‘Your Voice: Your First Single’ งานคอลลาจทางเสียงของตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้าและ Converse ที่ยืนยันให้ “ออกไปส่งเสียงกันต่อ อย่าไปคิดว่ามันไม่มีความหมาย”

Post on 28 September

ตามหลักการแล้ว เสียงของทุกคนมีความหมาย แต่ทำไมคนไม่น้อยดูเหนื่อยใจไม่อยากจะพูดกันไปหมด? สำหรับตุล ไวฑูรเกียรติ นักร้องนำวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า นี่คืออารมณ์แห่งยุคสมัย ที่ดูเผิน ๆ แล้วอาจจะทำให้เราเหนื่อยล้าด้านชาหัวใจ แต่ถ้ามองในอีกด้าน บรรยากาศของยุคสมัยเช่นนี้แหละที่เป็นแรงกระตุ้นให้เหล่าวัยรุ่นหัวขบถออกค้นหาหนทางการ ‘เปล่งเสียง’ ในแบบของตัวเอง

ในฐานะเด็ก (แอบ) ดื้อที่ยืนยันถึงพลังและคุณค่าของการส่งเสียงของตัวเองมานาน วันนี้เขายังอยากยืนยันความคิดนั้นเหมือนเดิม ด้วยโปรเจกต์เชิงทดลองทางดนตรี ที่เริ่มจากการหาวิธีฟังเสียงวัยรุ่น แล้วออกมาเป็นเพลงแดนซ์ที่ผสานเสียงปี่ไทย จากองค์ประกอบเล็ก ๆ ที่ดูเข้ากันไม่ได้ สิ่งที่ทำให้เราสนใจโปรเจกต์นี้คือความครีเอทในการผสมผสานรากเหง้าดนตรีไทย เข้ากับพลังรุ่นใหม่ จนดูแปลกไปแบบเดาทางกันไม่ถูกแน่ ๆ

‘Your Voice: Your First Single’ คืองานศิลปะแบบปะติด (Collage) ของตุล ที่สร้างขึ้นจากเสียงตะโกน บ่น พูด ระบาย ของคนรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ถูกบันทึกมาจากแคมเปญ The Converse Campus Beat ซึ่งตุลก็ได้นำเสียงแห่งพลังคนรุ่นใหม่เหล่านั้นมาผสานกับเสียงเครื่องดนตรีไทย ‘ปี่แจ๊ส’ และบีทอิเลกทรอนิก จนกลายเป็นผลงานเพลงคอลลาจที่สาดใส่พลังขบถของวัยรุ่นอย่างซื่อตรง ด้วยทักษะสำคัญที่หลายคนหรือแม้แต่นักดนตรีลืมไป นั่นก็คือศิลปะแห่ง ‘การฟัง’

เรานัดกับพี่ตุลที่กองถ่ายเอ็มวีเพลงนี้ เพื่อคุยกันเรื่องไอเดียเบื้องหลังความคิดสร้างสรรค์ที่กลายมาเป็นผลงานชุดนี้ แล้วก็พบความจริงว่า คงเป็นพลังงานดี ๆ จากชาวแก๊ง Converse All Stars ที่มาโชว์ไลน์เต้นพร้อมพรีเซนต์สไตล์ของตัวเองในเอ็มวีนี้ ที่ทำให้เราได้รู้สึกได้ถึงพลังแห่งความสร้างสรรค์ที่แผ่ออกมาตั้งแต่หน้าเซ็ต ซึ่งพลังงานเหล่านี้ก็มาจากการผสานระหว่างสีสันเฉพาะตัวของสมาชิกแต่ละคน ผสมกับพลังแห่งความกล้าที่จะออกนอกกรอบตามฉบับวัยรุ่นวัยทดลอง

แต่เด็กไทยยังไม่กล้าแสดงออกจริงไหม? ศิลปะของการปะติดแบบคอลลาจคืออะไร? เรายังเหลือช่องทางอะไรให้ส่งเสียงอยู่บ้าง? พ่อแม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องฟังลูก และควรฟังอย่างไร? ตุล ไวฑูรเกียรติ จะมาคุยกับเราในบทสัมภาษณ์นี้

ถ้าไม่ฟังก็ต้องตะโกน

แค่ดูตอนนี้ก็คงพอเดาได้ ว่าพี่ตุลมีชีวิตวัยรุ่นที่แสบไม่แพ้ใคร แต่ถ้าลองถามเขาว่าวัยรุ่นตอนนั้นเหมือนกับตอนนี้ไหม คำตอบที่ได้คงไม่ง่ายนัก เพราะถึงวัยรุ่นทุกสมัยจะมีความขบถเหมือนกัน แต่เทคโนโลยีแวดล้อมต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปมหาศาลแล้ว แม้สังคมภายในบ้านอาจยังไม่เปลี่ยนไปมากนัก

“เมื่อก่อนต้องวางตัวเป็นเด็กดี ผมดูเรียบร้อยเป็นเด็กเรียนอย่างนี้ แต่เราเที่ยวกลางคืนตั้งแต่อายุ 14 - 15 เมื่อก่อนเขาไม่ตรวจบัตรประชาชน ไปเลาจน์ผับ เราจะบอกป๊าว่าผมไปทำการบ้านบ้านปั๊ม (มือกีตาร์วงอพาร์ตเมนต์คุณป้า) แต่ไม่มีใครได้นอนเลย ไปอยู่ร็อคผับ นั่งดูเขาโซโล่กีตาร์กันมันเฉิบ คือเด็กวัยรุ่นมันห้ามกันไม่ได้อยู่แล้ว แล้วมันทำให้เกิดศิลปะ สิ่งสร้างสรรค์มันเกิดจากเมล็ดพันธุ์ขบถเล็ก ๆ น้อย ๆ

“เด็กไทยไม่กล้าแสดงออกบางจุด แต่บางจุดสมัยนี้เขาก็กล้าแสดงออกได้มากขึ้นนะ กล้ายอมรับความแตกต่างของตัวเอง ถามว่ามันกล้าเท่าตะวันตกไหม ไม่หรอก แต่มันก็มากขึ้นกว่ายุคของผม เมื่อก่อนไม่มีใครกล้าพูดอะไร มันก็เก็บไว้ แต่จะดื้อเงียบ แอบมาแหกกฎที่หลัง ขึ้นชื่อว่าวัยรุ่น ยังไงการขบถมันก็ต้องมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะแสดงออกในดีกรีไหน”

และเมื่อถามศิลปินที่ทำงานกับเสียงว่า ‘การส่งเสียง’ นั้นสำคัญอย่างไร? ตุลก็ตอบว่า “มันทำให้เราเข้าใจกันนะ เพราะว่าการส่งเสียงคือการ communication คือการสื่อสาร ถ้าเราไม่สื่อสารเราจะไม่เข้าใจกัน การส่งเสียงมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ด้วยนะ ทุกคนอยากจะได้รับการยอมรับ ทุกคนอยากจะให้คนมาเข้าอกเข้าใจเรา ซึ่งนอกจากการส่งเสียงเราต้องฟังด้วยนะ บางคนถ้าเราโฟกัสแต่เรื่องการส่งเสียง จนเราลืมฟัง ทำให้เราไม่เข้าใจกันได้เหมือนกัน

“คนเราบางทีมันไม่เข้าใจกัน เพราะว่ามันเก็บไปคิดฝั่งเดียวเลย แล้วมันไม่ได้พูดออกมา บางทีเรามีเรื่องอะไรในใจแล้ว ถ้าเราพูดกันมากกว่านี้ เราสื่อสารกันมากกว่านี้ ยิ่งในครอบครัวหลายคนเลือกที่จะไม่คุยกัน เพราะว่าไม่กล้า

“แต่ครอบครัวควรจะเป็น safe zone เราควรจะบอกได้ว่าจริง ๆ เราอยากทำอะไร เรามีความคิดแบบไหน ธรรมชาติของเราเป็นอย่างไร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรจะรับฟัง เริ่มจากรับฟังจากลูกก่อน เพราะเมื่อเราทำให้เขาเกิดมาแล้ว เราคอนโทรลเขาไม่ได้ ห้ามไม่ให้เขาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตอนเขาจะเกิด ก็ไม่ได้ถามเขาด้วยว่าเขาอยากเกิดหรือเปล่า สร้างเขามาแล้ว มันคือการรับฟังนี่แหละ การรับฟังว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว ธรรมชาติของมันจริง ๆ ลึก ๆ มันคืออะไร อยากจะเดินทางไปในเส้นทางไหน”

เริ่มเรื่องมหัศจรรย์จากความไม่รู้

กลอง กีตาร์ เบส อาจเป็นพื้นฐานที่สร้างเพลงร็อค แต่เสียงร้อง และคำพูดปั่น ๆ ของวัยรุ่นทุกคนคือ ‘เครื่องดนตรี’ ของเพลงนี้ของพี่ตุล แน่นอนว่าเสียงเหล่านั้นไม่มีโน้ตหรือคอร์ดแบบเครื่องดนตรีทั่วไป ดังนั้่นทักษะที่ต้องใช้สำหรับงานนี้ (และอาจสำหรับการดำเนินชีวิตทั่วไปด้วย) คือการฟังอย่างใส่ใจ จนได้ยินทุก ๆ สิ่งสวยงามที่ซ่อนอยู่

“YOUR VOICE เป็นเพลงที่ประหลาดนะ จากโจทย์ตั้งต้นของมัน เราไม่รู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างระหว่างทาง เพราะมันเป็นการนำเสียงแรนดอมที่น้อง ๆ ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พูดออกมาในคลิป แล้วนำมาทำให้เกิดเป็นเพลง

“ผมมองว่านี่ไม่ใช่การทำเพลง แต่เป็นการทำศิลปะปะติดแบบคอลลาจ (Collage) ทางเสียง ซึ่งต้องเปิดใจเสมอว่าเราไม่รู้หรอกจุดจบจะเป็นอย่างไร ขอให้เราสนุกกับตอนทำไปแล้วกัน ระหว่างทางเราก็รับคลิปมาเติมเรื่อย ๆ ทีละหน่อย มานั่งฟัง แล้วก็มีศิลปินอิเล็กทรอนิกส์ชาวไทยคือ Meltmode นำเสียงไปตัดช็อต ไปยืน ไปจัดวาง ค่อย ๆ เติม

“ระหว่างทางเราก็ตั้งคำถามกับสังคมด้วย เพราะมันเป็นช่วงก่อนเลือกตั้งพอดีนั่นแหละ ที่เราจะได้ยินคำว่า Your Voice ออกมา คือการไปออกเสียง แล้วเสียงเล็ก ๆ ของเยาวชนชายขอบ เสียงของคนที่ไม่ได้มีตัวตนมากในสังคม เรายังนับเสียงของพวกเขาเหล่านี้อยู่มั้ย? เพลง Your Voice จะพูดถึงคนเหล่านี้ แล้วสรุปเรื่องราวทั้งหมด คือชีวิตคุณ ความฝันของคุณ ที่เราไม่รู้หรอกว่าเสียงเราปล่อยออกไปแล้วจะถูกรับฟังหรือเปล่า แต่มนุษย์ก็มีสิทธิ์ที่จะพูดออกไปเท่าที่เราจะทำได้

“คุณต้องเป็นคนที่เปิดกว้าง เพราะว่าหลายสิ่งที่คุณไม่เห็นค่า แต่หยิบมาประกอบกันได้ นั่นก็เป็นเสน่ห์ของคอลลาจ คือบางครั้งที่เศษกระดาษในหนังสือพิมพ์ กระดาษย่น ๆ ก็กลายเป็นผลงานที่สวยงามได้ ดังนั้นเราต้องเป็นคนที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่บางคนอาจจะไม่เห็นค่า แล้วนำมาประกอบกันขึ้นมา”

เมื่อขอให้เล่าขั้นตอนการทำงานในโปรเจกต์เสียงสุดแปลกนี้ ตุลก็เล่าว่า “พอเราได้รับเสียงมา ขั้นแรกก็ต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรดี แล้วก็ใช้เวลานั่งฟังไป มันจะมีบางท่อนที่บังเอิญเหมือนของขวัญจากสวรรค์ น้องคนนึงเขาร้อง ‘เอิงเอย…’ นั่นแหละ พอเริ่มตรงนี้มามันเหมือนคนจุดไม้ขีดแล้ว ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเพลง เราเจอแล้ว เจอเพชรแล้ว แล้วเราก็นำตรงนั้นมาตัด เอาเท่าที่มีทำให้มันเกิดขึ้นเป็นเพลงได้

“แล้วความบังเอิญที่ได้เจออีกครั้งคือได้เจอ คุณกานตพงศ์ คำเจริญ ตอนนั้นทำอยู่ที่ทองหล่อห้องของ Meltmode ผมเดินเล่นมาดูวงดนตรี มาเจอน้องกานตพงศ์ เป่าปี่กับเพลงแจ๊สได้ เราก็บอกนี่แหละสิ่งที่เราตามหามานาน คนบ้าอะไรเป่าปี่ที่เป็นโน๊ตเครื่องดนตรีไทยกับเพลงแจ๊สได้ เขาบอกว่าไม่เชี่ยวชาญเรื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์นะ แต่ผมเชื่อว่าผมเจอแล้ว ลองเปิดใจให้กว้าง แล้วมาฟรีสไตล์กัน แล้วผมรู้มาอีกอย่างว่าเขาสามารถตีกลองแบบโนราได้ เพราะโตมาจากวงโนราห์ในภาคใต้ เลยให้เขาตีกลองผสมกันกับปี่ในช่วงหลัง ๆ ของเพลงที่มันมาก ๆ มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ที่ทุกอย่างมันเกิดมาจากโชคชะตาหรือไม่รู้อะไร”

“ก่อนจะเป็นศิลปิน ผมก็คือคนฟังเพลงนี่แหละ จุดเริ่มต้นของความรักดนตรีมันไม่ได้เริ่มต้นจากการทำเพลงนะ มันเริ่มจากการฟังเพลงก่อน ศิลปะในการส่งเสียงก็เลยต้องมาคู่กับศิลปะในการฟังด้วย”

ทุกเสียงมีคุณค่าเสมอ

ไม่ว่าจะช่องทางไหน ถ้ามีเรื่องอึดอัดอยู่ในใจ ยังไงคนเราก็หาทางระบายออกมาจนได้อยู่ดี ซึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับพลังขบถของวัยรุ่นมาทุกยุคสมัย คือแฟชั่นการแต่งกาย ที่ทำหน้าที่ประกาศตัวตน คู่ไปกับการห่อหุ้มผิวหนัง “เสื้อผ้าคือมารยาทที่ทรมาน รองเท้าคือสันดาน” ท่อนหนึ่งของเพลง ‘มอง’ ที่พี่ตุลร้องกับวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า คงอธิบายความอัดอั้นได้สะใจที่สุด แต่ทำไมเสื้อผ้าคือเสื้อผ้าคือมารยาทที่ทรมาน แต่รองเท้าคือสันดาน?

“ในเรื่องเครื่องแต่งกายทั้งหมดนะ รองเท้าบ่งบอกบุคลิกคนได้ดีที่สุด เวลาดูคนบุคลิกอะไรอย่าดูที่เสื้อผ้ากางเกง เรามองรองเท้าที่เขาใส่ จะรู้ว่าคนนี้เป็นคนอย่างไร” พี่ตุลตอบ

“มันเป็นสิ่งที่อยู่ต่ำเตี้ยที่สุด คนเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญ แต่อย่าลืมสิว่าถ้ามันไม่สบาย มันทำร้ายคุณได้นะ คุณจะไม่ได้ยินหรอกว่าเสื้่อผ้ากัด แต่รองเท้ามันทำร้ายคนได้ มันทำให้คุณสุขภาพเสียหรือดีก็ได้ หรือคุณอาจจะมีความสุขก็ได้ ฝรั่งยังมีสำนวนเลยว่าให้ลองเอาตัวเองไปใส่ในรองเท้าคนอื่นดูสิ (To put yourself in someone else's shoes.) รองเท้ามันเลยบอกตัวตนคนได้มากที่สุด มันคือสันดานมนุษย์เลยแหละที่เดินตามเส้นทางที่มันพาไป”

สำหรับคนที่ผ่านยุค 90 มา คงเข้าใจดีว่าหนึ่งในสัญลักษณ์ของความขบถที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นสไตล์ไหนต้องมีคือรองเท้าคอนเวิร์ส

“เมื่อก่อนยุคอัลเทอร์เนทีฟคนจะคุ้นกับ Converse One Star เพราะว่า เคิร์ต โคเบน ใส่ตอนตาย ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลกับชีวิตเราในฐานะศิลปินด้วย เมื่อก่อนนั้นมันคันไม้คันมือก็เขียนบทกวีหรือคำอะไรที่เราคิดไว้ตรงขอบรองเท้า”

แต่ไม่ว่าจะส่งเสียงออกมาผ่านสื่ออะไร สิ่งสำคัญคงเป็นแค่ความกล้าที่จะออกมาพูดตามสิ่งที่คิด เพราะไม่ว่ามันจะยากหรือดูเหมือนไร้ความหมาย แต่พี่ตุลยังยืนยันให้เราส่งเสียงกันต่อ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเสียงทุกคนยังคงมีคุณค่าเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

“อยากให้ทุกคนกล้าพูดกล้าแสดงออก ผมคิดว่าโปรเจกต์นี้ต้องขอบคุณทุกคน แม้แต่เสียงของคนที่เราไม่ได้นำมาใช้ เพราะเขาก็มีส่วนร่วมในการทำโปรเจกต์นี้ เราอยากให้เครดิตทุกคนเลยที่เข้ามาร่วม ทุกเสียงมีคุณค่าเสมอ

“อย่าคิดว่าผมแต่งมันขึ้นมาเลย ผมเป็นแค่คนเปิดประสาทสัมผัส แล้วอยู่ดี ๆ มันมีสิ่งดี ๆ กลับเข้ามาในชีวิตผม มารวมกันไว้ นั่นแหละเลยต้องออกไปส่งเสียงกันต่อ ตอนนี้มันอาจจะดูไม่มีความหมายแต่จริง ๆ มันก็มีอยู่”

รับฟังผลงานเพลงจากแคมเปญนี้ได้ที่ https://bit.ly/YourVoiceConverse และฟังผลงานจากการจับคู่ของศิลปินชาว All Stars ทั้งหมดจากแคมเปญ Converse Campus Campaign ได้ที่ https://bit.ly/3pqI0Vc