คุยกับผู้จัด Maho Rasop Festival เทศกาลดนตรีสบาย ๆ ที่อยากชวนทุกคนมา ‘ปล่อยจอย’ ในบรรยากาศของเสียงเพลงหลากสไตล์

Post on 18 October

“กดบัตรมหรสพปีนี้หรือยัง?” เพื่อนคนหนึ่งถามเราในวันที่ AIR วงอิเลกทรอนิกดาวน์เทมโประดับตำนานจากฝรั่งเศส ประกาศมาโชว์ในเทศกาลดนตรี Maho Rasop Festival ที่ขึ้นชื่อเรื่องไลน์อัปวงที่จะสร้างบรรยากาศแห่งความประทับใจ แม้เราจะเคยได้ยินชื่อวงที่มาเล่นไม่ถึงครึ่งก็ตาม (อ้าว)

ที่จริง เราได้ยินคำถามนั้นมานาน ตั้งแต่พวกเขาประกาศขายบัตรแบบ Blind Tickets (ไม่รู้เลยว่าใครมาเล่นบ้าง!) หรือจริง ๆ ก็ถามกันตั้งแต่งานปีที่แล้วจบลงทันทีด้วยซ้ำ Maho Rasop กลายเป็นเทศกาลประจำปี (หรือเรียกว่าพิธีกรรมประจำปีไปเลยดี) ที่ขึ้นชื่อเรื่องวงลับ ๆ ที่เป็น ‘ของดี’ ที่เพิ่งโผล่มาให้ทุกคนรู้จักผ่านการแสดงสดที่เร้าใจ จนกลายเป็นที่หนึ่งในใจ เคียงข้างวงเฮดไลน์ดัง ๆ ที่ดึงดูดผู้คนมาร่วมงานด้วยซ้ำ แต่ในขณะเดียวกัน บางคนก็มองประสบการณ์แสวงหาวงใหม่ ๆ แบบนี้ว่าดู ‘ลึก’ แล้วกลายเป็นถามตัวเอง ว่าเราเป็น ‘นักฟังเพลง’ ขนาดนั้นหรือยัง?

“มหรสพมันคือปาร์ตี้รูปแบบหนึ่ง คือ celebration มากินดื่มเที่ยว เมากับเพื่อน ดูโชว์ดนตรีจากวงที่ชอบบ้าง เจอวงใหม่ ๆ บ้าง เป็นของแถมไป มันคือวันหยุดสุดสัปดาห์สำหรับทุกคน” ประโยคสั้น ๆ ที่ดังขึ้นมาระหว่างบทสนทนาของ GroundControl กับทีมเบื้องหลังเทศกาลนี้ ซึ่งอธิบาย ‘วิถีของเทศกาลดนตรี’ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่บรรยากาศโดยรวมของงาน การค้นพบประสบการณ์ใหม่ ๆ และการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนที่หลากหลายจนกลายเป็นชุมชนอุดมคติในช่วงเวลาสั้น ๆ แค่สองวัน

ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ จาก Fungjai แพลตฟอร์มฟังเพลงนอกกระแสของไทยที่แจ้งเกิดให้วงดนตรีมาแล้วมากมาย, แป๋ง-พิมพ์พร เมธชนัน และ กิ-กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร จาก HAVE YOU HEARD? ผู้จัดคอนเสิร์ตที่พาวงนอกกระแสดี ๆ จากต่างประเทศมาให้เราชม และปูม-ปิยสุ โกมารทัต จาก Seen Scene Space ผู้จัดคอนเสิร์ตเจ้าประจำของนักฟังเพลงสายเอเชีย ทั้งสี่คนที่มีที่มาแตกต่างกัน แต่แบ่งปันประสบการณ์และแนวทางรสนิยมต่อกันและกัน ไม่ต่างกับผู้คนแห่งเทศกาล Maho Rasop

วัฒนธรรมของเทศกาลดนตรีคืออะไรกันแน่สำหรับพวกเขา? ต้องขอยังไงให้พวกเขาพาวงที่เราอยากดูมา? และพวกเขาหาลูกแมวมาให้นักดนตรีที่ขอหลังเวทีได้ไหม? ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษนี้ (และติดตามประกาศของทาง Maho Rasop ไว้ด้วยดี ๆ เพราะเราแอบได้ยินมาว่ากำลังจะประกาศวงใหม่มาเพิ่มไลน์อัปเดือด ๆ ไปอีกขั้น)

Maho Rasop 2024 จะจัดขึ้นในวันที่ 23 - 24 พฤศจิกายน 2567 ที่ ESC Park ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Maho Rasop Festival หรือ www.mahorasop.com

วิถีของเทศกาลดนตรี

“เราเลือกคำว่ามหรสพเพราะเราต้องการให้มันมีบรรยากาศสนุกสนาน” พี่แป๋งตอบคำถามพื้นฐานของเราแบบเรียบง่าย แต่อาจมีรายละเอียดอะไรที่หลายคนยังมองข้ามไปภายในคำตอบนั้น “มันไม่ใช่แค่การไปดูโชว์แล้วก็จบ แต่มันคือการมาสนุกด้วยกัน มาใช้ชีวิตด้วยกัน กินดื่มอยู่ในนั้น รวมอะไรหลาย ๆ อย่างเข้ามาด้วยกันโดยไม่จำกัดแนว”

นั่นคือความหมายของการ ‘ไปมหรสพ’ ที่หมายถึงการไปปล่อยใจใช้ชีวิตอยู่ในเทศกาลดนตรี โดยมีดนตรีแปลก ๆ ใหม่ ๆ มาโอบอุ้มช่วงเวลาทั้งหมดไว้แบบพร้อมต้อนรับได้ไม่ว่าจะมาจากแนวไหน

“ความรู้สึกเราคือให้ทุกคนมาเจอกันโดยไม่จำกัดแนว จริง ๆ ก่อนเลือกทุกวงเราก็จะไปดูที่เขาเคยเล่นงานต่าง ๆ มา อย่างวง Deafheaven คนจะสงสัยว่ามาได้ไง เพราะจะเห็นเขาในงานเดธเมทัลหรือฮาร์ดคอร์ดอะไรอย่างนี้ แต่งานเด็กอินดี้อย่างเทศกาล Pitchfork เขาก็เคยไปเล่นมาแล้ว แล้วคนดูก็ชอบ อาจจะเรียกว่าเป็น ‘วิถีของเทศกาลดนตรี’ ก็ได้”

“บางทีคนเห็นวงที่เราเลือกมาเขาก็แปลกใจว่ามีวงนี้ด้วยหรอ แบบไม่คิดว่าเราจะพาวงที่อาจจะเล็กมาก หรือเขารู้สึกว่าไม่ค่อยมีคนฟังมา เราว่าธรรมชาติของเทศกาลดนตรีมันก็ต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ต้องมีวงดัง มีวงเล็ก ๆ มาเล่นด้วยกัน ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็จะมาจากแผนการทัวร์ของวงต่าง ๆ ในช่วงนั้น ว่ามีวงไหนกำลังทัวร์อยู่บ้าง

“เราพยายามปรับสำหรับทั้งคนที่เคยไปเทศกาลดนตรีแล้วและที่ไม่เคยไป ให้มันเป็นที่ที่ไปแล้วรู้สึกสบาย สนุกกับมันในแบบของแต่ละคนด้วย ไม่อยากให้ใครรู้สึกแปลกแยก ถ้าไม่ได้ฟังเพลงแบบไหนยังไง มหรสพมันคือปาร์ตี้แบบหนึ่ง ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ไม่ต้องคิดขนาดนั้น มากินดื่มเที่ยว เมากับเพื่อน ดูโชว์ดนตรีจากวงที่ชอบบ้าง เจอวงใหม่ ๆ บ้าง เป็นของแถมไป มันคือวันหยุดสุดสัปดาห์สำหรับทุกคน

“เราไม่ใช่เทศกาลดนตรีทดลองอะไรขนาดนั้น มันแค่ผ่านการคัดเลือกมาเฉย ๆ แต่ไม่ได้มีอะไรลึกเกินไป ยากเกินไป ต้องเป็นนักฟังเพลงเท่านั้นถึงจะมาได้ มันก็คือ ‘มหรสพ' อย่างหนึ่ง สำหรับทุกแนว จะเป็นสายมาชิล ๆ สายตั้งใจมาฟังเพลง หรือตั้งใจมากินเหล้าอย่างเดียวก็มี หรือสายแคมป์ปิงก็มากัน” พวกเขาเล่า

ช่วงเวลาดี ๆ ที่ต้องมาจากทุกคน

“เราอยากให้คนมามีส่วนร่วม มาเป็นชุมชนกัน พยายามมีบทสนทนากัน มีการร่วมงานกัน” พวกเขาเล่า “คือก่อนหน้านี้มันก็ชุมชนของคนอยู่แล้วประมาณหนึ่ง แต่เราอยากทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมากกว่า”

“เราถามคนตลอดเวลา เพื่อน พี่ น้อง ว่าฟังเพลงอะไรกัน ชอบวงนี้ไหม รู้จักวงนี้ไหม ซึ่งก็จะมีเพื่อน ๆ มีเครือข่ายอื่น ๆ อีกที่มาให้ความเห็น รายชื่อวงที่เห็นไม่ได้มาจากการนั่งจิ้มของพวกเราคนเดียว เราคุยกับคนใกล้ตัว แอบไปเช็คเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ว่าใครพูดถึงแต่ละวงว่าอย่างไรบ้าง มีใครเคยดูโชว์เขามาไหม เล่นสดเป็นไงบ้าง”

ซึ่งชาวมหรสพมักจะพูดถึงกันอยู่เสมอตั้งแต่ก่อนงานเริ่มและหลังงานจบคือโชว์ที่สร้าง ‘new favorites’ หรือนักดนตรีโปรดคนใหม่ ที่ตกเราได้จากการแสดงสดแบบพลังงานสูง หรือมวลอารมณ์แบบที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน อย่างเช่น ‘Balming Tiger' และ 'Otoboke Beaver’ จากปีที่แล้ว ซึ่งแม้ใครจะไม่ใช่สายแร็ป ไม่ใช่สายพังค์ แต่พอลองได้ฟังพวกเขาแล้วก็ได้เซฟเพลงใหม่เข้าเพลย์ลิสต์กันใหญ่ ทำให้เราสงสัยว่าเซอร์ไพรส์เหล่านี้มีที่มาจากไหน ซึ่งพวกเขาก็บอกว่า ‘ตั้งใจ แต่ก็ยังเซอร์ไพรส์เองอยู่ดี’

“เราทำความเข้าใจคนดูแต่ละกลุ่ม ที่จะมีความชอบ มีสไตล์ไม่เหมือนกัน แล้วเลือกวงที่มาอิงกับกลุ่มคนดูแต่ละแนวเพลง แต่พวกเราทุกคนต้องเห็นด้วยเหมือนกันหมด เราก็ต้องมาขายกันเองด้วย เพราะไม่ใช่ทุกคนจะรู้จักทุกวง ก็อาจจะทำให้เกิดโชว์ที่ทำให้คนประทับใจถึงจะไม่ได้ฟังแนวนั้นได้”

“แต่อยากให้เข้าใจวิถีของเทศกาลดนตรีว่า มันต่างจากคอนเสิร์ตที่จะเลือกเอาวงที่ชอบมาได้ เราต้องดูจากตารางทัวร์ ดูแผนที่ของเทศกาลดนตรีบนโลก ความคุ้มค่าของเทศกาลดนตรีมันคือการมาสนุกกัน มีช่วงเวลาดี ๆ ด้วยกัน เจอวงโปรดใหม่ ๆ ที่ไม่เคยฟังสด ไม่ใช่ความคุ้มค่าแบบตั้งใจไปดูคอนเสิร์ตของวงที่ชอบเท่านั้น”

“มันคือการมาอยู่ร่วมกันของศิลปินและคนดูด้วย ให้มันไม่รู้สึกอึดอัด ว่ามาทำอะไรอยู่ตรงนี้เนี่ย มันเป็นที่สำหรับมาสนุกด้วยกัน ฉันตั้งใจมาดูวงนี้ แต่วงนั้นก็น่าสนใจ ชาวร็อกกับชาวฮิปฮอปอยู่ด้วยกันได้ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกบีบบังคับทั้งคู่” พี่ท้อปเสริม

“เราว่าดนตรีมันมีความเชื่อมโยงกันอยู่ ที่อาจจะเป็นเรื่องของเซนส์นิดหนึ่งว่าฮิปฮอปแบบไหน หรือร็อกแบบไหน แจ๊สแบบไหน ที่มันจะมาอยู่ด้วยกันได้ แล้วเชื่อมโยงกันไม่ใช่เฟสติวัลที่เน้นดนตรีแนวเดียวไปเลย แต่ก็ไม่ได้เป็นงานที่รวมทุกอย่างแล้วทุกคนดูแค่วงดังที่ตัวเองตามมา”

“ส่วนวงไทยถ้าสังเกตจะเห็นเราเลือกวงตัวเล็ก ๆ ที่กำลังมาแรง เพราะเราเป็นเทศกาลไทย ก็อยากจะเห็นวงไทยที่กำลังเริ่มต้นได้มีพื้นที่โชว์ฝีมือไปเลยเหมือนกัน เราเลือกวงไทยที่อยากให้ออกไปไกลถึงต่างประเทศได้ด้วย ทั้งในแง่ความพร้อมของการจัดการวงหรือตัวโชว์ วงไทยมันก็เหมือนเป็นตัวแทนของบ้านเราด้วย ก็อยากให้เห็นดนตรีอะไรอีกฝั่งที่อาจจะไม่ได้ดังมาก ๆ เหมือนหมูเด้ง แต่อาจจะเป็นวงที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก มันก็เหมือนเวลาเราไปดูงานต่างประเทศ ก็อยากเห็นวงใหม่ ๆ ที่เขาคัดเลือกมาด้วย นอกจากวงที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว” พวกเขาบอก

ได้ยินว่ามากคนมากความอย่างนี้ สิ่งที่เราสงสัยที่สุดเลยก็คือศิลปินแต่ละคนมีทำอะไรป่วน ๆ มาบ้างหรือเปล่า ซึ่งพวกเขาก็บอกว่า “มีคนขอลูกแมว ขอลูกหมาด้วย ก็อยากให้นะถ้าให้ได้ (หัวเราะ) ก็คงใส่มาตลก ๆ แหละ”

งานชุมนุมวัฒนธรรมดนตรีโลก

และถ้าใครได้ไปตั้งแต่ปีแรก เชื่อว่าคงสังเกตอยู่เหมือนกันว่า ในงานแต่ละปี มีผู้ชมที่เป็นชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งพวกเขาก็ยืนยันว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แต่ “พออยู่ในงานก็ไม่ค่อยมีพฤติกรรมต่างกันเท่าไรหรอก (หัวเราะ) อาจจะต่างในแง่ความเข้าใจถึงวัฒนธรรมการไปเทศกาลดนตรีจะแตกต่างกัน อย่างคนอังกฤษจะชัดเจนมาก เวลาเขาเห็นวงประเทศตัวเองสักวงสองวงก็ไปเทศกาลได้แล้ว ไม่สนวงที่เหลือแล้ว เพราะเขาถือว่ามาสนุกกัน คือเขาฟังดนตรีได้ทุกแนวอยู่แล้วด้วย” พวกเขาเล่า

หนึ่งในจุดเด่นของเทศกาลอย่างมหรสพ คือการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละวัฒนธรรม ที่เคยเห็น เคยได้ยินกันอยู่ในโลกออนไลน์ กลายมาเป็นความสัมพันธ์แบบที่เห็นหน้าตา เห็นตัวตน ได้ดูโชว์ ได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น อย่างเช่นวงดนตรีจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราเอง ที่แม้จะอยู่ใกล้ แต่ก็ดูเหมือนเราจะไม่ได้รู้จักกัน มากเท่ากับที่เรารู้จักวงจากซีนดนตรีใหญ่ ๆ อย่างญี่ปุ่นหรือจากฝั่งตะวันตก แต่สำหรับพวกเขา ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป

“เราว่า มันอาจจะด้วยวัฒนธรรมที่ปัจจุบันเราแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นด้วย เพราะวิธีการฟังเพลงออนไลน์ตอนนี้มันทำให้คนได้เจอวงดนตรีใหม่ ๆ ที่ไม่ได้ดังมาก ศิลปินหลายวงก็ร้องเพลงภาษาอังกฤษทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น กำแพงภาษาลดลง แล้วเด็กรุ่นใหม่เขาก็ค่อนข้างจะฟังเพลงภาษาที่สามได้ ไม่ได้รู้สึกว่าติดอะไร ก็ไปหาคำแปลเนื้อเพลงได้” พี่ปูมบอก

“สำหรับเรา ในแง่ผู้จัดที่ทำงานร่วมกับผู้จัดงานหลาย ๆ ประเทศเหมือนกัน เราก็ได้แชร์ไลน์อัป ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องวงต่าง ๆ กัน เพราะจริง ๆ เราก็ไม่รู้ว่าที่อินโดฯ มีวงเจ๋ง ๆ อะไรบ้าง ก็ต้องไปถามคนอินโดฯ ไปงานเทศกาลของเขา ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนอะไรพวกนี้มันก็ชัดเจนขึ้น เชื่อมต่อกันได้รวดเร็วขึ้น อย่างที่งานต่างประเทศเองเขาก็มีที่ให้วงไทยไปเล่นเหมือนกัน สลับกันไป แต่ละประเทศก็มีวงดัง ๆ ระดับหลายล้านวิวอยู่เหมือนกัน คนก็จะได้ยินเพลงพวกนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนยังสามารถไปได้ไกลอีกมาก งานเทศกาลมันก็ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างประเทศพวกนี้มันเห็นเป็นตัวตนชัดเจนมากขึ้น”

“จริง ๆ ปีที่แล้วเราก็มีวงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายวง แต่คนไทยอาจจะยังไม่คุ้นนัก อาจจะไปฟังทางญี่ปุ่น เกาหลี อะไรอย่างนี้มากกว่า แต่ตอนนี้เหมือนในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็เริ่มรู้จักกันมากขึ้น คนเริ่มฟังเพลงจากประเทศเพื่อนบ้านกัน”

เห็นภาพการเชื่อมต่อกันข้ามพรมแดนกันโดยตรงแบบนี้เชื่อว่าใคร ๆ ก็ต้องดีใจ แต่แน่นอนว่ารัฐก็ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการจัดงานแบบนี้ได้อยู่ด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะด้านการจัดการเรื่องการเข้ามาโชว์ที่ประเทศไทยของนักดนตรีต่างชาติ หรือการสนับสนุนในแง่การท่องเที่ยว คู่กันไปกับการส่งเสริมวงการดนตรี อย่างล่าสุดปีนี้ เราก็แอบเห็นสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย

ก่อนจะจบบทสัมภาษณ์นี้ เราเลยขอให้พวกเขาช่วยแจกลายแทงสักหน่อย ว่างานมหรสพปีนี้ มีวงไหนที่น่าอยากแนะนำก่อนบ้าง

“เราขอเชียร์ทั้งแก๊งเอเชียเลยได้ไหม (หัวเราะ)” พี่ปูมบอก ในฐานะผู้จัดคอนเสิร์ตจากสายเอเชีย “มีตัวแทนมาจากแต่ละประเทศ ญี่ปุ่นก็มี Hitsujibungaku เกาหลีก็มี Silica Gel โหดมันฮามาก ใครเคยดูวงนี้จะรู้เลยว่าสนุก สิงคโปร์ก็มี Subsonic Eye ที่ไปเล่น KEXP ไปทัวร์อเมริกามาแล้วด้วย แล้วก็ Grrrl Gang จากอินโดนีเซีย มี FAZI จากจีนด้วย ถึงชื่ออาจจะไม่คุ้นหูแต่ถ้ามาดูไม่ผิดหวังแน่นอน อยู่ในลิสต์วงที่อยากดูสดมาก ๆ”

“อยากเชียร์ JPBS ครับ จริง ๆ ผมรู้จักวงมาสักพักแล้ว แต่เพิ่งได้ดูพวกเขาจริง ๆ ที่งาน DIAGE แล้วคือ โห มันอลังการมาก แล้วดนตรีที่เขาทำมันก็ทั้งมีความธรรมดา มีความยาก การใส่สไตล์ดนตรีหลาย ๆ อย่างเข้าไป แล้วก็เต้นได้ด้วยหลาย ๆ เพลงเลย ผมไม่ค่อยได้เห็นวงไทยที่ทำดนตรีออกมาแนวนี้ แล้วก็โชว์แสงสีที่เขาทำด้วยกันกับ DuckUnit ก็ดีมาก” พี่ท้อปบอก

“เราขอขาย AIR แล้วกัน เพราะกว่าจะพามาโชว์ได้ ต้องรวมพลังงานเอกสารอะไรกันกับเทศกาลดนตรีประเทศเพื่อนบ้าน ไม่รู้ว่าหลังจากนี้เขาจะทัวร์กันอีกเมื่อไร ก็เลยคิดว่าถ้าชอบก็มาเลย หรือไม่รู้จักก็ลองมาก่อนได้ AIR เป็นวงที่สร้างบรรยากาศได้ดี เขาสะกดคนดูได้เลย พวกเราเองก็เซอร์ไพรส์มากว่าได้ AIR มาเล่นแล้วว่ะ” พี่กิเล่า

และสำหรับพี่แป๋ง “ขอเป็น John Carroll Kirby เขาเป็นมือคีย์บอร์ดที่เล่นซินธิไซเซอร์ (เครื่องสังเคราะห์เสียง) แล้วก็เป็นโปรดิวเซอร์ดนตรีจากแอลเอ จะมีความเป็นดนตรีบรรเลง ออกแจ๊ส น่าจะเล่นช่วงเย็น ๆ เลย คิดว่าถ้ามาเร็ว ๆ ก็มานั่งดูชิล ๆ ฟังสบาย ๆ แล้วก็มีความเป็นเทศกาลมาก ๆ คนนี้เขาก็เคยทำเบื้องหลังให้หลายคนดัง ๆ มาก่อน”