Sorravis P. ปรากฏการณ์ NFTs และ Crypto Art ในมุมมองของศิลปิน กับทางเลือกใหม่ขยายขอบเขตของคำว่า ‘ศิลปะ’

Post on 24 January

วงการศิลปะนาทีนี้น่าจะไม่มีอะไรมาแรงไปกว่ากระแสของโลก NFTs (Non-Fungible Tokens) และ Crypto Art ที่ยังคงได้พื้นที่สื่อทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ไอเดียการนำเสนอผลงานที่มีความแปลกใหม่ล้ำโลก หรือการประมูลซื้อขายด้วยราคาที่สูงลิ่วแม้จะเป็นเพียงผลงานในรูปแบบดิจิทัลที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อผลงานศิลปะเหล่านี้มีมูลค่าและความต้องการในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมมาพร้อมกับความสนใจของศิลปินและนักสะสมรุ่นใหม่อีกหลายคน 

หนึ่งในนั้นคือ ‘อั้ม-สรวิศ ประคอง’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘Sorravis P.’ ศิลปินและนักออกแบบตัวอักษรภาษาไทยที่เริ่มศึกษาและลองเข้ามาเป็นผู้เล่นในสนามนี้ด้วย แม้จุดเริ่มต้นในฐานะศิลปินของเขาจะเริ่มต้นมาจากความหลงใหลในงานตัวอักษรวินเทจแบบดั้งเดิม แต่เขาก็ไม่เคยหยุดพัฒนาและค้นหารูปแบบใหม่ๆให้กับผลงานของเขาอยู่เสมอ ซึ่งเร็ว ๆ นี้เขาเองก็เพิ่งลงขายผลงานในรูปแบบ NFTs ด้วย 

GroundControl ไม่อยากให้ทุกคนตกขบวน สัปดาห์นี้เราเลยขอชวนทุกคนมาร่วมพูดคุยพร้อมกับอั้ม-สรวิศ ถึงทิศทางและความเป็นไปได้ใหม่ๆของโลก NFTs และ Crypto Art ที่นอกจากจะเป็นเรื่องของการลงทุนแล้ว ยังอาจจะเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการศิลปะร่วมสมัยด้วย

จากเด็กติดเกมสู่การเป็นศิลปินนักลงทุน

“เราเป็นคนติดเกมและเล่นอินเตอร์เน็ตเยอะมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยคิดว่าการเล่นอินเตอร์เน็ตจะเป็นเรื่องไร้สาระหรือเสียเวลาเปล่า พอเราเล่นอินเตอร์เน็ตมาก ๆ ก็จะเห็นการมาถึงของกระแสสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆและความเคลื่นไหวของเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่ส่งอำนาจการตรวจสอบให้อยู่ในมือคนทั่วไป ไม่ต้องผ่านตัวกลางรัฐบาลหรือหน่วยงานแค่บางกลุ่มมาตรวจสอบรองรับ ดังนั้นมันถึงโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งส่วนตัวเราเป็นคนสนใจเรื่องการเงินการลงทุนอยู่แล้วก็เลยเริ่มมาศึกษาวงการ DeFi (Decentralized Finance หรือการเงินแบบกระจายศูนย์) ซึ่งเป็นกระจายและดึงอำนาจทางการเงินของเรากลับคืนมาหาตัวเราเอง เราสามารถเป็นเจ้าของและมีอิสรภาพในการใช้เงิน (ไม่ใช่อิสรภาพทางการเงิน) ที่เราหามาเองได้โดยไม่ต้องไปผ่านตัวกลางที่คอยมากำหนดว่าเราต้องใช้จ่ายอย่างไร ต้องมีรายได้เท่านั้นเท่านี้ถึงจะกู้นั่นกู้นี่ได้ ถ้าไม่มีตัวกลางตรงนี้มาควบคุมเรา เราก็จะมีสิทธิ์ในการใช้เงินเต็มที่และดึงอำนาจกลับมาที่ตัวเองอีกครั้ง ซึ่งไอเดียแบบนี้มันมาทำลายความเชื่อของระบบธนาคารแบบเก่า ๆ ไปเลย

หลังจากนั้นเราเริ่มเห็นโอกาสของวงการ NFTs และ Crypto Art ที่เอาไอเดียการกระจายศูนย์ไปต่อยอดเป็นการซื้อขายผลงานศิลปะ ก็เลยเริ่มไปศึกษาลงลึกไปอีก กลายเป็นว่ามันคลิกง่ายมาก ด้วยความที่เราเองก็ทำงานศิลปะ มันทำให้เราเข้าใจระบบได้ง่ายขึ้นว่าศิลปินทำงานกันยังไง นักสะสมมองหาอะไร และอยากเก็บงานประเภทไหน”

NFTs และ Crypto Art กับการต่อสู้ทางการเมือง

“นอกจากจะเป็นเรื่องของการลงทุนแล้ว เราก็เห็นถึงความเป็นไปได้ของ NFTs และ Crypto Art ในแง่การต่อสู้การเมืองด้วย พูดง่าย ๆ คือพอเราเริ่มไม่โอเคกับระบบเก่า ๆ ที่กระจุกศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่แค่คนบางกลุ่ม เรารู้สึกว่าเราจำเป็นต้องต่อสู้ ไม่ใช่แค่กับรัฐไทย แต่กับทั้งโลก แล้วไอเดียของการกระจายอำนาจแบบนี้มันมาตอบโจทย์ความไร้ขอบเขตไร้พรมแดนตรงนี้พอดี

ช่วงหลังเราทำงานเกี่ยวกับการเมืองเยอะ แต่มันก็เป็นแค่การแสดงออกที่ยังไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้างมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร การที่เราดึงอำนาจทางการใช้เงินนั้นกลับมาหาเราเองมันก็เป็นการต่อสู้แบบหนึ่ง เราเริ่มมองว่าการต่อสู้ทางการเมืองด้วยศิลปะ ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบหรือแนวคิดที่ใส่ลงไปในงานวาด เขียน ทำเพลง ฯลฯ แค่เพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ แต่อาจจะต้องเป็นการต่อสู้ในขั้นค่านิยมและการกระจายอำนาจไม่ให้มีการรวมศูนย์อยู่แค่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งประกอบเข้าไปด้วย”

กระแสร้อนแรงมาพร้อมกับตลาดที่เปิดกว้างขึ้น

“วงการ NFTs และ Crypto Art มันมีการถูกพูดถึงมาสักพักแล้ว แต่ที่ในช่วงปีนี้กระแสมาแรงมากขึ้นเพราะมันกำลังเป็นช่วงขาขึ้นของตลาด ซึ่งก่อนหน้านี้มันจะถูกแบ่งชัดเจนมากว่าวงการ DeFi จะเป็นโลกของโปรแกรมเมอร์และคนเก่งด้านการเงินเข้าไปอยู่ ส่วนวงการ NFTs คือโลกของศิลปินและนักสะสมผลงานศิลปะ คนเล่น NFTs ก็จะไม่รู้ว่าตีมูลค่าในโลก DeFi ยังไง จะต้องซื้อเหรียญอันไหนมาเก็งกำไร ส่วนโลก DeFi ก็ไม่รู้จะตีมูลค่า NFTs ยังไง ไม่รู้จะสะสมอะไร แต่ตอนนี้ช่องว่างสองฝั่งนี้กำลังค่อยๆมาบรรจบกัน

แต่ก่อนศิลปินไทยอาจจะบ่นว่าคนไทยไม่สนใจศิลปะ แต่อยากให้มองว่าตอนนี้โลกถูกเชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดนแล้ว เราไม่ใช่แค่พลเมืองของประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเรากำลังก้าวเข้าสู่การเป็นพลเมืองโลก (World Citizen) ด้วย ถ้ามีไอเดียอะไรก็ลองโยนเข้าไปในตลาดเลย เดี๋ยวก็จะมีคนมาสนใจเอง
ซึ่งแน่นอนว่าพอทุกคนสามารถเข้าถึงและลงไปเล่นในตลาดนี้ได้ การแข่งขันก็ย่อมสูงตามเป็นเรื่องปกติ แต่ในขณะเดียวกัน คนสะสมก็เยอะมากขึ้นด้วยเช่นกัน พอมันไร้พรมแดน งานเราอาจจะไปถูกใจคนจากซีกโลกอื่นก็ได้”

NFTs คือโลกของไอเดีย

“เรามองว่า NFTs เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ที่ยังมีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้เราได้ต่อยอดอีกเยอะมาก ในโลกของ NFTs มีงานหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ มีม เพลง ไอเทมเกม หรือแม้แต่ที่ดินในโลกเสมือน พูดง่าย ๆ คืออะไรที่สามารถแปลงเป็นโค้ดได้ก็สามารถเอามาขายในตลาดนี้ได้หมด โดยงานแต่ละแบบก็จะมีแพลตฟอร์มตลาดรองรับไม่เหมือนกัน แต่ละเว็บไซต์ก็จะมีกติกาต่างกัน บางเว็บไซต์ต้องมีคำเชิญก่อนถึงจะเข้าไปขายงานได้ บางเว็บไซต์เสียค่าแรกเข้าแค่ครั้งเดียวก็สามารถลงงานขายได้ไม่จำกัด ซึ่งวิธีการซื้อขายงาน Cypto Art ในตลาดแบบนี้ก็จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงของศิลปินและนักสะสมว่าการซื้อขายนี้จะได้อะไรไปบ้าง จะได้แค่โค้ด ใบรับรองความเป็นเจ้าของ หรือได้งานจริงไปด้วยก็แล้วแต่

ซึ่งพอมันเป็นการซื้อขายใบรับรองความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่การซื้อขายผลงานที่คนซื้อสามารถเห็นงานจริงและจับต้องได้ รูปแบบแนวคิดและการตลาดก็ย่อมต้องเปลี่ยนรูปแบบไป อย่างพอ Banksy สามารถขายงานในโลก Crypto ได้ มุมมองเขาก็มองว่างานจริงไม่มีประโยชน์อีกต่อไปก็เผาทิ้งโชว์ไปเลย เป็นลูกเล่นวิธีโปรโมทของเขา หรืออย่างงาน Performance Art ที่แม้เราจะไม่ได้ไปอยู่ตอนที่เกิดการแสดงจริง แต่เราชอบไอเดียของศิลปิน อยากสนับสนุน เมื่อมีการแปลงวีดีโอเป็นโค้ดเราก็สามารถเข้าไปจับจองเป็นเจ้าของได้เช่นกัน เช่นเดียวกับเวลาเราไปเจอมีม (meme) ในโลกอินเตอร์เน็ตแล้วชอบไอเดียมาก วันหนึ่งคนผลิตมีมนั้นเอามาลงขายในโลก NFTs เราได้เจอคนที่ทำให้เราเปลี่ยนโลก เราก็อยากซื้อเพื่อเป็นเจ้าของไอเดียนี้ แม้มีมนี้จะสามารถส่งต่อ กดเซฟ ก็อปปี้กันได้เป็นล้าน ๆ ครั้งในโลกอินเตอร์เน็ต แต่มันเป็นความภูมิใจที่ได้ครอบครอง มันเป็นเรื่องของความพอใจของนักสะสมล้วนๆ

ซึ่งเมื่อเกิดการซื้อขาย งาน NFTs จะมี Smart Contract ที่สามารถสร้าง Royalty Fee คืนให้เจ้าของผลงานได้ทุกครั้งที่เปลี่ยนมือนักสะสม เท่ากับว่ามันจะเป็นลิขสิทธิ์ของศิลปินที่จะได้ปันผลตลอดไปตราบเท่าที่ยังมีการซื้อขายเปลี่ยนมือเจ้าของไปเรื่อย ๆ ซึ่งขั้นตอนนี้ศิลปินจะได้ส่วนแบ่งอัตโนมัติตามที่กำหนดไว้ มีตั้งแต่ 1-5% โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างแกลเลอรี่หรือภัณฑรักษ์เลยด้วยซ้ำ เป็นประโยชน์ของศิลปินในระยะยาว”

ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ แต่กระบวนการนำเสนอก็สำคัญไม่แพ้กัน

“NFTs เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ เรามองว่ามันไม่ได้มาล้มล้างตลาดการซื้อขายผลงานศิลปะแบบเก่า แต่มันแค่เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งให้ทั้งศิลปินและนักสะสมได้มีวิธีการเข้าถึงกันและกันมากขึ้น นักสะสมบางคนอาจจะไม่ได้สนใจว่าจะต้องมีผลงานที่จับต้องได้ในมือ สำหรับเขาคุณค่าของงานศิลปะก็ไม่ได้หายไปไหน แค่เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ มากกว่า แต่สำหรับใครที่ชอบงานศิลปะที่โครงสร้างและการสัมผัสพื้นผิว คุณจะยังอยู่โลกเดิมก็ได้ เป็นการตัดสินใจตามความถนัดของแต่ละคน

ตลาด NFTs ต่างกับโลกศิลปะปกติตรงที่มันไม่ได้ขายกันแค่คุณค่าทางศิลปะของชิ้นงานโดยตรงแค่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่มันยังเป็นการขายไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่อง และการตลาดด้วย เป็นการขายทั้งผลลัพธ์และกระบวนการไปพร้อมๆกัน บางครั้งตัวชิ้นงานเองอาจจะดูเหมือนไม่มีอะไร แต่วิธีการสื่อสารน่าสนใจมาก Crypto Art เหล่านี้เลยเหมาะกับศิลปินร่วมสมัยที่อยากเล่าไอเดียแปลกใหม่แหกขนบเดิม ๆ ไม่ต่างจากงานศิลปะร่วมสมัยในความเข้าใจที่ผ่านมาของเรา อย่างงานกล้วยแปะเทป (ผลงาน Comedian (2019) โดยศิลปิน Maurizio Cattelan) ที่ถูกขายในราคาสูงลิ่วทั้ง ๆ ที่ความจริงเขาก็สามารถซื้อกล้วยมาแปะเทปเองได้ แต่เขาซื้อไอเดีย วิธีคิด และใบรับรองความเป็นเจ้าของ เพราะไอเดียนี้มันเปลี่ยนโลกและความคิดเขา อาจจะมีคนที่คิดว่ามันเป็นเรื่องบ้าก็ได้ที่ยอมจ่ายเงินเป็นล้านเพื่อซื้อกล้วยติดเทป คนไม่เข้าใจก็คงไม่เข้าใจต่อไป แต่คนที่ให้ค่าก็มีอยู่ไม่น้อย”

ทางเลือกของศิลปินรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพาคนกลางอีกต่อไป

“ที่ผ่านมา เกมของวงการศิลปะแบบเก่าในไทยมันมีกำแพงมีชนชั้นมาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ การจะได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินก็ต้องส่งประกวด ซึ่งมันก็มีกรรมการ มีกติกา มีหัวข้ออะไรที่ค่อนข้างจำกัด รูปแบบและแนวคิดผลงานที่ชนะการประกวดก็วนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ เป็นเหมือนเครื่องมือทางการเมืองให้ชนชั้นปกครองใช้โฆษณาชวนเชื่อเราอีกที มันกดให้ศิลปินไม่มีอิสระในการแสดงออกอย่างแท้จริง หรือแม้แต่แกลเลอรี่ระบบเก่าก็จะมีเครือข่ายนักสะสมของเขา ศิลปินจะต้องไปอยู่ภายใต้ระบบนั้นเพื่อจะขายงานได้

ตลาด NFTs จะมีผลช่วยสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่ที่อาจจะไม่ได้มีเครือข่ายในวงการศิลปะแบบเก่ามากนัก เขาอาจจะไม่ได้ถนัดการไปพบปะหรือทำความรู้จักผู้คนตามนิทรรศการศิลปะแบบเดิมๆ แต่อาจจะเก่งกับการทำตลาดในโลกออนไลน์มากกว่า ระบบของ NFTs มันยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ต้องมีเกม ไม่ต้องมีกติกาตุกติก ไม่ต้องโดนกีดกันหรือแบ่งแยกชนชั้นในวงการ เป็นตัวเลือกค่านิยมใหม่ที่ให้ศิลปินสามารถดึงตัวเองออกมาจากตลาดแบบเดิม ๆ ได้ เขาสามารถหาตลาดตรงได้โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือของคนกลางในตลาดเก่าอย่างเดียวแล้ว”

ทิศทางของตลาด NFTs และ Crypto Art ในไทย

“ถ้าเทียบกับต่างประเทศตอนนี้ศิลปินไทยที่ลงมาเล่นในตลาด Crypto Art ก็ยังมีไม่เยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นนักสะสมมากกว่า

อย่างตัวเราเองก็เพิ่งลงขายงานเขียนตัวอักษรไทยในรูปแบบวีดีโอ Timelapse ไปเมื่อเดือนที่แล้ว เป็นการ Parody งานตัวเองสมัยก่อน ถือเป็นงานแรกในการเปิดตลาดใหม่และปิดตลาดเก่า ย้ำเตือนว่าเราจะไม่กลับไปทำงานรูปแบบนั้นอีกแล้ว เรามองว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนของเราในฐานะศิลปินที่จะต่อสู้ทางการเมืองด้วย ซึ่งผลตอบรับตอนนี้อาจจะยังไม่ได้เปรี้ยงมาก เพราะด้วยรูปแบบงานอักษรไทยที่ตลาดยังไม่กว้าง และเราเองก็ยังไม่ได้โปรโมทอะไรมาก แต่เราก็จะยังทำต่อไป เป็นหมุดหมายสำคัญในการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆในฐานะศิลปิน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราก็มีการทดลองและพัฒนารูปแบบผลงานของตัวเองมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เขียนมือด้วยปากกาคอแร้งบนกระดาษ งานดิจิตัล ไปจนถึงงาน Street Art วาดบนกำแพง บนเฟอร์นิเจอร์ ทุกครั้งที่เราขยับขยายไปทำงานรูปแบบใหม่ ๆ ก็ไม่ใช่ว่าคนที่ติดตามงานของเราจะไม่สนใจ เขาเองก็อยากหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ไปร่วมกับเราเหมือนกัน เพียงแต่วงการ NFTs ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เราเองก็กำลังศึกษาและเรียนรู้ไปพร้อมๆกับทุกคนเหมือนกัน”

อนาคตที่น่าจับตามองของวงการ NFTs

“ในอนาคตต่อไปการจับคู่ของศิลปินและโปรแกรมเมอร์จะเป็นความร่วมมือที่จะฉายแววน่าสนใจมาก ศิลปินที่มีไอเดียก็สามารถคิดแล้วให้โปรแกรมเมอร์พัฒนาต่อยอดทำโลกเสมือนขึ้นมาในโลกอินเตอร์เน็ตเพื่อให้เกิดการซื้อขายต่อได้ หรือแม้แต่บทบาทของภัณฑรักษ์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบตัวเองให้กลายเป็นแพลตฟอร์มใหม่ๆที่มีการคัดสรรผลงานดีๆ มีการตลาด มีสปอนเซอร์คู่ค้า เป็นพื้นที่ให้ศิลปินมาลงงานและมีส่วนเข้ามาทำตลาดได้เอง ถ้าเรามองดี ๆ สิ่งนี้สามารถพัฒนาตัวเองเป็นแกลเลอรี่ออนไลน์ได้เลยด้วยซ้ำ ทุกอย่างมันเป็นไปได้หมดในโลก NFTs

แต่ในภาพรวม ส่วนตัวเรายังไม่ได้มองว่า NFTs หรือ Crypto Art จะเป็นก้าวใหม่หรืออนาคตของวงการศิลปะทั้งหมด แต่เป็นแค่ตัวเลือกให้คนได้เข้าถึงงานศิลปะในอีกทางหนึ่งมากกว่า คนที่เหมาะก็จะอยู่และสร้างเงินจากมันได้ เพราะมันยังมีโอกาสใหม่ ๆ อยู่ในนั้นอีกเต็มไปหมด ในขณะเดียวกัน ถึงตอนนี้ตลาดมันกำลังพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสที่วันหนึ่งจะลดลง มีโอกาสเป็นฟองสบู่อยู่เหมือนกัน แต่ในมุมของเราคิดว่าในฟองสบู่นั้นถึงจะแตกก็ยังมีก้อนสบู่อยู่ในนั้นอีก คนที่มีไอเดียและคอยอัพเดตความรู้อยู่เสมอก็จะอยู่รอดเองตามกลไกตลาด”