RAPID EYE MOVEMENT กับการสะกิดความ(ไม่)หลากหลาย ในพื้นที่ฉายหนังของไทย

Post on 5 July

ถ้าได้ยินคำอย่าง “ช่องทางธรรมชาติ” หรือ “สายมืด” แล้วเข้าใจความหมายทันที อาจแปลว่าคุณเป็นคนรักหนังคนหนึ่ง ที่ความกระหายจะได้เห็นเรื่องราวใหม่ ๆ ของภาพเคลื่อนไหว โดยไม่หยุดอยู่แค่โปรแกรมหนังยาวของโรงหนังใหญ่(ไม่)ใกล้บ้าน การมีอยู่ของคำเหล่านี้แสดงให้เห็นทั้งความพยายามของซิเนไฟล์ไทยที่ต้องการเสพความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็แสดงให้เห็นเส้นทางที่ไม่ง่ายนักในที่จะเข้าถึงจักรวาลที่กว้างใหญ่ของงานภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นฉากหลังของการรวมตัวเป็นกลุ่มฉายหนังมากมาย รวมไปถึง ‘Rapid Eye Movement’

เพ็ญจันทร์ ลาซูส, ตุลพบ แสนเจริญ, สถิตย์ ศัสตรศาสตร์, ภาริณี บุตรศรี, สิกานต์ สกุลอิสริยาภรณ์ และ ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์ คือกลุ่มศิลปินและคนทำหนังที่วันนี้รับบทบาทเป็นผู้จัดโปรแกรมฉายหนังที่ตั้งชื่อจากภาวะที่ตาเราเคลื่อนไหวอย่าง Rapid Eye Movement หรือ REM ซึ่งตั้งใจนำสื่อที่อิงกับช่วงเวลา (time-based media) อย่างหนังรูปแบบต่าง ๆ มาฉายในโรง เพื่อทำให้คนและงานเข้าถึงกันได้มากขึ้น เหมือนประโยคหนึ่งในบทสนทนากับเราที่เขาพูดขึ้นมาว่า

“ถ้าหนังมันเข้าถึงได้ (accessible) เราก็ไม่มีความจำเป็นต้องเอามาฉาย แต่พอมันหาดูยากและอยากให้ดูในโรงพวกเราก็เลยเอามาฉายดีกว่า”

‘Nexus of Absentias’ เป็นโปรแกรมที่สองแล้วที่พวกเขาฉายในวันที่ 21 พฤษภาคม นี้ แต่เบื้องหลังการรวมตัวของพวกเขาเป็นยังไง ทำไมถึงต้องฉายหนังที่หลากหลายขึ้น และจะสร้างพื้นที่สำหรับสื่อที่แตกต่างออกไปจากที่พบเห็นได้ง่ายยังไง เดินเข้าโรงกับ GroundControl มาคุยกับพวกเขาได้ ในบทสัมภาษณ์นี้

ซีนที่ 1 : รวมตัวกัน

ภายใต้ร่มใหญ่ของงานประเภทภาพเคลื่อนไหวและสื่อ Time-based โปรแกรมของ REM เลยเต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้น ตั้งแต่ศิลปะแสดงสด (Performance Art) ที่สังเคราะห์กันกับประติมากรรมเป็นตัวตนใหม่ หรือภาพจากกล้องฟิล์มและสมาร์ทโฟน และยังคงเปิดกว้างอย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งก็เป็นผลมาจากความคิดที่จะรวมกลุ่มขยายพื้นที่ให้เลือกชมหนังมิติใหม่ ๆ โดยมีแก่นหรือธีมเป็นสิ่งร้อยเรียงงานต่าง ๆ ในแต่ละโปรแกรม

“ตอนแรกที่คิดว่าจะตั้งเป็นกลุ่มก็แค่อยากดูหนังด้วยกัน ก็เลยคิดว่าจะคัดเลือกหนังแล้วก็ขยายให้คนอื่นดูด้วย แล้วก็ค่อย ๆ รวมตัวกันเข้ามา โปรเจกต์ก็ชัดเจนขึ้น” ปลื้ม - ชนสรณ์ ชัยกิตติภรณ์ เล่าที่มาของโปรเจกต์นี้

“เราเป็นคนทำหนังก็จริงแต่ก็เป็นคนดูหนังด้วย ก็เหมือนดูหนังแล้วชอบก็มาแชร์กัน”

“จะฉายหนังที่มันมีความหลากหลายขึ้น อยากให้มันมีมิติใหม่ ๆ ของหนังที่ถูกฉายในสังคมเรา คือเวลาจะดูหนังอะไรสักอย่างในโรงหรือตามอีเวนต์ส่วนใหญ่จะเป็นหนังในกระแสหลัก"

"แค่อยากให้มันมีมิติใหม่ ๆ ของหนังที่ถูกฉายในสังคมเรา อยากให้มันมีความหลากหลายเฉย ๆ ไม่อยากจำกัดว่าเราทำหนังแบบนี้ฉายหนังแบบนี้”

สำหรับแนวทางของสิ่งที่ฉาย พวกเขาอธิบายว่ามีจุดสำคัญเพียงต้องการนำสิ่งที่น่าสนใจตามแนวคิดที่วางไว้ แต่ไม่สามารถหาชมได้ง่ายนักในไทย

“พวกเราสนใจภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด หรือภาพนิ่งแบบ La Jetée ก็เอา บางทีคนรู้สึกห่างไกลกับหนังบางประเภทก็จะโยนไปเลยว่าเนี่ยเป็นหนังทดลอง ไม่ใช่หนังคุ้นเคยที่เคยดู แต่พวกเราไม่ได้เลือกตีกรอบจะฉายแต่หนังประเภทใด ในนี้ก็มีหนัง Fiction ที่มีการเล่าเรื่องอยู่เหมือนกัน เพราะจุดสำคัญคือหนังที่ถูกนำเสนอน้อย (underrepresent) ในไทยมากกว่า ที่คนดูจะมีโอกาสเข้าถึงได้ยาก แต่หาดูยากไม่ได้แปลว่าหนังทดลอง ไม่อยากมีกรอบตรงนี้”

“สมมุติใครในทีมมีไอเดียหรือเฟรมเวิร์คมา เราก็จะคิดว่าในเฟรมเวิร์คนี้มีหนังอะไรที่มันเข้ากัน ที่หาดูยากและอยากให้ได้ดู อย่างบางเรื่องก็มีโอกาสได้ดูที่เทศกาลหนังแล้วชอบก็เลยอยากเอามาแชร์” “บางเรื่องก็เจอจากหนังสือหนัง ซึ่งก็เป็นด้านหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักหนัง แต่ก็หาดูไม่ได้ บางเรื่องเราไม่เคยดูในโรง ก็อยากรู้ว่าถ้าดูในโรงจะเป็นยังไง”

ซีนที่ 2 : ระดมไอเดีย

แต่ละโปรแกรมของพวกเขามีคอนเซปต์ที่ชัดเจน และมีงานที่ฉายแง่มุมต่าง ๆ อย่างใน ‘Untouchable Contacts’ โปรแกรมแรกที่พวกเขาชวนมาคิดถึงร่างกายใหม่ ซึ่ง จัน เพ็ญจันทร์ ลาซูส อธิบายไว้ได้น่าสนใจ

“แต่ละคนก็จะเลือกธีมหลาย ๆ แบบแล้วมาโยน ๆ ไอเดียกันว่าอะไรน่าสนใจ ตอนแรกก็พยายามตีสโคปกว้าง ๆ ดูเยอะ ๆ ถ้ารู้สึกว่าอันไหนดีแล้วค่อยมาคุยกัน ธีมแรกสนใจเรื่องร่างกาย ก็มีเรื่องของร่างกายที่เป็นบริเวณ (site) ที่มีความตึงเครียด (tension) มีความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง มาดึงดันกัน และพลังงานที่มันอยู่ตรงนี้มันเปลี่ยนหรือปลดปล่อยผ่านร่างกายยังไงบ้าง หลัก ๆ ก็พยายามเลือกหนังหลาย ๆ เรื่อง ที่มีแง่มุมไม่เหมือนกันเลย”

“ตอนแรกมีธีมคร่าว ๆ แค่สนใจจะพูดเรื่องนี้ ก็ดูว่ามีหนังแบบไหนน่าสนใจ แล้วถึงเริ่มมีแพทเทิร์นและไอเดียที่มันชัดขึ้น ว่าจะพูดถึงแง่ไหน เวลาดูเราก็ขอลิ้งค์ดูจากศิลปินมาดูเลย”

“ไม่แน่ใจว่าแบ่งเป็นประเทศได้ไหม เพราะแต่ละประเทศก็มีความหลากหลายเหมือนกัน ศิลปินแต่ละคนจากแต่ละประเทศก็ทำงานแตกต่างกันมาก” “มันจะเห็นความเป็นประเทศอย่างในคน ในภูมิทัศน์ ในสิ่งแวดล้อมมากกว่า ตั้งใจให้มีความหลากหลายเฉย ๆ” “คราวนี้มันเป็นเรื่องของร่างกายด้วย คือมันมีเรื่องของชาติพันธ์ (Ethnicity) ที่อยากให้มีความหลากหลายในภาพตัวแทน (Representation) เพราะอย่างเรื่องร่างกายมันมีแนวโน้มที่จะมีภาพตัวแทนของร่างกายอยู่แค่แบบเดียว เลยสำคัญที่จะต้องขยายให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ภายในข้อจำกัดของจำนวนเรื่อง”

ซีนที่ 3 : สร้างบทสนทนา

หนังจบทำไมคนต้องจบ สิ่งหนึ่งที่เราจะสังเกตได้ทันทีจากโปรเจกต์นี้คือการสร้างและต่อยอดบทสนทนา จากในแต่ละงานที่ฉาย จากการจัดโปรแกรมให้แต่ละงานมาอยู่ด้วยกัน หรือจากประสบการณ์ของผู้ชมแต่ละคนและความคิดของคนทำหนังเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างก็เหมือนเป็นประตูพาเราไปสู่สื่อรูปแบบใหม่ ๆ ได้ทั้งนั้น

“ในบริบทไทย พื้นที่ให้หนังแมสมันมากจนไม่มีพื้นที่สำหรับสิ่งอื่น แล้วคนก็อาจจะชินกับสิ่งนั้น เราก็รู้สึกว่าที่จริงถ้าเขามี access สามารถเข้าถึงสิ่งพวกนี้ เขาอาจจะอยากดูมากขึ้นและเห็นค่าพื้นที่การดูหนังที่หลากหลายกว่านี้”

“ถ้าเราไม่ได้มีความคาดหวังมาก่อนว่าหนังมันควรเป็นแบบนี้ ๆ มีธีมเพลง มีฮีโร่ แล้วลองดูว่ามันคืออะไรข้างหน้าเรา แล้วอยู่กับสิ่งนั้น มันก็เป็นอะไรที่เข้าถึงได้ ทุกคนมี Entry Point ไม่เหมือนกัน โปรแกรมนี้ก็อาจจะเป็น Entry Point ของหลายคนก็ได้”

ปลื้มยกประสบการณ์ของตัวเองมาเล่าว่าทำไมการขยายมุมมองไปชมสื่อใหม่ ๆ จากที่เคยรู้จักเรื่อย ๆ ถึงเป็นเรื่องน่าสนใจ “สมัยก่อนตอนเรียนหนัง เวลาดูหนังในโรงจะรู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ต้องใช้เงินยังไง มีคำถามแบบเด็กทั่วไป แต่พอดูหนังหลาย ๆ เรื่องก็รู้สึกว่ามันทำแบบนี้ก็ได้นี่หว่า เป็นหนังได้ ไม่จำเป็นต้องมโหฬารใช้เงินใหญ่โต มันทำให้เห็นความเป็นไปได้”

“หลายอย่างเราไม่เคยคิดถึงมันมาก่อนหรือไม่ได้มีประสบการณ์กับมัน หนังบางเรื่องก็ให้ประสบการณ์เฉพาะมาก ที่เราไม่เคยรู้เลยว่ามันมีแบบนี้ พอดูแล้วเราก็ได้ไอเดีย เหมือนเจอหน้าต่างให้มองออกไป”

“อยากให้การฉายหนังมีเยอะขึ้น เอาสิ่งที่คนดูน้อยมาให้มีโอกาสได้ดูเป็นปกติ ไม่ได้จะไปหักล้างอะไร แต่ให้เป็นบทสนทนา”

“การทำโปรแกรมแบบนี้มันเป็นการสร้างบทสนทนา (dialogue) ที่มันกว้างขึ้นด้วย ไม่ได้ดูหนังแค่ในตัวมันเอง แต่คือการสร้างอีกชั้น (layer) หนึ่งในการคิดหรือคุยเรื่องนั้น”

“การ Q & A คุยกับคนทำหนังในแต่ละโปรแกรมก็อยากให้เป็นอีกชั้นหนึ่ง นอกจากประสบการณ์การดูของเรา ถ้าคนที่ไม่ค่อยได้ดูหนังแบบนี้ก็อาจจะสนใจว่าคนทำเขาคิดอะไร มีความตั้งใจอะไรบ้าง มันจะช่วยให้อะไรที่มันเข้าถึงยากมันชัดขึ้นมา หรือเราสนใจมากขึ้นว่าเขาคิดยังไง ได้ด้านอื่นมากกว่าเวลาดู เป็นการชวนคุยกันต่อหลังดูจบ”

“เราไม่ได้อยากแค่ฉายแล้วจบไปเลย แล้วคนที่ยังหาทางเข้าไม่ถูกก็อาจจะงงได้ ถ้ามันมีคุยกันเรื่องไอเดียเรื่องอะไรก็อาจจะเข้าง่ายขึ้น การดูไม่รู้เรื่องมันเพราะโครงสร้างการเล่าบางอย่างที่เราชิน พอบางทีเราเจอรูปแบบการเล่าแบบอื่น ถ้ามันไม่มีทางเข้ามันก็ยาก พอคุยกันแล้วเขาอาจจะมีวิธีเข้าหนังใหม่ ๆ มันจะชินแล้วดูต่อ ๆ ไปได้” “อย่างหนังมาร์เวลหรืออะไรก็ตามมันก็เป็นการทดลองมาก่อน ถึงมีวิธีเล่าแบบนี้ได้”

“หนังมันไม่ได้มีแค่สำหรับการบันเทิง คือมันบันเทิงก็ได้ แต่วิธีที่เราตื่นเต้นกับงานนั้น ๆ มันอาจจะเพราะมันเล่าในแบบที่เราไม่เคยเล่า เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ หรือมันเสนออะไรที่แตกต่าง แล้วความหลากหลายมันสด (refreshing) มันตื่นเต้น บางอันก็สนุกที่ความคิด บางอันก็สนุกที่เรื่องก็มี ถ้าเอาความสนุก แต่ละคนก็ได้รับประสบการณ์จากหนังแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน”