศิลปะและวัฒนธรรมในการปลุกชีวิตเมือง และคุณอดุลญา ฮุนตระกูล ที่เป็นผอ. BACC ปัจจุบัน เนื่องจาก BACC เป็นหน่วยงานทางศิลปะที่สำคัญมาก ในเชิงผู้บริหารตรงนี้มีไอเดียหรือเชิงนโยบายหรือสิ่งที่เขาวางแผนจะทำอะไรอย่างไรบ้าง อีกคนนึงผมเชิญภัณฑารักษ์มาจากสิงคโปร์ชื่อ Cheng Jia Yunเขาอยู่ใน National Gallery Singapore แล้วเป็นคนที่จัดนิทรรศการใหญ่ที่สิงคโปร์เมื่อ 3-4 ปีก่อน ที่เขาเลือก BIMA เป็นกรณีศึกษาด้วย เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีความรู้เกี่ยวกับที่นี่เยอะ ก็ให้เขามาพูดในแง่ที่ว่าในเคสต่างประเทศสิงคโปร์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโครงการในลักษณะอย่างนี้ที่พื้นที่ทางศิลปะเข้ามาขับเคลื่อนเมืองอย่างไร

มาวันที่สองจะพูดถึงการรื้อฟื้นความหลังว่า BIMA สำคัญอย่างไร ก็ได้คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที กับคุณณรงค์ศักดิ์ นิลเขต มาพูด เขาเป็นทีมภัณฑารักษ์ของนิทรรศการศิลปะ–ไทย–เวลา คนกลุ่มนี้ก็จะเข้าใจถึงความสำคัญของ BIMA

ส่วนที่สามเราเชิญคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านศิลปะมาพูดในแง่ว่าพวกแกลเลอรี่หรือสถาบันศิลปะทั้งหลายควรจะมีบทบาทอย่างไรในเชิงสังคม ไม่ใช่แต่โชว์งานศิลปะอย่างเดียว เลยเชิญคุณพอใจ อัครธนกุลด ภัณฑารักษ์ของ Bangkok Art Biennale คุณสหวัฒน์ เทพรพ ที่ทำ Kinjai Contemporary ซึ่งเป็นแกลเลอรี่ที่ทำงานสังคมเยอะมาก และคุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ จะเกี่ยวกับเรื่องการแสดง ก็จะพูดถึงเรื่องอนาคตในมุมที่ว่าถ้า BIMA กลับมาอีกครั้งมันก็คงเป็นเหมือนเดิอมไม่ได้ เพราะมันอยู่ในเงื่อนไขของสมัยนั้น แต่ถ้าจะกลับมาในยุคนี้ควรจะเป็นอย่างไร ในแบบเปิดออกสู่สังคม