เราคิดแบบซื่อ ๆ ว่านักสะสมศิลปะเอกชน ก็คงจะต้องมองเรื่องกำไรจากการลงทุนกับศิลปะเป็นหลักแน่นอน เหมือนกับที่ภาครัฐก็คงให้ความสำคัญกับงานเชิงทดลอง ที่อาจจะมีคุณค่าในเชิงการศึกษาหรือเชิงความคิด แต่ไม่ได้ขายง่ายแถมบางทียังเรียกร้องพลังงานจากคนดูสูงสุด ๆ
ด้วยเหตุนี้เมื่อเราได้ยินเขาอธิบายว่า “ผมมองว่าทุกอย่างคือการศึกษา คืออนาคต ผมไม่ได้มองว่าชิ้นไหนเป็นงานแปลกหรืองานตลาด การสนับสนุนก็คือการสนับสนุน ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เราต้องเปิดโอกาสให้ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ” เราจึงแอบดีใจ ปนแปลกใจอยู่ด้วยนิด ๆ
นั่นคือคำพูดของ ‘ดร.ป๋วย’ หรือ ดร.ดิสพล จันศิริ’ ที่เราได้รู้จักเขาครั้งแรกในฐานะเจ้าของคลังสะสมงานศิลปะ ‘DC Collection’ ซึ่งมีผลงานบางส่วนกำลังจัดแสดงอยู่ที่The Jim Thompson Art Center ในนิทรรศการที่ชื่อว่า ‘Fragmented Reality: Selected Works from DC Collection’ ซึ่งหากใครติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะ ก็คงจะคุ้นกับชื่อของ DC Collection ในฐานะผู้สนับสนุนทุนให้โครงการศิลปะล้ำ ๆ อย่างเช่น NAMKHEUN MANIFESTO ที่แปลแมนิเฟสโต้ทรงพลังจากภาษาต่างประเทศเป็นไทย และในขณะเดียวกันก็เก็บผลงานของศิลปินระดับโลกอีกมาก ที่พูดชื่อไปแล้วเชื่อว่าจะต้องร้องอ๋อกันหมด
โอลาเฟอร์ เอเลียสสัน (Olafur Eliasson), เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst), ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama), และ จาง เสี่ยวกัง (Zhang Xiaogang) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศิลปินในคอลเลกชันนั้น ที่กำลังจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ Fragmented Reality
ในบทสัมภาษณ์นี้ เราชวน ดร.ป๋วย มาบอกเล่าแนวความคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับการสะสมงานศิลปะ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในฐานะคนนอกที่ไม่ได้เรียนมาทางศิลปะโดยตรง, ความทรงจำแรก ๆ กับงานศิลปะเชิงความคิด (Conceptual Art), และสิ่งที่เขามองเห็นในงานแปลก ๆ ที่แตกต่างจากตลาดอย่างชัดเจน
ดร.ป๋วยเริ่มต้นสะสมงานศิลปะแนวนี้ได้อย่างไร
หลาย ๆ คนคงทราบว่า อาจารย์เจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์ — ผอ. The Jim Thompson Art Center) เป็นผู้มีอุปการะคุณกับผม เรารู้จักกันเพราะว่าเพื่อนผมเขาเรียนด้วยกันกับอาจารย์เจี๊ยบ ก็เลยแนะนำให้มารู้จักกัน แล้วก็ทำโครงการด้วยกันมาตลอด เราก็สนับสนุนโครงการต่าง ๆ ตรงไหนที่เราสนับสนุนได้และเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ เราก็สนับสนุน
อาจจะเพราะผมเป็นอาจารย์ด้วย แล้วสำหรับผม ทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมคือภาคการศึกษาอย่างหนึ่ง ผมสอนกฎหมาย แล้วตอนนี้ผมก็เป็นคณบดีคณะดิจิทัลอาร์ตและดีไซน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดังนั้นเราก็ตั้งใจจะสนับสนุนวงการนี้ให้ได้มากที่สุด DC Collection เองก็เคยทำโชว์สนับสนุนศิลปินไทยให้ไปแสดงงานตามเบียนนาเล่บ้าง ตามงานใหญ่ ๆ บ้าง ก็คุยกับอาจารย์เจี๊ยบว่าอยากสนับสนุนกัน
บรรยากาศในช่วงที่เริ่มสนับสนุนงานศิลปะตอนนั้นเป็นอย่างไร
นานมากเลยนะ (หัวเราะ) ประมาณ 25 ปีที่แล้ว ผมคิดว่าวงการศิลปะก็น่าจะไม่ได้กว้างมาก ก็มีผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านก็สะสมงานกัน ทั้งศิลปินชั้นนำที่เป็นอาจารย์ หรือศิลปินในวงการศิลปะร่วมสมัย
แต่ต้องบอกเลยว่าเรื่องศิลปะเชิงความคิด (conceptual art) เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์เจี๊ยบมาเลยจริง ๆ เพราะแต่ก่อนผมยังเด็กมาก ตอนแรกก็สนใจเฉพาะศิลปินไทยเรา แต่ก็ได้ดูแกลเลอรีแล้วก็ดเรียนรู้ด้านศิลปะต่าง ๆ จากต่างประเทศอย่างจริงจัง
พอดีกับตอนนั้นอาจารย์เจี๊ยบเปิด Projet 304 (พื้นที่ศิลปะทางเลือกที่ใช้พื้นที่ห้องอพาร์ตเมนต์เก่าของกฤติยา กาวีวงศ์ ที่มีจุดเริ่มต้นในกรุงเทพฯ ปลายยุค 90s จัดแสดงผลงานของศิลปินไทยและนานาชาติทุกรุ่น เช่น อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ก็ทำให้คนที่เรียนศิลปะมารวมตัวกัน แล้วเราก็ได้เห็นผลงานอะไรที่แปลก ๆ สำหรับตอนนั้น มันก็น่าสนใจดี มีหลายแง่มุม มีวิธีมองหลายแบบ อาจเป็นเพราะผมไม่ได้เรียนศิลปะมั้ง ผมก็เลยไม่ได้รู้จักศิลปะในแบบทั่ว ๆ ไป
พอเห็นผลงานที่ตัวเองสะสมมาเล่าเรื่องในนิทรรศการแบบนี้รู้สึกอย่างไร
ต้องเล่าก่อนว่างานนี้เกิดจากการที่อาจารย์เจี๊ยบสนใจจะโชว์งานในคอลเล็กชันของผมมาตั้งนานแล้ว แล้วผมโอเค ก็เลยให้เรื่องการคิวเรตอะไรทุกอย่างเป็นเรื่องของทีมที่นี่เลย แล้วตอนที่เลือกงานมาแสดงในนี้ ผมยังบอกอาจารย์เจี๊ยบเลยว่าน่าสนใจที่มันมีสิ่งแบบนี้ออกมา ถามเขาขำ ๆ ว่าแน่ใจเหรอว่าจะเอางานนี้? คนดูจะไม่งงเหรอ? คือโดยส่วนตัวแล้วผมชอบงานของผมทุกชิ้น แต่ก็จะมีเพื่อน ๆ ถามว่าทำไมเอาศิลปินคนนี้มา จะดูไม่ตรงกับความชอบของเราเท่าไรหรือเปล่า? ผมก็บอกว่างานพวกนี้มันเป็นชุดที่ได้มาตอนผมยังเป็นวัยรุ่น ก็โตมากับงานของเขา งานแต่ละชิ้นมันมีที่มาที่ไป มันเป็นสิ่งหนึ่งของชีวิตเราเหมือนกัน
งานส่วนมากของผมที่โชว์มาตลอดอาจจะดูใต้ดินมาก ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ตอนแรกยังคิดเลยว่าอาจารย์เจี๊ยบจะเอางานแปลก ๆ ของผมมาโชว์เนี่ยนะ แต่งานนี้ก็อยากเอาศิลปินที่คนทั่วไปรู้จักมาโชว์กัน ก็เป็นเหมือนการทดลองในตัวเหมือนกัน ว่าศิลปินที่คนคิดว่าเคยยิ่งใหญ่มากในหน้าประวัติศาสตร์ เดี๋ยวนี้เรามองเขาว่าเป็นอย่างไรบ้างแล้ว
เมื่อตอนวันเปิดอาจารย์เจี๊ยบชี้ให้ดูภาพวาดของยาโยอิ คุซามะ ในงานนี้ ว่ามีความน่าสนใจในแง่การสะสมมาก ช่วยเล่าให้ฟังเพิ่มเติมหน่อย
สำหรับยาโยอิ เราก็ชื่นชอบเขาในแง่ของศิลปะ แต่สำหรับนักสะสมที่มองแบบการลงทุน ผลงานของยาโยอิตอนซื้อราคาจะเท่ากันหมด แต่ถ้าจะขายต่อ ถามว่าสีไหนจะได้ราคา? เราเป็นคนเอเชียเราก็อาจจะชอบทุกอย่างที่เป็นสีสัน สีแดง สีส้ม สีฟ้า ซึ่งถ้าขายต่อก็อาจจะทำให้ได้กำไร แต่กำไรไม่มาก เพราะถ้าสำหรับเทสต์ฝรั่ง หรีือเรียกว่าเทสต์แบบอินเตอร์ จะต้องเป็นสีโทนเดียว (monochrome) หรือสีขาว ถึงจะได้ราคามากที่สุด
มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจอีกไหม เกี่ยวกับตลาดศิลปะโลกหรือรสนิยมของคนตะวันตก
อย่างช่วงที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็อาจจะเป็นกระแสของงานนามธรรมจากศิลปินหญิง โดยเฉพาะศิลปินหญิงที่มีอายุ อย่างเช่น โจน มิตเชลล์ (Joan Mitchell) ช่วง 2-3 ปีนี้ราคาก็กระโดดขึ้นเป็นห้าเท่าเลย แล้วกระแสก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
ช่วงหนึ่งกระแสอาจจะเป็นศิลปินจีน ศิลปินอินเดีย แต่วันนี้บอกได้เลยผลงานของศิลปินจีนอาจจะไม่ได้รับความนิยมเท่านั้นแล้ว แต่สำหรับผม วันนั้นผมสนใจศิลปินจีนศิลปินอินเดียอย่างไร วันนี้ถึงคนไม่สนใจผมก็ยังบอกอยู่ว่าผมสนใจ
แม้แต่คนจีนยังถามเลยว่าคุณสะสมไปทำไม งานพวกนี้ ผมก็ถามกลับไปว่า เขาเป็นศิลปินที่ดีไหม? ก็ใช่ ผลงานเขาดีไหม? ก็ใช่ แล้วในอนาคตเขาจะอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะไหม? ก็ยิ่งใช่ด้วยซ้ำ แล้วทำไมถึงจะไม่สะสมล่ะ แค่เพราะว่าไม่อินเทรนด์ ศิลปินคนนี้จะต้องล้มหายไปเลยหรอ ผมว่าก็ไม่ใช่
ในอีกด้านหนึ่งศิลปินเองก็ต้องการจะทำงานที่ขายได้ตามกระแสตลาด แล้วอย่างนี้จะทำให้งานที่มีลักษณะทดลอง ไม่ได้ดูง่ายซื้อขายง่ายหายไปไหม
เทรนด์ต่าง ๆ มักเปลี่ยนไปตลอด ถ้าท้ายที่สุดศิลปินสามารถหาจุดยืนของตัวเองได้ แล้วในวันหนึ่งเทรนด์อาจจะเปลี่ยน กลายไปเป็นสไตล์ที่เขาทำมาตลอดก็ได้ เรายังเคยดีใจเลยว่าคนเริ่มสนใจศิลปินคนนี้แล้ว เพราะที่ผ่านมางานเขาก็น่าสนใจมาก เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้ตามเทรนด์ เราเชื่อในสิ่งที่เราทำ แล้วสักวันหนึ่งจะมีคนเห็นคนชอบเอง ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าคุณทำงานเพื่ออะไร
ผมชอบไปดูงานที่เด็กมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเขาส่งมาโชว์กัน ไปดูว่าเทรนด์ในแต่ละภูมิภาคเป็นอย่างไร แล้วที่สำคัญคือ ศิลปินเด็กเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน เพราะขณะนั้นคือทางแยกที่เขาจะทำศิลปะอยู่หรือจะไปทำอย่างอื่น
ถ้าคุณไม่สนับสนุนศิลปะของเด็ก ๆ แบบนี้นะ เราเป็นเด็กเราก็คงเริ่มกลัวแล้ว แล้วจริง ๆ งานเด็ก ๆ มีความน่าสนใจตรงอะไรที่ดูแปลกกว่าคนอื่นเขาด้วย แต่แปลกแล้วก็ต้องมีคนสนับสนุน ถ้าไม่สนับสนุนแล้วเขาจะไปต่ออย่างไร
ทำไมเราถึงต้องสนใจสนับสนุนงานแปลก ๆ ที่อาจจะไม่ได้โดดเด่นในตลาดด้วย
อย่างที่บอกไปว่าผมเป็นอาจารย์ ดังนั้นผมเห็นทุกอย่างเป็นการศึกษา คืออนาคต ผมไม่ได้มองว่าชิ้นไหนเป็นงานแปลกหรืองานตลาด การสนับสนุนก็คือการสนับสนุน ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เราต้องเปิดโอกาสให้ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ถ้าคุณสนใจอะไรแล้วก็สนับสนุนไปเลย
เวลาดูงานศิลปะดูอย่างไรบ้าง
ในระดับของการตีความลึกซึ้งแล้ว งานศิลปะแต่ละงานล้วนมีอะไรอยู่แน่นอน แต่สำหรับผมคิดว่าคนดูอย่างเรา แรกสุดและสำคัญที่สุดเลยที่จะมองคือเรื่องสุนทรียภาพ ซึ่งแต่ละคนก็มีต่างกัน
.
ผมชอบบอกคนว่าไม่ต้องไปคิดเยอะ ชอบก็คือชอบ ไม่ชอบก็ไม่ชอบ ของที่เราชอบไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น ของที่ผมชอบคนอื่นก็มักจะไม่ชอบ (หัวเราะ)
.
วิธีการมองของผมอาจจะเป็นที่ความอินส่วนตัวด้วยมั้ง สมมุติบางงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเกิดการดับ บางคนก็อาจจะเห็นเป็นความรุนแรง แล้วก็มาถามผมว่าซื้อไปได้ยังไง แต่ผมคิดว่านั่นเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้มองว่างานนี้แรงเกินไปอะไรอย่างนั้น อาจจะมีการตีความบ้างเช่นเรื่องเกี่ยวกับบริบทของสังคมการเมืองในโลก หรือความขัดแย้งที่เราเคยเรียนมา ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เวลาดูงานเราเข้าใจได้มากกว่าปกติและรู้สึกมากขึ้นอีก
.
อย่างงานของ คุณจอมเปท คุสวิดานันโต (ศิลปินอินโดนีเซียที่จัดแสดงในนิทรรศการ) ผมไม่ได้ดูแล้วตกใจ พอเห็นครั้งแรกแล้วก็รู้สึกเลยว่าชอบมาก ทั้งสวยและบ่งบอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งก็เป็นวิธีการนำเสนอของศิลปิน แต่ผมก็เข้าใจ เหมือนเวลาเพื่อนมาที่บ้านแล้วบอกว่างานนั้นงานนี้น่ากลัว แต่ผมรู้สึกว่าวิธีที่เขานำเสนอดูเจ๋งดี นี่คือประวัติศาสตร์ นี่คือพลัง