Dark Horse กวาดร่องรอยในกรวดทราย เพื่อเข้าใจความหมาย ของเสียงความเงียบจากภายใน

Post on 31 July

ถ้าสวนเซนเป็นพื้นที่แห่งสมาธิ งานเต้นและออกแบบเสียง ‘Dark Horse’ ก็คงเหมือนสื่อกลางคล้าย ๆ กัน ที่ศิลปินและคนดูจะได้หลุดลอยไปสู่ภาวะภายใน เพียงแต่อาจจะมีเศษกรวดหินฟุ้งกระจายอยู่บ้าง ตามแรงเตะของมิ้น — ภาวิดา วชิรปัญญาพร ศิลปินเต้นร่วมสมัย ผู้พาเราไปพบกระแสสำนึกแห่งตัวตน ผ่านพลังงานเต้นระดับที่ไม่ธรรมดา

ลานหินเล็ก ๆ ที่ศิลปินกวาดเท้า กระโดด และก้มลงทิ้งตัว คือโลกภายในที่แสดงคู่ขนานไปกับอีกสองศิลปิน ธนาธย์ รสานนท์ และ อานาปาน ปิ่นประดับ ที่ส่งสะเก็ดเสียงของเท้าที่ย่ำพื้นทรายออกมา เหมือนจะเป็นจังหวะคงที่ แต่ก็มีความกระจัดกระจาย ราวกับกำลังเต้นอยู่ด้วยกับดนตรีเสียงสังเคราะห์ จนกระทั่งทุกอย่างเงียบสงบ แล้วกลายเป็นเพียงโน้ตกีตาร์บาง ๆ

พื้นที่เล็ก ๆ ในห้องนั้น เป็นที่อาศัยของ “ม้ามืด” ที่เราไม่เห็นตัว แต่หากพยายาม ก็สามารถเข้าไปสัมผัสได้ ส่วนสำคัญในการแสดงนี้คือจังหวะที่ศิลปินรู้สึกตัวหลังยืนนิ่งมานาน และก้าวเท้าเข้าโซนหินไปตามตำแหน่งที่แสงไฟส่อง ดังได้ค้นพบที่มาของเสียงดนตรีภายในที่เริ่มดังก่อนหน้ามานานแล้ว รวมทั้งในตอนท้าย ที่เธอกวาดสายตามองร่องรอยแห่งการเคลื่อนไหวบนพื้นหิน ก่อนจะเงยหน้าจ้องแสงไฟ จนเราไม่สงสัยว่า ม้ามืดที่ศิลปินปลดปล่อยออกมาจากภายในคนนี้ อาจเริ่มมีสำนึกถึงโลกรอบตัวแล้ว

เสียงเท้าของศิลปินที่ย่ำไปลงบนหิน ย้ำความสำคัญของการได้ยินเสียงความเงียบ ท่ามกลางเสียงอื่นที่เรียกความสนใจอยู่รอบตัว แต่สิ่งที่โดนใจคนสมัยเราที่สุด คงเป็นเรื่องไอเดียการต่อสู้เพียงเพื่อเข้าไปฟังเสียงของพื้นที่ภายใน ซึ่งถึงจะเป็นปัญหาคลาสสิกมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มเข้าป่านั่งสมาธิ แต่ก็ยังเป็นเรื่องต้องค้นหากันต่อไป กับเสียงเครื่องจักรแห่งโลกที่ดังขึ้นทุก ๆ วัน

การแสดงเต้นและเสียง Dark Horse กำกับการแสดงและออกแบบท่าเต้นโดย ภาวิดา วชิรปัญญาพร ออกแบบเสียงโดย ธนาธย์ รสานนท์ และ อานาปาน ปิ่นประดับ ออกแบบฉากและแสงโดยประภัสสร สุขเกษตร (Scenography Department Bangkok) จัดแสดงที่ Mind+Move Space เมื่อวันที่ 29 - 30 กรกฎาคม 2566