ความโดดเดี่ยว และความตาย ในแก๊งมาเฟียเกาหลีใต้ยุค 90' ซีรีส์ “The Worst of Evil”

Post on 23 October

ชายหนุ่มวางสายโทรศัพท์ลง แล้วยืนนิ่งอยู่ลำพังในตู้โทรศัพท์ริมถนนที่แทบไม่มีแสงไฟ เขาอยู่ในย่านบันเทิงที่เฟื่องฟูที่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ ในยุคที่สิ่งใหม่ ๆ ไหลเข้ามาจนเมืองพัฒนาแบบก้าวกระโดด แต่ยังมีชีวิตที่ดูอ้างว้างจนน่าอึดอัด เพราะฉากหลังของสีไฟนีออนเหล่านี้ คือเมืองที่กำลังกลืนกินชีวิตของคนหนุ่มสาว ด้วยคลื่นของอาชญากรรมและความสัมพันธ์ที่หวาดระแวง ซึ่งกลายมาเป็นอารมณ์แห่งยุคสมัยของเกาหลีใต้ช่วงปี 90’

เขาคนนั้นคือ พัคจุนโม (แสดงโดย จีชางอุค จาก Backstreet Rookie, Suspicious Partner) ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ต้องมาสืบความลับในแก๊งค้ายาข้ามชาติที่มี จองกีชอล (แสดงโดย วีฮาจุน จาก Squid Game, 18 Again) เป็นผู้นำ โดยมีสมาชิกแก๊งเป็นคอนเนคชั่นเพื่อน ๆ จากโรงเรียนเดียวกัน เรื่องราว ‘The Worst of Evil’ เต็มไปด้วยพลังปะทะของพวกเขา จนทำให้นี่เป็นทั้งซีรีส์ แบบ Film Noir (ภาพยนตร์ที่เน้นความลึกลับดำมืดในฉากเพื่อสะท้อนจิตใจมนุษย์) แต่ขณะเดียวกันก็เป็นซีรีส์แอคชั่นที่ “หมัดหนักเลือดสาด” ที่สุดเรื่องหนึ่งของยุค และอีกแง่หนึ่ง ชีวิตของพวกเขาเป็นบทเรียน ที่สะท้อนว่าความเป็นอยู่ภายใต้ช่วงเวลาที่ความรุนแรงคือกฎ ทุก ๆ คนก็อึดอัดเหมือน ๆ กัน

เกาหลีใต้ช่วงปี 90’ เพิ่งผ่านอีเวนต์ใหญ่อย่างการรับเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1988 ซึ่งทำให้เกาหลีใต้เชื่อมต่อกับต่างชาติ เกิดปรากฎการณ์เศรษฐกิจบูม ย่านต่าง ๆ มีการพัฒนาให้ทันสมัย อย่างย่านกังนัม (Gangnam) ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์รวมของธุรกิจ การศึกษา แหล่งช็อปปิ้งชั้นนำ แต่ใครจะรู้ว่าช่วงหนึ่งในยุคพัฒนา กังนัมคือแหล่งที่เที่ยวกลางคืน ที่หรูหราฟุ้งเฟ้อที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าจะตามมาด้วยอิทธิพลมืด ที่แฝงมากับก้อนเงิน จนเกิดการปะทะระหว่างคน/ระหว่างแก๊ง และพาให้สังคมตกอยู่ในการแย่งชิงอำนาจแบบนอกกฎหมายในที่สุด แต่ถึงกังนัมจะเป็นย่านที่คึกคักไปด้วยเสียงเพลงและเสียงคนตีกันอย่างไร ก็ยังมีมิติบาง ๆ ที่ซ่อนอยู่เงียบ ๆ คือความโดดเดี่ยวของผู้คนที่แม้จะมีแก๊งอยู่ใกล้ชิด ก็ยังไม่สามารถไว้ใจใครได้ขนาดนั้น

ถ้ากฎหมายคือสิ่งที่สร้างความมั่นคงให้สังคม สังคมที่อยู่นอกกฎหมายก็คือความหวาดระแวง ภายใต้สังคมนี้ แม้แต่ตำรวจหนุ่มก็คงสงสัยในความลับของภรรยาไม่น้อย เช่นเดียวกับหัวหน้าแก๊งค้ายา ที่จะถูกใครใกล้ชิดมาลอบทำร้ายเมื่อไรก็ไม่รู้ ในฉากหนึ่งพัคจุนโมและจองกีชอลอาจจะยืนชิดกัน มองตากัน หรือถึงขั้นยิ้มให้กัน แต่พวกเขาไม่ได้รู้จักกันและกันเท่าไรนักเลย และในทางกลับกัน มันอันตรายถึงขั้นชีวิต ถ้าพวกเขาจะให้อีกฝ่ายรู้จักตัวตนของเขาเอง

‘The Worst of Evil’ ดึงเอาความอ้างว้างภายในของตัวละครเหล่านั้นออกมาด้วยสไตล์แบบนัวร์ ที่งดงามแต่ก็สร้างความกดดันทุกนาที เช่นเซ็ตดีไซน์ในฉากที่แต่ละคนต้องอยู่เพียงลำพัง ซึ่งมาคั่นระหว่างพลังทำลายล้างของฉากบู๊ ถ้าความน่ากลัวของหนังผีคือเราไม่รู้ว่าในความมืดจะมีอะไรโผล่มาบ้าง ความน่ากลัวของซีรีส์นัวร์ ก็คือความไม่ไว้ใจ ว่าใบหน้าซื่อ ๆ ของแต่ละคนนี่รู้อะไรกันมาบ้าง กำลังทำอะไรอยู่ และจะถูกจับได้เมื่อไร ซึ่งเป็นผลงานของนักแสดงที่ควบคุมร่างกายได้สุดยอดทั้งตอนต่อสู้และในฉากกดดัน ที่การขยับแค่ปลายคิ้วก็มีความหมาย รวมทั้งงานกำกับภาพ ที่ทิ้งช่องว่างไว้ให้เรารู้สึกถึงเมืองที่กำลังครอบงำทุกคนอยู่เสมอ

ภาพจำของ “เจ้าพ่อ” หรือกลุ่มแก๊งผู้มีอิทธิพลของคนไทย อาจเป็นใครสักคนที่มือข้างหนึ่งเปื้อนเลือดไปบ้าง แต่ก็ยังมีมืออีกข้างไว้ดันหลังพี่น้องผองเพื่อนในชุมชนให้เจริญขึ้นแบบที่เห็นในหลาย “ถิ่น” ของเมืองไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ฉบับนี้จะชวนให้เราคิดด้วยกัน คือพลังอีกด้านของความสัมพันธ์นอกกฎหมายนี้ ที่กัดกินชายหนุ่มทั้งสอง ให้มองคนข้าง ๆ (และข้างบน และข้างล่าง) ด้วยความระวัง มีเรื่องหนักใจอะไรก็เล่ากับใครไม่ได้ และทำให้เรายิ่งระแวงไปด้วย ว่าตอนต่อ ๆ ไปของ ‘The Worst of Evil’ จะปล่อยให้เราเชื่อใจใครได้แล้วหรือยัง