ภาพสะท้อนความรักฉบับคนชายขอบ ‘ลักญ - เอกลักญ กรรณศรณ์’ กับความจริงสีแดง ในโฆษณา สารคดี และภาพยนตร์ Red Life

Post on 1 November

“มันจะมีคำถามว่าคนเราจะเป็นแฟนกับ Sex Worker ได้จริงหรอ คนทั่วไปก็จะคิดว่าไม่ได้หรอก แต่พี่ไปสัมภาษณ์พูดคุย [แฟน Sex Worker] มามากมายก็พบว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก เขาไม่ได้คิดว่า Sex Worker เป็นอาชีพที่แตกต่างอะไรเลย ไม่ได้มีความรู้สึกรังเกียจแฟน แต่อาจจะมีความกังวลว่าจะกระจอก คือจะเป็น Sex Worker ก็ไม่ว่านะ แต่จะมีปัญหาถ้าไปเจอคนรวย ๆ หล่อ ๆ แล้วดูมีโอกาสจะทิ้งไป”

นั่นคือหนึ่งในเรื่องเล่าและบทเรียนจากภาคสนามของ ลักญ - เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้กำกับที่เดินทางมาแล้วทั่วจักรวาลภาพเคลื่อนไหว ตั้งแต่โลกโฆษณา สารคดี และล่าสุดกับ ‘Red Life’ ภาพยนตร์ที่นำเสนอหนึ่งในประเด็นสีเทา (เข้ม) ของสังคมอย่าง ‘คนทำงานบริการทางเพศ’ รวมไปถึงประเด็นที่หนักไม่แพ้กันอย่างอาชญากรรม สลัมแนวตั้ง และคนจนเมือง ซึ่งรวม ๆ แล้วคือการสำรวจเรื่องราวของ ‘คนชายขอบ’ ในสังคมไทย

“มันไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนชายขอบ คนรวยหลาย ๆ คนที่พยายามซื้อของประดับร่างกาย ซื้อรถราคาแพง ก็อาจจะต้องการให้คนมองเห็นและรักเขาเหมือนกัน” เขาเล่า “หนังสือชอบเขียนว่า ความรักเป็นพลังชีวิตให้กับเราได้ แต่อีกมุมหนึ่ง เรื่องของคนที่ไม่ได้ถูกรัก มันก็เป็นพลังงานลบได้เหมือนกัน”

ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเป็นเหมือนบทสรุปประสบการณ์จากสามวงการของเขา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเล่าเรื่องแบบโฆษณาให้คนดูเข้าถึงประเด็นในฉากเดียว หรือการหาความจริงแบบสารคดี ก่อนจะมาย่อยอีกทีให้ดูสนุกในภาพยนตร์ เหมือนที่เขาเล่าว่า “มันเป็นเรื่องที่ไกลตัวเรามาก และด้วยความเร็วของชีวิต เราไม่มีทางออกนอกวงจรปกติของเราได้เลย แค่ทำงานก็หมดวันไปแล้ว เลยรู้สึกว่าการออกไปทำสารคดีก็เพราะอยากเห็นความจริง แต่ที่ทำหนังเพราะอยากทำความจริงให้มันย่อยง่าย ให้สนุก โดยที่คนดูได้เห็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็น”

ก่อนจะไปชมสองเรื่องราวขม ๆ ของ ‘ส้ม’ (ซิดนีย์ สุพิชชา) ลูกโสเภณีที่เชื่อว่า ความรักจะเป็นยานพาหนะไปสู่ชีวิตดี ๆ ได้ และ ‘เต๋อ’ (แบงค์ ธิติ) นักวิ่งราวผู้พร้อมทำทุกอย่างเพื่อคนรัก GroundControl อยากชวนมาลองย้อนครุ่นคิดกันใหม่ว่า เหตุใดกันหนอ ท่ามกลางกลิ่นความเจริญที่ล่องลอยอยู่ในสังคมไทยตอนนี้ (?) เรายังต้องมีหนัง ‘ฟีลแบ๊ด’ อยู่? ทำไมการทำโฆษณาและสารคดีถึงเปลี่ยนชีวิตและวิธีคิดของคนทำหนังได้มากมาย? ทำไมความรักกับปัญหาสังคมถึงส่งผลกระทบต่อกันและกัน และทำไมปัญหาความรักของคนชายขอบก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวคนอื่น ๆ ในสังคมขนาดนั้น ในบทสัมภาษณ์ของเรากับลักญ - เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้กำกับ Red Life

พี่ลักญในเทศกาลภาพยนตร์นานาขาติโตเกียวครั้งที่ 36 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งภาพยนตร์ Red Life ได้เข้ารับคัดเลือกเข้าประกวดในสาขา Asian Future หรือสาขาผู้กำกับหน้าใหม่

พี่ลักญในเทศกาลภาพยนตร์นานาขาติโตเกียวครั้งที่ 36 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งภาพยนตร์ Red Life ได้เข้ารับคัดเลือกเข้าประกวดในสาขา Asian Future หรือสาขาผู้กำกับหน้าใหม่

ไอเดียแรกของหนังเรื่องนี้มาได้อย่างไร

“พี่เป็นผู้กำกับโฆษณา ทำโฆษณาเป็นหลักมาเกือบ 20 ปี จนถึงจุดหนึ่งคล้าย ๆ กับว่าอิ่มตัวเลยอยากทำหนัง ทำงานวิดีโอนี่แหละ แต่ไม่อยากทำแค่ด้านเดียว ก็เลยกลายมาเป็น Brandthink ในปี 2017

“ตอนนั้นโซเชียลมีเดียยังไม่ค่อยมีวิดีโอเยอะ ส่วนใหญ่จะถ่ายง่าย ๆ ด้วยมือถือ เราก็เอากล้องดี ๆ ไปถ่ายเลย แต่ปรากฏว่าคนยังไม่ได้ต้องการแบบนี้ในยุคนั้น แต่ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องคุณภาพวิดีโอหรอก เป็นเรื่องการเข้าใจโลกดิจิทัลมากกว่า

“พอทำโฆษณานาน ๆ เข้ามันเหมือนเราลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามันมี Passion ที่อยากจะทำหนังอยู่ เพราะโลกโฆษณาความเข้มข้น ความหนักของงานมันเยอะ ก็ต้องใช้เวลาอยู่เหมือนกันว่าจะเล่าเรื่องอะไร จนตั้งคำถามกับตัวเองเลยด้วยซ้ำว่าจริง ๆ เราไม่ได้เป็นคนทำหนังอะไรอย่างนี้หรือเปล่า”

“มันเป็น Dilemma เล็ก ๆ ที่ใครจบด้านนิเทศหรือภาพยนตร์ก็อยากทำหนังทั้งนั้น แต่การจะทำมันต้องมีองค์ประกอบอีกหลายอย่าง ต้องใช้ความพยายาม ทั้งพลังการเงิน พลังความคิด พลังแรงงาน รวมเข้าด้วยกัน เราก็ตั้งคำถามกับตัวเอง จนช่วงที่ทำ Brandthink ก็ไปทำพวกสารคดี ถ่ายหมอลำ ถ่ายคนจนเมือง เรื่องสลัมแนวตั้ง เรื่องย่านเมืองเก่า เพราะเรารู้สึกว่าภายในทีม Brandthink จะมีความสนใจหลากหลายมาก แต่ทุกคนสนใจประเด็นทางสังคมหมดเลย เลยเป็นที่มาของสโลกแกน ‘Create a Better Tomorrow.’ จนเป็นที่มาของหนังเรื่องนี้

“จังหวะที่เราตั้งคำถามกับตัวเองหนัก ๆ ก็เลยคิดว่าจะลองเอาเรื่องที่มีความสนใจที่สุดมาพัฒนาเป็นหนัง เลยหยิบเอาสารคดีที่เคยทำ เอาเรื่องราวเหล่านี้มานั่งคิด ว่าทำไมต้องไปทำมัน เราเจออะไรมาบ้าง”

Brandthink เองก็เป็นที่รู้จักจากการนำเสนอประเด็นสังคมเยอะ

“ตอนทำสารคดีเราสนใจประเด็นทางสังคม ทำจากภาพความจริงที่มีอยู่ แต่สารคดีเป็นเครื่องมือให้เราไปเจอเรื่องราวใหม่ ๆ เรามีกล้อง มีบทบาทของคนทำหนัง เราก็สามารถเข้าไปคุยไปรับรู้เรื่องใหม่ ๆ ได้

“เรามีโอกาสไปคุยกับ Sex Worker (ผู้ให้บริการทางเพศ) กับเด็กที่ปล้นแถวสถานีรถไฟ พวกค้ายาเสพติด เพราะว่าทำสารคดี แต่จริง ๆ ส่วนตัวเราก็อยากรู้ชีวิตเขาไปด้วย”

มีเรื่องสะเทือนใจอะไรบ้างไหมจากการทำสารคดีเหล่านั้น

“พี่ไม่ได้เป็นคนสะเทือนใจมากในวัยนี้ เหมือนจะค่อนข้างเข้าใจเหตุผลเวลามีอะไรเกิดขึ้นแหละ แต่ถ้าจะรู้สึกสะเทือนใจหน่อยคือเวลาเจอคนเหมือนไม่มีทางออก ไม่มีทางสู้ บางทีตอนที่ทำสารคดีก็ไปเจอคนที่เขาไม่มีทางออกเลย เช่นคนที่กลายมาเป็นตัวละครลุงกั๊ก ลุงกระเทยที่อายุประมาณ 50 กว่าแล้วในเรื่องของส้ม

“ลุงกั๊กเป็นนางโชว์เก่า แล้วก็มาเป็นคนเก็บขยะในพื้นที่แถว ๆ ที่ส้มอยู่ และใช้ชีวิตที่นี่มาเป็นสิบปีแล้ว ในห้องก็จะเต็มไปด้วยขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เอามาประดับตกแต่งสวยงาม แล้วก็มีภาพเก่า ๆ ตอนเป็นนางโชว์ เขาอยู่ที่นี่เป็นสิบปีโดยไม่ย้ายไปไหนเลยเพราะเคยมีคนรักอายุ 30 กว่า แต่ว่าขอกลับไปบ้านแล้วก็หายตัวไปเลย เราก็รอว่าคนรักจะกลับมาหา

“ตัวละครนี้สร้างมาจากเรื่องจริง มาจากคนที่เคยทำสารคดีแล้วเราจำภาพนี้ได้ เขาชวนเราเข้าไปในห้อง รก ๆ ขยะเต็มไปหมด แต่เป็นขยะที่สวย เลยมีภาพจำตรงนี้ติดมา เวลาเขาเล่าเรารู้สึกว่าชีวิตมันไม่มีทางออก เขาเป็นคนไร้บ้านมาเกือบสิบปี จนมาอยู่ในตึกที่เราไปเจอเขา เราฟังแล้วนึกว่าถ้าเป็นเขาก็ไม่มีทางออกเหมือนกัน ด้วยเงื่อนไขชีวิต”

อย่างน้อยก็เหมือนการเอาเรื่องที่คนจินตนาการไม่ออกมาให้คนเห็นว่ามีอย่างนี้อยู่ด้วย

“อันนี้สำคัญนะ อีกแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำเลยคือรู้สึกว่าชีวิตเราอยู่ในวงจรเดิม ๆ อยู่บ้าน ไปที่ทำงาน ร้านอาหาร คาเฟ่ แกลเลอรี ไปดูศิลปะ ไปฟังดนตรี เจอเพื่อนเดิม ๆ ทำงานเดิม ๆ ชีวิตเรามีอยู่แค่นี้ แต่พอเรามีโอกาสทำอาชีพนี้ ถึงรู้สึกว่ามันมีกว่าที่เราอยู่เยอะมากเลย และเป็นวงที่เราไม่มีโอกาสไปสัมผัสเลยถ้าไม่ได้ทำหนังทำสารคดี หรือไม่ได้เสพสิ่งเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่ไกลตัวเรามาก และด้วยความเร็วของชีวิตเราไม่มีทางออกนอกวงจรของเราได้เลย แค่ทำงานก็หมดวันไปแล้ว เลยรู้สึกว่าการออกไปทำสารคดีก็เพราะอยากเห็นความจริง แต่ที่ทำหนังเพราะอยากทำความจริงให้มันย่อยง่าย ให้สนุก โดยที่คนดูได้เห็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นไปด้วย เรารู้สึกว่าเรื่องนี้สำคัญ”

ทักษะการสัมภาษณ์จากการทำสารคดีมีส่วนช่วยในเรื่องการเขียนบทอย่างไรไหม

“พี่ชอบในพลังของคำ บางทีเราสามารถเล่าบริบทมากมายได้แค่ในประโยคเดียวหรือฉากเดียว

“สปอยล์ก่อนนิดนึง มันมีซีนที่เต๋อกับมายด์ทะเลาะกันตั้งแต่ต้นเลย แล้วมายด์ไปประกันตัวเต๋อออกมาจากคุก เพราะเต๋อปล้นเขามา แล้วคู่นี้เขาไม่มีตังค์ วิธีประกันตัวคือมายด์ก็ต้องเอาตัวไปแลกกับตำรวจ คือในซีนเดียวเราจะเล่าว่ามายด์เป็นโสเภณี เต๋อเป็นโจร มายด์เลี้ยงดูเต๋อที่ไม่มีตังค์ คือเรื่องนี้มันจะมีคำถามเหมือนกันว่าคนเราจะเป็นแฟนกับ Sex Worker ได้จริงหรอ คนทั่วไปก็จะคิดว่าไม่ได้หรอก แต่เราไปสัมภาษณ์ [แฟน Sex Worker] มา ก็พบว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก เขาไม่ได้คิดว่า Sex Worker เป็นอาชีพที่แตกต่าง ไม่ได้มีความรู้สึกรังเกียจแฟน แต่อาจจะมีความกังวลว่าจะกระจอก คือจะเป็น Sex Worker ก็ไม่ว่านะ แต่จะมีปัญหาถ้าไปเจอคนรวย ๆ หล่อ ๆ แล้วดูมีโอกาสจะทิ้งไป”

จะทำอย่างไรให้สังคมสนใจประเด็นเกี่ยวกับคนชายขอบบ้าง

“พี่มองว่าประเด็นจะยากหรือง่ายมันทำให้คนสนใจได้ทั้งนั้น แค่ว่ามันเกี่ยวกับเขาไหม อย่างการเมืองที่คนรุ่นใหม่ดูสนใจมาก ๆ ช่วง 4-5 ปีนี้ เพราะว่าเกี่ยวกับอนาคตการเติบโตของพวกเขา

“กลับไปที่เรื่องความเหลื่อมล้ำ ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องไกลตัวก็อาจจะไม่สนใจ แต่ถ้าเราเห็นว่ามันส่งผลกระทบเกี่ยวข้องกับชีวิตฉันได้เลยนะ คนที่ถูกละเลยก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปอีกด้านหนึ่งได้ มันก็อาจเป็นสิ่งที่เขาจะให้ความสนใจ แต่ส่วนตัวที่ทำเรื่องนี้ก็เพราะสนใจมากกว่า ไม่ได้มองว่าจะให้คนอื่นสนใจ แค่รู้สึกว่าทำไมเรื่องนี้มันถูกมองข้ามไป

สิ่งหนึ่งที่พี่เห็นจากการทำสารคดีประเด็นสังคมคือปัญหาอย่างหนึ่งที่กลุ่มคนชายขอบจะเจอคล้าย ๆ กันคือเขาไม่ได้รับความรัก ไม่รู้สึกว่าถูกรัก ทั้งพ่อแม่ไม่รัก แฟนหรือสามีไม่รัก หรือว่ามีปัญหากับพี่น้องในครอบครัว แล้วการรู้สึกว่าไม่มีใครบางทีก็กลายเป็นเรื่อง Self-esteem กลายเป็นว่าเขาต้องก็ผันตัวไปทำงานเทา ๆ ซึ่งเราก็รู้สึกมีจุดร่วมตรงนี้อยู่เหมือนกัน เลยสนใจเรื่องพลังงานของคนที่ไม่ถูกรัก

มีเรื่องราวอะไรที่ทำให้พี่นึกถึงตัวเองบ้างไหม

“ตอนเด็ก ๆ พี่อยู่ในครอบครัวที่แตกแยก ที่มีย่าเป็นคนเลี้ยง แล้วบ้านอยู่ในชุมชนแถว ๆ วัดไผ่เงิน เป็นตรอกเล็ก ๆ อยู่ข้างใน เรียกว่าเป็นสลัมเล็ก ๆ ในเมือง แต่บ้านเราดีหน่อยเป็นบ้านกึ่งปูนกึ่งไม้สองชั้น แม่พี่ก็ทำธุรกิจค้าขายพยายามหาเงินก็เอาพี่ไปเรียนอัสสัมชัญบางรักซึ่งเป็นโรงเรียนคนมีเงิน เราไปอยู่ในนั้นทั้งที่จริง ๆ เราไม่มีตังค์ แต่มีฟอร์มแบบเด็กผู้ชาย เราก็ไม่อยากบอกใครว่าจน พยายามใช้ชีวิตเหมือนเป็นคนปกติ ไม่เคยพาเพื่อนไปบ้านเลยตลอด 12 ปีเพราะรู้สึกไม่แฮปปี้ ไม่อยากเปิดเผยเรื่องนี้ มันรู้สึกแปลกแยก ไม่ฟิตอิน

“ความรักมันเลยเป็นได้ทั้งพลังลบและพลังบวก ในแง่หนึ่งมันก็ผลักดันเราไปต่อสู้ให้ได้รับการยอมรับ เวลาเราทำอะไรก็เลยจริงจังตั้งใจ ทำให้เราเติบโตได้เหมือนกันสำหรับพี่

“เราไม่ได้คิดเรื่องนี้มาก่อน จนกระทั่งไปสัมภาษณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนเรานั่งคุยกันอย่างนี้ เขาก็จะเล่าปัญหา ‘มันไม่มีใคร’ ‘พ่อแม่เขาไม่ได้รักเรา’ จะมีคำพวกนี้คล้ายกันหมด เราจะเห็นพวกหนังสือชอบเขียนว่าความรักเป็นพลังชีวิตให้กับเราได้ แต่อีกมุมหนึ่งเรื่องของคนที่ไม่ได้ถูกรัก มันก็เป็นพลังงานลบได้เหมือนกัน

“มันไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนชายขอบ คนรวยหลาย ๆ คนที่พยายามซื้อของประดับร่างกายซื้อรถราคาแพงก็อาจจะต้องการให้คนมองเห็นและรักเขาเหมือนกัน มันเป็นพลังที่ตะโกนออกไปตรงกันข้ามกับพลังความรัก”

พอทำหนังเกี่ยวกับสังคมแบบนี้ คนอาจตั้งคำถามว่าทำไปทำไม ทำไมไม่โชว์ด้านดี ๆ ของสังคมมา

“พี่ว่ามันคือเรื่องมิติของความจริงที่เราอยากจะเล่า คนอื่นอาจจะสนใจในแง่การโชว์ประเทศ เหมือนถ้าผู้นำประเทศต่าง ๆ มาแล้วต้องขจัดหมาจรจัด ทาสีสลัมให้สวน เขาก็มองจากแว่นความจริงของเขาว่าจริง ๆ ประเทศไทยมีดี แต่ความจริงก็มีอีกด้าน ที่เขาพูดว่าก็คงไม่ได้โกหก แต่ที่เราบอกว่าประเทศไทยมีสลัมแนวตั้ง มีอาชีพให้บริการทางเพศ ก็เป็นความจริงที่เราอยากเล่าเหมือนกัน ที่สำคัญสุดคือเวลานำเสนอเรื่องพวกนี้จุดประสงค์คืออะไรต่างหาก”

หนังเรื่องนี้ตีความความสัมพันธ์ระหว่างความรักกับปัญหาสังคมอย่างไร

“ในหนังจะมีเรื่องของส้ม เป็นลูกของโสเภณีอายุเยอะในย่านสลัมแนวตั้งที่รู้สึกว่าชีวิตไม่แฮปปี้ แม่ก็ไม่เข้าใจ โลกที่อยู่ก็แย่จัง พอไปโรงเรียนชนชั้นกลางก็รู้สึกไม่ฟิตอินสักที่เลย แต่ที่โรงเรียนก็เจอรุ่นพี่ผู้หญิงเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ก็รู้สึกว่านี่แหละจะเป็นพาหนะพาเขาออกจากโลกนี้ได้ ซึ่งพี่คนนั้นก็เป็นคนที่ดูสวยงามในโลกโซเชียลมีเดีย และในโลกที่เขาเจอกันสั้น ๆ แค่ชั่วคราว มันก็เป็นภาพฝันของวัยรุ่นอยู่แล้ว หลังจากที่เราอายุเท่านี้ก็อาจจะมองเรื่องอื่นเป็นหลัก

“กับอีกเรื่องคือเต๋อกับมายด์ มายด์ก็เป็น Sex Worker รุ่นเด็กที่ดังมาก ป็อปปูลาร์มาก แต่เต๋อกับมายด์ก็เป็นแฟนกันจริง ๆ แต่งงานกัน แต่ก็มีเหตุผลบางอย่างทำให้เป็นรักสามเส้า คราวนี้มันก็เป็นเรื่องของคนสองคนที่พยายามจะออกจากพื้นที่ที่เขาอยู่ให้ได้ พยายามจะใช้ความรักเป็นเรือที่พาทั้งคู่ออกไป แต่สิ่งที่เขาจ่ายให้กับความพยายามตรงนี้มันไม่ใช่แค่เงินหรอก มันเป็นทั้งชีวิตเลยด้วยซ้ำ ความพยายามที่มันใช้ทั้งชีวิต ใช้ความเชื่อ ศรัทธาในตัวคนที่เราเชื่อทั้งหมด แล้วพอมาถึงขั้นนั้นจังหวะที่เราล้มมันก็เจ็บปวดเป็นพิเศษ

“คำว่ารักมันใหญ่มากแล้วก็กว้าง มีมิติให้เลือกมองได้หลายระดับมาก ๆ คนสองคนแต่งงานกันแล้วมีลูกก็เรียกว่ารัก หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรักอีกฝ่ายเพราะอีกฝ่ายรวยมากมันก็อาจจะเป็นความรักก็ได้ เพราะเงินก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการใช้ชีวิต ถ้าในความสัมพันธ์นั้นเขายินดีให้กันและกัน เลยรู้สึกว่ามันต้องนิยามเองแต่ละคนเลย ส่วนตัวพี่มีลูกก็ให้โดยไม่ได้หวังว่าจะกลับมาเลี้ยงคืนอะไร แค่เราเป็นคนที่รักกัน ยินดีที่จะให้อะไรดี ๆ ต่อกัน

“แต่ถ้าถามว่าความรักมันเป็นเครื่องมือไหม ก็คิดว่าไม่ผิดนะครับ เพราะทุกคนมีเงื่อนไขชีวิตไม่เหมือนกัน บางคนต้องดูแลพ่อแม่ ดูแลคนป่วย ดูแลลูก แล้วถ้าความรักของเขาเป็นการดิ้นรนของชีวิตไปด้วยพี่ก็ว่าไม่ผิด ที่น่ากลัวจริง ๆ คือคนที่ไม่ได้รักอะไรใครเลยมากกว่า”

มีวิธีการกำกับนักแสดงอย่างไรให้เข้าใจโลกของคนชายขอบ

“ช่วงก่อนถ่ายทำเราจะมีกระบวนการสร้างความเข้าใจ เพราะอย่างเราที่ไปทำสารคดีไปสัมภาษณ์ก็จะสัมผัสได้ แต่ถ้านักแสดงที่มาเล่นด้วยก็ต้องสร้างความเข้าใจกันก่อน เป็นการสร้าง ‘World of Red Life’ ขึ้นมา มีบทสัมภาษณ์ ไฟล์เสียง วิดีโอ พูดคุยกัน จนถึงขั้นตอนการถ่ายทำก็สร้างบรรยากาศให้มันใกล้โลกนั้นมากที่สุด ซึ่งเราเลือกถ่ายในเยาวราช

“จริง ๆ ย่านแถวนั้นไม่เหมาะกับการถ่ายภาพยนตร์ไทย ส่วนใหญ่ที่ไปถ่ายจะเป็นพวกฮอลลีวูด มาด้วยบัดเจ็ดฮอลลีวูดซึ่งแพงมาก ถนนหนึ่งปิดทุกบ้านเลย ซึ่งหนังไทยมันทำไม่ได้ แต่เราอยากสร้างบรรยากาศ ถ้าไปเซ็ตเป็นห้องในสตูดิโอมันจะไม่ได้ความจริง บรรยากาศจริง ซึ่งมันยากมาก เพราะสถานที่แคบ แล้วก็เรื่องเสียงที่ถ่าย ๆ อยู่หมาก็เห่า ใช้ไม่ได้ ทุกอย่างยากไปหมด แต่เราเลือกตรงนี้แล้ว อย่างในเรื่องห้องของเต๋อกับมายด์ขนาดห้องจะแค่ 12 ตารางเมตร มันก็คุ้มค่าที่ถ่ายตรงนั้น เพราะนักแสดงก็ได้สัมผัสทั้งกลิ่นทั้งเสียง ทำให้เขาเข้าถึงคาแรคเตอร์ได้โดยที่เราไม่ต้องไปบังคับ เหมือนใส่ปลาทองไว้ในโถแล้วเขาก็กลมกลืน สุดท้ายแล้วเลยเป็นเรื่องการกำกับความจริง ซึ่งความเป็นจริงคือสิ่งที่พี่มองหา”

“จริง ๆ หนังเรื่องนี้อาจจะถูกมองว่ามันไม่จริงหรอก คุณเป็นคนชั้นกลางไปถ่ายทอดเรื่องคนชายขอบ เราก็รู้สึกว่าเราแค่ถ่ายทอดความจริงที่เชื่อว่ามีอยู่จริง มีคนแบบนี้ พูดภาษาแบบนี้ อยู่ในพื้นที่แบบนี้ เราเห็นคน ๆ นี้แล้วเราก็ถ่ายทอดเฉพาะคนคนนี้ออกมาเป็นความจริงแบบหนังที่อยู่แค่สองชั่วโมงนั้น ซึ่งอาจจะไม่เหมือนคนอื่น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่จริง”

ภาพยนตร์ RedLife ‘เรดไลฟ์' ฉาย 2 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงภาพยนตร์