ทำหนังให้เป็นกลางกับ อิฐ - ปฏิภาณ บุณฑริก ผู้กำกับ Solids by the Seashore ภาพยนตร์บนผืนผ้าใบที่ชวนให้ใคร ๆ มาช่วยกันเติม

Post on 15 January

“ในยุคหนึ่ง ผู้หญิงอาจไม่มีสิทธิมีเสียงและมีไม่มากนักที่สามารถขึ้นมาเป็นผู้กำกับได้ แต่ในกรณีของเรา ระหว่างที่กำลังพัฒนาเรื่องนี้ก็ถูกตัดสินในมุมกลับกันเหมือนกัน ว่าเป็นผู้กำกับชาย ก็คงมาทำหนังเรื่องนี้ไม่ได้” ปัญหาที่ผู้กำกับอย่าง อิฐ — ปฏิภาณ บุณฑริก เจอ ก็คือปัญหาแบบเดียวกันกับตัวละครของเขา ใน ‘Solids by the Seashore’ หรือ ‘ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง’ ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของหญิงสาวชาวมุสลิมที่โดนครอบครัวกดดันให้แต่งงานกับศิลปินสาวที่เดินทางมาจัดนิทรรศการศิลปะว่าด้วยเขื่อนหินกั้นคลื่นที่ภาคใต้

ฟังดูแล้วอาจสังเกตุเห็นทั้งเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเพศ เรื่องศาสนา เรื่องสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องศิลปะ แต่สำหรับอิฐ เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเหมือนประเด็นย่อย ๆ ที่เรียงร้อยกันเข้าอย่างงดงามใต้แนวทางการทำหนังที่พยายาม “ไม่ตัดสินใครไปก่อน” เหมือนในเรื่องราวที่เขาเจอมา เพื่อชวนผู้ชมมามองประเด็นที่หลากหลายในเรื่องทั้งหมดใหม่ ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่เข้าใจกันไปว่าคือเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ อาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

“จริง ๆ มันเป็นเรื่องเดียวกันนะ” เขาแอบบอกใบ้ “สิ่งที่เราตั้งใจนำเสนอมันคือเรื่อง Human Construction หรือโครงสร้างที่มนุษย์สร้าง อย่างเขื่อนหินมันเป็นรูปธรรมเลยว่ามนุษย์สร้างโครงสร้างหนึ่งขึ้นมาแล้วทำลายธรรมชาติ ความเชื่อบางอย่างก็อาจจะเป็นโครงสร้างที่มนุษย์สร้าง ระบบสังคม หรือกฎหมาย” ซึ่งถ้าใครไปดูมาก็คงเห็นแล้วว่าเขาร้อยเรียงเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่าง ‘เป็นศิลปะ’ อย่างไร

“หนังเรื่องนี้คือผ้าใบวาดภาพที่เราเพนต์ไปประมาณหนึ่ง แล้วเราก็ยื่นพู่กันให้ทีมคนอื่นๆ แล้วถ้าเขาอยากทำอะไร ลงสีอะไรในพาร์ตของตัวเองก็ทำเลย โดยเราเองอาจจะแค่ดูแค่ว่าทิศทางยังไปในทางเดียวกันอยู่ เราเองก็ตื่นเต้นด้วยว่าภาพจะออกมาเป็นอย่างไร จนสุดท้ายก็มาเป็นเวอร์ชั่นที่ฉายอยู่ในโรง” วันนี้หนังของเขาได้กลายเป็นผลงานที่จัดแสดงในโรงภาพยนตร์เรียบร้อยแล้ว รอให้ทุกคนมาช่วยตีความ เราเลยชวนเขามาคุยถึงเบื้องหลังการแต้มสีให้หนังในบทสัมภาษณ์นี้ ซึ่งเต็มไปด้วยแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายหนังทั้งที่เขียนบทไม่จบ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงและศิลปินร่วมสมัย รวมไปถึงทัศนคติในการขายงานเพื่อให้ได้ทำหนังที่เป็นส่วนตัวอยู่

มองให้เป็นกลาง ทำหนังแบบไม่ตัดสินใครไปก่อน

เป็นผู้ชายจะทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงมุสลิมที่ดูจะสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนเพศเดียวกันได้อย่างไร? เราไม่ได้ถาม แต่อิฐคงได้ยินประโยคนี้มานับครั้งไม่ถ้วนแล้วในช่วงที่เขาพัฒนาไอเดียหนังเรื่องนี้ให้กลายเป็นบทและเป็นภาพยนตร์ในที่สุด สำหรับเขา ความเชื่อที่ว่าผู้ชายคงทำหนังที่เล่าเรื่องราวของผู้หญิงไม่ได้ กลับกลายเป็นเชื้อเพลิงที่เติมไฟให้เขายิ่งอยากทำหนังที่ว่าด้วย “การตัดสิน” หรือสเตอริโอไทป์ เรื่องนี้

“ในยุคหนึ่งผู้หญิงไม่มีสิทธิมีเสียงในการขึ้นมาเป็นผู้กำกับได้มากนัก แต่สำหรับเรา ระหว่างกำลังพัฒนาเรื่องนี้ก็ถูกตัดสินในมุมกลับกันว่าเป็นผู้กำกับชาย ก็คงมาทำหนังเรื่องนี้ไม่ได้” อิฐเล่า “มันมาจากระบบความคิดเดียวกันว่าเราเป็นผู้ชายเราเข้าใจผู้หญิงไม่ได้ เข้าใจเรื่องที่จะทำไม่ได้ ตัวละครหลักเราเป็นผู้หญิง เป็นมุสลิม เป็นคนที่ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์สนิทกับอีกคนที่เป็นเพศเดียวกัน เราก็จะโดนตัดสินไปก่อนแล้วว่ามันไกลตัวเรา เราทำเรื่องนี้ไม่ได้หรอก

“ส่วนตัวเราเองรู้สึกว่า ปัญหาการ ‘เลเบล’ (แปะป้าย) ว่าใครเป็นอะไรแล้วต้องเป็นอย่างไร เป็นผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ เป็นผู้ชายต้องเป็นแบบนั้น เป็น LGBT ต้องเป็นแบบนั้น คนศาสนานี้เป็นแบบนั้น หรือว่าชาตินี้เป็นอย่างนี้ ทุกอย่างที่กล่าวมาคือสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทุกอย่างบนโลก เพราะเมื่อคิดว่าคนนั้นคนนี้ไม่เหมือนกับเรา หรือต่างไปจากที่เราคิด ก็จะมีความรู้สึกว่า ฉันดีกว่า คนนั้นไม่ดี คนนั้นทำได้แค่ไหน ฉันทำได้มากกว่า เพราะฉันเป็นเพศไหน อะไรอย่างนี้ มันจะเริ่มมีความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้น แล้วเรารู้สึกว่าปัญหานี้มันโยงไปกับทุกอย่าง”

และไอเดียนั้นก็กลายมาเป็นเป้าหมายหนึ่งของการทำหนังเรื่องนี้ ที่พยายามจะถ่ายทอดเรื่องราวจากมุมมองที่ไร้การตัดสิน “เราก็มองเห็นการตัดสินในสังคมอยู่แล้ว เช่นคนมุสลิมในประเทศเรา ภาพจำหลาย ๆ คนก็ยังนึกถึงเรื่องความรุนแรง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบ เราก็ไม่อยากไปผลิตซ้ำสเตอริโอไทป์เหล่านั้นในหนังอีก ก็เลยรื้อพวกนั้นออกเพื่อที่จะให้มันกลางที่สุด

“หนังเรื่องนี้ค่อนข้างมีความส่วนตัวกับเรา เพราะเราโตมาเหมือนกับผู้หญิง ถูกเลี้ยงดูโดยคุณย่า ไม่ได้มีความเป็นชายแบบสเตอริโอไทป์ แล้วก็โตมากับการอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ก็จะเข้าใจเรื่องพวกนี้ตั้งแต่ยังเด็กเลย ทั้งนี้เราก็เคารพว่าในทางชีวภาพแล้ว เราก็ยังเป็นผู้ชาย ตอนทำงานก็เลยพยายามบาลานซ์ให้มันอยู่ตรงกลางที่สุด มี คาลิล — พิศสุวรรณ ที่เป็นเพื่อนมุสลิมมาช่วยเขียนบท แล้วก็เอาไปรีวิวกับเพื่อนอีกหลายคน ทั้งที่เป็นมุสลิมด้วย กับคนที่มีความแตกต่างทางเพศด้วย หรือว่า คนศาสนาอื่น ๆ ไปเลย ว่าดูแล้วรู้สึกอย่างไร มันกลางหรือยัง เพราะนี่คือเรื่องสำคัญที่สุดของเราและท้าทายที่สุดว่าจะหาจุดตรงกลางที่ไม่ตัดสินได้อย่างไร

“เมื่อเราจะทำหนังที่ไม่นำเสนอการจัดประเภท ไม่สเตอริโอไทป์ ไม่ตัดสิน ก็ต้องมั่นใจให้ได้ว่ามันถูกมองผ่านสายตาของคนทำหรือทีมทำงานที่ปราศจากไบแอสหรือเลนส์กรองที่มันจะตัดสินจากฝั่งเราด้วยเหมือนกัน นี่คือจุดยืนของเรา คือการนำเสนอเรื่องราวหรือมุมมองที่ไม่ผ่านการตัดสิน มองทุกอย่างให้กลางขึ้น เข้าใจเขาในแบบที่เป็นโดยไม่ตัดสินก่อน ว่าเธอเป็นผู้หญิงเธอควรเป็นยังไง อะไรพวกนี้เราเอาออกไปหมดเลย ไม่ได้ผ่าน Gaze (มุมมอง) ของเพศใดเพศหนึ่งหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ไม่ได้ผ่านมุมมองของผู้หญิงหรือผู้ชาย เฟมินิสต์ หรือ LGBT เหลือแต่เพียงความเป็นมนุษย์ ที่มันจะสะท้อนความคิดของตัวคนดูด้วย มันก็ผ่านการคุยกันเยอะ จนเรามั่นใจว่ามันอยู่ในจุดที่ตรงกลาง ที่มันจะเป็นกระจกสะท้อนให้คนดูย้อนกลับไปสำรวจตัวเองด้วย ตั้งใจให้มันอยู่ตรงกลางเพียงพอที่คนดูดูแล้วจะสามารถเข้าใจหนังได้ในแบบของตนเอง เพราะทุกคนก็ผ่านประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ตั้งใจให้คนดูมีหนังที่เป็นเวอร์ชันในแบบความเข้าใจของตัวเอง”

ธรรมชาติ ศาสนา และมนุษย์

ด้วยความหนังที่มีทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเขื่อนกับธรรมชาติ ผู้หญิงกับผู้หญิง รวมไปถึงเรื่องศาสนา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นหลายประเด็นที่ต่างก็มีความยากของตัวเอง เลยทำให้เรานึกถึงคำกล่าวที่มักถูกยกมาบ่อย ๆ เวลาเกิดข้อเรียกร้องในสังคมที่ว่าให้ ‘กินข้าวทีละคำ ทำทีละเรื่อง’ แต่อิฐกลับไม่คิดอย่างนั้น เพราะถ้าใครได้ไปดูหนังแล้วก็คงเข้าใจว่าทั้งหมดนี้ต่างก็เกี่ยวข้องกันอยู่ภายใต้แนวคิดเรื่อง ‘Human Construction’

“จริง ๆ มันเป็นเรื่องเดียวกันนะ ที่เห็นว่าเป็นหลายเรื่องคือมันเป็นซับเซ็ตลงมา เราตั้งใจนำเสนอเรื่องราวของ Human Construction หรือโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นมา อย่างเขื่อนหินมันเป็นรูปธรรมเลยว่ามนุษย์สร้างโครงสร้างหนึ่งขึ้นมา แล้วโครงสร้างนั้นก็ทำลายธรรมชาติ แต่บางอย่างก็อาจจะเป็นโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อ ระบบสังคม หรือกฎหมาย อย่างการสมรสมัน ก็มาจากกฎเดิมที่ว่าต้องเป็นชายหรือหญิงเท่านั้นที่จะได้สิทธิตามนั้น เราจะเห็นว่าทุกอย่างมันอยู่ภายใต้เรื่องนี้หมดเลย มันคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น คนรักกันแล้วทำไมความรักแบบหนึ่งถึงถูกสร้างขึ้นมาให้มีสิทธิเหนือกว่าอีกแบบหนึ่ง มันไม่ได้เกิดความเท่าเทียมในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ทำไมการชอบเพศเดียวกันถึงได้การยอมรับไม่เท่ากับคนชอบต่างเพศ

“ เราต้องยอมรับว่า ไม่ว่าความเชื่อ หรือศาสนา ล้วนมีสัดส่วนของสิ่งที่มนุษย์สร้าง หรือตีความขึ้นมา หากย้อนกลับไปที่แก่น หรือจุดเริ่มต้นจริง ๆ ของทุกความเชื่อ มันก็มักจะกลับไปสู่ประเด็นเรื่องธรรมชาติ

เราอาจไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่รับรู้มาในตอนแรกมันเป็นอย่างไร เพราะมันคือสิ่งที่ส่งต่อกันมา และการตีความ”

ศิลปินที่เพิ่งสร้าง

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ในหนังเรื่องนี้คือตัวละคร ‘ฝน’ ที่เป็นภาพแทนของคนในอาชีพ ‘ศิลปิน’ ซึ่งหลายคนก็ไม่เข้าใจนักว่าการเป็นศิลปินนั้น เขาเป็นกันอย่างไร ซึ่งอิฐก็เล่าเหตุผลที่เลือกให้ตัวละครฝนเป็นศิลปินไว้ว่า “เราอยากพูดถึงคนที่มีอิสระเต็มที่ กับคนที่ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ เพื่อให้เห็นความแตกต่งระหว่างสองคน และให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน แล้วถ้าพูดถึงอาชีพศิลปินหรือศิลปะก็จะนึกถึงความอิสระที่จะรับรู้ประเด็นต่าง ๆ แล้วนำเสนอมันออกมาเป็นอะไรก็ได้ แล้วทำให้มันมีมิติเพิ่มขึ้นอีกหลายชั้นในการมองประเด็นที่เข้ามา”

ซึ่งถ้าใครติดตามนิทรรศการศิลปะในประเทศไทยอยู่ก็คงเห็นนิทรรศการที่ชื่อ ‘end effect’ ที่จัดแสดงที่ a.e.y. space เมื่อปีก่อน โดยมีศิลปินตั้งแต่ อธิษว์ ศรสงคราม, แพร พู่พิทยาสถาพร, ปรัชญา พิณทอง, ปฐมพล เทศประทีป, สถิตย์ ศัสตรศาสตร์ และ ธณัฐชัย บรรดาศักดิ์ และมี แมรี่ ปานสง่า เป็นภัณฑารักษ์ ซึ่งนั่นก็คือนิทรรศการที่จะกลายเป็นผลงานของฝนในหนังเรื่องนี้นั่นเอง

“วิธีของเราคือจะมีกลุ่มศิลปินนำโดยพี่โต๊ะ (ปรัชญา พิณทอง) ศิลปินอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย เรียกกันว่า “ทีมฝน” เราก็ให้ศิลปินแต่ละคนไปรีเสิร์ช พาไปเจอกับผู้ให้ข้อมูล ไปเจอเขื่อนหินจริง ๆ แล้วก็มาทำเรื่องนี้กัน แต่ละคนก็จะเอาสิ่งที่ตัวเองได้รับตรงนั้นมาพัฒนาเป็นชิ้นงานของตัวเองโดยปราศจากกรอบจากเรา แล้วค่อยเอาสิ่งเหล่านั้นไปไว้ในหนัง”

“เขาก็มีเกร็งกันบ้าง มีสงสัยว่าทำมาแล้วจะใช้ในหนังได้จริงไหม ทำอะไรมาก็ได้จริง ๆ หรอ เพราะจริง ๆ วิธีการทำงานแบบนี้มันไม่ใช่การทำงานปกติของผู้กำกับทั่วไป เป็นการให้อิสระแบบ 100 เปอร์เซนต์จริง ๆ กับศิลปิน แล้วพอเขาไปทำงานอะไรมาเราค่อยนำไปใช้เขียนบทต่อ

“ตัวบทหนังเรื่องนี้มันถูกเขียนในแบบที่รู้อยู่แล้วว่าจะเขียนไม่เสร็จ หมายความว่าพอมีงานแต่ละชิ้นมา เราจะเขียนย้อนกลับไปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างหน้าก่อนคืออะไร แล้วสิ่งที่ตามมาทีหลังคืออะไร เลยเป็นการทำงานที่ค่อนข้างเปิด ด้วยคอนเซปต์ของโปรเจกต์นี้ที่ต้องการให้พื้นที่กับคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในหนังเราได้ส่งเสียงได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ศิลปิน หรือทุก ๆ คนที่มี Creative Input

“เราคุยกันเยอะมาก เลยเป็นการพัฒนาตัวละครฝนไปพร้อมกันด้วยเลย แพร (รวิภา — ศรีสงวน) นักแสดงที่เล่นเป็นฝน ก็มาอยู่กับเราตั้งแต่วันแรกที่ไปเจอพี่โต๊ะแล้วก็ทีมศิลปินทั้งหมด เพราะว่าตอนแรกนักแสดงก็ไม่แน่ใจว่าศิลปินต้องเป็นอย่างไร แพรเข้ามาเขาจะมีความเกร็งนิดนึงว่าศิลปินหรอ ฉันจะเป็นได้หรอ แต่มันก็เห็นภาพชัดขึ้นว่าเขาก็เป็นคนธรรมดา มันเป็นเรื่องนี้แหละ ที่คนมองว่าศิลปินต้องเป็น ‘ศิลปิน’ (เน้นเสียง)

“มันอาจจะเป็นอาชีพที่คนไม่ค่อยเห็น เวลาไปดูแกลเลอรีเราก็ไม่รู้ว่าเวลาปกติศิลปินเขาทำงานกันอย่างไร พูดกันอย่างไร มันคือการทำให้นักแสดงรู้สึกว่าศิลปินก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง”

“หลังศิลปินรีเสิร์ชมา เขาก็จะกลับมาเล่าให้แพรฟังว่าเจออะไรมา คิดอย่างไร แล้วแต่ละคนก็จะมีวิธีคิดวิธีทำงานที่ไม่เหมือนกันเลย มันก็เลยง่ายต่อแพรในการเห็นคาแรกเตอร์ของศิลปิน ที่ไม่ได้ต้องเย่อหยิ่งต้องสูงส่ง เขาก็คนธรรมดาที่พูดคุยเล่นได้ปกติ แล้วพอเจอหลาย ๆ คน แพรก็ได้พัฒนาตัวละครฝนด้วยตัวเขาเองด้วยว่าถ้าเป็นศิลปินจะเป็นประมาณไหน เหมือนพี่คนนี้บวกกับพี่คนนี้มั้ง ในหนังก็มีงานหลายชิ้นงานมาก จะมีให้เห็นทั้งในเชิงความคิด เชิงวัสดุ”

อนาคตหนังไทย ในวันที่ไม่มีใครเป็นศัตรูกันอีกแล้ว

หลังการทำงานร่วมกับศิลปินอย่างยาวนาน สิ่งที่ทำให้เขาประทับใจที่สุดที่เขาเก็บมาคือ ‘ความเป็นตัวของตัวเอง’ แบบสุด ๆ ของเหล่าศิลปิน “มันคือความใหม่ ความน่าสนใจของชิ้นงานที่เกิดจากความเป็นตัวของตัวเองของคนทำ การที่เรามีลายเซ็นแล้วเราจริงใจกับลายเซ็นนั้น ๆ”

“หหนังเรื่องนี้เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องแรกของเราในฐานะคนทำหนัง เราก็เป็นตัวของตัวเองเต็มที่เหมือนกัน​ ซึ่งก็ต้องขอบคุณไปทางโปรดิวเซอร์ด้วยที่สนับสนุนเต็มที่ คือถ้าทุกแขนงของศิลปะมันจริงใจต่อลายเซ็นของตัวเองจริง ๆ แบบที่ไม่ได้ถูกแทรกแซง เราว่างานที่มันจะออกมาในอนาคตมันจะไปได้ไกลกว่านี้เยอะเลย เราว่านี่เป็นยุคของความแตกต่างหลากหลาย อย่างในวงการหนังก็จะเริ่มเห็นหนังที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แล้วประสบความสำเร็จขึ้นมากกว่าเดิม จากเมื่อก่อนที่อาจจะเป็นหนังสตูดิโอที่ออกมาหน้าตาคล้าย ๆ กัน ตอนนี้ทุกคนก็เริ่มสามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นวาระที่ดีเหมือนกัน”

“จริง ๆ ถ้าเป็นรูปแบบสตูดิโอ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจสตูดิโอด้วยว่าเขาลงทุนมา เขาก็ควรจะได้คืนมันเมคเซนส์มาก ๆ แต่ว่าในการทำอย่างนั้นแล้วเราเป็นตัวเองได้อยู่ไหม มันก็เลยไม่ใช่วิธีการแบบ “เห้ย เพิ่มจุดนี้สิ ถึงจะขายได้” แต่มันจะเป็นว่า “พี่ ถ้าผมไม่เพิ่มตรงนั้น แต่มาเพิ่มตรงนี้แทน มันอาจจะได้เหมือนกันนะ” สิ่งนี้มันคุยกันได้”

“ยุคนี้มันไม่มีใครเป็นศัตรูกันอีกแล้ว ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วมันเข้าใจทุกอย่างไปในทางโพสิทีฟเหมือนกันได้ มันก็ไม่มีใครสู้กับใคร ส่วนตัวเราทำหนังด้วยความหวังนะ ไม่ได้รู้สึกเนกาทีฟหรือมีความคิดแง่ลบอะไร ตอนนี้มันก็เป็นช่วงที่น่าตื่นเต้นเหมือนกันสำหรับหนังไทยที่ดูจะเป็นจุดเปลี่ยนไปสู่หลาย ๆ อย่างได้”