ย้อนไปสักสิบปีก่อนหน้านี้ ว่า ‘คอนเทนต์ครีเอเตอร์’ คงไม่ใช่อาชีพที่คุ้นหู ต่างกับตอนนี้ที่ใคร ๆ ต่างก็สามารถ ‘เป็นนักสร้างคอนเทนต์’ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคลิปสั้นที่เรียกเสียงหัวเราะเล็ก ๆ ในแต่ละวัน หรืองานศิลปะดิจิทัลที่มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวผ่านเวลาทุก ๆ วินาที และในขณะที่โลกของการสร้างสรรค์คอนเทนต์พัฒนากันอย่างคึกคัก ฝีมือเราก็สามารถฝึกฝนตามเวลาได้เรื่อย ๆ แต่อุปกรณ์และสภาพแวดล้อมการสร้างสรรค์ของเราเอื้อให้เราได้สร้างสรรค์กันแค่ไหน ต่อการเปลี่ยนแปลงให้ทันสปีดของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้?
ที่เกริ่นมาอย่างนี้ เพราะวันนี้เรามากับข่าวดีปนตื่นเต้นกับ ‘Cloud 11’ ฮับสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่ตั้งใจเป็นแหล่งส่งเหล่าครีเอเตอร์ให้โตไปได้ไกลทะลุฟ้า สมกับความสามารถที่มี ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ผนวกรวมกัน จนเป็นระบบนิเวศแห่งการสร้างสรรค์แบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการทำงานรูปแบบใหม่สำหรับครีเอเตอร์โดยเฉพาะ ไปจนถึงระบบเพื่อการดำเนินธุรกิจของตัวเอง และยังมีการออกแบบตัวอาคารเพื่อเอื้อให้เกิดบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์
ไม่ว่าจะเป็นครีเอเตอร์สายดนตรี ภาพยนตร์ อนิเมชัน เกม ศิลปะ หรืองานดีไซน์ต่าง ๆ ช่วงเวลานี้เป็นยุคที่น่าสนุกสนานที่ชวนทุกคนออกมาปล่อยของกันในโลกกว้าง ถ้าเชื่อว่าพลังสร้างสรรค์เรามีพร้อม เราอยากชวนทุกคนลองมาสำรวจการ ‘Empowering Creators’ ในดีไซน์แต่ละมิติของ Cloud 11 กับ Snøhetta และ A49 สองดีไซเนอร์ระดับโลกที่ร่วมมือกันทำฮับใหม่นี้ให้สมบูรณ์ กับผู้พัฒนาวิสัยทัศน์ไกลอย่าง MQDC กันเลย
ที่ทำงานเฉพาะสำหรับอาชีพที่ไม่หลับไม่นอน
ใคร ๆ ก็รู้ว่าวิธีทำงานของสายครีเอเตอร์ไม่เหมือนพนักงานออฟฟิศในธุรกิจอื่น ๆ แล้วถ้าอย่างนั้นที่ทำงาน
ของครีเอเตอร์ควรจะเป็นแบบไหน ถ้าในบ้านก็น่าเบื่อ เชื่อมต่อกับใครก็ยาก จะลงทุนเองอุปกรณ์ก็มีค่าใช้จ่ายเยอะแยะ แต่จะให้ไปทำงานกับค่ายกับสตูดิโอก็เสียความเป็นครีเอเตอร์อิสระไป
โครงการ Cloud 11 ชวนครีเอเตอร์ให้ออกจากบ้านมาเจอ Creative Office & Studio Space ออฟฟิศที่ทันสมัย และระบบนิเวศการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด เพรียบพร้อมด้วยพื้นที่สตูดิโอ เงินทุนสนับสนุน บุคลากร และอุปกรณ์ทันสมัย สำหรับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่หลากหลาย อาทิ เพลง พอดแคสต์ ภาพยนตร์ วิดีโอสั้น แอนิเมชั่น เกม และ งานศิลปะหรือการดีไซน์ต่างๆ โดยไม่ต้องกลับไปเข้าสตูดิโอตามแต่ละสังกัดเหมือนในระบบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แบบเดิม ๆ เพื่อตอบแนวโน้มความอิสระทุกวันนี้
“เราเห็นว่าคนในวงการนี้ไม่ได้ทำงาน 9 โมงถึง 5 โมงเย็น จริง ๆ แล้ว 4 ทุ่มถึงตี 2 เขาก็ยังตัดต่อสร้างคอนเทนต์กันอยู่ ดังนั้นที่นี่จะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง กับระบบแอร์ที่เงียบและยืดหยุ่นให้เหล่าครีเอเตอร์ได้ทำงานกันในบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับงานสร้างสรรค์ ส่วนศิลปินดาราที่ต้องการความเป็นส่วนตัวก็มีลิฟต์ที่ตอบโจทย์ตรงนี้ให้ด้วย และที่นี่จะมีระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นพิเศษสำหรับการสร้างคอนเทนต์” คุณองศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการ Cloud 11 จาก MQDC อธิบาย
“ปัจจุบันแต่ละคนจะคิดว่าเป็น Youtuber สร้างคอนเทนต์ที่บ้านก็ได้ แต่เราพบว่าจริง ๆ แล้วในอนาคต การมาของเมตาเวิร์สหรือบล็อกเชนมันจะเริ่มมีหลายคอนเทนต์ที่ต้องใช้อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่พิเศษขึ้น แล้วอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหล่านี้จริง ๆ หลายครั้งลงทุนค่อนข้างเยอะ
ดังนั้นเราเชื่อว่าแทนที่จะให้แต่ละครีเอเตอร์ต่างคนต่างไปลงทุน แล้วหลายครั้งก็ได้อุปกรณ์แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เราเชื่อว่าพอเรามีฐานให้กับพวกเขา ทำสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์ มีสตูดิโอให้เขา เขามาแค่พกความคิดสร้างสรรค์ของเขามา ส่วนเรามีฟันเฟืองให้เขา เพื่อให้ผลงานของเขาออกมา กลไกนี้แหละที่จะขับเคลื่อนให้เกิดคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์โลกอนาคตได้" คุณองศาสรุป
แต่นั่นไม่ใช่จุดเดียวที่ทำให้ที่นี่เป็นที่ทำงานในฝันของครีเอเตอร์ยุคนี้ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าจะเป็นระบบนิเวศสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่สมบูรณ์แล้ว ที่นี่ยังต้องมีพื้นที่สำคัญอีกมากที่ขาดไม่ได้
จัดจังหวะไหลให้เวียนใช้ฟังก์ชันได้รอบ
ด้วยพื้นที่กว่า 27 ไร่ บนถนนสุขุมวิท Cloud 11 จัดเต็ม 7 ฟังก์ชันการใช้งานหลักไว้ได้อย่างสบาย ๆ โดยนอกจาก Creative Office & Studio Space แล้ว ที่นี่ยังมี Hybrid Retail ศูนย์การค้าที่สามารถตอบโจทย์สำหรับธุรกิจของครีเอเตอร์, Smart Hotel และ Lifestyle Hotel โรงแรมสองแบรนด์ใหม่, Education โซนการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรคอนเทนต์, Cultural ฮอลล์จัดคอนเสิร์ตพร้อมรับแข่งขันอีสปอร์ตและโรงละคร และที่โดดเด่นทั้งหน้าตาและการใช้งานคือ Public Space ซึ่งเปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานได้ แล้วยังทำหน้าที่โยงพื้นที่ทั้งหมดมารวมให้เป็นระบบนิเวศแห่งครีเอเตอร์ใหม่ใน Cloud 11 อย่างสมบูรณ์
เพราะพื้นที่สีเขียวมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ในเมืองอย่างมาก ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของครีเอเตอร์ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในสตูดิโอ พื้นที่สีเขียวในส่วน Public Space ของ Cloud 11 ก็เตรียมรองรับความต้องการตรงนี้ ด้วยความเป็นสวนลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ที่นี่พร้อมให้ครีเอเตอร์มาทำกิจกรรม มาใช้ชีวิต มาโชว์ฝีมือให้ทุกคนได้เห็นได้แบบคึกคักแน่นอน เพราะไม่ว่าจะใครก็สามารถเดินเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ตลอดเวลา หรือชาวสุขุมวิทใต้จะเข้ามาพักผ่อนหรือออกกำลังกาย ก็อาจเจอครีเอเตอร์กำลังสร้างสรรค์ผลงานเจ๋ง ๆ อยู่ก็ได้
ที่เด็ดเลยอีกอย่าง คือพอมีสวนนี้ ก็เหมือนมีดีไซน์พื้นที่ทำงานใหม่ที่ช่วยหนุนพฤติกรรมการทำงานของครีเอเตอร์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ด้วยการจัดเส้นทางการใช้งานหรือ Flow ทางสถาปัตยกรรมให้ลื่นไหลไร้รอยต่อ
นิธิศ สถาปิตานนท์ กรรมการบริหารและสถาปนิกจาก A49 อธิบายไอเดียดีไซน์นี้ไว้ว่า “สวนสาธารณะที่มีตึกล้อมรอบตรงกลางมันทำให้ทั้ง 7 องค์ประกอบของโครงการเชื่อมต่อกันแบบไม่สะดุด (Seemless) ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศ โรงแรม หรือศูนย์การค้า ผู้ใช้งานจะเคลื่อนที่เปลี่ยนการใช้งานจากฟังก์ชันหนึ่งไปอีกฟังก์ชันหนึ่งก็ทำได้ลื่นไหล (flow smoothly)”
“ไอเดียแบบนี้มันเข้ากับคนที่ทำงานครีเอทีฟอยู่แล้ว แผนที่ในเมืองไทยถ้าคิดถึงพื้นที่การทำงานทั้งหมด การแบ่งพื้นที่แบบที่ทำงานธรรมดามันคือคนนั่งทำงานในออฟฟิศ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ใหม่ บวกกับสถานการณ์โควิด มันก็เหมาะมากที่จะเป็น Work space สำหรับครีเอทีฟ อย่างระบบส่งของทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรืออาหารภายในโครงการ มีการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามา ผมว่าก็เป็นกระบวนการที่น่าตื่นเต้นแล้ว”
ส่งครีเอเตอร์ไปไกล ต้องไปอย่างยั่งยืน
“เราไม่ได้มองแค่ดีไซน์สวย เรามอง Environmental impact ด้วยว่ามันจะมีแนวทางที่ยั่งยืน” คือคำประกาศของสถาปนิกไทยแห่ง A49
เพราะอีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงแห่งยุคสมัยที่ขาดไม่ได้ในการออกแบบคือมิติของความยั่งยืน ซึ่งทาง Snøhetta ก็วางคอนเซ็ปต์ไว้รองรับเรียบร้อย โดยไม่ได้มีแค่ความยั่งยืนแบบสิ่งแวดล้อมสีเขียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย
“ในโปรเจกต์นี้เรามีแนวทางที่ยั่งยืนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น เรื่องอากาศที่เข้ามาในตึกนี้ก็จะมีการกรอง จัดการเรื่องความชื้นให้เรียบร้อย ความสว่างที่ดึงแสงจากภายนอกให้เข้ามาส่องถึงภายในทุกส่วน และยังมีเกร็ดเล็ก ๆ ชวนให้สังเกต คือเดิมพื้นที่ตรงนี้มีต้นไม้เก่าแก่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในจุดสำคัญของพื้นที่ แต่แทนที่จะจัดการย้ายเพื่อเอาพื้นที่มาใช้งาน ดีไซน์แห่งความยั่งยืนนี้เลือกที่จะรักษาต้นนั้นไว้ ด้วยการขยับปรับแต่งพื้นที่ให้รับกับต้นไม้นั้นแทน”
“ในแง่เศรษฐกิจเราก็จัดการสเปซรูปแบบการทำงานสำหรับครีเอเตอร์ ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโต พาความคิดสร้างสรรค์ไปสู่อนาคตจริง ๆ” Mr. Kjetil Thorsen ผู้ก่อตั้งและสถาปนิกจาก Snøhetta เล่าถึงการทำงานร่วมกันของสองสตูดิโอ Snøhetta กับ A49 ทำให้ศักยภาพของทั้งสองได้แสดงออกมาเต็มที่อย่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดย Snøhetta ทำหน้าที่วางคอนเซ็ปต์การออกแบบและเป็น Design Consultant ส่วน A49 รับหน้าที่ลงรายละเอียดมากมายในอาคาร รวมทั้งใส่บริบทท้องถิ่นของเมืองไทยและคนไทยลงไปในดีไซน์ด้วย
“เราเป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างโลกดิจิทัลกับโลกของเราจริง ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ ดีไซน์นี้เลยคำนึงถึงความ Evergreen ไม่มีวันจบ สามารถอยู่ต่อไปได้เรื่อย ๆ” Thorsen เล่าต่อ
“สวนตรงกลางนี้เปิดพื้นที่ให้สำหรับทุกคนเพื่อเป็นการเชื่อมต่อสังคมด้วย การที่เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์การทำงานและการใช้ชีวิตอยู่รอบด้าน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าพลังงานของความสร้างสรรค์คือพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่โปรเจกต์นี้ให้ความสำคัญ
นี่อาจไม่ได้เป็นโปรเจกต์ที่ทำให้กรุงเทพฯ เขียวขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ก็เป็นตัวช่วยที่เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีน้อยนิดในกรุงเทพฯ ขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการใช้ชีวิตในเมืองในอนาคต รวมทั้งการทำงานสร้างสรรค์ด้วย”
เหมือนกับที่นิธิศเล่าว่า “เวลาสถาปนิกออกแบบ จริง ๆ มันตอบโจทย์สังคมมากที่สุด เพราะอย่างโปรเจกต์นี้นอกจากจะช่วยสนับสนุนครอบครัว สังคม หรือร้านต่าง ๆ ที่อยู่ตรงนี้ ที่นี่ก็ยังช่วยดึงคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาตรงนี้ด้วย หมายความว่าธุรกิจย่านนี้ สังคมย่านนี้ ทุกคนย่านนี้จะได้ประโยชน์หมดเลย
เวลาเราเริ่มโครงการ เราฟังความเห็นของเพื่อนบ้านรอบ ๆ เราทุกคน มีการประชาพิจารณ์ ว่า Pain point ของคนในพื้นที่คืออะไร ข้อจำกัดพื้นที่คืออะไร แล้วเราทำอะไรที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในย่านได้บ้าง หลัก ๆ ที่เห็นได้ชัดคือตรง Canal Walk ที่เราทำคลองระบายน้ำที่มันเน่า ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ ให้กลายเป็นน้ำดี เหมือนเป็นหน้าบ้าน”
หรือจริง ๆ แล้ว วิธีอธิบายดีไซน์นี้ได้ดีที่สุด อาจเป็นสามหลักการที่มาจับคู่กันได้ลงตัว ของ MQDC คือ ‘FOR ALL WELL-BEING’ และของ A49 ที่ทำงานแบบ ‘Data driven design with personality to improve life’ ภายใต้ทิศทางการออกแบบเพื่อความยั่งยืนของ Snøhetta
Cloud 11 ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ระหว่าง BTS อุดมสุขและปุณณวิถี คาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2567 และขณะนี้ก็ได้เปิดรับผู้เช่าของพื้นที่ศูนย์การค้าและสำนักงานแล้ว