‘มันดาลา’ หรือ ‘Rivulet of Universe’ คือภาพยนตร์ไทยที่นำตำนานเรื่อง ‘ท้าวปาจิตกับนางอรพิม’ มาดัดแปลงเนื้อหาใหม่ให้กลายเป็นภาพยนตร์ร่วมสมัย โดย ‘ใหม่ - พสธร วัชรพาณิชย์’ ศิลปิน ผู้กำกับ และนักเขียนบทรุ่นใหม่วัย 25 ปี โดยหลังจากตัดต่อเสร็จ ใหม่ก็ได้ส่งผลงานการกำกับหนังยาวชิ้นแรกของตัวเองไปเข้าร่วมในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเทอร์ดัม ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ แล้วก็ได้รับคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบไปฉายในโปรแกรม Bright Future และยังมีโอกาสได้ไปฉายต่อในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้อีกด้วย
ซึ่งหลังจากที่ใหม่ได้พา ‘มันดาลา’ ไปตระเวนฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอยู่นานหลายเดือน เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาก็ตัดสินใจกลับมาจัดฉายภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นครั้งแรกในเมืองไทย ภายในบริเวณ ‘ปราสาทหินพิมาย’ ยามค่ำคืน อันเป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้ ควบคู่ไปกับเทศกาลศิลปะเฉพาะกาลอย่าง ‘พิมายฬองวีค’ ที่ตัวเขาได้ทำร่วมกับเพื่อน ๆ ในนามของกลุ่ม ‘อัดสะจัน!’ (àt-sà-jan!) อาร์ตคอลเลคทีฟหน้าใหม่ที่ตั้งใจเปลี่ยนพื้นที่รอบปราสาทหินพิมายให้กลายเป็นลานศิลปะร่วมสมัยเชิงทดลอง
ล่าสุด ภาพยนตร์เรื่องมันดาลาก็ได้ฤกษ์กลับมาฉายให้คนไทยได้ดูกันแบบเต็ม ๆ อีกครั้งในโรงภาพยนตร์ ณ เทศกาล @worldfilmbangkok ครั้งที่ 16 ด้วยเหตุนี้ GroundControl เลยอยากจะพาทุกคนมาพูดคุยกับ ‘ใหม่ - พสธร วัชรพาณิชย์’ ถึงแนวคิด กระบวนการทำงาน ที่มาของแรงบันดาลใจ ไปจนถึงเคล็ดวิธีในการพาหนังยาวเรื่องแรกของตัวเองให้ทะยานไกลไปถึงระดับนานาชาติ รวมถึงการทำงานกับเพื่อน ๆ ในนามคอลเลกทีฟ ‘อัดสะจัน!’ ในงาน ‘พิมายฬองวีค’ ด้วย รับรองว่าหลังอ่านจบ ทุกคนจะต้องสนุกกับมันดาลาได้อย่างเต็มอรรถรสมากขึ้นแน่นอน!
จุดเริ่มต้นของมันดาลาและแรงบันดาลใจจากบ้านเกิด บนพื้นที่เปิดของขอบเขตเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะ
ใหม่: เวลาทำงานผมมักจะมองว่าตัวเองเป็นคนทำงานสไตล์คอนเซปต์ชวล เพราะรู้สึกว่าเป็นคนที่คิดและให้ความสำคัญกับการจัดการไอเดียเป็นหลักมากกว่า อย่างเวลาผมทำหนัง ผมเริ่มต้นจากการจัดระเบียบไอเดีย เหมือนกับว่าเราเห็นไอเดียก้อนหนึ่งแล้วรู้สึกว่ามันน่าสนใจ จากนั้นก็เริ่มคิดว่าจะมีอะไรใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงกับไอเดียนี้ได้ไหม ซึ่งทั้งหมดต้องมีทั้งความเข้มงวดและความยืดหยุ่น เพื่อให้ไอเดียต่าง ๆ เชื่อมโยงกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ตอนนั้นผมกลับมาอยู่บ้านที่โคราชเพราะช่วงโควิด และเริ่มเขียนบทหนังในช่วงนั้นด้วย
พอเริ่มพัฒนาโปรเจกต์ ผมมีคำถามเกี่ยวกับบ้านเกิดหลายอย่าง เลยเริ่มทำการรีเสิร์ช แล้วบังเอิญไปเจอเรื่องราวท้าวปาจิตกับนางอรพิมที่มันอยู่ในชีวิตผมตั้งแต่เด็ก ผมเองมีความทรงจำเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เรื่องแรกเลยคือตอนเด็ก ๆ ผมเคยแสดงละครเวทีในโรงเรียน มีซีนหนึ่งที่เด็ก ๆ นั่งดูละครแบบนั่งแถวหน้า ผมเองก็เป็นหนึ่งในตัวละครในเรื่องนั้น ภาพที่จำได้คือการแสดงบนเวทีและความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง อีกเรื่องหนึ่งคือ ช่วงที่มีการแสดงแสงสีเสียงในปราสาท ผมเคยเป็นนักแสดงในโชว์นั้นเหมือนกัน จำได้ว่าผมเป็นตัวแบกเสลี่ยงหรืออะไรประมาณนั้น
ตอนนั้นผมไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องนี้มันน่าสนใจอะไรเลย มันดูประหลาด ๆ และไม่น่าดึงดูดสำหรับผม แต่เมื่อโตขึ้น กลับได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น การได้ถ่ายหนังเรื่องแรกที่บ้านเกิดทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้กลับไปสู่สถานที่ที่มีความหมายกับผม ทำให้รู้สึกว่าสถานที่ที่เราถ่ายทำมีความทรงจำที่เชื่อมโยงกับตัวเรามากกว่าแค่เป็นฉากในหนัง
และนี่แหละคือจุดที่ทำให้ผมเริ่มต้นคิดเกี่ยวกับหนังของตัวเองอย่างจริงจัง ผมเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับตำนานของท้าวปาจิตกับนางอรพิม ซึ่งตอนแรกผมคิดว่ามันมีแค่เวอร์ชันเดียว แต่พอได้คุยกับนักวิชาการก็พบว่า ตำนานนี้มีหลายเวอร์ชันและไม่มีข้อถูกหรือผิด ทุกการเล่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ผมเห็นว่าแต่ละเวอร์ชันมีเรื่องราวที่ต่อยอดได้เรื่อย ๆ ทำให้ผมมีพื้นที่ที่จะเล่นกับมันเยอะมาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมเลือกใช้ตำนานนี้เป็นแกนหลักของเรื่องราวในหนัง
สำหรับผม เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เป็นของใครคนเดียว มันเป็นสิทธิ์ของคนเล่าที่จะส่งต่อและแสดงความเห็นของตัวเองออกมา คนเล่ามีอำนาจสูงสุดในการกำหนดทิศทางของเรื่องราว และผมคิดว่าเราสามารถเล่าต่อในแบบของเราเอง โดยไม่ต้องอิงกับฉบับไหน ๆ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผมตั้งใจทำในหนังเรื่องนี้ครับ
มันดาลากับบริบทร่วมสมัย และการสำรวจเรื่องราวของท้าวปาจิตกับนางอรพิมที่จมดิ่งกว่าเดิม
ใหม่: ถ้าสังเกตดูดี ๆ จะเห็นว่าตัวละครในเรื่องมีสองชุด คือ คนมักไม่คิดว่าตำนานหรือหนังของเราจะเกี่ยวกับคนรุ่นใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วตัวละครในเรื่องจะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือตัวละครที่มีอายุมากหน่อย และอีกกลุ่มหนึ่งคือคนรุ่นใหม่ รุ่นเรานั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีการปะทะกันระหว่างแนวคิดของทั้งสองกลุ่มอยู่เสมอ
คือว่า คนรุ่นพ่อแม่หรือคนรุ่นเก่าอาจยึดติดกับการเชื่อมโยงตัวเองกับถิ่นที่มาหรืออัตลักษณ์แบบเดิม ๆ ในขณะที่เรารู้สึกว่าการอยู่ที่ไหนบนโลกก็ได้เป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับถิ่นกำเนิดหรืออัตลักษณ์แบบเดิมขนาดนั้น ดังนั้น ตัวละครทั้งสองชุดนี้จึงมีรายละเอียดทางความคิดที่แตกต่างกันในเรื่องของการเชื่อมโยงตัวเองกับสิ่งรอบตัว
แน่นอนว่า บริบทในเรื่องเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ผมอยากให้เห็นว่าตำนานนี้ไม่ได้มีเพียงเวอร์ชันเดียว จริงๆ แล้วมันมีเวอร์ชันหนึ่งที่พูดถึง ‘ปาจิตตกุมารชาดก’ ซึ่งเป็นคำสอนพุทธศาสนาที่มาจากชาดกนอกนิบาต และเมื่อเข้ามาสู่พื้นที่ท้องถิ่น ก็มีการแต่งเติมเรื่องราวเข้ามาเพื่อให้เข้ากับท้องถิ่น และใช้ในการเล่าหรือเทศน์ในสมัยนั้น ผมรู้สึกว่ามันมีแก่นของเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งปราสาทในเรื่องก็มีแกนกลางที่เป็นภาพสะท้อนของพุทธศาสนาอยู่
นอกจากนี้ ผมได้ไปเจอคำว่า ‘มันดาลา’ ที่หมายถึงวงกลมศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธ เป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับการตื่นรู้หรือ Enlightenment ซึ่งผมรู้สึกว่าคำนี้มีความน่าสนใจ จึงนำมาตีความใหม่และใส่ลงในหนัง โดยใช้มันดาลาเป็นตัวแทนของการเข้าถึงจุดสำคัญของความรู้หรือการตื่นรู้ในแบบของเรา
ตัวละครสองชุดในเรื่องก็เลยถูกพัฒนาให้เข้ากับแนวคิดนี้ กลุ่มแรกอาจจะคล้ายกับตัวละครแบบดั้งเดิม เช่น ปาจิตหรืออรพิม ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ แต่กลุ่มที่สอง ผมตั้งใจทำให้แตกต่างออกไป โดยให้ตัวละครแสดงความเป็นตัวตนที่หลากหลายขึ้น เช่น การเป็นตัวแทนของ LGBT หรือการแสดงความเป็นตัวตนในรูปแบบสมัยใหม่ เพื่อสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในบริบทปัจจุบัน
มันดาลาที่เต็มไปด้วยสายน้ำ สัญลักษณ์สำคัญที่คนทำตั้งใจใส่
ใหม่: คือผมอ่ะ รู้สึกว่าตำนานนี้เป็นตำนานที่ถูกเล่าขานกันในพื้นที่อีสาน โดยเฉพาะบริเวณลำน้ำมูล ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของตำนานนี้ แม้เนื้อเรื่องของท้าวปาจิตกับนางอรพิมจะเกี่ยวพันกับสงคราม แต่การเล่าขานตำนานนี้มันปรากฏเด่นชัดที่สุดตามลำน้ำมูลและพื้นที่ใกล้เคียง ตั้งแต่ฝั่งเขมรจนถึงฝั่งไทย
อาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่าตำนานนี้มีร่องรอยที่ปรากฏในหลายพื้นที่ของสามประเทศ และถึงแม้ว่าพรมแดนหรืออัตลักษณ์ทางชนชาติสมัยนี้จะถูกขีดเส้นแบ่งจากแผนที่ แต่ในอดีต การเดินทางไปมาระหว่างกันเป็นเรื่องปกติ คือตำนานนี้อาจมีมาตั้งแต่พันปีที่แล้ว แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัดเพราะไม่มีต้นฉบับ แต่เราเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องของการเดินทางและการเชื่อมโยงของผู้คนในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลและสาขาของแม่น้ำอื่น ๆ
ผมเลยรู้สึกว่า ลำน้ำมูลมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ เช่นเดียวกับการสร้างหนัง ที่เป็นเหมือนการสำรวจเรื่องราวไปเรื่อย ๆ ไม่ต่างอะไรกับการเดินทางไปตามลำน้ำ
GC: หมายความว่าแม่น้ำในภาพยนตร์เป็นภาพแทนการไหลของเรื่องราว ที่ถูกถ่ายทอดไปตามกระแสน้ำใช่ไหม?
ใหม่: ใช่ อีกอย่างคือ ตอนผมเขียนบท ผมจะมีกิจวัตรประจำวันที่ชัดเจน คือตื่นเช้ามาเขียน พอบ่าย ๆ ก็หยุดพักไปวิ่ง ซึ่งสถานที่ที่เราอยู่มีแม่น้ำเยอะมาก พอเราวิ่งรอบ ๆ แม่น้ำบ่อย รู้ตัวอีกทีก็พบว่าตัวเองมีรูปถ่ายแม่น้ำเยอะมาก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานของเรา ผมเลยเอารูปพวกนั้นมารวมกันและใช้ในการจัดนิทรรศการชื่อว่า ‘Real Rhythm of Rivulet’ ที่ 6060 Arts Space (ตึกขาว) ซึ่งพูดถึงจังหวะของกระแสน้ำและจังหวะการทำงานของเรา มันเป็นการสะท้อนถึงกระบวนการที่เราผ่านมาตั้งแต่เขียนบทจนถึงตอนหนังเสร็จ
เมื่อสถานที่ก็เป็นตัวละคร กระบวนการทำงานเลย (ต้อง) มันส์กว่าเดิม
ใหม่: ผมมีหลายหน้าที่ ทั้งกำกับ เขียนบท ทำโพสต์โปรดักชั่น รวมถึงเป็นผู้ร่วมตัดต่อด้วย โดยเฉพาะการเขียนบท มันพิเศษตรงที่เรามองว่าสถานที่เป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่ง มันเลยทำให้เราตั้งเป้าว่าต้องถ่ายทำในสถานที่จริง ซึ่งไม่ใช่วิธีการปกติสำหรับหนังหลายเรื่อง
คือจริง ๆ ผมอาจจะถ่ายทำในสถานที่หนึ่งที่สะดวกกว่า แล้วจำลองว่ามันเป็นอีกที่หนึ่งได้แหละ แต่สำหรับผม พอเรามองว่าสถานที่เป็นตัวละครสำคัญแล้ว เราเลยต้องไปทุกที่ที่ตัวละครเราอยู่จริง ๆ เพราะอยากเก็บบรรยากาศของพื้นที่นั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด โดยในบางฉาก ผมจะต้องไปดูโลเคชันจริงก่อน ถึงจะเขียนบทออกมาให้ลงตัวได้ บทของเราเลยเชื่อมโยงกับสถานที่มาก ๆ สถานที่จึงมีบทบาทสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราว
และสายน้ำก็มีความหมายสำคัญต่อเรื่องราว ถ้าเปลี่ยนสถานที่ ความหมายก็อาจจะเปลี่ยนไป ผมอยากเล่าเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับสายน้ำจริง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ การเลือกสถานที่เหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารธีมหลักของหนัง
นอกจากการต้องลงพื้นที่จริงแล้ว มันยังเป็นการลงพื้นที่ในช่วงโควิดระบาด เลยมีความท้าทายสูงมาก เพราะระหว่างที่เราถ่ายทำตามแม่น้ำหลายสาย ตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปจนถึงอุบลราชธานี ระยะทางไกลมาก เรายังต้องจัดการกับการระบาดของโควิดในกองถ่าย มีการยกเลิกและเลื่อนการถ่ายทำหลายครั้ง และถ้ากองถ่ายหลักของเรามีคนติดโควิด เราต้องยกเลิกทุกอย่างและเริ่มใหม่อีกครั้ง ซึ่งทำให้หนังเรื่องนี้ถ่ายทำยาวนานกว่าที่คาดไว้ โควิดเลยเป็นปัญหาหนักที่สุด
ส่วนอีกอุปสรรคหนึ่งคือการจัดการกับคนหมู่มาก ในบางฉากเรามีทีมงานถึง 30-40 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมากกว่าที่เราเคยทำงานด้วย รวมถึงช่วงการตัดต่อก็ยากมากเหมือนกัน คือมันทำให้เรารู้เลยว่าทำไมผู้กำกับไม่ควรตัดต่อเอง แล้วยิ่งเรื่องนี้เป็นหนังยาวเรื่องแรกของเรา ทุกอย่างเลยเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราสุด
คือปกติถ้าเราตัดหนังสั้น มันจะง่ายกว่า เพราะใช้เวลาตรวจสอบน้อย แต่พอเป็นหนังยาว ต้องเช็กทุกฉาก ทุกจุดหลายรอบ มันกินพลังงานมาก บวกกับพอได้มาลองทำจริง ๆ คือเรารู้เลยว่าหนังยาวมีกระบวนการคิดและวิธีการทำงานที่ต่างจากหนังสั้นจริง ๆ ไม่ใช่แค่มองว่าหนังยาวคือการทำหนังสั้นหลาย ๆ รอบมาต่อกัน คือมันไม่ใช่แบบนั้นเลย สำหรับเรานะ ผมเลยต้องเรียนรู้ทุกอย่างไปตลอดการทำงานเลย
สิ่งที่ทำให้ผมผ่านทุกอย่างมาได้ดีขนาดนี้ ผมมองว่าความเป็นเพื่อนของคนในทีมมันช่วยกันเยอะมาก โดยเฉพาะในเรื่องการทำงาน เพราะเราสามารถปรับเปลี่ยนและโยกย้ายอะไรได้มากแบบเข้าใจกัน ซึ่งทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่น และทุกคนก็เชื่อใจกัน
วิธีการคัดเลือกนักแสดงที่เน้นจากความเข้ากันของตัวตนและตัวละคร
ใหม่: ตอนคัดเลือกนักแสดง ผมไม่ได้มองหามืออาชีพเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณ บวกกับใจจริง ผมอยากทำงานกับพื้นที่และคนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เลยเลือกใช้นักแสดงหน้าใหม่ หรือคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านการแสดงเป็นส่วนใหญ่เลย เรียกว่านักแสดงในเรื่องนี้ บางคนอาจเป็นรุ่นน้องที่เคยรู้จัก แล้วผมเห็นว่าเขามีความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ตามที่เราต้องการ หรือพอติดตามไลฟ์สไตล์เขาแล้ว เรามองว่าตัวตนของเขาใกล้เคียงกับบทนั้น ๆ เราก็จะติดต่อไป เรียกว่าเน้นหานักแสดงที่สามารถถ่ายทอดบทบาทให้เหมาะสมตามที่เราต้องการ โดยเน้นการพัฒนาจากพื้นฐานธรรมชาติของพวกเขามากกว่า
ส่วนการคัดเลือกนักแสดงหลัก ผมจะหาคนที่สามารถคุมเรื่องให้เดินหน้าได้ เราเลยเลือกจากคนที่ไว้วางใจและมั่นใจว่าจะสามารถขับเคลื่อนเรื่องราวได้อย่างที่เราต้องการ เช่น ตัวละครหลักที่เห็นในภาพโปรโมทบ่อย ๆ คือพี่จ่อยที่เราเคยทำงานร่วมกันในโปรเจ็กต์หนังสั้นมาก่อน เรารู้ว่าเขามีความสามารถที่เข้ากับบทนี้ ซึ่งก็มีการปรับบทให้เข้ากับบุคลิกของนักแสดง
ทีนี้พอนักแสดงมือใหม่เยอะกว่า เราเลยให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานให้นักแสดงผ่านการเวิร์กชอป คือเราจะมีการเวิร์กชอปการแสดงอย่างจริงจัง ทุก ๆ สัปดาห์ พวกเขาเลยจะได้เข้าคลาสเรียนการแสดงที่เราออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อฝึกฝนการเป็นตัวละครนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอิมโพรไวซ์ การบล็อกกิ้ง และการซ้อมคิว จนเมื่อถึงโลเคชันจริง นักแสดงทุกคนจะพร้อมถ่ายได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวมาก ซึ่งช่วยให้การถ่ายทำเป็นไปอย่างราบรื่น
ทำอย่างไรถึงได้ไปฉายต่างประเทศ?
ใหม่: อย่างแรกคือการที่ผมเริ่มทำหนังของตัวเองเลย (หัวเราะ) แน่นอนว่าในตอนแรกก็ยังไม่ได้เป็นงานที่จบสมบูรณ์หรอก ทุกอย่างเป็นการลองผิดลองถูก ทำไปเรื่อย ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่างานของเรามาถึงจุดที่พร้อมจะส่งเข้าประกวดในเทศกาลต่าง ๆ ตอนนั้นยังไม่คิดว่าเป็นมืออาชีพเท่าไร แต่เมื่อผ่านกระบวนการไปถึงขั้นนี้ ก็รู้มากขึ้นไปเอง
ในช่วงแรก ตอนที่ผมส่งผลงานไปเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเทอร์ดัม ยังเป็นเวอร์ชันที่ไม่สมบูรณ์พอที่จะฉายในโรงภาพยนตร์ เพราะยังเหลือรายละเอียดที่ต้องเก็บอีก ถ้าหากเทศกาลคัดเลือกรับเข้าฉาย เราก็จะกลับมาเก็บรายละเอียดอีกทีเพื่อให้สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งการที่หนังได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลใหญ่เป็นอะไรที่เราคาดไม่ถึง ความรู้สึกในตอนนั้นไม่ได้ถึงขั้นว่า ‘ต้องได้’ แต่เป็นเหมือนโอกาสที่ลองส่งไป ถ้าติดก็ดี ถ้าไม่ติดก็ลองที่อื่นต่อ ตอนที่ผลตอบรับกลับมาว่าหนังได้เข้าฉายที่เทศกาลใหญ่ขนาดนั้น มันก็ดีใจ
ในงานฉายรอบแรกที่เนเธอร์แลนด์ ผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก และรู้สึกดีที่ได้ฉายกับผู้ชมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม พอไปฉายหน้างานแบบนี้ เราก็จะเห็นฟีดแบ็กจากผู้ชมได้ทันที คือหลาย ๆ คนก็จะแสดงความรู้สึกและตีความหนังต่างกันออกไป บางคนอาจจะเดินออกจากโรงกลางเรื่องได้เลย ซึ่งในเทศกาลสไตล์นี้ การเดินออกกลางเรื่องถือเป็นเรื่องปกติเลย เพราะพวกเขาเลือกได้ว่าจะดูเรื่องไหน มันฉายพร้อมกันหลายเรื่องมาก ซึ่งเราก็ลุ้นว่าจะมีคนนั่งดูหนังเราจนจบ และมาร่วมพูดคุยในช่วงเสวนาหลังจากนั้นหรือเปล่า ซึ่งก็มี
ส่วนหนึ่งที่ประทับใจมากจากการไปฉายหนังครั้งนั้น คือการได้เจอผู้ชมในชีวิตประจำวัน เช่น ตอนเดินไปซื้อของแล้วมีคนทักว่าจำเราได้เขาชอบหนังของเรามาก มันสร้างความรู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเองสุด ๆ พอถึงคราวฉายที่ประเทศจีนอย่างที่ปักกิ่งก็น่าประทับใจมากเหมือนกัน เพราะกลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจมาดูหนังอย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาของหนังพูดถึงเรื่องราวเก่าแก่ แต่กลับดึงดูดผู้ชมที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้
ความยากของการฉายหนังครั้งแรกบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ และการจัดงานคู่ขนานกับเทศกาลศิลปะพิมายฬองวีค
นอกจากการฉายหนังครั้งแรกบนพื้นที่ประวัติศาสตร์ ใหม่ยังร่วมมือกับเพื่อน ๆ ในอาร์ตคอลเลคทีฟนาม ‘อัดสะจัน!’ ในการจัดงาน ‘พิมายฬองวีค’ ประกอบไปด้วย ชิตพล แพงเวียงจันทร์, ณภัทร รุ้งระวีวรรณ, พสธร วัชรพาณิชย์, ภัคพล วันเนา และ มนธิการ์ คำออน คิวเรตโดย ปิยธิดา อินตา และ พชรกฤษณ์ โตอิ้ม เทศกาลศิลปะเชิงทดลองที่สัมพันธ์กับพื้นที่อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อสำรวจกระบวนการปฏิบัติทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ อำนาจ ถิ่นที่ และปรากฏการณ์ ให้ทุกคนได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ไปด้วยกัน ด้วยเหตุนี้เราเลยถามใหม่ถึงที่มาที่ไปของการรวมสองโปรเจกต์นี้เข้าด้วยกัน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และท้าทายแค่ไหน
ใหม่: ผมกับเพื่อน ๆ ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วครับ แต่ยังหาที่แสดงงานไม่ได้สักที ตอนแรกตั้งใจจะจัดที่กรุงเทพฯ คิดจะทำ Open Studio โดยเช่าห้องสักที่หนึ่งมารวมตัวกัน แต่ก็ต้องจองล่วงหน้าข้ามปี หรือต้องหาทางอื่น ๆ ที่จะสามารถแสดงงานในแกลเลอรีได้ แต่ด้วยความที่ทุกคนอยู่กันคนละที่ บางคนต้องไปเรียนต่อที่เบอร์ลิน บางคนอยู่เชียงใหม่ บางคนอยู่กรุงเทพฯ ส่วนผมเองก็อยู่โคราช เลยคิดว่าควรจัดแสดงงานช่วงเดือนกันยายนก่อนที่คนหนึ่งจะไปเรียนต่อ พยายามหาพื้นที่จัดในกรุงเทพฯ และคิดไปถึงจุดยืนของการรวมกลุ่มศิลปินด้วย แต่สุดท้ายผมเลยเสนอว่า ถ้ากรุงเทพฯ ยังไม่ใช่คำตอบ เราน่าจะลองมาดูที่พิมายกันไหมเพราะเรากำลังทำโปรเจกต์ฉายหนังมันดาลาอยู่ มันเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์พิมายฬองวีคไปด้วย
พองานสองส่วนนี้มาจัดแสดงควบคู่กัน มันเหมือนงานของผมเติมเต็มงานของเพื่อน และงานของเพื่อนก็เติมเต็มงานของผมด้วยเช่นกัน และเมื่อหนังของเราเข้าฉายในไทยครั้งแรกที่พิมาย การตอบรับที่อบอุ่นจากผู้ชมท้องถิ่นทำให้เรารู้สึกดีมาก ๆ เราหวังว่า หนังอินดี้ของเราจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนเปิดใจรับชมหนังแนวใหม่ ๆ และสัมผัสกับศิลปะภาพยนตร์ในมุมมองที่แตกต่างจากภาพยนตร์กระแสหลัก อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้หนังจากผู้สร้างอิสระคนอื่น ๆ ได้รับการต้อนรับเช่นกัน
ผลงาน 'ยามแลง' โดย มนธิการ์ คำออน หนึ่งในผลงานที่จัดแสดงในเทศกาลพิมายฬองวีค โดยในค่ำคืนสุดท้ายของเทศกาลพิมายฬองวีค มนธิการ์จะมีการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ประกอบด้วย
ผลงาน 'เทวาซีน ส่วนที่ ๑ (ในฉากทัศน์ของจตุรเทพ)' โดย ภัคพล วันเนา หนึ่งในผลงานที่จัดแสดงในเทศกาลพิมายฬองวีค
อนาคตในวงการภาพยนตร์ และมุมมองใหม่ ๆ ที่อยากไปสำรวจต่อ
เมื่อเข้าสู่ช่วงสุดท้าย ก็ถึงเวลาของคำถามเรื่อง ‘อนาคต’ กับการสำรวจลงไปในมุมมองของใหม่บ้างว่า ในฐานะคนที่เพิ่งเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ไม่นาน เขามองอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในอนาคตอย่างไร และคิดว่าตัวเองจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างไรบ้างหรือเปล่า? ซึ่งเขาก็ค่อย ๆ อธิบายความคิดของตัวเองให้ฟังว่า
ใหม่: ผมมองว่าตัวเองเป็นมือใหม่ในวงการนี้มาก เพราะเพิ่งเข้ามาได้ไม่นาน เรียนจบมาก็ไม่นาน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้คือทำเอง สร้างเครือข่ายของตัวเอง มากกว่าการทำงานในระบบอุตสาหกรรมภาพยนตร์แบบเต็มตัว แต่ในฐานะผู้สร้างอิสระ ผมรู้สึกว่าการเข้าถึงผู้ชมในพื้นที่ต่าง ๆ ยังทำได้ไม่กว้างพอ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำหนังอิสระที่อยากให้ผลงานเข้าถึงผู้ชมในหลาย ๆ ที่
จริงอยู่ที่ตอนนี้จะเริ่มมีกลุ่ม Microcinema ตามจังหวัด ที่นำหนังนอกกระแสไปฉายอยู่บ้าง แต่นั่นก็ยังมีข้อจำกัด เพราะหนังอิสระมักมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ทำให้การจัดสรรรอบฉายหรือการยืนระยะอยู่ในโรงหนังเป็นไปได้ยาก แตกต่างจากสตูดิโอใหญ่ที่มีเงินโปรโมท มีนักแสดงชื่อดัง
แต่ผมยังเชื่อว่าถ้าหาหนทางให้หนังได้ฉายรอบที่เหมาะสม แม้แต่วันละรอบในโรงที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ก็น่าจะทำให้เกิดกระแสปากต่อปากได้ ซึ่งการมีประสบการณ์ร่วมกันในโรงหนังยังสำคัญ เพราะถึงแม้ว่า Netflix จะเข้าถึงง่ายขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดและยังไม่สามารถมาแทนที่ประสบการณ์ในโรงภาพยนตร์ได้
ถ้าหนังอินดี้หรือหนังอิสระสามารถเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ได้จริง อย่างน้อยคนที่สนใจอาจจะได้ลองเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ถึงแม้เขาจะไม่คลิกกับหนังทันที แต่ก็น่าจะได้สำรวจมุมมองใหม่ ๆ จากหนังเหล่านี้ได้ บางทีโรงหนังท้องถิ่นอาจเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความหลากหลายและความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ด้วยซ้ำ แม้แต่ในหัวเมืองใหญ่เองก็ยังหายากที่จะหาหนังอิสระฉายรอบได้
GC: ก่อนจะเข้าสู่คำถามปิดท้าย อยากถามในฐานะที่คุณใหม่เป็นผู้กำกับว่า คิดว่าอะไรคือเอกลักษณ์ในงานของตัวเอง และคิดว่าผู้กำกับจำเป็นต้องมีลายเซ็นของตัวเองไหม?
ใหม่: ในฐานะผู้กำกับและคนทำงานศิลปะ ผมก็ปรับเปลี่ยนความสนใจไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน ผมอาจจะไม่แน่ใจในเรื่องเอกลักษณ์ที่จะต้องนิยามตัวเอง ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับคนรอบข้างจะนิยามเราเอง ผมทำในสิ่งที่ผมสนใจและรู้สึกจริง ๆ โดยไม่ได้คิดว่าต้องมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน แต่ถ้างานที่ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องมีมากพอ บางทีเมื่อมองย้อนกลับไป เราอาจจะเห็นเส้นทางของตัวเองที่ชัดเจนว่าแตกต่างหรือเหมือนใคร ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าในตอนนี้ตัวเองยังมีความสนใจที่จะต่อยอดสิ่งเดิมไปเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตข้างหน้ามันอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ แต่จะเปลี่ยนเป็นอะไรก็คงต้องรอดูกัน
GC: ช่วยสปอยงานหรือโปรเจกต์ใหม่ที่กำลังทำอยู่ได้ไหม?
ใหม่: นิดนึงก็ได้ก็คือ โปรเจกต์ใหม่จะเป็นหนังยาวเหมือนกัน แล้วเรายังสนใจเศษซากของอารยธรรมโบราณอยู่เหมือนเดิม พล็อตเรื่องก็จะพูดถึงหัวหน้าทีมขุดค้นชาวต่างชาติ แบบชื่อดังระดับโลกเลยอะไรแบบนี้ แล้วเขาเข้ามาทำงานในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใจกลางหุบเขาทางภาคอีสานของไทย ทีนี้ ไป ๆ มา ๆ หัวหน้าทีมคนนี้ดันเสียชีวิตแบบผิดปกติ ชาวบ้านเลยเอาไปโยงกับเรื่องอาเพศ แล้วพอตำรวจเข้ามาสอบสวนก็จะเจอเรื่องประหลาดมากมาย ฟีลลัทธิ รวม ๆ เลยจะเป็นคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในหุบเขา มีฉากหลังเป็นเรื่องลึกลับ โบราณสถาน และการค้นหาความจริง อะไรแบบนี้ครับ
GC: คุณใหม่อยู่กับหนังเรื่องนี้มานานมาก ถ้าคุณสามารถพูดกับมันได้ อยากจะพูดว่าอะไร?
ใหม่: สำหรับผม หนังเรื่องนี้มันคือบทบันทึกของช่วงชีวิตหนึ่ง การทำหนังมันเป็นเหมือนการบันทึกว่าในช่วงเวลานั้นเราใส่ใจอะไร สนใจอะไร มุ่งไปทางไหน มันเป็นบทบันทึกที่สะท้อนตัวเราในช่วงชีวิตวัยนี้จริง ๆ และถือว่าเป็นความทรงจำที่ดีมาก ๆ ขอบคุณมากครับ
ภาพยนตร์มันดาลา จะฉายใน งาน World Film Festival of Bangkok Official ครั้งที่ 16 ตั้งแต่วันนี้ -17 พฤศจิกายน 2567 ที่ SF Cinema สาขาเซ็นทรัลเวิลด์