Sina Wittayawiroj® เมื่อการ ‘ก็อป’ อาจสร้างประโยชน์มากกว่าที่คิด... มองลิขสิทธิ์ในวันที่องค์ความรู้ควรจะเป็นของฟรี

Post on 24 January

หลังการรัฐประหารในปี 2549 สินา วิทยวิโรจน์ หรือที่หลาย ๆ คนอาจจะคุ้นเคยในชื่อ Sina Wittayawiroj® ก็เริ่มหันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น นอกจากเขาจะนำความสงสัยในประเด็นดังกล่าวมาถ่ายทอดผ่านงานศิลปะแล้ว เขายังค่อย ๆ ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองอย่างลงลึกด้วย ซึ่งการค้นหาข้อมูลมาประกอบการทำงานเหล่านี้ก็นำไปซึ่งการเข้าถึงงานวิชาการต้องห้าม และหนังสือพิมพ์เก่าจากหอสมุดแห่งชาติมากมายที่ทำให้เขายิ่งเข้าใจบริบทของซีนการเมืองไทยมากขึ้น โดยในขณะท่ีเขากำลังทำธีสิสในช่วงปริญญาตรีก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่ยิ่งทำให้เขาให้ความสำคัญกับการเรียกร้องทางการเมืองในไทยมากขึ้นไปอีก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สินายังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองไปพร้อม ๆ กับการทำงานภาพประกอบสะท้อนสังคมที่โดดเด่นด้วยการใช้ภาพกราฟฟิกสีสันจัดจ้าน และการสอดแทรกประเด็นจิกกัดสังคมอย่างเผ็ดร้อนและตรงไปตรงมา ไม่ใช่แค่ผลงานสุดจี๊ดโดนใจที่ไวรัลในโลกโซเชียลเป็นประจำเท่านั้น แต่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและประเด็นสังคมต่าง ๆ ของเขาก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน โดยเมื่อเดือนที่แล้ว เขาก็เพิ่งสร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่อีกรอบจากการประกาศลงเฟซบุคส่วนตัวถึงจุดยืนที่เชื่อมั่นในโลกไร้ลิขสิทธิ์โดยไม่สนใจว่าใครจะ ‘ก็อป’ หรือ ‘ไม่ก็อป’ อีกทั้งยังอนุญาตให้นำผลงานการสร้างสรรค์ของเขาไปใช้ได้ทันทีไม่ว่าจะเป็นเชิงพาณิชย์หรือส่วนตัว

แน่นอนว่า การแถลงการอันเผ็ดร้อนนี้ย่อมนำมาซึ่งเสียงตอบรับที่แตกออกเป็นสองฝั่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญหาในไทยยังไม่ค่อยได้รับการยกขึ้นมาพูดคุยในเชิงลึกมากนัก จึงไม่น่าแปลกใจที่โลกไร้ลิขสิทธิ์ของสินาอาจจะฟังดูสุดขอบมากเกินไป แต่อย่างไรก็ดี เมื่อโลกปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน และนักสร้างสรรค์มากมายหันมาลงเล่นในสนาม NFT (Non-Fungible Token) ที่เต็มไปด้วยโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ กันมากขึ้น คำถามเรื่องลิขสิทธิ์ที่เคยถูกปิดตายก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกนำมาถกเถียงอย่างจริงจังเสียที

ไม่ใช่แค่การลงทุน แต่เป็นการกระจายอำนาจการตรวจสอบสู่มือของทุกคน

หลังการมาถึงของเทคโนโลยี Blockchain ที่ช่วยถ่ายโอนและเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัยโดยไม่ถูกแทรกแซงจากหน่วยงานไหน ไม่เพียงนักลงทุนเท่านั้นที่หันมาสนใจตลาด Crypto ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกยาวไกล แต่ในวงการนักสร้างสรรค์เองก็ค่อย ๆ หันมาสนใจตลาด NFT (Non-Fungible Token) ที่เป็นผลิตผลของเทคโนโลยี Blockchain กันไม่น้อย แน่นอนว่า ผลตอบแทนอันหอมหวานก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ชักจูงให้ศิลปินและนักวาดภาพประกอบหลาย ๆ คนหันมาลงเล่นสนามนี้ อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด เพราะในปัจจุบันยังมีนักสร้างสรรค์อีกหลายคนที่ตัดสินใจย้ายตัวเองออกจากตลาดการซื้อขายและว่าจ้างแบบเดิม ๆ มาสู่โลก NFT เพื่อเป็นการประกาศจุดยืนและต่อสู้กับระบบอำนาจแบบเก่า โดยหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีที่ช่วยกระจายข้อมูลออกจากศูนย์กลางสู่การตรวจสอบของทุกคนโดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างรัฐหรือธนาคารแทน สินาเองก็เป็นหนึ่งในนักวาดภาพประกอบแนวการเมืองที่เข้ามาศึกษาโลกใบใหม่นี้ภายใต้แนวคิดดังกล่าวด้วยเช่นกัน

สินา: “ผมเลือกศึกษาเรื่อง Crypto ก็เพราะประเด็นเหล่านี้เลย ผมสนใจการที่มันท้าทายโครงสร้างอำนาจของเงินแบบเดิม ๆ ตั้งแต่วันแรกที่ Blockchain ได้เริ่มถือกำเนิดขึ้น มันก็ได้ท้าทายและเปลี่ยนแปลงสังคมของเราไปในทิศทางใหม่โดยทันที ผมคิดว่า มันได้ยืนยันหลักการบางอย่างในโลกดิจิทัลแล้วว่า มันสามารถนำมาใช้งานได้จริง

ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องตระหนักด้วยว่า เรากำลังเป็นธนาคารของตัวเอง ความปลอดภัยในการเก็บเงินของเราอยู่ที่ตัวคุณเอง เราจะสร้างความปลอดภัยแบบไหนก็ได้ จะปล่อยมันไว้ในแพลตฟอร์มตัวกลางอย่าง Bitkub หรือ Binance ก็ได้ จะเก็บมันไว้ในกระเป๋าตังค์อื่น ๆ ที่ไปผูกกับเว็บเบราว์เซอร์หรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ก็ได้ หรือแม้แต่จะเก็บไว้ใน Hardware Wallet ที่มีลักษณะทัมบ์ไดรฟ์ก็ได้ แต่ใด ๆ ก็คือ ถ้าวันหนึ่งถ้าตัวกลางเหล่านี้ปิดตัว ถูกแฮก หรือแม้แต่ว่าเราเป็นคนทำทัมบ์ไดรฟ์หายเองไปพร้อมกับ Seed Phases (รหัสสิบสองคำที่ใช้ในการกู้คืนกระเป๋าตังค์) ก็ต้องเข้าใจว่าเงินตรงนี้อาจจะหายไปได้เหมือนกันนะ”

โลกนิรนามและช่องว่างทางกฎหมายที่ยังเปิดอ้าอยู่เต็มไปหมด

สินาเริ่มต้นศึกษาวงการ Crypto เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว แม้ในเวลานั้น เขาจะยังไม่ได้เข้าไปลงทุนเพื่อเก็งกำไรเต็มตัว ยังเป็นเพียงแค่การทดลองซื้อขายเพื่อศึกษาระบบต่าง ๆ เท่านั้น โดยภายหลัง เขาก็ได้ถอนเงินทั้งหมดออกมาในที่สุด ซึ่งเมื่อโลก NFT เริ่มบูมขึ้นมาในประเทศไทย สินาจึงตัดสินใจโยนเงินกลับเข้าไปในระบบใหม่ และเริ่มกลับมาศึกษาจริงจังว่า ในฐานะนักสร้างสรรค์ เขาจะทำงานกับระบบใหม่นี้อย่างไรดี ซึ่งนี่ก็หมายรวมไปถึงประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย

สินา: “จริง ๆ ระบบลิขสิทธิ์ของ NFT กับการซื้อขายปกติก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกัน แต่แค่กฎหมายลิขสิทธิ์มันยังตามโลกใบใหม่นี้ไปไม่ทันในแง่ที่ว่า ในโลกของ Blockchain ในโลกของ Crypto หรือในโลกของ NFT เนี่ย เราสามารถเป็นบุคคลนิรนามได้ เราสามารถไม่แสดงตัวตนแล้วไปสร้างกระเป๋าตังค์และขายงานได้เลย พูดง่าย ๆ ก็คือ ในข้อดีของโลก Crypto ที่เราสามารถเป็นใครก็ได้ มันก็มีข้อเสียที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้เหมือนกัน

อย่างเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์หรือการถูกขโมยงานในโลกของ NFT เนี่ย ผมเห็นเขาก็พยายามช่วยกันดูและตรวจสอบนะ เช่น มีการแจ้งแพลตฟอร์มให้ถอดงานที่เป็นประเด็นออก หรือแม้แต่ความพยายามในการสาวไปให้ถึงตัวตนจริง ๆ ของคนขโมย เรามองว่า มันไม่ใช่โลกที่เลวร้ายขนาดนั้น มันมีความพยายามช่วยเหลือนักสร้างสรรค์ร่วมกันอยู่ แต่แค่กฎหมายลิขสิทธิ์มันยังตามไปถึงจุดนั้นไม่ทัน”

แม้แนวคิดเรื่องโลกไร้ลิขสิทธิ์จะไม่ใช่ของแปลกใหม่ในสังคมของนักออกแบบและนักพัฒนาที่ต้องอาศัย Public Domain เป็นตัวอ้างอิงและต่อยอดเป็นผลงาน แต่ก็ต้องยอมรับว่า สุดท้ายแล้ว มันยังเป็นเพียงการพูดคุยกันในวงเล็ก ๆ โดยที่สังคมในภาพกว้างยังไม่คุ้นชินกับแนวคิดดังกล่าวมากนัก โดยในฐานะที่สินาเองก็เป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มาไม่น้อย มุมมองของเขาที่มีต่อเรื่องลิขสิทธิ์ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้เข้ามาศึกษาประเด็น Copyleft อย่างจริงจังนั่นเอง

สินา: “ผมต้องเล่าย้อนกลับไปก่อน Copyleft มันเกิดขึ้นมาจากกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ได้พัฒนาโปรแกรมขึ้นมาอันหนึ่ง แล้วตัดสินใจเปิดแจกจ่ายเพื่อให้คนอื่น ๆ นำไปใช้พัฒนาต่อ แต่มันก็เกิดเคสที่มีคนเอาไปใช้พัฒนาต่อแล้วดันไม่ยอมให้คนอื่น ๆ ใช้ส่วนต่อขยายที่ว่าต่อไปอีก ทีนี้ มันก็เลยเกิดเป็นกระแสขึ้นมา กลุ่มนักพัฒนาคนแรก ๆ ก็เลยบอกว่า งั้นเรามาทำเป็น Copyleft ที่ไม่มีลิขสิทธิ์กันเถอะ แล้วคนที่เอาสิ่งนี้ไปใช้ต่อก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะถือครองลิขสิทธิ์ในการพัฒนาครั้งที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ต่อไปด้วย สิ่งนี้ก็เลยทำให้เกิดเป็นการแจกจ่ายซอฟต์แวร์ฟรีแบบ Open Source อย่าง Linux เองก็คือระบบปฏิบัติการที่เป็นรากฐานของ Android ซึ่งเมื่อเรามองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ของคำว่า Copyleft เราก็จะเห็นว่า โห... มันได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมขนาดนี้เลยเหรอ”

สินา: “ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นแนวคิดที่อยู่ด้านตรงกันข้ามกับ Copyright เลย อย่าง iOS เอง Apple เขาถือลิขสิทธิ์คนเดียว พัฒนาคนเดียวให้ดีที่สุดในแบบของเขา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แฟร์ในมุมของเขา แต่ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง Open Source อย่าง Linux ที่ถูกพัฒนาจนกลายเป็น Android ที่เป็นเบสของระบบมือถือกว่า 70 - 80 % ทั้งโลก มูลค่าที่มันให้กับสังคมมันต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยนะ แต่ผมไม่ได้พูดถึงมูลค่าในเงินนะ แต่มันเป็นมูลค่าของสิ่งที่สังคมจะได้ต่อจากนั้น

แล้วทีนี้ พอเราโยกเรื่องนี้กลับมาในสายศิลปะหรือการออกแบบ มันก็มีการเคลื่อนไหวอย่าง Creative Common หรือ Public Domain ด้วยเช่นกัน ผมสังเกตว่า ทุกวันนี้หลาย ๆ คนแทบจะไม่ได้พูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์แล้ว อย่างศิลปิน NFT ที่ใช้ชื่อในวงการว่า Beeple ที่เขาขายงานได้เกือบ 70 ล้านเหรียญ โดยที่ผลงานพวกนั้นเขาก็ใช้ตัวละครติดลิขสิทธิ์เต็มไปหมดเลย ซึ่งก็มีคนก็โจมตีเขาเหมือนกันนะว่าสักวันหนึ่งคุณก็จะโดนฟ้อง แต่เขาก็เขาไม่ได้สนใจ เพราะเขาไม่ได้เคยบอกว่า ฉันถือมัน ฉันแค่นำมันไปสู่จุดต่อไปเรื่อย ๆ มากกว่า”

องค์ความรู้ที่จะถูกต่อยอดไปได้ไกลกว่าเดิมในโลกไร้ลิขสิทธิ์

นับวันเราก็ยิ่งได้เห็นศิลปินน้อยใหญ่หลาย ๆ คนหันมาทำงานโดยปราศจากการควบคุมของระบบลิขสิทธิ์กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการ NFT ที่ยังคงเต็มไปด้วยโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ได้พัฒนาต่อยอดกันอีกมากมาย

สินา: “มันมีตัวละครลิงที่ชื่อ Bored Ape ซึ่งผู้สร้างไอ้ลิงเบื่อนี้เขามีการเขียนในคำอธิบายเลยว่า คุณมีสิทธิ์ในใบอนุญาตลิงตัวนี้ที่คุณถืออยู่ แล้วในจำนานลิงกว่าหมื่นตัว แต่ละตัวจะมีลิขสิทธิ์ของตัวเองหมดเลย แล้วคนที่ถือมันก็จะได้สิทธิ์นั้นไปเลย จะทำอะไรก็ได้ จะเอาไปจดทะเบียนเป็นเป็นโลโก้สินค้าก็ยังได้ หรือจะเอาไปพัฒนาต่อ สร้างเรื่องราวให้มันใหม่ เอาไปเขียนการ์ตูนก็ได้ ซึ่งกระแสเหล่านี้มันอยู่ในโลก NFT ในช่วงที่หลาย ๆ เดือนที่ผ่านมา แล้วด้วยความที่ผมก็อยู่ในวงสังคมของคนที่สนใจอะไรแบบนี้ก็เลยเริ่มที่จะทำแบบเดียวกันคือ ก็คือแจ้งไปตอนที่ขายงานแต่แรกเลยว่า งานแต่ละชิ้นมันเป็น Non-Exclusive License ก็คือผมไม่ได้ถือใบอนุญาตแต่เพียงผู้เดียว คุณก็ถือใบอนุญาตอันนี้ด้วยเช่นกัน แล้วอย่างน้อยในวงสังคมของผมมันที่มีกันอยู่ 3-4 คน ทุกคนทำแบบเดียวกันหมด ผมก็ไปซื้องานเพื่อนที่แจกใบอนุญาตแบบนี้เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อผมเป็นเจ้าของมันแล้ว ผมจึงสามารถวาดมันซ้ำขึ้นมาใหม่และขยายแตกมันออกมาเป็นอีกตัวหนึ่ง โดยมีรากฐานมาจากการออกแบบของตัวนี้ หลังจากนั้น ผมก็ยังสามารถเอาสิ่งนี้ไปขายต่อได้อีก

ซึ่งมันก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางองค์ความรู้หรือความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ อันนี้แค่วงสังคมที่เล็กที่สุดเองนะ แต่มันก็ทำเกิดการพัฒนาต่อยอดที่น่าสนใจมามันขับเคลื่อนสมอง ผมมองว่า การสร้างงานที่ไร้ลิขสิทธิ์พวกนี้มันทำให้นักสร้างสรรค์ได้มีอิสรภาพในการผลิตงานมากกว่าเดิม มันสนุกกว่า”

มีจริงไหม… ความเป็น ‘ต้นแบบ’ ในวงการศิลปะ?

ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน สังคมก็ยังไม่เคยหลุดพ้นไปจากวังวนการกล่าวโทษและคอยจับผิดว่าใคร ‘ก็อป’ หรือ ‘ไม่ก็อป’ แต่ด้วยความที่สินาเคยเป็นอดีตนักศึกษาศิลปะจึงทำให้เขามีความคุ้นชินกับศิลปะของการลอกเลียนแบบเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นงาน Appropriate Art ที่เป็นการลอกเลียนแบบงานมาสเตอร์พีซหรืองานศิลปะก่อนหน้า หรือแม้กระทั่งจุดกำเนิดของงาน Impressionism เอง ก็เป็นการแลกเปลี่ยนเทคนิคและทำซ้ำกันไปมา ดังนั้น แทนที่จะมัวตามหาความเป็นต้นแบบในวงการศิลปะ เขาจึงเลือกที่เชื่อในการถ่ายโอนความรู้ซึ่งกันและกันมากกว่า

สินา: “สมมุติผมโตมากับ Pikachu กว่า 10 - 20 ปี จนมีความผูกพันกับมันมาก พอวันหนึ่งผมอยากทำงานศิลปะเกี่ยวกับมัน แต่กลับไม่มีสิทธิ์วาด ถามว่า นี่เป็นความผิดของผมเหรอที่วาดมันไม่ได้ ผมมองว่า มันเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเอากฎหมายลิขสิทธิ์ไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ คือเราต้องเข้าใจก่อนว่า แม้ว่ามันจะถูกเรียกว่าเป็นกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะถูกต้องหรือจริงแท้เสมอไป อย่างมาตรา 112 เองก็ไม่เคยถูกต้องและห่างไกลกับความเป็นสากลมาก ผมมองว่า เราต้องวิจารณ์กฎหมายได้ รวมถึงไม่เอาตัวกฎหมายไปกดทับคนอื่นด้วย ต้องปล่อยให้มันเกิดกระบวนการการเรียนรู้ ไปตามกลไกที่มี ในแง่ของกรณีลิขสิทธิ์ ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ฟ้อง คุณก็อย่าพยายามจะเป็นคนล่าแม่มด ลากคนไปเผาเสียเอง ซึ่งในกรณีนี้ผมไม่ได้พูดถึงคนที่จงใจขโมยนะ สมมุติว่าคุณไปหยิบงานคนอื่นมา แล้วอ้างว่าเป็นงานตัวเอง อันนั้นไม่ใช่”

ความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย… จะเลือกปกป้องปัจเจกหรือเอื้อประโยชน์ให้นายทุน

การที่สินามีจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องลิขสิทธิ์เช่นนี้ก็เป็นเพราะเขาเชื่อในการช่วยเหลือและปกป้องคนตัวเล็กตัวน้อยมากกว่านายทุน

สินา: “ผมเชื่อในการกระตือรือร้นเรื่องลิขสิทธิ์กับคนตัวเล็ก ๆ ที่ถูกขโมยงานแล้ว อันนี้ไม่ต้องมองแค่ NFT แต่หมายถึงทุกคนที่พัฒนาทักษะฝีมือ แต่ก็ถูกขโมยไปโดยไม่สามารถได้รับผลตอบแทนที่คู่ควร อันนี้เราต้องช่วยเหลือและต่อสู้ให้เขา แต่ในขณะเดียวกัน การที่ไปไล่ล่าคนอื่นแล้วบอกว่า ห้ามวาด ห้ามทำนู่นนี่ เพราะเรื่องลิขสิทธิ์ ผมว่ามันไม่เวิร์คแล้วในปัจจุบัน มันกลายเป็นการปกป้องหลักการที่บางครั้งก็ไม่เป็นธรรม

สมมติว่าเรามองกรณีที่ประเทศไทยเอากฎหมายนี้มาบังคับใช้กับคนทั่วไป เช่น ตอนนั้นที่มีคนทำกระทงรูป Angry Birds ออกมาขายแล้วก็ไปจับเขาอย่างนี้ ถ้าผมจำไม่ผิดคือต้นทางผู้ผลิตเองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการนำตัวละครมาใช้ทำกระทงหรอก แต่มันดันกลายเป็นเรื่องของคนอื่นที่รู้สึกว่ามันมีปัญหาแล้วก็ไปโจมตีเขา สังคมไทยมันบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์แบบนี้มาโดยตลอด”

แนวความคิดฝั่งซ้ายที่ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่หมายรวมถึงระบบเศรษฐกิจด้วย

ถึงสินาจะยืนหยัดในอุดมการณ์เรื่องโลกที่ไร้ลิขสิทธิ์ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็เชื่อว่าทุกคนสามารถที่จะเลือกต่อสู้เพื่อแนวคิดแบบไหนก็ได้ จะเชื่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็ในตลาดเสรีของโลกทุนนิยมไม่เป็นไร เพียงแค่ต้องไม่ไปไล่ล่าหรือคุกคามใคร เขาอยากให้ทุกคนลองเปิดใจศึกษาเรื่อง Copyleft, Creative Common, Public Domain หรือ Open Source ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมดูด้วย อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนไทยเติบโตมาในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการจนทำให้การจินตนาการถึงเรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องไกลตัว เพราะทุกคนต่างก็ต้องมองหาความมั่นคงในชีวิตผ่านการเป็นเจ้าของทรัพย์สินในรูปแบบต่าง ๆ

สินา: “คือแนวความคิดซ้ายโลกทั้งหมด ตั้งแต่ระบบการเมืองจนถึงเศรษฐกิจมันเชื่อมโยงกันหมดเลย คือมันเรียกร้องทั้งความเป็นซ้ายทางการเมืองแล้วก็ทางเศรษฐกิจด้วย เพราะมันมองแล้วว่าวิธีการที่ขวาทำกับการเมืองและเศรษฐกิจมันไม่เวิร์ค มันเลยเกิดวิธีการคิดแบบซ้าย ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันถูกต้องที่สุดเสมอไป เพียงแต่มันต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับวิธีคิดแบบอื่น ๆ เช่น เมื่อเราพูดถึงระบบสาธารณสุข ถ้าเรามองแบบขวา เราก็จะมองว่า คุณต้องมีเงินเพื่อจะเข้าถึงระบบสาธารณสุข รัฐจะมีการจัดหาให้แค่นิดหน่อย แต่คุณต้องมีเงินถึงเข้าระบบสาธารณสุขที่ดีกว่า ในขณะที่ความเป็นซ้ายก็จะมองว่า ไม่ ทุกคนต้องเข้าถึงระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานแบบเดียวกัน ด้วยต้นทุนเท่ากัน การศึกษาเท่ากัน เศรษฐกิจเท่ากัน บางประเทศในโลกให้เงินคนไร้บ้านหรือจัดหาบ้านให้ด้วยซ้ำ

อีกฝั่งหนึ่งเชื่อว่า คุณต้องสร้างมูลค่าให้กับสิ่งต่าง ๆ เอง คุณต้องเก็บเงินซื้อบ้านเอง คุณต้องประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจเอง คุณถึงจะรอด แต่ถ้าคุณไม่รอดเราก็พอมีให้นิดหน่อย แค่ให้คุณไม่ตายน่าเกลียด แต่สุดท้ายคุณก็ตายอยู่ดี แต่ในขณะเดียวกัน อีกฝั่งหนึ่งจะพยายามไม่ให้คุณตาย จะมีการจัดหารัฐสวัสดิการ จะมีการจัดการทางทรัพยากรที่เป็นธรรมและสามารถเข้าถึงได้ทุกคน”

สินา: “พูดง่าย ๆ คือทั้งสองฝั่งมีวิธีคิดคนละแบบที่แตกต่างกันสุดขั้ว ทีนี้ผมคิดว่า มันเป็นข้อดีที่สังคมไทยมันเปิดที่จะพูดถึงความเป็นไปได้ในสังคมใหม่ ๆ อย่างสังคมนักออกแบบและนักสร้างสรรค์เองก็ต้องเรียนรู้ที่จะเปิดตัวเองออกมาจากโลกทุนนิยมเสรี ซึ่งแน่นอนว่า คุณอาจจะมีชีวิตรอดจากการขายงานและได้รับมูลค่าจากงานของตัวเองคนเดียว แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราสร้างสังคมนักออกแบบที่สามารถแชร์องค์ความรู้กันได้ จากมุมเล็ก ๆ อย่างที่ผมทำกับเพื่อน ๆ จนวงมันขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แล้วกลายเป็นคนร้อยคน พันคน หมื่นคนในวงการสร้างสรรค์ ผมคิดว่า ไอ้วิธีการแบบนี้มันจะส่งต่อทั้งมูลค่าทางการเงิน และการมีชีวิตรอดในเศรษฐกิจที่ตอนนี้ยังไม่เป็นธรรมมากพอ แนวความคิดแบบนี้จะทำให้คนจำนวนมากรอดตาย โดยไม่ไปกระจุกอยู่กับแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ซึ่งผมคิดว่า NFT เป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดให้เราสามารถอยู่ได้ทั้งสองแบบ เราจะเจอคนทั้งสองแบบในเวลาเดียวกัน แล้วก็พูดเรื่องเหล่านี้พร้อม ๆ กัน มีศิลปินที่ผมชื่นชมมากชื่อ eBoy ทำงานแนว Pixel Art วันหนึ่งเขาก็ทำตัวละครออกมาชุดหนึ่ง แล้วก็ประกาศว่า ตัวละครชุดนี้คือ CC BY-SA 4.0 โดยที่ทุกตัวสามารถถูกทำซ้ำในเชิงพาณิชย์ได้เลย จะเอาไปทำอะไรก็ได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องถือหรือซื้อมันด้วยนะ ทีนี้ หลายคนก็สงสัยว่า อ้าว แล้วเขาจะได้ประโยชน์จากอะไร คือเขาขายงานต้นแบบพร้อมตัว Smart Contact ที่เป็นตัวยืนยันว่างานต้นแบบอยู่ที่คนนั้น ๆ ซึ่งในมุมหนึ่ง งานของเขามันก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการถูกแชร์และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และในขณะเดียวกัน มันก็เป็นการเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์คนอื่นได้เอามันไปต่อยอดต่อด้วย สมมติว่าผมเป็นศิลปินที่ไม่ได้โด่งดัง ไม่มีตัวตนเลย และยังไม่เคยขายงานได้เลย วันหนึ่ง ผมเอาตัว Blockbob ของ eBoy มาทำใหม่แล้วขาย นอกจากจะมีคนมาซื้องานผมแล้ว เขายังกลับไปซื้องานเก่า ๆ ของผมด้วย สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริงแล้ว กำไรมันไม่ได้คืนกลับไปสู่ผู้สร้างคนเดียวงานต้นฉบับคนเดียว แต่ยังถูกกระจายศูนย์ไปยังศิลปินหน้าใหม่ด้วย”

ผลตอบรับอันร้อนแรงและความคาดหวังที่มีต่อสังคมไทย

เป็นที่รู้กันว่า หลังจากการที่เขาได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นลิขสิทธิ์ออกไปก็ได้รับผลตอบรับแตกออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน บ้างก็เห็นด้วยกับแนวคิดนำสมัย บ้างก็ก่นด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย อย่างไรก็ดี สินาไม่ได้เก็บความคิดเห็นเหล่านี้มาใส่ใจมากนัก เขาเพียงแค่อยากเห็นสังคมไทย ‘ดราม่า’ ให้น้อยลง และหันมาเปิดใจศึกษาในประเด็นใหม่ ๆ รอบตัวมากขึ้นก่อนจะไปตัดสินใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย และร่วมต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด เพราะแท้จริงแล้ว โครงสร้างปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น

สินา: “สุดท้ายแล้วทั้งหมดที่เราคุยกันมันเป็นอุดมการณ์ มันไม่ได้ยืนอยู่บนข้อเท็จจริงอะไรเลย ซึ่งอุดมการณ์ของแต่ละคนจะเป็นแบบไหนก็ได้ คุณอาจจะจินตนาการถึงโลกที่ลิขสิทธิ์เต็มไปหมด และทุกคนก็หวงมันมาก เราทุกคนรวยก็ได้จากการดิ้นรนของตัวเอง ส่วนตัวผมเองก็จะจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ทุกคนแบ่งปันกันและได้รับผลตอบแทนทางสังคมแบบอื่น ๆ ไปด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเงินอย่างเดียว ผมว่ามันน่าสนุกดี”

ติดตามผลงานของ Sina Wittayawiroj® ได้ที่: เว็บไซต์ , Facebook , Instagram และ Imaginary Gang