‘เหม่อ’, ‘เรือชูชีพ’, ‘มีฉันมีเธอ’, ‘มอเตอร์ไซค์’ และ ‘ไปในดาว’ เหล่านี้คือบทเพลงที่เราเชื่อว่าคนที่ติดตามวงการเพลงอินดี้ไทยตั้งแต่ช่วงต้นยุค 2000s มาโดยตลอดน่าจะเคยได้รับฟังกันมาบ้างแน่นอน
บทเพลงดังกล่าวเป็นผลงานของ Death Of A Salesman วงดูโอที่เกิดจากการรวมตัวของสองเพื่อนซี้ ‘กระชาย-จตุรวิธ ฉัตตะละดา’ และ ‘ปริญญ์ อมรศุภศิริ’ ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยมี ‘สปิน’ เป็นผลงานเพลงอย่างทางการชิ้นแรกที่ได้ไปปรากฏอยู่ในอัลบั้มรวมเพลง ‘Smallroom 002’ ก่อนจะส่งอัลบั้มเต็มชุดแรกในชื่อเดียวกันกับวงออกมาในปี 2002
ด้วยเสน่ห์ของดนตรีที่มีการผสมผสานแนวดนตรีที่หลากหลาย ตั้งแต่ Folk, Blues, Pop, Rock, Shoegaze ไปจนถึง Electronic และเนื้อเพลงความหมายดีที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่ด้านความรักของหนุ่มสาวแบบดนตรีกระแสหลัก แต่กลับพูดถึงความเป็นปัจเจกของมนุษย์ และชีวิตที่ต้องเผชิญและต่อสู้ในทุกวัน ทำให้ Death Of A Salesman โดดเด่นและได้รับความสนใจจากเหล่าคอเพลงนอกกระแสในประเทศไทยไปไม่น้อย แต่หลังจากความสำเร็จของอัลบั้มแรกผ่านไปปีแล้วปีเล่า เหล่าแฟน ๆ ก็ยังไม่เห็นวี่แววของผลงานอัลบั้มใหม่เสียที มีแต่การแสดงสดและโปรเจ็คต์เล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทางบ้างเท่านั้น ทำให้เหล่าแฟน ๆ ได้แต่คิดถึงและเฝ้ารอการกลับมาของสองดูโอในความทรงจำนี้มาโดยตลอด
ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Death Of A Salesman ก็ได้กลับมาปล่อยซิงเกิลแรก ‘ขโมย’ ออกมาคลายความคิดถึงของแฟน ๆ ที่ต้องรอคอยพวกเขามาอย่างนานร่วมสองทศวรรษ ซึ่งด้วยคุณภาพการันตีฝีมือจากวงอินดี้ในตำนานแล้ว เพลงขโมยก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในหลาย ๆ ชาร์ตเพลง และเป็นบทเพลงที่ทั้งแฟนหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างก็ต้องกดฟังซ้ำ ๆ ให้หายคิดถึง
นอกจากความสำเร็จและเสียงชื่นชมของแฟน ๆ แล้ว เพลงขโมยยังทำให้เกิดการสนทนาในวงกว้างถึงประเด็นและความหมายที่แท้จริงของเนื้อเพลง ที่ไม่ว่าจะขโมยอะไร หรือใครขโมยก็น่าสนใจไม่แพ้ก้น
วงจรของชีวิตที่หมุนเวียนกลับมาให้ทำเพลงใหม่อีกครั้ง
ในวงการดนตรีที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เวลา 20 ปีไม่ใช่ระยะเวลาน้อย ๆ ที่นักดนตรีกลุ่มหนึ่งจะหายหน้าหายตาไปจากสายตาของแฟน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่คำวิจารณ์และความนิยม แต่หลังจาก Death Of A Salesman ปล่อยผลงานอัลบั้มแรกที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในอัลบั้มอินดี้ไทยเหนือกาลเวลาในปี 2002 พวกเขากลับใช้เวลาถึงเกือบ 20 ปีในการปล่อยซิงเกิลใหม่
กระชาย-จตุรวิธ : “จริง ๆ แล้วชีวิตของเรากับปริญญ์มันคงต่างกัน เหตุผลมันคงไม่เหมือนกัน แต่ถามว่า ทำไมเราถึงไม่ทำเพลงแล้วต่อยอดด้วยอัลบั้มถัดมา ต้องตอบว่า เป้าหมายเส้นทางการทำเพลงของเราไม่ได้ทำเพื่อจะอยู่ในวงการหรืออุตสาหกรรมเพลง แล้วจริง ๆ เราเองก็เป็นคนชอบอะไรที่เป็นสิ่งที่ใหม่มาก ๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ดนตรี แต่หมายถึงทุกอย่าง เพราะอย่างปัจจุบัน เราก็ทำงานด้านนวัตกรรม สนใจเรื่องแบบ Digital Disruption และการเปลี่ยนชีวิตคนด้วยเทคโนโลยีอะไรแบบนี้ด้วย แต่พอวันนี้ กลับกลายเป็นว่าเรามีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับเรื่องความคิดของคนมาก ๆ เลย เพราะเราเชื่อว่า ในอนาคต เทคโนโลยีมันก็จะสามารถทำสิ่งซ้ำ ๆ ได้ แต่สิ่งที่มันจะอยู่ต่อไปแล้วมนุษย์ทำได้คือเรื่องของศิลปะ ซึ่งจริง ๆ เราชอบศิลปะที่มันเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้อยู่แล้ว
ถามว่าทำไมเราเล่าไปไกล ก็คือพูดง่าย ๆ ว่าเราใช้แพชชันเป็นตัวนำทางการทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ทีนี้ วงจรตอนที่เราเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมเพลงตอนนั้นมันไม่ได้ให้แรงบันดาลใจอย่างที่เราคิด คือพอเราได้ปั๊มเพลง ทำเพลงโฆษณา ทำเพลงอะไรไปเรื่อยๆเยอะ ๆ เป็นงานจริงจัง เรากลับไม่ได้รู้สึกมีแรงบันดาลใจขนาดนั้น ซึ่งอันนี้เราไม่ได้พูดเผื่อตัวปริญญ์ เพราะเราเห็นว่าเขาก็ดูมีความสุขกับการฟังเพลงหลาย ๆ แบบได้ แต่แค่มันไม่ใช่เรา เพราะเราจะไม่ค่อยฟังเพลงหรือสังเกตดนตรีของคนอื่นเยอะ ๆ ว่าเขามีโครงสร้างยังไง แต่เราชอบใช้ชีวิตมากกว่า ซึ่งเราก็เลยค้นพบว่า จริง ๆ แล้วอัลบั้มแรกของพวกเรามันคือการใช้ชีวิตแล้วก็มาระบายออกกับสิ่งนี้ แล้วตอนนี้ที่อายุเข้าสู่วัยกลางคนแล้วมันก็คงเป็นอีกวงจรหนึ่ง ที่คอนเทนต์มันเข้ามาเองโดยธรรมชาติ เราไม่รู้สึกว่าต้องเฟ้นตัวเองในการหาคิดคำหรือเรื่องราว แต่ก่อนหน้านั้น ถ้ามาบังคับให้ทำอัลบั้มใหม่ มันคงรู้สึกฝืนนิดหน่อย แต่วันนี้มันไม่ได้รู้สึกฝืนอีกแล้ว”
ปริญญ์ : “พูดง่าย ๆ คือเราไม่ได้ทำวงดนตรีเป็นอาชีพ แค่ครั้งหนึ่งเราดูเหมือนคล้ายว่าจะเอาเท้าข้างหนึ่งเข้ามาในฐานะวงดนตรี และอยู่ในวงการดนตรีแป๊บหนึ่ง ซึ่งคนอื่นก็อาจจะคิดว่าถ้ามันเป็นสเต็ปนี้แล้วมันก็ควรจะเป็นสเต็ปนั้นต่อ แต่ด้วยความที่จริง ๆ พวกเรามันไม่ได้คิดแบบนั้น ตอนนั้นมันไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าอยากประสบความสำเร็จ อยากดังไปมากกว่านั้น หรืออยากให้เพลงมันขายดีขึ้น โดยมันก็สอดคล้องกับที่กระชายพูด คืออัลบั้มแรกมันเป็นเหมือนธรรมชาติของ ณ เวลานั้น แล้วหลังจากนั้นมันยังไม่อุบัติขึ้นมาใหม่ วงจรตรงนั้นมันยังไม่วนมาครบ แต่ว่าตอนนี้วงจรนั้นมันน่าจะวนมาครบแล้ว ด้วยความที่เราใช้ชีวิตผ่านมาอีกเกือบ 20 ปีก็กลายเป็นอีกคนหนึ่ง ได้เห็นโลกมาอีกแบบหนึ่ง และก็ได้สัมผัสประสบการณ์บางอย่างมา ก็เลยเริ่มจะมีคอนเทนต์หรือมีแมสเสจที่อยากจะพูดแบบเป็นธรรมชาติจริง ๆ ซึ่งจริง ๆ ระหว่างทางมันก็มีวัตถุดิบดนตรีที่ทำไว้บ้างเหมือนกัน แต่เราก็ไม่รู้ว่าทำไมเราถึงไม่สามารถที่จะจับทุกอย่างนั้นมาประกอบร่างหรือทำให้มันเป็นเพลงขึ้นมาได้ แต่พอถึงจุดนี้เราก็เข้าใจแล้วว่าตอนนั้นมันขาดอะไร ซึ่งในฐานะที่กระชายเป็นคนเขียนเพลง เขาก็น่าจะขาดเรื่องความรู้สึกตรงนี้แหละที่พร้อมจะพูดแมสเสจบางอย่าง แต่ตอนนี้เขาก็น่าจะพร้อมแล้ว”
จุดเริ่มต้นของการทำเพลงขโมยเวอร์ชั่น 2021
ในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา เราได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างหลายครั้งว่า Death Of A Salesman จะกลับมาปล่อยอัลบั้มที่สองอีกครั้ง จนแฟน ๆ ทั่วสารทิศต่างตื่นเต้นดีใจกันไปตาม ๆ กัน แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาหลายต่อหลายปีก็ยังไม่เห็นสัญญาณของอัลบั้มใหม่สักที ทั้งคู่เล่าให้เราฟังว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่ทำให้การกลับมาปล่อยซิงเกิลใหม่ในรอบเกือบ 20 ปีเกิดขึ้นจริงมีจุดเริ่มต้นมาจากการชักชวนจัดคอนเสิร์ตของ ‘อ้น-อิงกาญจน์ ผลโพธิ์’ โปรโมเตอร์ที่อยู่เบื้องหลังคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีดี ๆ มากมาย
ปริญญ์ : “จริง ๆ นอกจากเพลงขโมยแล้ว เรายังมีเพลงที่ตั้งใจจะทยอยปล่อยอีก 2 เพลง ซึ่งจุดเริ่มต้นของการทำเพลงใหม่ชุดนี้มันอยู่ที่เพื่อนอ้นมาชวนเราจัดคอนเสิร์ตนี่แหละ พอเราตอบตกลงและเริ่มซ้อมกัน กระชายเขาก็มีเงื่อนไขว่าถ้าคราวนี้เราจะกลับไปเล่นสดอีกเราจะต้องเล่นเพลงใหม่ด้วยอย่างน้อย 3 เพลง เราก็เลยเริ่มทำเพลงพวกนี้ตั้งแต่ตอนนั้นเพื่อที่จะไปเล่นในงานของอ้นช่วงเดือนมีนาเมษา 2020 แต่สุดท้าย พอโควิดอุบัติขึ้นมาก็เลยต้องระงับไป แต่คราวนี้เราไม่ระงับตัวเองแล้ว เพราะตอนนั้นประกายในการทำเพลงมันเกิดขึ้นแล้ว เราก็เลยทำให้มันเกิดขึ้นจริงเลยคราวนี้”
กระชาย-จตุรวิธ : “เรื่องของเรื่องคือเราเล่นเพลงเก่าไม่ได้แล้ว ก็เลยต้องมีเพลงใหม่ ซึ่งจริง ๆ ในสามเพลงนี้มันก็มีเพลงที่เราทำใหม่หมดเลย แต่เพลงขโมยเป็นเพลงที่มีวัตถุดิบครึ่งแรกที่เราอัดมาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วอยู่ เราแค่เร่งสปีดขึ้นและหยิบครึ่งหลังขึ้นมาทำต่อเท่านั้นเอง ประกอบกับว่าช่วงหลังเรารู้สึกว่าเรื่องในสังคมมันมีเนื้อหาที่หลากมิติมาก อย่างตอนแรกที่เรายังไม่ได้แต่งเนื้อเพลง เราบังเอิญเปิดทีวีแล้วได้เห็น Greta Thunberg (เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน) พูดว่า “You have stolen my childhood.” แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมมันเหมือนกับความรู้สึกเราในตอนนี้เลยวะ ซึ่งความจริงก็ต้องเรียกว่าเราเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่าเราถูกขโมยวัยเยาว์ไปเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะว่าเราเองก็ไม่ได้ทำเพลงมากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งพอเพลงนี้มันถูกทำในสองช่วงเวลา มันก็ไม่ต่างจากการที่เราในวัยที่โตขึ้นมาแล้วกลับไปย้อนคุยกับตัวเองเมื่อ 15 ปีที่แล้วเหมือนกัน”
ขโมยอะไร? และใครขโมย?
ด้วยมิติของความหมายเพลงที่หลากหลาย หลังจากเพลงขโมยถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการ เราจึงได้เห็นกับการตีความเนื้อเพลงไปในทิศทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การเมือง ซึ่งแม้ว่าที่มาของเนื้อเพลงจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำพูดของ Greta Thunberg แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้ต้องการจะพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว
กระชาย-จตุรวิธ : “เราดีใจที่ได้เห็นความคิดที่หลากหลายจากทุกคน อย่างเราเป็นคนชอบดูหนัง โดยเฉพาะผลงานของผู้กำกับอย่าง Alejandro González Iñárritu หรือแม้กระทั่งของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ที่มันสามารถพูดได้ตั้งแต่เรื่องในระดับอณูจนถึงระดับโลก ซึ่งเราเป็นคนชอบอะไรที่มันให้แรงบันดาลใจแบบนี้ แล้วประกอบกับว่า เราเติบโตมากับพ่อที่ชอบชวนคุยเรื่องความขัดแย้งระหว่างปรากฏการณ์ของมนุษยชาติในเชิงวิทยาศาสตร์ใหญ่ ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็พูดถึงเรื่องการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมในประเด็นเล็ก ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกดีใจมากที่ได้ทำงานที่มันสื่อได้ตั้งแต่ระดับสากลไปจนถึงเรื่องเล็ก ๆ ที่แต่ละคนสามารถเชื่อมโยงได้ ซึ่งจริง ๆ ใน 3 เพลงใหม่ที่เราจะปล่อย เรามองมันเป็นเอพิโสดในมุมของแต่ละโครงสร้างที่เรารู้สึก และแต่งจากความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์หนึ่ง ๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เรากำลังพูดถึง “เธอ” ที่หมายถึงเหตุการณ์มากกว่า”
ปริญญ์ : “อย่างแรกเลย เราคิดว่ามันเป็นเรื่องยากมากที่จะฟังเพลงนี้ให้เกี่ยวกับความรักได้ แต่เราก็เข้าใจคนที่สามารถตีความไปในทางนั้น ซึ่งถ้าให้เราพูดในฐานะสมาชิกของวงนี้ เรารู้สึกว่าไม่อยากให้คนฟังเพลงนี้แล้วโยงไปในกรณีของ Greta Thunberg และ Donald Trump หรือประเด็นทางการเมืองหรือเพียงอย่างเดียว เราไม่ได้ต้องการให้มันยึดโยงไปแค่ด้านใดด้านหนึ่ง เพราะเรามองว่าเนื้อหามันพูดถึงเรื่องของการปะทะกันของสองช่วงวัยที่มีความสากลและกว้างกว่านั้นมาก แต่แน่นอนว่าเรื่องการเมืองก็ถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่อยู่ในนั้นด้วย เพราะอย่างการเมืองในบ้านเราก็เป็นเรื่องของความต่างของช่วงวัยจริง ๆ”
จากเสียงสู่ภาพ เรื่องราวเบื้องหลังมิวสิควีดีโอความหมายดี
ยิ่งพอได้ทราบว่าเพลงขโมยพูดถึงการปะทะของสองช่วงวัยแล้ว ภาพเด็กสาว คาวบอย และเชือกที่ถูกใข้ตลอดทั้งมิวสิควีดีโอก็ถือเป็นสัญญะสำคัญบางส่วนที่ผู้ฟังอย่างเราพอจะสามารถถอดรหัสได้บ้าง ซึ่งนอกจากภาพที่ถูกถ่ายทำขึ้นมาใหม่แล้ว เราก็ยังสังเกตเห็นการนำฟุตเตจจากหลากหลายเหตุการณ์และสถานที่ทั่วโลกถูกนำมาใช้ประกอบมิวสิควีดีโอในหลายช่วงด้วยกัน ตั้งแต่ภาพของน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลาย ภาพโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังปล่อยคลันพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ ภาพการระเบิดของอาคารขนาดใหญ่ ไปจนถึงภาพอัลตราซาวด์ของทารกในครรภ์ โดยภาพฟุตเตจเหล่านี้เองก็เป็นเหมือนคำใบ้ที่คอยกระซิบเล่าเรื่องราวการ “ขโมย” ในแบบของพวกเขา
กระชาย-จตุรวิธ : “เราต้องเล่าก่อนว่า เวลาเราแต่งเพลงเสร็จแล้วจะนึกถึงภาพก่อน แล้วพอเรามีภาพตรงนั้นในหัวก็จะเอามันมาตัดเพื่อใช้อธิบายให้ปริญญ์และเพื่อนคนอื่น ๆ เห็นภาพตรงกันก่อนจะเล่นดนตรี ซึ่งเวลาปริญญ์มิกซ์เสียง เขาก็จะเอาภาพพวกนี้มาตั้งอยู่ที่หน้าจอ และพยายามจินตนาการถึงเสียงที่มันสอดคล้องกับภาพที่อยู่ตรงหน้า แต่พอเป็นเรื่องของมิวสิควีดีโอแล้วเราก็ต้องให้เครดิตกับเต้ (ฤทธิชัย สิริประสิทธิ์พงศ์) ที่เป็นผู้กำกับมิวสิควีดีโอเพลงนี้ให้เราด้วย เพราะเขามีส่วนทำให้งานมันออกมาสมบูรณ์มากขึ้นมาก ซึ่งจริง ๆ นอกจากเราจะชอบสไตล์งาน cinematography ของเขาเป็นทุนเดิมแล้ว เรายังรู้จักกับเขามานานมาก และก็คิดอยากจะร่วมงานกันมาโดยตลอด แต่จังหวะมันก็ยังไม่ลงตัวสักที จนมาได้โอกาสตอนเพลงขโมยนี่แหละ ซึ่งพอเราชวนเขามาทำ ก็เลยเอาภาพตัวนี้ที่ใช้สื่อสารกับปริญญ์ให้เขาดู แล้วก็เล่าเรื่องราวในหัวให้เขาฟัง เขาก็ค่อนข้างจะช่วยเราได้มากในมุมของการทำให้มันเป็นภาพเคลื่อนไหวออกมา”
ปริญญ์ : “จริง ๆ มิวสิควีดีโอตัวนี้ ตอนแรกกระชายเขาไม่ได้วางโครงเรื่องอะไรไว้มาก แต่จะเน้นเรื่องของคนกับภาพที่มันทำให้เพลงเราสามารถบอกเล่าความเป็นแบบวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้ ทีนี้ เต้ก็เลยคิดว่า มันจะต้องมีตัวเรื่องหลักขึ้นมาเป็นแกนของมิวสิควีดีโอ ก็เลยมาเป็นตัวน้องผู้หญิงคนนี้ที่จะกลายมาเป็นศูนย์กลางของมิวสิควีดีโอ แล้วพอเพลงมันพูดถึงเรื่องช่วงวัย น้องผู้หญิงคนนี้ก็ดูจะเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ได้ดีด้วย ซึ่งสำหรับตัวเราแล้ว ส่วนสำคัญจริง ๆ ของ มิวสิควีดีโอตัวนี้คือภาพคอร์ดต่าง ๆ ที่มันมาจับคู่กับความหมายในแต่ละช่วงของเสียงและเนื้อเพลง เรามองว่า แก่นของมันคือซีรีส์ของภาพต่าง ๆ ที่มารวมกันแล้วเกิดความรู้สึกบางอย่าง แต่ตัวน้องผู้หญิงนี่มีไว้เพื่อให้ทุกอย่างมันเกาะกัน และไม่หลุดลอยเกินไปเท่านั้นเอง”
การสื่อสารและเชื่อมโยงในระดับสากล
นอกจากตัวเพลงและมิวสิควีดีโอแล้ว งานในส่วนอื่น ๆ ทั้งอาร์ตเวิร์คประกอบซิงเกิลสวย ๆ คำแปลเนื้อเพลงใต้มิวสิควีดีโอที่มีมากมายหลายภาษา รวมไปถึงงานสื่อสารกับแฟน ๆ ในโลกโซเชียลมีเดียเอง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ทั้งคู่รู้จักกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะส่วนของเนื้อเพลงที่นอกจากจะมีภาษาไทยแล้ว ยังถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนด้วย
กระชาย-จตุรวิธ : “อย่างคำแปลเนื้อเพลงภาษาอังกฤษเราก็ได้พี่คุ่น (ปราบดา หยุ่น) ที่เราเคยช่วยทำงานโปรดิวซ์ให้ตอน The Typhoon Band มาช่วยทำให้ ซึ่งจริง ๆ ก็มาจากพี่ตั้ม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร) ที่ตีกลองกับเรานี่แหละ ไอเดียเรื่องการแปลเนื้อเพลงเป็นภาษาอื่นมันมาจากการที่เราอยากแต่งเพลงที่มาจากตัวเราเอง แต่สามารถเชื่อมโยงในระดับสากลกับหลาย ๆ คนได้ พอเราเห็นว่า มันมีทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาฮินดู ที่เป็นภาษาหลักของโลก เราก็เลยอยากลองแปลเป็นหลาย ๆ ภาษาเท่านั้นเอง”
กระแสตอบรับจากแฟนเพลงหน้าเก่าและหน้าใหม่
หลังจากหายหน้าหายตาไปนาน ปริญญ์เองมีความกังวลกับการปล่อยเพลงใหม่อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ด้วยรสชาติและโครงสร้างของเพลงที่มีความแปลกใหม่จนอาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วไปมากนัก ทำให้เขากังวลว่ามันอาจจะฟังยากและไม่เป็นที่ถูกใจของหลาย ๆ คน แต่หลังจากเพลงขโมยได้ถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการ แฟนเพลงเก่า ๆ กว่า 70% ก็ยังคงเข้าใจและชอบมันไม่ได้น้อยไปกว่าเพลงเก่า ๆ เลย แม้บางคนจะบอกว่าต้องอาศัยการฟังซ้ำสัก 3-4 ครั้งก่อนจะเริ่มตกหลุ่มรักมันก็ตาม
ปริญญ์ : “ซึ่งเราคิดว่า สิ่งแรกที่เขาให้คุณค่ากับมัน คือเขารู้สึกว่ามันเอาจริง เขาสัมผัสได้ว่าเราไม่กลัว แล้วมันก็เป็นครั้งแรกด้วยที่เราได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่ามันจะฟังยากหรือฟังง่าย มันจะดังหรือไม่ดัง มันจะยอดวิวสูงหรือไม่สูง แต่ว่าสำหรับคนที่เขาฟังเพลงจริง ๆ ถึงเขาจะฟังไม่เข้าใจในทันทีหรืออะไรก็ตามแต่ แต่เขาจะเห็นคุณค่าของมันว่าอันนี้มันมาแบบไม่กลัว ซึ่งเราก็ดีใจว่าเขามองเห็นตรงนี้จริง ๆ
ซึ่งนอกจากแฟนเพลงเก่า ๆ แล้ว มันก็มีหลายคนเหมือนกันที่หลงเข้ามาฟังโดยที่ไม่รู้จักวงนี้มาก่อนเลยก็มี แต่พอเขาได้ฟังแล้วเขาดันชอบและเข้าใจคอนเซ็ปต์ของมัน เรามองว่า ตรงนี้ก็เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับ Death Of A Salesman นะ เราดีใจที่ตัวเพลงมันมีน้ำหนักของมันจริง ๆ จนสามารถสื่อสารกับใครก็ได้ และมันยังมีศักยภาพพอที่จะไปถึงคนกลุ่มใหม่ ๆ ได้โดยที่เขาอาจจะไม่ต้องเคยฟังเพลงเรือชูชีพหรือเหม่อมาก่อน หรือเขาอาจจะไม่ต้องรับรู้ถึงความมีอยู่ของเราในอดีตด้วยซ้ำ แต่เขาก็พร้อมที่จะเปิดใจทำความเข้าใจมัน”
ปริญญ์ : “ส่วนอีกประเด็นที่อยากขยายไปก็คือ เดี๋ยวนี้เวลาเราสังเกตคอมเม้นต์ใต้เพลงเก่า ๆ ใน YouTube เราเลยรู้สึกว่ามันมีคนที่เป็นเด็กจริง ๆ เลยมาฟังเยอะขึ้น ซึ่งความจริง เขาอาจจะเป็นคนที่ฟังอีกแนวหนึ่งเลยด้วยซ้ำ เขาอาจจะไม่ได้มานั่งสนใจหรือแยกแยะว่าเพลงมีฉันมีเธอจะมีความเป็น Shoegaze หรืออะไร เขาไม่ได้ตีความแบบนั้นแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งมันเป็นอะไรที่แปลกเหมือนกัน แต่เรากลับรู้สึกชอบที่การฟังเพลงตอนนี้มันไม่ได้มีกำแพงอะไรแบบนั้นแล้ว เพราะถ้าจะให้เปรียบเทียบกับเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เรารู้สึกว่า คนรุ่นก่อน ๆ อายุประมาณอย่างเราเนี่ย คนที่ฟังเพลงพวกนี้มันจะมีความแบ่งแยกว่าอันนี้แนวอะไร อันนี้กลุ่มอะไร อันนี้สายไหน อันนี้ลึกหรือไม่ลึก แท้หรือไม่แท้ จะต้องมีการวางตัวว่าฉันเป็นนักฟังเพลง เป็นผู้แตกต่าง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตอนนั้นโลกมันยังไม่มีความแตกต่างเยอะ ทุกอย่างมันยังถูกเชื่อมโยงกันหมด มีความเป็นก๊กเป็นแก๊งเยอะ
เอาเข้าจริงแล้วเราเองก็ยังไม่กล้าฟันธงว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงรึเปล่า แต่สิ่งนี้มันทำให้เรามองว่า การฟังเพลงของคนยุคนี้มันเพียวขึ้นเหมือนกันนะ เพราะเด็กทุกวันนี้ที่เติบโตมาพร้อมกับทั้งความสวยงามและโกลาหล เขาไม่ได้สนใจที่มาที่ไปแล้วว่าอะไรมาก่อน อะไรมาหลัง อะไรคือจริง อะไรคือไม่จริง เขาไม่ได้เลือกฟังเพลงแค่เพรามันเท่ มันคูล แต่เขาเลือกฟังเพลงที่มันถูกใจสำหรับเขาแบบไม่ต้องมีเหตุผลก็ได้ คือตรงนี้เราเชื่อลึกๆว่า ข้อเท็จจริงนี้จะเป็นจริงและชัดเจนขึ้นในอีกประมาณ 3-5 ปีต่อจากนี้ แล้วมันจะเป็นอย่างนั้นในทุก ๆ เรื่องด้วย ต่อไปมันจะไม่มีคำว่าใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง หรือต้องไปยึดโยงกับอะไรบางอย่างแล้ว ซึ่งมันเจ๋งขึ้นนะในมุมนี้ พวกเขามีมุมมองที่ไม่เหมือนพวกเราแล้ว ดังนั้น เราจึงไม่สามารถเอากรอบความคิดของคนรุ่นเราไปคิดแทนเขาได้เลย”
กลับไปเป็นคนเดิมอีกครั้งหลังผ่านไป 20 ปี
พอได้ฟังมุมมองและเรื่องราวการเดินทางตลอด 20 ปีของทั้งคู่แล้ว เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า พวกเขามองเห็นตัวเองเติบโตขึ้นอย่างไรบ้างในฐานะนักดนตรี มีมุมมองในการทำงานต่างจากตัวตนสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วบ้างไหม
กระชาย-จตุรวิธ : “คือพอมาถึงตอนนี้ เรามองว่า ตัวเราวันนี้กับตัวเราเมื่อ 20 ปีที่แล้วมันไม่ต่างกันเลย เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ เราดันไปยึดติดกับวิธีการในการทำเพลงในอุตสาหกรรมดนตรีมาก แต่ว่าพอมาถึงตอนนี้มันเหมือนเราย้อนกลับไปสนใจว่าอะไรที่มันทำให้เราได้ไอเดียในการเขียนเนื้อเพลงหรือทำเมโลดี้ออกมาได้เร็วที่สุดและมากที่สุด ซึ่งสิ่งนี้มันก็ทำให้เรายึดติดกับเรื่องของเทคนิคหรือวิธีการน้อยลงมาก แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็เป็นเรื่องที่โชคดีที่เราเคยบ้าอย่างนั้นกันมา เพราะไม่อย่างงั้นมันก็คงไม่ได้มีการตกผลึกอะไรบางอย่างแบบวันนี้ สมัยก่อนเราอาจจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเรายังงมอยู่ มองไม่ออกว่าปัญหามันคืออะไร แต่วันนี้เราสามารถเรียนรู้ที่จะทำเพลงที่มีโครงสร้างยาก ๆ สำเร็จได้แล้ว”
ปริญญ์ : “เรารู้สึกสะดุดกับคำว่านักดนตรีนิดหน่อย เพราะเรากล้าพูดเลยว่า ในประเทศนี้กลุ่มคนที่ไร้ซึ่งความเป็นนักดนตรีที่สุดคือพวกเรานี่แหละจะบอกให้ คือถ้าเทียบกับวงอื่นแล้ว การเล่นดนตรีเราไม่แข็งเลยจริง ๆ เรียกได้ว่า ถ้าเราไปสมัครวงอื่นคือไม่ผ่านการออดิชั่นแน่นอน ซึ่งตัวเราเองก็ถือว่าเล่นดนตรีเก่งกว่ากระชายแล้วนะ เพราะตัวกระชายนี่คือเขาเป็นนักคิดแบบแท้ ๆ เลย อย่าเรียกว่าเป็นนักดนตรีเลย อย่างเรานี่เป็นนักดนตรีมากกว่ามันแล้ว แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้เก่งอะไร ฉะนั้น ในทางดนตรีแล้ว เราไร้การเติบโตเลย แล้วจริง ๆ ตอนก่อนจะปล่อยเพลงเราก็มีความกังวลในใจมากเหมือนกัน แต่พอทำออกมาปุ๊บ ความรู้สึกมันต่างออกไปเลย มันรู้สึกว่า เฮ้ย เหมือนเรากำลังได้กลิ่นความเป็นปี 1999 มันเหมือนเรากำลังกลับไปเป็นคนเดิมอีกครั้งหนึ่งแล้ว เราไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แล้วเรากลับแฮปปี้ด้วยซ้ำที่มันเป็นแบบนั้น เพราะเรารู้สึกว่า การที่มันเป็นแบบนี้นี่แหละที่จะมีโอกาสให้เราได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ เหมือนที่เคยทำได้”
เทคโนโลยีและรูปแบบการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป
หลังจากไม่ได้ปล่อยเพลงใหม่อย่างเป็นทางการมาร่วม 20 ปี แน่น่อนว่า รูปแบบการทำงานหรือแม้แต่เทคโนโลยีที่ใช้ทำเพลงก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยต้องค่อย ๆ บันทึกไอเดียลงกระดาษเวลานึกเนื้อเพลงและเมโลดี้ได้ ในปัจจุบันก็ง่ายดายเพียงแค่ยกมือถือขึ้นมากดอัดเสียงเก็บไว้จากสถานที่ไหนหรือเวลาใดก็ได้ หรือกับการปล่อยเพลงในปัจจุบันเองก็ไม่ได้เน้นรูปแบบการปล่อยเพลงเป็นอัลบั้มเต็มผ่านแผ่นซีดีหรือทปคาสเซ็ทอีกต่อไป แต่หันมานิยมค่อย ๆ ทยอยปล่อยเพลงในรูปแบบซิงเกิลผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากกว่า แม้ตัวกระชาย-จตุรวิธเองจะเป็นแฟนตัวยงของเพลงแนว Progressive Rock ที่เน้นบอกเล่าเรื่องราวและคอนเซ็ปต์ผ่านรูปแบบอัลบั้มเต็มที่ต้องค่อย ๆ ร้อยเรียงประกอบร่างไปทีละเพลง แต่ Death Of A Salesman กลับตัดสินใจทำเพลงขโมยออกมาในรูปแบบซิงเกิลและส่งตรงสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งโดยตรง ด้วยความหวังที่จะสื่อสารและปรับตัวให้กับรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่มีความรวดเร็วมากขึ้น
กระชาย-จตุรวิธ : “ระบบสตรีมมิ่งก็เหมือนกับนักวิ่งมาราธอน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเก็บเลขชัยได้ถี่ขึ้น แล้วเราก็ไม่ต้องพะวงว่าต่อไปข้างหน้ามันจะเป็นยังไง แต่ถ้าถามว่าเรายังมีเส้นชัยเดิมอยู่หรือเปล่า คำตอบคือมันก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าวิธีการสื่อสารกับคนอื่นมันง่ายขึ้นมาก ไม่ต้องรอจนถึงระยะชัยขนาดนั้นก็เป็นไปได้แล้ว
เรานึกถึงคำพูดที่ว่า “The medium is the message.” คือเรารู้สึกว่า เราไปบังคับวิธีการฟังเพลงของคนอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราเองก็ต้องรู้จักที่จะสื่อสารกับคนฟังด้วย ถ้าพฤติกรรมการฟังเพลงของเขาเป็นแบบนี้ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวบ้าง แต่ถ้าถามว่าเราจะหยุดทำคอนเซ็ปต์อัลบั้มรึเปล่า ก็ต้องบอกว่า เราอาจจะยังมีเส้นชัยของเราอยู่เหมือนกัน ซึ่งความจริงแล้ว ถึงในปัจจุบันจะมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งก็ใช่ว่าคนจะไม่ซื้อแผ่นเสียงอีกแล้ว เพราะว่ามันเป็นของที่เขาสามารถจับต้องและสะสมได้ ซึ่งเรามองว่ามันเป็นการเพิ่มทางเลือกและโอกาสมากกว่า แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันก็คงมีเสน่ห์ของการกลับมาฟังเพลงเป็นอัลบั้มอยู่ดี"
โปรเจ็คต์ในอนาคตของ Death Of A Salesman
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่านอกจากเพลงขโมยแล้ว ในอนาคต (อันใกล้) ทั้งคู่ก็วางแผนจะปล่อยอีกสองซิงเกิลตามมา และถ้ามีเพลงใหม่มากพอก็อาจจะมีการรวบรวมเป็นอัลบั้มเต็มต่อไป โดยถึงแม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะยังไม่แน่นอน แต่ทั้งคู่ก็ยังหวังอยู่ลึก ๆ ว่าจะได้กลับไปจัดไปการแสดงสดร่วมกับคนดู
กระชาย-จตุรวิธ : “ถ้าถามถึงโปรเจ็คต์ในอนาคต นอกจากสองซิงเกิลที่จะปล่อยมาเร็ว ๆ นี้ เราก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก ก็คงจะมีโครงสร้างเพลงใหม่ไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าถามว่าตอนนี้เราอยากจะทำอะไร คือโดยส่วนตัวเราตั้งใจจะทำเพลงที่เล่นสดได้ดีที่สุด ซึ่งคำว่าเล่นสดในที่นี้คือการเล่นดนตรีเพื่อให้คนรู้สึกถึงมัน ด้วยความที่เราทำเพลงด้วยภาพ เราก็อยากให้ภาพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ และอยากจะให้คนดูเข้าไปอยู่ในสถานที่จริงที่มันสั่นสะเทือนความรู้สึกของเพลงที่มากกว่าแค่การฟังตามแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง”
ปริญญ์ : “ถ้าทำเพลงไปถึงจุดหนึ่งแล้วมันมากพอที่จะรวบรวมเป็นอัลบั้มเราก็คงจะทำต่อไป ส่วนเรื่องการแสดงสด ถ้าเรามีเพลงใหม่เดี๋ยวก็คงมีคนติดต่อให้ไปเล่นอยู่แล้วแหละ ขนาดตอนไม่มีเพลงยังมีคนติดต่อให้ไปเล่นบ้างเลย (หัวเราะ)”
รับชมมิวสิควีดีโอเพลงขโมยได้ที่นี่: