หากใครเป็นสายคาเฟ่ฮอปปิ้งเชื่อว่า คงคุ้นหน้าคุ้นตาคาเฟ่บรรยากาศร่มรื่นอย่าง Piccolo Vicolo ที่ตั้งอยู่ในเวิ้งเดียวกับ GalileOasis คอมมูนิตี้สเปซในซอยโรงเรียนกิ่งเพชรแห่งราชเทวีเป็นอย่างดี และถ้าเป็นแฟนคลับที่นี่ก็คงไม่พลาดที่จะตามไปเช็กอินสาขาน้องใหม่ล่าสุดตรงวังบูรพา ที่เปิดมาได้แค่ไม่กี่เดือนก็เล่นเอาเจ้าของคาเฟ่วุ่นจนหัวหมุน เพราะเชื่อไหมว่า ขณะที่เรากำลังนั่งพูดคุยกับครอบครัวโลจนาทร ซึ่งเป็นเจ้าของคาเฟ่แสนร่มรื่นอยู่นี้ เรายังไม่เห็นพวกเขาได้นั่งว่างเลยสักนิด
.
ตรงหน้าเราคือ แม่นุช-ลัดดา โลจนาทร ที่กำลังกดรับสายโทรศัพท์จากรถส่งของเพื่อเติมสต็อกเข้าครัว ในขณะที่ พ่อชง-นพดล โลจนาทร ที่แวะมานั่งคุยก็เตรียมจะเอาเค้กที่เพิ่งทำเสร็จจากครัวกลางไปสมทบที่สาขาแรก ไหนจะลูกสาวสองคนอย่าง ปั้น-นารา โลจนาทร และปูน-อันนา โลจนาทร ที่สลับกันไปตรวจเช็กความเรียบร้อยต่าง ๆ ภายในคาเฟ่ ภาพนี้เองที่ทำให้เราพอจะมองเห็นความใส่ใจและทุ่มเทของการเป็นเจ้าของธุรกิจที่บริหารกันเองตั้งแต่ศูนย์อย่างกระจ่าง วันนี้เราเลยชวนพวกเขาทั้งสี่มานั่งเมาท์มอยเกี่ยวกับคาเฟ่ Piccolo Vicolo และเจาะลึกไปถึงสาขาใหม่อย่างวังบูรพาที่กำลังเป็นที่ฮอตฮิตของสายคาเฟ่ฮอปปิ้งอยู่ตอนนี้
.
Piccolo Vicolo เป็นคาเฟ่ที่บริหารงานแบบธุรกิจครอบครัว ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูกสาวทั้งสองคน พ่อมีหน้าที่ในการดูเรื่องงานใหญ่ ๆ ที่เป็นโครงสร้าง แม่และปั้น (พี่สาว) ที่จบสถาปัตย์เลยรับผิดชอบดูเรื่องงานออกแบบทั้งหมด และปั้นยังรับหน้าที่ควบตำแหน่งในการดูแลเรื่องขนมและอาหาร ขณะที่ปูน (น้องสาว) ที่เรียนทางด้านแฟชั่นและเก่งในการจับคู่สีก็รับหน้าที่ดูเรื่องงานโซเชียลมีเดียและงานกราฟิก แต่นอกเหนือจากงานใหญ่ ๆ แล้ว หน้าที่ยิบย่อยในการจัดซื้อวัตถุดิบ บริหารคน หรืองานจิปาถะต่าง ๆ พวกเขาต่างรับผิดชอบหน้าที่เหล่านี้ร่วมกัน เลยทำให้เราอดสังเกตไม่ได้ว่า การทำงานแบบครอบครัวโลจนาทรให้ความรู้สึกเป็นกันเอง จนถึงขั้นส่งต่อไปถึงไวบ์ของคาเฟ่ที่เน้นขายบรรยากาศความชิลและสบายอย่างไรอย่างนั้น

“การมาอยู่แล้วสบายอันนี้เป็นหัวใจสำคัญของที่ร้าน อีกอย่างคือเราเอาตัวเองเป็นหลักว่า เราอยากจะอยู่ยังไง ที่เราเติมความเขียวเข้าไปด้วย ต้นไม้เป็นแค่เรื่องรอง แต่คอนเซปต์หลักคืออยากให้คนที่เข้ามารู้สึกสบาย ได้ใช้เวลาคุยกับเพื่อนหรือทำอะไรได้” และจากความชื่นชอบต้นไม้เป็นทุนเดิมของที่บ้าน แม่ยังเล่าเสริมว่าจริง ๆ แล้ว แรกเริ่มที่ Piccolo Vicolo สาขาแรก บริเวณรอบ GalileOasis แทบจะไม่มีต้นไม้เลย พวกเขาเลยตัดสินใจโถมต้นไม้ลงไปให้เวิ้งตรงนั้นมีชีวิตชีวามากขึ้น จากนั้นความร่มรื่นที่มาพร้อมด้วยบรรยายกาศสบาย ๆ จึงกลายเป็นภาพจำของคาเฟ่ที่ชื่อ Piccolo Vicolo
.
จนเมื่อสาขาหนึ่งดำเนินไปเรื่อย ๆ ภายในเวลาไม่ถึงห้าปี พวกเขาก็ฝุดสาขาสองมาให้พวกเราได้เข้าไปสัมผัสความอบอุ่นนี้อีกครั้ง โดยสาขานี้ห่างออกมาจากสาขาแรกประมาณสี่ถึงห้ากิโลเมตร แต่ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากเดิมสักเท่าไหร่ เพราะตัวร้านยังคงกลิ่นอายความร่มรื่น มีต้นไม้ ให้ความรู้สึกอยู่สบายเช่นเคย โดยพวกเขาได้รีโนเวตตึกเก่าสี่ชั้นที่เดิมเคยเป็นร้านเซอร์วิสของบริษัทปั๊มน้ำและเอาไว้ใช้เก็บเครื่องมือต่าง ๆ ให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับทุกคน



“คอนเซปต์แต่ละชั้นเราวางไว้ว่า ชั้นหนึ่งเป็นบาร์ เป็นที่เสิร์ฟกาแฟ ให้คนได้เห็นขบวนการของการชงกาแฟ เป็นที่ที่มานั่งดื่มกาแฟแล้วดูบรรยากาศการชง เลยกำหนดฟังก์ชันให้ชั้นหนึ่งเด่นไปที่เรื่องการดื่มกาแฟ พอชั้นสองด้วยความที่เราเป็นคนชอบทำงานคาเฟ่ รู้สึกว่าทำงานแล้วได้งาน เหมือนสมาธิมันอยู่ตรงนี้ และยิ่งถ้าบรรยากาศดีมันก็ส่งเสริมการทำงานให้ได้สิ่งที่ดี เลยกำหนดให้ชั้นสอง เป็นที่นั่งทำงาน ประชุม หรือว่ามาพูดคุยกัน พอชั้นสามเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่มีแอร์ บวกกับได้ความเป็นวิวตึกสูง มีลมโกรกสบาย” แม่เล่าขณะที่ปั้น (พี่สาว) เสริมว่า “เรามองเรื่องดีไซน์มาคู่กับธุรกิจนิดนึง คือทำยังไงให้ค่าใช้จ่ายไม่สูงเกิน อีกอย่างคือลูกค้าหลายคนบอกว่าจุดขายของคาเฟ่เรามันคือพื้นที่เปิดโล่ง (Outdoor) เราเลยเอาห้องน้ำไปไว้ชั้นสาม ลูกค้าหลายคนก็ถามว่าทำไมเอาไปไว้ชั้นสาม จริง ๆ ก็คืออยากให้ลูกค้าได้เดินไปเห็นวิวชั้นบนด้วย” แม่เล่าต่อ “ส่วนชั้นสี่เราทำเป็นห้องพักหนึ่งห้องสำหรับการเป็น Airbnb ซึ่งคอนเซปต์เราก็ยังดึงสวนเข้าไปด้วย จริง ๆ แล้วห้องพักนี้เป็นเหมือนการทดลองเหมือนกัน เพราะเราจะมีโปรเจกต์ที่จะทำอะไรบางอย่าง ก็เลยเอาตัวห้องพักนี้เป็นห้องทดลองว่าจะออกมาเป็นบรรยากาศแบบไหน”

ชั้น 1 โซนเคาน์เตอร์บาร์

ชั้น 2 พื้นที่สำหรับนั่งทำงาน

ชั้น 3 พื้นที่ Outdoor
นอกจากฟังก์ชันในแต่ละชั้นที่ผ่านการวางแผนจากทุกคนในครอบครัวแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่โดดเด่นของ Piccolo Vicolo ตั้งแต่สาขาแรกจนถึงสาขาที่สองก็คือเรื่องบรรยากาศ ทั้งการหย่อนความเขียวจากต้นไม้ที่ทั้งบ้านชื่นชอบเป็นทุนเดิม ไปจนถึงการเลือกเฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ถูกจัดวางภายในคาเฟ่ ของใช้และเฟอร์นิเจอร์หลาย ๆ ชิ้นที่ได้เห็นในคาเฟ่ตอนนี้ ถูกสะสมไว้ก่อนที่พวกเขาจะเปิดคาเฟ่ซะอีก บางชิ้นเป็นวัสดุเหลือใช้ที่ถูกนำกลับมาทำให้มีคุณค่า บางชิ้นได้มาจากการพบเจอจากการไปเที่ยว ส่วนบางชิ้นก็เกิดจากการที่จำเป็นต้องไปหาซื้อเพื่อมาเติมเต็มให้เข้ากับของที่มีอยู่ “พ่อกับแม่ก็จะไปตระเวนตามหาของ อย่างโคมไฟก็ต้องไปตะเวนหาตามร้าน วิ่งไปชลบุรีไปเอามา ขอนไม้ที่เป็นตัวเก้าอี้ให้ลูกค้านั่งในชั้นสองไปได้มาที่อยุธยา คือเราอยากได้ฟีลลิ่งคราฟต์ ๆ หน่อย”




และอีกหนึ่งสิ่งที่ชวนสังเกตก็คือโลโก้ของคาเฟ่ทั้งสองสาขาที่ได้ปูนมารับหน้าที่เป็นคนออกแบบ “ตัวโลโก้ของสาขานี้ (สาขาสอง) ได้มาจากจำนวนช่องที่เราเจาะจากโครงสร้างตึก ชั้นหนึ่งถึงสามจะเป็นแปดช่อง ส่วนชั้นสี่เป็นสองช่อง ส่วนสาขาแรกเรายึดมาจากเฟอร์นิเจอร์แต่งร้านที่อยู่เหนือเคาน์เตอร์บาร์ลักษณะเป็นกระจกแก้วสีเขียว” ปูนเล่า “เรามองว่า โลโก้ที่เป็นสัญลักษณ์จะยึดมาจากสถานที่ของแต่ละสาขา แต่โลโก้ที่เป็นตัวหนังสือก็ยังยึดเหมือนเดิม” ปั้นเสริม
.
ในส่วนของเครื่องดื่มและอาหารที่เสิร์ฟพวกเขาก็ลงมือทำกันเอง คิดเมนูกันเองว่าอยากให้มีอะไรลงไปอยู่ในเมนูร้านบ้าง “เท้าความไปก่อนจะเข้ามหาลัย มีเวลาเหลืออยู่แปดเดือน ปั้นก็ไปเรียนทำขนมที่เลอ กอร์ดอง เบลอ ก็เลยได้พื้นฐานมาบ้างทำให้เราเข้าใจขนมมากขึ้น ปั้นก็เลยรับผิดชอบเรื่องขนมและเครื่องดื่มเป็นหลัก” แม่เล่า “พอหลัง ๆ ที่ทำสองสาขา เราก็จะเริ่มทำครัวกลางซึ่งเป็นครัวกลางที่ติดกับบ้านตัวเอง ปั้นก็จะเป็นคนเทรนนิ่งทีมงานที่บ้าน” ปั้นเสริมขณะที่แม่ก็ไม่ลืมที่จะให้เครดิตบุคคลเบื้องหลังที่เป็นพลังซัปพอร์ต “เราค่อย ๆ เริ่มทำห้องที่เป็นครัวกลางจริงจัง แล้วก็ยกระดับให้แม่บ้านเป็นเชฟ (หัวเราะ) จริง ๆ ก็คือเราโชคดีค่ะที่มีคนซัปพอร์ต แม่บ้านที่บ้านเราชอบทำขนม บางทีทำได้ดีกว่าเราอีก บีบครีมสวยมาก เราถือว่ามีบริวารที่ดี”






นอกจากครอบครัวโลจนาทรที่ทำให้ Piccolo Vicolo กลายเป็นคาเฟ่โปรดของหลาย ๆ คนแล้ว สิ่งที่เราได้ยินอยู่เสมอ ๆ ในการพูดคุยครั้งนี้ คือพวกเขาไม่ลืมที่จะเอ่ยถึงบุคคลต่าง ๆ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ตั้งแต่ช่างรับเหมาก่อสร้างที่คลุกคลีกันมากหลายสิบปี แม่บ้านที่ยกตำแหน่งให้เป็นเชฟ รวมไปถึงพนักงานทุกคน ๆ ในร้าน ทำให้คนนั่งฟังอย่างเราเข้าใจคำว่าธุรกิจครอบครัวของบ้านนี้มากขึ้น ธุรกิจครอบครัวอาจหมายรวมถึงทุกคนที่มีส่วนร่วมในคาเฟ่ มีกองหน้าและกองหลังที่คอยซัปพอร์ตกันและกัน โดยที่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้ลูกค้าที่เปิดประตูเข้าร้านมาได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไป






