นิทรรศการกลุ่มหนึ่งที่เราไปดูอยู่บ่อย ๆ ช่วงนี้คือเหล่า “นิทรรศการฮีลใจ” ที่ตั้งใจจะมอบความอบอุ่นอ่อนโยน เติมพลังบวก สำรวจโลกของจิตใจภายใน และโอบกอดเราไว้ ในวันที่โลกเคร่งเครียดเต็มไปด้วยการแข่งขันวุ่นวายและภาระแห่งความเป็นผู้ใหญ่หนักอึ้งอยู่บนหลัง ซึ่งในแง่หนึ่ง นิทรรศการเหล่านี้ก็ได้รับความนิยมมากระดับที่ต้องต่อคิวรอเข้า แต่อีกแง่หนึ่งก็นำมาสู่คำถามถึงพลังของศิลปะในการเยียวยา และสถานะของศิลปิน เมื่อต้องมอบหน้าอกให้รองรับน้ำตาของผู้ที่มาชมผลงาน…
“มันแค่เป็นความหลากหลายของงานศิลปะหรือของรสนิยม คนเราน่าจะมีโอกาสได้ดูแลสุขภาวะของตัวเองได้ดีขึ้นในแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งหมายถึงบางครั้งเราอาจจะไม่ชอบงานบางสไตล์ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันมีบทบาทต่อสุขภาวะของคนอยู่” ความเห็นของ วริศ ลิขิตอนุสรณ์ ต่อประเด็นดังกล่าว
เขานิยามตนเองเป็น ‘Alternative Music Therapist’ หรือนักบำบัด/เยียวยาด้านดนตรีแบบทางเลือก ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นกับภาพที่เขาดีดเครื่องสาย ‘เซทาร์’ จากเปอร์เซีย หรือตีขันระฆังหิมาลัยที่มักจะใช้ในการบำบัด รวมไปถึงการบรรยายในคอร์สเพื่อสุขภาวะทางจิตต่าง ๆ และยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง PLACEBo CLUB คลับแห่งการเยียวยาทางเลือก แต่สำหรับเรา ภาพจำอีกอย่างของเขาคือความเห็นแหลมคมเข้าประเด็นชวนคิดต่อปรากฏการณ์ร่วมสมัยต่าง ๆ ที่กำลังถกเถียงกันในหมู่นักกิจกรรมผู้เคลื่อนไหวทางสังคม จึงไม่น่าจะมีใครเหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้ว ที่จะมานั่งคุยกันในเรื่องศิลปะ-ศิลปิน กับสุขภาพจิต และการเมืองของมัน
“คำวิจารณ์ที่ให้มองปัญหาการเยียวยาเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างมันก็ควรมีอยู่เพื่อประกอบกับสิ่งอื่น ๆ เหมือนที่คำคมไร้สาระก็ควรมี เพราะงานเหล่านี้มันก็ทำงานกับใครสักคน”
“เราว่าภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งที่มันยั่งยืนที่สุดคือการรู้จักตัวเอง รู้ว่าป่วยอยู่ไหม อยากรักษามันไหม รู้ว่าตัวเองเหมาะหรือไม่เหมาะกับการเยียวยาแบบไหน มันคือความตระหนักรู้เท่าทันทางสุขภาวะทั้งกายและใจ แบบเดียวกันกับความเท่าทันสื่อ ซึ่งมาจากการศึกษาอย่างต่อเนื่อง”
“เราสูญเสียเสน่ห์ของสิ่งเหล่านั้นไปทั้งหมดให้กับการทำตามสูตรสำเร็จอะไรสักอย่าง สูตรสำเร็จทำให้คนไม่รู้จักตัวเอง เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่าเราไม่เห็นด้วยกับวิธีการเยียวยาแบบแมส (สำหรับคนหมู่มาก) เพราะว่าในระยะยาว มันทำให้คนไม่รู้จักตัวเอง มันทำให้คนไม่รู้ว่าแล้ววิธีการของฉันคืออะไร ฉันขาดอะไรอยู่ ฉันต้องหาอะไร อะไรจะเติมเต็มฉันได้”
ในบทสัมภาษณ์นี้ วริศคุยกับเราตั้งแต่เรื่องพื้นฐานอย่างนิยามของ “ความป่วยไข้” เพื่อค้นหาความหมายของ “การเยียวยา”, เรื่องบทบาทที่สำคัญของนิทรรศการศิลปะฮีลใจในพื้นที่นอกเมืองหลวง, เรื่อง ‘health literacy’ หรือความตระหนักรู้เท่าทันทางสุขภาวะทั้งกายและใจ ที่เป็นคำตอบของเขาสำหรับสุขภาวะที่ดีในสังคม และเรื่อง “คุรุ” สมัยใหม่กับความศักดิ์สิทธิ์ที่ยังไม่หายไปจากยุคก่อน(?)
เท่าที่ติดตามวงการศิลปะตอนนี้จะเห็นว่ามีงานเกี่ยวกับการเยียวยา ฮีลใจ มากมายเลย แล้วเนื้อหาก็แตกต่างหลากหลายอยู่เหมือนกัน พอจะลองนิยามคร่าว ๆ ให้หน่อยได้ไหมครับว่าการ “เยียวยา” นี่มันมีความหมายว่าอย่างไรได้บ้าง แล้วมันมาเกี่ยวกับศิลปะได้อย่างไร
ก่อนจะพูดถึงการเยียวยา คิดว่าต้องพูดก่อนว่าอะไรคือความเจ็บป่วย (sickness)
แต่ละสังคมจะมองสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน ตัวเราเอง คนรอบตัว หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ด้วยกันทุกวัน หรือคนที่ทำอาชีพคล้าย ๆ กัน ก็อาจจะมองความเจ็บป่วยไม่เหมือนกันก็ได้ การที่แต่ละคนมีนิยามการเยียวยาต่างกัน มันก็เกี่ยวกับนิยามความเจ็บป่วยที่แตกต่างกันออกไปด้วย
การตอบคำถามนี้มันเลยไม่ได้เกี่ยวกับว่าอยากให้อะไรเป็นการเยียวยา แต่มันคือการมองว่าอะไรเป็นโรค เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดไป ต้องหายไป
การแพทย์กับศาสนาจริง ๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กัน คือมันมีความทุกข์ มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น แล้วคนก็หาวิธีรักษากันไปต่าง ๆ นานา คนหนึ่งอาจจะสวดมนต์แล้วหายปวดขึ้นมา อีกคนหนึ่งอาจจะเริ่มผ่ากล้ามเนื้อเข้าไปดูแล้วมันหาย ทั้งสองคนนั้นเขาก็โกหกตัวเองไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ที่เขาเจอมันทำงานในโลกของเขา แล้วก็นิยามมันว่าเป็นการเยียวยาหรือ Healing แล้วพอเวลาผ่านไป มันถึงเกิดเป็นแบบแผนประเพณี มีลูกศิษย์มีอาจารย์ แล้วถึงได้เป็นการสถาปนาว่าอะไรคือศาสตร์การเยียวยาของแท้ มีนิยามศาสนาจริงศาสนาปลอม แต่ทั้งหมดมันคือการพยายามจะพ้นทุกข์
แต่มันก็จะมีสิ่งที่สังคมมองเห็นร่วมกันว่าเป็นความเจ็บป่วยอยู่ใช่ไหม
ใช่ แต่เราไม่สามารถทำหน้าที่ยกตัวอย่างหรือนิยามตรงนั้นได้ แล้วก็ไม่ได้อยากจะทำ เราไม่ได้เป็นรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจที่อยากจะเข้าไปร่วมนิยามว่าอะไรเรียกว่าป่วย เราคิดว่าความเจ็บป่วย สำคัญที่ผู้ป่วยหรือคนรอบตัวเขาเริ่มตระหนักถึงปัญหาด้วยตัวเอง แล้วก็ต้องตั้งคำถามกันไปมาไม่รู้จบว่ามันคืออะไรกันแน่ ครั้งหนึ่ง LGBTQ+ หรือการตั้งคำถามต่อสังคม ก็เป็นความเจ็บป่วย การปักใจนิยามว่าอะไรคือความเจ็บป่วย เป็นเรื่องใหญ่ และส่งผลระยะยาว เราอยากโฟกัสไปที่ว่า แล้วทำยังไงให้ disharmony หรือความทุกข์ ความไม่สอดคล้องที่เราเรียกมันเป็นความเจ็บป่วย เย็นลง เปลี่ยนแปลง หรือ หายไป
ถ้าเราทำให้ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องของบุคคล เราจะไม่สามารถไปยุ่งกับความเจ็บป่วยของคนที่เราแคร์ได้เลยหรอ สมมติว่าเรามองว่าเขาป่วยแต่เขาไม่ได้มองตัวเองป่วยอย่างนี้?
เราว่าถ้าเกิดมันฟันธงไปได้เลยว่าอะไรคือความเจ็บป่วย เราก็คงอยู่ในสังคมยูโทเปียเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็แปลว่ามันเป็นดิสโทเปียด้วย ความที่มันนิยามลงไปเลยไม่ได้ก็ทำให้เกิดความหมายของชีวิตที่จะอยู่ต่อไป แต่ความยากของมันคือการประเมินว่าอะไรเข้ามาในปริมาณเท่าไร ในจังหวะไหน ถึงจะเป็นความป่วยไข้มากกว่า
เพราะถ้าพูดถึงยาหลายอย่าง ถ้าใช้มากไปมันก็เป็นพิษ สร้างความป่วยไข้ได้เหมือนกัน เรารู้จักเคสหนึ่งที่เขาเป็นทหาร บอกว่าเคยมีเพื่อนตาย เพราะถูกบังคับให้ดื่มน้ำเยอะเกินไปในการฝึก น้ำที่ทุกคนคิดว่ามันไม่สามารถทำร้ายได้ ในปริมาณที่ใช่ ในจังหวะที่ใช่ มันก็เป็นพิษได้ มันจึงยากที่จะระบุไปตรง ๆ ว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้เจ็บป่วย อะไรกันแน่คือการรักษา แต่สิ่งที่พอจะพูดได้คือสำหรับใคร ในปริมาณเท่าไร ในโลกแบบไหน ที่จะทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิษ กระบวนการในการนิยามว่าอะไรต้องถูกเยียวยา มันซับซ้อนมาก
เราคิดว่าถ้าเจ้าตัวเขาไม่เดือนร้อนกับความเจ็บป่วยเลยทั้งชีวิต มันก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาอยากจะทนทุกข์แล้วสำรวจความทุกข์ของตัวเอง สมมุติเราชอบกินทุเรียน เรากินอยู่ในห้องของเราทั้งชีวิต กลิ่นติดทุกอย่างหึ่งเลยแต่เราชอบ มันก็เป็นเรื่องของเรา แล้วร่างกายเราร้อนจากการกินทุเรียน แต่เรายอมเจ็บปวดเพราะมันอร่อย ก็เรื่องของเรา ถ้าเรารู้สึกโอเคกับร่างกายที่มันร้อนและกลิ่นทุเรียนที่ติดทุกอย่างจริง ๆ พร้อมจะป่วยไข้ไปกับความร้อนจากทุเรียนจริง ๆ
แต่ทีนี้ โดยเฉพาะฝ่ายซ้าย ฝ่ายประชาธิปไตย สังคมนิยม จะต้องคิดกันมาก ๆ เลย คือชีวิตของคนคนหนึ่งมันเป็นของเขาเองขนาดไหน ถ้านั่งกินทุเรียนคนเดียวอยู่ในห้อง กลิ่นมันไม่ออกไปหาใครก็จริง ร่างกายเราพังคยเดียวก็จริง แต่บทบาทของเราที่หายไปจากสังคมมันคืออะไร สังคมขาดอะไรไปบ้างถ้าเราทำเพียงตามใจตัวเอง การป่วย ตาย ของเราส่งผลต่อใครหรือไม่ คนที่รักเรา คอยเป็นห่วงเราอยู่ตรงนั้น คนเหล่านี้ นับว่าเดือดร้อนกับการกระทำของเราที่โฟกัสอยู่เพียงความอยากของตัวเองหรือไม่
แล้วถ้าเราเปลี่ยนจากคนกินทุเรียนเป็นคนที่ชอบความเศร้า สมมติเราเป็นคนเศร้า แล้วเราพูดกับทุกคนว่าอย่ามายุ่งกับกู กูจะตัดทุกคนออกไปจากชีวิต แล้วเขียนงานเศร้า ๆ ให้เสร็จ ปล่อยให้กูเป็นอะไรของกูไป แต่เรามีหน้าที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบจากคำพูดของเราไหมว่ามันไปอยู่ในใจของคนอื่นแบบไหน? ความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ที่เราเคยสร้างไว้ก่อนจะเศร้า เราต้องรับผิดชอบมันแค่ไหน? แต่แล้วเราควรจะตามใจคนอื่นเหล่านั้นโดยไม่ตามใจตัวเองเลยหรือ? เราต้องฝืนอยู่ในสังคมต่อไปทั้งที่ไม่ต้องการหรือ? มันยิ่งยากที่จะคิด เราว่าการเผชิญความยากเหล่านี้คือสาระของการมีชีวิต คนอื่นตอบแทนเจ้าตัวไม่ได้
ประเด็นหนึ่งที่อยากชวนคุยคือเรื่องข้อวิจารณ์ของฝ่ายซ้ายกับการฮีลใจด้วยงานศิลปะ ว่าระบอบมันเน่าเฟะขนาดนี้แล้วจะมาฮีลใจแก้ปัญหาด้วยตัวเองอะไรกันอีก เห็นด้วยกับแนวคิดแบบนี้ไหม
คำวิจารณ์ที่บอกว่าให้มองปัญหาการเยียวยาเป็นเรื่องเชิงโครงสร้า งมันควรมีอยู่เพื่อประกอบกับสิ่งอื่น ๆ เหมือนที่คำคมไร้สาระก็ควรจะมี เพราะงานเหล่านี้มันก็ทำงานกับใครสักคนเหมือนกัน
เราพูดอย่างไม่อายเลยนะว่าถ้าเราเจอนิทรรศการคำคมเมื่อประมาณสักสิบปีก่อน เราอาจจะด่าหนักกว่าที่เห็นกันอีก
คือชีวิตเรามันเริ่มมาจากการมีครูในทางจิตวิญญาณคนแรกๆ เป็นพระภิกษุณี เป็นครูที่ตัวเองเลือก ซึ่งเขาก็เป็นนักกิจกรรมในทางจิตวิญญาณด้วย ด้วยความที่ภิกษุณีในไทยนี่บวชไม่ได้ ดังนั้นโลกของการเคลื่อนไหวสำหรับเรา มันเริ่มจากโลกทางจิตวิญญาณ อยู่ในบรรยากาศของการต่อสู้นอกกระแสหลักมาตลอด ทุกอย่างคือการต่อสู้ แต่พอเราอกหักจากเรื่องทางจิตวิญญาณเพราะมันทำมาหากินไม่ได้ ก็ต้องกลับเข้ามาทำงานในระบบปกติ ตอนนั้นก็เข้ามาทำงานเขียนก่อน แล้วเราก็ได้พบว่าความคิดเห็นในทางจิตวิญญาณของเราต้องนำไปตกแต่งใหม่เพื่อให้เข้าสังคมได้ เราจะไม่พูดคำว่าเวรกรรม สังคมเขาไม่ยอมรับ ฝ่ายซ้ายไม่ยอมรับ เราอาจจะใช้คำอื่น เช่น metaphysics, ontology หรือ consequences หรืออะไรก็ตาม เพื่อที่จะสื่อเนื้อหาที่เราศึกษามาไปสู่คนให้ได้ และให้มันถูกต้องตามหลักการในวงการต่างๆ การสื่อสารตลอดชีวิตเราเต็มไปด้วยการแปลงสารสารพัดในใจ ให้คนในโลกใบต่างๆ เข้าใจ แล้วมันเหนื่อยมากกว่าจะได้รับความเข้าใจ ความยอมรับ
แล้วพอเห็นคนที่พูดอะไรออกมาเป็นคำคมง่าย ๆ แล้วดันประสบความสำเร็จเลย เราก็จะรู้สึกว่าสิ่งนี้มันไม่แฟร์กับความพยายามของเราเลย แต่อันนี้คือในอดีต และเรื่องส่วนตัวล้วนๆ เราเลยรู้สึกว่าความเห็นในเชิงไม่พอใจต่อนิทรรศการที่เป็นถ้อยคำฮีลใจมันเข้าใจได้ เราแค่เทียบว่าถ้าเป็นเราเมื่อก่อนก็คงรู้สึกว่าทำไมสิ่งเหล่านี้มันมีพื้นที่ ทำไมสิ่งที่ฉันตั้งใจทำมันไม่มี ซึ่งปัจจุบันมันก็ยังรู้สึกว่ามันน่าโมโหอยู่ เพียงแต่ว่าเราคงจะไม่ได้ด่าอะไรขนาดนั้น แต่ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่อยากด่า แต่เพราะว่าเราตระหนักว่าคนทุกข์บางคนเขาอาจจะได้ประโยชน์จากสิ่งนี้อยู่จริงๆ และไม่มีเหตุผลที่จะไปทำลายสิ่งยึดเหนี่ยวชั่วคราวของเขา ถ้ายังหาอะไรไปเสนอแทนที่ไม่ได้
ทุกวันนี้เรามีนักเรียนหรือมีเคส แล้วเรารู้ว่ามีบางคนชอบนิทรรศการข้อความฮีลใจอะไรแบบนั้น คือเขาป่วยจริง ๆ นะ หมายถึงว่าเศร้าจนทำอะไรเหมือนคนทั่วไปไม่ไหว ไม่สามารถใช้ชีวิตได้แบบคนทั่วไป ไม่สามารถคิดวิเคราะห์วิพากษ์ได้ โลกของเขามันหดเล็ดลงเรื่อย ๆ ตัวตนของเขามันเล็กลงเรื่อย ๆ สิ่งที่มันเคยจับต้องได้มันจับต้องไม่ได้อีกต่อไปแล้วสำหรับเขา เขารู้สึกต่อไม่ติดกับสังคม ลืมไปว่าตัวเองมีพันธะความสัมพันธ์อะไรกับใครบ้าง ไม่ได้รู้สึกว่ามีประโยชน์ที่จะอยู่ต่อ ในสภาวะแบบนี้ อะไรก็ตามที่ช่วยเขาได้ มันก็มีประโยชน์ทั้งนั้น และบางทีมันเป็นคำคมโง่ๆ จริงๆ
เราไม่ได้จะบอกว่าทำอะไรแย่ ๆ ส่ง ๆ ไปก็ช่วยเขาได้แล้วนะ แต่มันแค่เป็นความหลากหลายของงานศิลปะหรือรสนิยม คนเราน่าจะมีโอกาสได้ดูแลสุขภาวะของตัวเองให้ดีขึ้นได้ในแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งหมายถึงบางครั้ง เราอาจจะไม่ชอบงานบางสไตล์ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันมีบทบาทต่อสุขภาวะของคนอื่นๆ อยู่
แต่แน่นอนว่าการถกเถียงกัน วิจารณ์กันมันก็จำเป็นต่อความหลากหลายทางชีวิตภาพ มันทำให้ศิลปินสาย good vibe ได้เห็นว่าสูตรสำเร็จ เจตนาดี ความฉาบฉวย ไม่สามารถทำงานได้กับทุกคน คุณเดินไปยิ้มใส่ทุกคน ไม่ใช่ทุกคนที่จะยิ้มตอบ คำถามคือแล้วคุณจะทำอย่างไรต่อใจของคนที่ตอบรับยิ้มของคุณอย่างแตกต่าง ตรงนี้ก็ต้องเรียนรู้จากการถูกวิจารณ์
คนวิจารณ์ ความแค้นต่อตัวงานที่เกิดขึ้น จะว่าเป็นที่ผู้ชมร้อยก็ไม่ใช่ เป็นที่ศิลปินแย่มากๆ ก็ไม่ใช่ มันเป็นปรากฏการณ์ที่ทุกฝ่ายมีส่วนเท่าๆ กัน
แล้วคุณคิดยังไงกับการที่นิทรรศการแนวนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
เราเขียนเรื่องนี้เมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ก็เป็นเรื่องส่วนตัวเหมือนกันนะ เรารู้สึกว่าคนไทยชอบโดนภาพลักษณ์หลอกตา คือหมายถึงว่าบางอย่างมันไม่มีอะไรเลย แล้วคำต่าง ๆ นานามันทำให้ดูเหมือนมีขึ้นมา
ตอนนั้นเราคิดแบบนี้เพราะว่าเราก็เป็นคนที่คิดเป็นเหตุเป็นผลเท่านั้น แต่มาถึงตอนนี้เรารู้สึกว่ามันไม่เชิงว่าจะไม่มีอะไรเลยนะ ทุกอย่างมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาข้างในอย่างเดียว แต่ว่าภาษาที่ใช้สื่อสารหรือบริบทรอบข้างมันก็ทำงานด้วยทั้งหมด ว่าเนื้่อหานั้นไปอย่างไร และไปกระทบใจใครได้ไหม
แต่ทีนี้มันควรจะเป็นสูตรสำเร็จขนาดนั้นไหม? ให้ดารามาผลิตซ้ำคำคมไปเรื่อย ๆ แล้วประสบความสำเร็จทางการตลาด เพราะถ้าตลาดมันเรียบง่ายขนาดนั้น มันมีสูตรสำเร็จได้ขนาดนั้น แปลว่าเรากำลังสูญเสียความหลากหลายทางรสนิยมไป ซึ่งก็แปลว่าเราสูญเสียความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ไปด้วย แล้วทำให้เราเป็นสัตว์ในฟาร์ม มีหน้าที่ไปทำงานในระบบอุตสาหกรรม แล้วอุตสาหกรรมก็มากำหนดให้เราชอบหรือไม่ชอบอะไร
ถ้างั้นระบบนิเวศที่จะสร้างสุขภาวะที่ดีนี้มันควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร
สิ่งที่เราจะพูดมันคงเป็นไปไม่ได้เลยในเร็ว ๆ นี้หรอก แต่ถ้าถามว่ามันควรจะเป็นยังไง เราว่าทุกคนควรจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากพอที่จะเลือกวิธีการเพื่อใช้ในการนิยามความเจ็บป่วยของตัวเองได้ เลือกได้ว่าจะทำงานกับมันอย่างไร มากกว่าทำตามโฆษณาสินค้าหรือคำแนะนำที่กลวงเปล่า
เราว่าภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งที่มันยั่งยืนที่สุดคือการรู้จักตัวเอง รู้ว่าป่วยอยู่ไหม อยากรักษามันไหม รู้ว่าตัวเองเหมาะหรือไม่เหมาะกับการเยียวยาแบบไหน มันคือความตระหนักรู้เท่าทันทางสุขภาวะทั้งกายและใจ แบบเดียวกันกับความเท่าทันสื่อ ซึ่งมาจากการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
เราสูญเสียเสน่ห์ของสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดไปกับการทำตามสูตรสำเร็จอะไรสักอย่าง สูตรสำเร็จทำให้คนไม่รู้จักตัวเอง เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่าเราไม่เห็นด้วยกับวิธีการเยียวยาแบบแมส เพราะว่าในระยะยาวมันทำให้คนไม่รู้จักตัวเอง มันทำให้คนไม่รู้ว่าแล้ววิธีการของฉันคืออะไร ฉันขาดอะไรอยู่ ฉันต้องหาอะไร อะไรจะเติมเต็มฉันได้
ไม่ได้รู้สึกว่าเหล่าศิลปินดังสายฮีลใจที่ได้ร่วมงานกับแบรนด์นั้นแบรนด์นี้ สร้างงานที่ทำให้คนจำนวนมากอยากมาดู จะทำให้ความตระหนักรู้เรื่องสุขภาวะในสังคมมันลดลง?
เราว่ามันยังพูดอย่างนั้นไม่ได้ เอาจริง ๆ เราไม่รู้ว่ามันจำเป็นหรือเปล่าที่จะต้องพูด มันเหมือนน้ำที่เราบอกว่าจำนวนที่พอดีมันฆ่าคนได้ใช่ไหม อันนี้มันเป็นงานศิลปะ มันซับซ้อนกว่าน้ำ แล้วสังคมมันซับซ้อนกว่ากันอีกมาก เพราะฉะนั้นเราทำได้แค่กะประมาณ เราไม่สามารถสรุปได้ว่างานนี้ส่งผลต่อสังคมในทางที่แย่แน่นอน
แต่ที่สำคัญคือเขาพูดเยอะมากเลย เหมือนกับนักปรัชญาในอดีต พวกเพลโต โสกราตีส พูดทุกเรื่อง แล้วมันต้องมีเรื่องที่มันไม่ดีบ้าง แต่ก็ต้องมีเรื่องที่มันดีบ้าง เหมือนศาสนาทุกศาสนาเลยมันต้องมีอะไรสักอย่างที่มันไม่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้เครดิตเขาจริง ๆ ว่าคนบางคนก็ไม่ไปฆ่าคนเพราะกลัวบาปกลัวพระเจ้าจริง ๆ
เป็นการรู้เท่าทันศาสนาเหมือนกัน
เราต้องมองศาสนาเหมือนเป็นห้องสมุด คือเดินเข้าไปหาสิ่งที่ต้องการแล้วก็เดินออกมาพร้อมเล่มนั้น อ่านเสร็จ ได้ความรู้แล้วก็รับไป เราว่าบทบาทของศาสนามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะพยายามทำตามหนังสือทุกเล่มในห้องสมุด เหมือนกับงานศิลปะที่เราว่าสุดท้ายมันพูดไม่ได้จริง ๆ ว่ามันจะส่งผลต่อสังคมในทางที่ดีหรือไม่ดี คือถ้าเป็นเราเมื่อก่อนเราจะพูดเลยว่าไม่ดีแน่นอน เพราะมันไม่ดีกับเรา แค่เห็นก็รู้สึกแย่แล้ว เราก็จะตัดสินไปเองว่ามันต้องไม่ดีกับคนส่วนใหญ่แน่นอนเลย แต่เวลาผ่านไปกลายเป็นว่ากูไม่ใช่คนส่วนใหญ่นี่แหละ (หัวเราะ) แล้วไม่มีทางรู้เลยว่าคนส่วนใหญ่มันเป็นยังไง
คนที่เป็นฝ่ายซ้าย เป็นนักเขียน หรือเป็นศิลปิน ก็อาจจะมีความคิดว่าตัวเองไม่เหมือนกับคนอื่น ไม่เหมือนคนทั่ว ๆ ไป อันนี้ไม่เป็นไร แต่ “คนทั่วไป” เขาก็ไม่ได้เป็นเหมือน ๆ กันอย่างกับฝูงแกะเหมือนกัน แล้วพอเราพูดถึงเรื่องสุขภาพจิต จะคุยเรื่องของคนคนเดียวมันยังไม่จบเลยทั้งชีวิต อันนี้มาพูดถึงทางสังคมเราว่ายากมากที่จะตัดสินโดยทันทีว่ามันจะส่งผลต่อสังคมในทางที่ดีหรือไม่ดี แต่มันพูดได้เลยว่ามันส่งผลต่อฉันเองในทางที่ดีหรือไม่ดี
เราว่าจริง ๆ ทุกสังคมมันก็มีวิวัฒนาการของมัน แล้วสังคมไทยก็มีนิสัยที่ไม่ได้ดีต่อสุขภาพจิตเหล่านี้มานาน คือยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องสุขภาวะทางอารมณ์เลย อะไรข้างในที่มันลึก ๆ หน่อย บ้านเราก็ไม่ค่อยพูดคุยกันแล้ว สำหรับเรา ด้วยประสบการณ์หน้างาน นิทรรศการ [ด้านการเยียวยา] เหล่านี้มันโคตรมีประโยชน์และมันโคตรดีมากเลยนอกเมืองใหญ่ๆ เพราะว่ามันเข้าไปอยู่ในที่ที่คนไม่เคยคุยกันมาก่อนเลยว่ารู้สึกอย่างไร ไม่เคยทำความเข้าใจกันเลย ไม่เคยมีการรณรงค์หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นที่บอกว่าความรู้สึกมันแชร์ได้ เราควรดูแลใจกัน
สมัยก่อนที่เราไปทำงานเรื่องเด็กกับยาเสพติดที่หลายจังหวัด ท้องถิ่นเขาจะพบว่าเด็ก ๆ วัยรุ่นที่ไม่ได้มีทรัพยากรเข้าถึงอย่างหลากหลาย เวลาว่างจะทำอะไรกันอยู่อย่างสองอย่าง อย่างแรก ไปเล่นกัน ซึ่งแปลว่าไปมีเพศสัมพันธ์กัน กับอีกอย่างหนึ่งคือเข้าสู่โลกของยาเสพติด ซึ่งมันไม่ได้สวยงามเหมือนคำว่า “ไซคีเดลิก” ที่คนเมืองใหญ่เข้าใจ
ในพื้นที่ที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไร พอมีนิทรรศการแบบนี้เข้าไป เราก็ได้เห็นหลาย ๆ ที่ตอบรับกับมันอย่างดีมาก คือคนที่มาดูมามีส่วนร่วมเขาไม่ได้แต่งตัวดี ๆ สะพายกล้องมาดูหรืออะไร พฤติกรรมการดูของเขาไม่เหมือนกับคนเมืองเลย มีป้าจูงหลาน หลานจูงป้ามา มาดูว่าวันนี้มีอะไรสักอย่างน่าสนใจ ที่ไม่ใช่งานวัดขายลูกชิ้น อย่าว่าแต่นิทรรศการเลย ทรัพยากรอะไรก็ตาม เอาไปลงนอกเมืองใหญ่ ชีวิตคนก็ดีขึ้นทั้งนั้น
ได้ไปที่ไหนมาบ้างครับ
หลายที่เลย เร็วๆ นี้มีไปที่เลย สงขลา ชัยภูมิ
มันก็มีงานที่จัดโดย สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) หรืองานที่จัดโดยกลุ่มศิลปินกันเอง เหมือนที่พี่เวลา (เวลา อมตธรรมชาติ) เขาจัดที่มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ หรือจริง ๆ ก่อนที่เราจะทำงานนี้ เราเคยทำงานสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน เป็นงานแรกของเราที่ต้องเดินทางไปช่วยนิทรรศการพวกนี้เยอะมาก เพราะฉะนั้นเราจำไม่ได้หรอกว่าไปนิทรรศการไหนมาบ้าง มันคืองานที่จะต้องไปอยู่แล้ว
แต่ว่าในสังคมเรา ตัวเลือกที่มีให้เลือกจะไปได้ก็คืองานวัดและงานก็แบบนี้ ซึ่งงานวัดก็จะมีเล่นดนตรี มีอาหารแบบเดิม ๆ มาขาย เราว่าพอมีมหกรรมสุขภาพจิต มันก็เป็นสิ่งที่ดี ไปเป็นตัวเลือกให้เขาได้ใช้เวลา แล้วก็ทำให้เกิดความตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตมากขึ้น อยู่ ๆ สิ่งที่เคยพูดถึงไม่ได้ ก็นำมาพูดได้ อยู่ ๆ พ่อแม่ปู่ย่าตายายจำนวนมากก็รู้ว่าขอบเขตของเราอยู่ตรงไหน เรื่องอะไรที่มันควรหรือไม่ควรพูดกับหลาน การปฏิบัติกับผู้ที่หลากหลายทางเพศต้องทำอย่างไร คือเขารู้กันได้ก็เพราะนิทรรศการเหล่านี้จริง ๆ อัลกอริทึมมันไม่เคยส่งสิ่งเหล่านี้ไปให้เขาดูในโลกของเขา เพราะฉะนั้นนิทรรศการเยียวยาจิตใจอะไรแบบนี้มันก็เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้สังคมเรามีความตระหนักรู้มากขึ้น แต่ของกรุงเทพฯ อาจจะไม่เหมือนกันแบบหนังคนละม้วนเลย
หลาย ๆ อย่างที่คุยกันในวงการมันไม่ได้พูดถึงทั้งประเทศไทย มันพูดถึงวงการในเมืองใหญ่ ในโลกที่เราไปเจอมามันมีอีกหลายคนมากที่วงการศิลปะหรือวงการวัฒนธรรมในส่วนกลางไม่ได้รับรู้ ไม่ได้นับรวมเขาเลย แต่เขาก็ยังทำงานของเขา เขามีบทบาทอยู่ในสังคมของเขา อย่างคนที่อยู่ ๆ เราไปเรียกเขาว่าปราชญ์ชาวบ้าน คือทำไมปราชญ์ชาวบ้านไม่ใช่นักวิชาการ มันต่างกันตรงไหน มันต่างกันที่ปริญญา มันต่างกันที่คลาส มันต่างกันที่การประชุมที่เขาเข้าถึงได้ เวลาที่เราพูดคำว่าวงการ ในหัวเรามันมีใครบ้าง เวลาที่เราพูดคำว่าศิลปิน ศิลปินไทยในหัวเรามีใครบ้าง เรานับช่างไม้ที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ ว่าเป็นศิลปินไหม ถ้าไม่ใช่เขาเป็นอะไร เราไม่มีทางอื่นที่จะเรียกเขาเป็นอย่างอื่นได้แล้ว เขาเองก็เป็นศิลปิน แต่ความเหลื่อล้ำ การไม่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้บทสนทนาของวงการต่างๆ ในกรุงเทพ หมกมุ่นแต่กับตัวเอง ไม่เห็นหัวใครเลย
ถ้าเทียบ “คุรุ” หรือครูสมัยก่อนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงการเยียวยาตอนนี้ มีอะไรที่เหมือนกันหรือต่างกันบ้าง
เราว่าสิ่งที่หนึ่งที่มันต่างกันมากระหว่างคุรุสมัยก่อนกับตอนนี้ คือการที่คุรุสมัยก่อนจะได้รับความเคารพสูงมาก ๆ เลย แล้วก็มีสำนัก รองรับลูกศิษย์ได้ พอเป็นแบบนี้นอกจากที่เขาจะเป็นครูหรือคุรุ เขาก็เป็นเหมือนเจ้าชีวิตโดยอัตโนมัติ เพราะสังคมสมัยก่อนเราจะต้องเดินทางไปเรียนกับเขาแล้วก็อยู่อาศัยกับเขา มีเรื่องชนชั้น การกีดกันเข้าถึงวิชาต่างๆ แต่สังคมสมัยใหม่มันไม่ใช่อย่างนั้น อาจจะมีบ้างที่รับเด็ก ๆ เข้ามาอยู่ด้วยแล้วก็สอนดนตรีอะไรอย่างนี้ แต่ปัจจุบันเราไม่ได้รู้สึกถึงบุญคุณกับคุรุอะไรขนาดนั้นกันแล้ว เขาไม่ได้รับเรามาเลี้ยง เศรษฐกิจมันเปลี่ยนไป ความเคารพมันก็เปลี่ยนรูปแบบ ถ้าอยากได้ความเคารพในคุรุแบบโลกโบราณ เราก็ต้องตามไปโกยเอาบริบทตอนนั้นมาด้วย ซึ่งทำไม่ได้แล้ว
สภาวะคุรุ สภาวะรู้แจ้ง มันไม่มีใครรู้หรอกว่ามันเป็นยังไง มันเลยดูกันแค่ว่าใครน่าเชื่อถือกว่ากัน ใครดังกว่ากัน ย้อนกลับมาที่ว่าถ้าใครรู้จักตัวเองแล้วก็สามารถมีเกณฑ์ของตัวเองส่วนตัวได้ มีความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองชอบ ที่เหมาะกับตัวเอง แต่ถ้าไม่มีความตระหนักรู้เท่าทัน เราก็อาจจะเชื่อใครก็ตามที่สื่อชูขึ้นมา ก็จะเห็นว่าใครที่ทุนเยอะ ออกงานเยอะ ก็กลายเป็นคนดัง เป็นคุรุได้ง่ายๆ ทั้งหมด ทั้งๆ ที่การออกงานเยอะไม่ได้แปลว่าอะไร นอกจากคนคนนั้นออกงานเยอะ
ถึงแม้ในยุคสมัยใหม่ความรู้จะเป็นสิ่งซื้อขายได้ หรือกระทั่งให้ฟรีได้ คนก็จะยังให้ความเคารพแลกเปลี่ยนกับความรู้และการเยียวยาอยู่หรอ
ใช่ แต่ความเคารพนี้มันอาจจะไม่ได้เป็นไปเพื่อสิ่งที่ถูกเคารพเลย แต่เป็นไปเพื่อตัวเราเอง เราอยากหาอะไรสักอย่างมาเคารพเอง
เราพบสถานการณ์นี้หลายครั้ง มันไม่สำคัญเลยว่าคนที่ถูกเคารพเป็นใคร แต่ว่าคนที่อยากเคารพ เขาก็จะหาใครสักคนมาเคารพอยู่ดี มันเป็นความรู้สึกที่ดีที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่
จริง ๆ ความศักดิ์สิทธิ์นี้บางทีคนที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลยด้วยนะ เขาแค่ถูกแรงส่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะคนที่ไม่รู้จักตัวเอง จะหาอะไรก็ได้มาเคารพ เราเองก็โดนแบบนี้บ่อย แล้วเราก็ยังไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวกับมันอย่างไร เช่นกรณีมาเรียนตีขัน ซึ่งก็จ่ายเงินปกติ แต่เอาพวงมาลัยมาไหว้ แล้วเขาอายุมากกว่าเราด้วย ยกมือไหว้ท่วมหัวใส่ก็มี แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นอาจไม่ใช่เพราะว่าเราศักดิ์สิทธิ์ แต่เพราะมันทำให้สิ่งที่เขาซื้อมันสมบูรณ์ขึ้น เพราะว่าเขาไม่ได้แค่ซื้อวิชาธรรมดาๆ เขาซื้อวิชาจากคนที่เขารู้สึกว่าศักดิ์สิทธิ์คนหนึ่ง เราเป็นตัวพิเศษบางอย่าง ไม่ใช่แค่คนขายวิชา นี่คือสิ่งที่เขาต้องการบริโภค
เอาจริงๆ เราก็ยังไม่รู้ว่าเราจะปฏิบัติกับเรื่องนี้ยังไง ต้องปฏิเสธขนาดไหน เล่นด้วยขนาดไหน เพราะว่าส่วนตัวเราไม่ชอบเลย ถ้าเราบอกว่าไม่เอา มันก็เหมือนหักหาญน้ำใจเขา แต่ถ้าเรารับมันเข้ามางั้นเราจะกลายเป็นอะไร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามันก็เลยค่อนข้างที่จะโคตรเฉพาะเจาะจง ทำได้เป็นรายเคส แต่บอกไม่ได้ว่าโดยทั่วไปต้องทำยังไง
คนจะยังคงเคารพไอดอล คุรุ อยู่ ไม่ใช่เพราคุรุศักดิ์สิทธิ์ ไอดอลเก่ง แต่เป็นเพราะผู้บริโภคต้องการบริโภคของพรีเมี่ยม มันก็ต้องยกอะไรสักอย่างให้พรีเมี่ยมเหนือมนุษย์ขึ้นมา คือขอใครก็ได้ไปปรากฏตัวตรงนั้น มีเนื้อเรื่อง มีถ้อยคำต่าง ๆ นานา ก็กลายเป็นดารา คุรุ ไอดอลได้ไม่ยาก เป็นเรื่องของโชคและทุนนิยมล้วนๆ ไม่ได้มีใครเหนือมนุษย์เลย