‘Y?’ On street? คุยเรื่องแบบแผนของศิลปะบนท้องถนนและหลักเกณฑ์อีกแบบในแกลเลอรี่ กับคิวเรเตอร์ #BKKWF2024 ผู้อยู่ตรงกลางระหว่างสองโลก

Post on 18 April

ดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติของเมืองใหญ่ไปแล้ว ที่ผู้คนจะอยู่อาศัยกันอย่างแนบชิด เดินทางไหล่ชนไหล่ไปสู่ย่านที่เบียดเสียด แต่กลับไม่รู้จักกันและกันเลย กับบางคนเราเห็นหน้าทุกเช้าแต่ไม่รู้ว่าเขาทำงานอะไรและอย่างไร กับบางคนเราเห็นชื่อของเขา เขียนอยู่ที่ริมกำแพง เรารู้จักลายมือของเขา แต่เราอาจไม่เคยตั้งใจมองมันเลย มันเป็นความแปลกแยกประเภทเดียวกับที่ปิดบังชีวิตของศิลปะและศิลปินสตรีทอาร์ทและกราฟิตี้ให้ลึกลับน่าสงสัยอยู่ในความมืด จนกว่าเราจะได้ยินเรื่องราวจากปากคำของ “ตัวจริง” ผู้แต้มเมืองด้วยสีสันเหล่านั้น

“พี่ BIGDEL เป็นศิลปินคนแรกในวงการนี้ที่เรามีโอกาสคุยด้วย แต่ก็อย่างที่บอก เราเคยเห็นงานเขาบ้าง แต่เราไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร วันแรกที่เจอกันจะพูดว่าตื่นเต้นไหม ก็ไม่ใช่ความตื่นเต้น เพราะว่าโมเม้นตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเขาคือ BIGDEL เลย จนเขาแนะนำตัว เรารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งเหมือนกันของสตรีท เราไม่รู้ว่าเขาคือใคร คุณชอบงานเขาก่อนที่คุณจะชอบเขาประมาณนี้” คือประสบการณ์ของ Y? หรือเฟม - พีรพัฒน์ อื้อพรรณรังษี ศิลปินสตรีทแห่งแก๊ง Temporary West (aka T-West) ผู้มีอีกบทบาทเป็นคิวเรเตอร์ ชวนเพื่อน ๆ พี่น้องจากท้องถนนมาเข้าสู่โลกของศิลปะในแกลเลอรี่ ในงาน BKK Wall Fest 2024 หรือ #BKKWF2024 ที่กำลังยึดพื้นที่อาร์ตสเปซแห่งย่านศรีนครินทร์อย่าง MMAD เป็นพื้นที่ปล่อยของของเหล่าศิลปินผู้คลุกคลีกับสุนทรียะแห่งข้างถนน ซึ่งนั่นก็โอกาสดีที่เราจะได้มาคุยกับคิวเรเตอร์ตัวเปิดของวงการสตรีทอาร์ตและกราฟฟิตี้ รับฟังเรื่องราวชีวิตเรียล ๆ ของคนในคัลเจอร์ “ON STREET” และการทำงานระหว่างสองโลกที่ดูจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนี้

“การเข้าแกลเลอรี่ก็จะมีหลักเกณฑ์ (norm) ในโลกของแกลเลอรี่ แต่ในสตรีทโดยเฉพาะกราฟฟิตี้ มันมีกลุ่มคนที่เขาแค่แฮปปี้ที่จะทำสิ่งนี้ แต่ไม่ได้ยินดีที่จะให้มันเป็นไฟน์อาร์ต แล้วก็ไม่ได้อินกับไฟน์อาร์ตด้วย คืออินกับการแท็ก (การเซ็นชื่อหรือนามแฝงบนผนัง) การโทรวอัป (งานเขียนเร็ว ๆ บนผนัง) เราเลยรู้สึกว่าศิลปะแขนงนี้มันเหมือนครึ่ง ๆ แต่ดันอยู่ด้วยกัน โดยการเป็นศิลปินในคัลเจอร์นี้ก็กลายเป็นแค่ทางเลือก” ตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ที่ทำให้เราเชื่อทันที ว่ากำลังชวนคุยเรื่องนี้ถูกคนแล้ว

ในบทสัมภาษณ์นี้ Y? มาคุยกับเราเรื่องความแตกต่างระหว่างสตรีทอาร์ทและกราฟิตี้ และขนบ “ความ Conservative” ที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมทั้งสอง, เรื่องการทำงานแบบ “เปิดหน้า” รับงานลูกค้าได้จะพ่นที่ไหนก็ขออนุญาตก่อน กับการทำงานแบบ “ปิดหน้า” ปิดตาจากกฎหมาย และความยากลำบากของการทำงานสายนี้ ที่เขาอยากถ่ายทอดออกมาในดีไซน์นิทรรศการที่จำลองสภาพแวดล้อมบนท้องถนนมาให้ผู้ชมสัมผัสจริง ๆ

มาทำความรู้จักผู้คนและชุมชนเบื้องหลังงานศิลปะที่เห็นได้ใกล้ตัวทุกวันในบทสัมภาษณ์นี้ และตามไปดูผลงานจาก Y? และเพื่อน ๆ ของเขาได้ที่นิทรรศการ BKK WALL FESTIVAL 2024 ที่ MMAD MASS GALLERY (บริเวณชั้น 2 มันมัน ศรีนครินทร์) วันนี้ - 2 มิถุนายน 2567

ผมเห็นรายชื่อศิลปินตอนแรกก็รู้สึกสนใจเลยเพราะมีเยอะและหลากหลายมาก ๆ ทั้งคนที่เหมือนเป็น “รุ่นแรก ๆ” ของกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ทเมืองไทย มาถึงรุ่นปัจจุบัน เลยอยากถามก่อนเลยว่ามีการคัดเลือกศิลปินมาแสดงอย่างไร

ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่รู้จักกันหมด เพราะในวงการมันไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น ไม่ใช่แค่เรานะ แต่ทุกคนก็น่าจะเคยเจอหน้ากันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เราเลยเลือกจากงาน ดูว่างานศิลปินไม่ทับกัน

อย่างถ้าเป็นรุ่นพี่เช่น NEV3R, RUKKIT หรือ HELLO MY NAME IS BKK ก็เลือกเพราะเขายังทำงานในฐานะศิลปินอยู่ และเป็นผู้ริเริ่ม (Pioneer) ในสไตล์อะไรสักอย่าง หรือเป็นตัวอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ที่มา

ถ้าเป็นคนรุ่นปัจจุบัน อายุประมาณเรา หรือเด็กกว่า ก็จะเลือกจากคนที่เรารู้สึกว่าเขากำลังเริ่มมีชื่อเสียง (come up) กับคัลเจอร์นี้ขึ้นมา แล้วพยายามทำมันในแบบของตัวเอง โดยไม่ได้ตามกระแสหลักขนาดนั้น มีความเป็นตัวของตัวเองสูง

บรรยากาศของสังคมสตรีทอาร์ทจากเมื่อก่อนจนถึงตอนนี้เป็นยังไง ปกติเวลาคนอยากเข้าวงการจะต้องทำอย่างไรบ้าง

เดี๋ยวนี้พอมีอินเทอร์เน็ตแล้ว มันก็ง่ายมากเลย ถ้าอยากรู้จักจริง ๆ ก็แค่ DM ไปก็ได้ แต่ย้อนกลับไปสมัยก่อน เรารู้สึกว่าสตรีทอาร์ทกับกราฟฟิตี้มันจะเหมือนคนเล่นกีฬา เวลาเราอยากเล่นกับใครก็แค่ไปชวนเขาเล่นด้วย ถ้าเขาแฮปปี้จะเล่นกับเราเขาก็มาเล่นแค่นั้น

แต่แต่ละคนก็อาจจะมีความซีเรียสต่างกัน แต่อย่างงานนี้ หลาย ๆ คนก็เคยพ่นด้วยกันมาก่อน หลายคนก็เป็นสมาชิก Crew (กลุ่มศิลปินสตรีท) เดียวกัน ก็เลยรู้สึกว่ามันมีความเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว

แล้วหลัก ๆ เลยคนที่มางานนี้คือคนที่เราเจองานกันบนกำแพง เคยทำงานร่วมกันบนกำแพงตามที่สาธารณะทั่วไปมาแล้ว แต่หลายคนอาจจะไม่รู้เพราะไม่ได้โจ่งแจ้งขนาดนั้น

งั้นในฐานะผู้สังเกตุการณ์ที่เห็นวงการสตรีทอาร์ท/กราฟิตี้มาหลายรุ่น เราเห็นความแตกต่างอย่างไรไหม

อาจจะต้องแยกไปตามชั่วโมงบินหรืออายุงานของแต่ละคนไปในเรื่องเทคนิคหรืออุปกรณ์เขาจะค่อนข้างไม่เหมือนกัน เพราะยุคก่อนโซเชียล ข้อมูลมันหายาก เวลาแต่ละคนที่เขาทำเทคนิคขึ้นมามันจะมีความไทยประดิษฐ์ของเขานิดนึง อย่างการแปลงหัวพ่นเอง มันจะเป็นเคล็ดลับที่อาจจะเห็นได้บ่อยจากคนรุ่นก่อนๆ

แต่ถ้าเกิดเป็นรุ่นโซเชียล อุปกรณ์อาจจะไม่ได้หนีกันมาก คือมันมีแหล่งข้อมูลเดียวกันหมดแล้ว แล้วในยุคนี้พวกร้านที่เป็นแหล่งอุปกรณ์มันก็พอจะมีบ้างแล้วในประเทศไทย เรารู้สึกว่าถ้าเป็นรุ่นใหม่อาจจะมีความรู้สึกต่างกันจากเรื่องของสไตล์งาน แล้วก็ความชอบส่วนตัวว่าเขาเสพอะไรมา ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นในปัจจุบันมันก็จะมีพื้นฐานที่เน้นมาจากคาแรคเตอร์ดีไซน์มากกว่าคนเขียนเป็นตัวอักษรกราฟิตี้ (Graffiti Writer)

ส่วนตัวเราก็รู้สึกว่ารุ่นใหม่มีความป็อบและมีความโมเดิร์นกว่าในแง่การออกแบบ อย่างถ้าเป็น letter คือกราฟิตี้ที่เป็นตัวอักษร เด็กรุ่นใหม่จะค่อนข้างดีไซน์ มีความโมเดิร์นกว่า ไปทางมินิมอลมากกว่า แต่ถ้าเป็นรุ่นที่เขาทำมา 10 กว่าปีแล้ว อันนั้นก็อาจจะไปโฟกัสจุดเด่นคนละแบบ จุดเด่นก็น่าจะเป็นเรื่องความแข็งแรงของตัวงาน letter หรือเทคนิคการพ่นที่ยากและสูง

สำหรับงาน BKKWF นี้มีจุดไหนที่อยากให้ดูเป็นพิเศษไหม

เป็นส่วนของงานที่จัดแสดง (Physical Artwork) ก่อนนะ เรารู้สึกว่าอยากให้มาดู เพราะเรารู้สึกว่าเวลาคนมองคนที่ทำสตรีทบางทีมันมีความธรรมเนียมแบบแผนที่เป็นภาพจำอยู่ (stereotype) บางอย่างอยู่ เราอยากให้เขามาดูว่าจริง ๆ สตรีทมันเป็นงานที่ค่อนข้างยืดหยุ่นได้ระดับนึงเลย

อย่างงานจิตรกรรมมันก็จะมีกรอบของเขาใช่ไหมว่า มันต้องเพ้นท์อย่างนี้ โครงสร้างต้องทำแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าสตรีทอาร์ทมันกว้างมาก มันรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน แล้วก็อยากให้คนทำสตรีทมาดูว่ามันมีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เทคนิคใหม่ ๆ ที่เราสามารถใช้ผลิตงานแล้วออกมาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพ่นอย่างเดียว

ถ้าเป็นคนทั่วไปเราก็อยากให้ลองมาดู เพราะเราอยากให้เห็นศิลปินที่เป็นศิลปินสตรีทแบบเต็มรูปแบบจริง ๆ คือทำงานสตรีทเป็นหลัก เรารู้สึกว่าเขาอาจจะรู้สึกถึงความเพียวบางอย่างของความเป็นสตรีทอาร์ทได้มากกว่าศิลปินบางกลุ่มที่เขาทำเพียงแค่เป็นสไตล์การดีไซน์เฉยๆ

ความ conservative ในวงการสตรีทที่พูดถึงคืออะไร เป็นขนบธรรมเนียมแบบแผนอะไรอย่างนั้นหรือเปล่า

เอาจริง ๆ กราฟิตี้มันเป็นส่วนที่เกิดก่อน เลยกลายเป็นมีความ conservative ในแบบเขาว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่เรารู้สึกว่าปัจจุบันพอความที่มันเปิดกว้างขึ้น มันมีแนวทางอย่างสตรีทอาร์ทเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็รู้สึกว่ามันมีความเปิดกว้างมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ความเป็นไปได้ในการทำมันก็เยอะขึ้น อย่างเมื่อก่อนยุค 1990 - 2000 การพ่นเป็นตัวการ์ตูน หรือคาแรกเตอร์อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับเหมือนในปัจจุบัน การทำงาน เลยมีการไปโฟกัสที่เรื่องคอนเซ็ปต์แนวคิด เรื่องฝีมือ หรืออะไรหลาย ๆ อย่าง แล้วก็เรามองว่าอีกมุมหนึ่งมันกลายเป็นเรื่องของ branding มากกว่า

เราเลยรู้สึกว่าคนที่เข้ามาคุณสามารถเลือกได้ว่าอยากได้ภาพลักษณ์ของตัวเองแบบไหน ถ้าอยากปิดหน้าปิดตา ออกแนว Criminal หน่อย ทำผิดกฎหมาย ทำงานแบบ ‘llegal’ เท่านั้น พ่นแบบไม่ขอเลยก็ได้ หรือจะทำเปิดหน้าตั้งแต่แรกเลยก็ได้ เรารู้สึกว่ามันกว้างมากมันไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว

การปิดหน้าพ่นแบบผิดกฎหมายกับการเปิดหน้าทำงานมาจัดแสดงนิทรรศการด้วยอย่างนี้มันต่างกันแค่ไหน

เรามองว่ามันเป็นจุดประสงค์ 2 แบบที่ต่างกัน คือจุดประสงค์ของการปิดหน้า เราเข้าใจ คือด้วยความที่มันเริ่มจากงานผิดกฎหมาย มันคือการทำลายทรัพย์สินของรัฐ ตามประวัติที่นิวยอร์กก็คือการแอบพ่นรถไฟ เขาไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้อยู่แล้ว เปิดเผยได้แค่ในวงใน รูปแบบการทำงานมันก็จะมีเหตุผลอยู่ แต่เรารู้สึกว่าถ้าปิดโดยการที่เป็นแค่ Branding ว่า ปิดแค่รู้สึกว่ากราฟิตี้ต้องปิด อันนี้เรารู้สึกว่ามันค่าเท่ากัน จริง ๆ สำหรับเรารู้สึกว่ามันเหนื่อยเจ้าตัวเองด้วย

การเปิดหน้ามันก็ทำให้รับงานจากลูกค้าได้ นึกออกไหม คุณไม่ต้องไปนั่งพะวงว่ามันจะมีคดีเก่าที่เคยทำไว้ตามมาเช็คบิลหรือเปล่า เราก็รู้สึกว่ามันก็ต้องอยู่ที่เจ้าตัวบุคคลว่าทำงานประเภทไหน แต่เราแค่อยากให้คนที่เขางง ๆ อยู่ เขาไม่รู้จะไปศึกษาจากไหน อยากให้เขารู้ว่าทุกอย่างที่ทำมันมีจุดประสงค์ของมัน มันไม่ใช่แค่แฟชั่น

Sub-culture มันเกิดมาจากการใช้ชีวิตของเขา เขาปิดหน้าเพราะเขาทำผิดกฎหมาย ถ้าคุณไม่ได้ทำผิดกฎหมายเลย คุณรับงานคอมเมอร์เชียล คุณขึ้นห้างตลอด อยู่ดี ๆ คุณไปปิดหน้า เราเลยรู้สึกว่า มันคือการคีพคาแรกเตอร์เฉย ๆ แต่อันนี้มันก็เป็นสิทธิ์ของคน

สตรีทมันมีสองขา คือที่เป็นศิลปะแบบ Fine Art แต่กับบางคนที่อยู่ในคัลเจอร์เรา เขาไม่ได้ต้องการเป็นศิลปิน เขาต้องการแค่ได้ทำสิ่งนี้ เราถึงบอกว่าเกณฑ์ในการมาวัดสิ่งนี้มันจะไม่เหมือนกับศิลปะแขนงอื่น เหมือนกับการเข้าแกลเลอรี่ก็จะมีหลักเกณฑ์ในโลกของแกลเลอรี่ ในสตรีทโดยเฉพาะกราฟิตี้มันมีกลุ่มคนที่เขาแค่แฮปปี้ที่จะทำสิ่งนี้ แต่ไม่ได้อยากที่จะให้มันเป็นไฟน์อาร์ต แล้วก็ไม่ได้อินกับไฟน์อาร์ตด้วย คืออินกับการแท็ก (การเซ็นชื่อหรือนามแฝงบนผนัง) การโทรวอัป (งานเขียนเร็ว ๆ บนผนัง) เท่านั้นเราเลยรู้สึกว่าศิลปะแขนงนี้มันเหมือนครึ่ง ๆ แต่ดันอยู่ด้วยกัน โดยการเป็นศิลปินในคัลเจอร์นี้ก็กลายเป็นแค่ทางเลือก เราเลยรู้สึกว่าการปฏิบัติ (norm) ไม่เหมือนกับแขนงอื่น ๆ

แล้วคิดว่าภาพลักษณ์ graffiti writer ตอนนี้มันเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมากหรือยัง

ไม่ได้เปลี่ยนขนาดนั้นหรอก เรามองว่า คนอาจจะไปเอาเกณฑ์ของสตรีทอาร์ทเข้ามามองด้วย ก็เลยทำให้รู้สึกว่ามันมีศิลปินที่ทำถูกกฎหมายหรือเป็น mural painting (ภาพเขียนผนัง) เป็นรูปที่ดูง่าย ๆ มันก็เลยอาจจะทำให้รู้สึกว่ามันเปลี่ยนไป แต่เรารู้สึกว่าจริง ๆแล้วในส่วนของกราฟิตี้จริง ๆ มันเพิ่งเริ่มเปลี่ยนมากกว่า คือตัวศิลปินในยุคนี้มีการปรับตัวตามยุคสมัยมากขึ้น ถ้าเป็นสมัยก่อนจะพูดถึงศิลปินสตรีทจริง ๆ ที่ลงถนน หรือจะพูดถึง Graffiti Writer จริง ๆ เราว่าน่าจะยากมาก ๆ กับการที่จะเห็นคนพวกนี้ในแกลเลอรี่ แต่ก็จะมีกลุ่มคนที่ใช้คอนเซ็ปต์แบบสตรีทมาทำงานดีไซน์ ซึ่งจะเข้าไปอยู่ในแกลเลอรี่ได้มากกว่า ด้วยการวางตำแหน่งตัวให้ตัวเองของเขา แต่เรารู้สึกว่าปัจจุบันมันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว คนที่ทำงานบนถนนจริง ๆ สามารถเข้าแกเลอรี่ได้แล้ว

ถ้าถามในฐานะที่ได้ทำงานทั้งในส่วนของ Street Crew ด้วยและก็มารับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์งานนี้ด้วย เรามีความท้าทายอะไรส่วนตัวหรือเห็นความแตกต่างอะไรของสองโลกนี้ไหม

เรามองว่าเราต้องมาหาตรงกลางใหม่ คือพอมันเป็นสตรีทมันจะมีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง (independence) สูงมาก คือเราจะทำอะไรก็ได้ไม่ต้องแคร์คนอื่น มันคือการทำให้คนอื่นยอมรับในเฉพาะงานเรา แล้วเราเลยรู้สึกว่ามันดุดัน (aggressive) ขนาดไหนได้ พอมาเป็นคิวเรเตอร์ เรามองว่าเราเป็นเหมือนคนกลาง แต่แค่เราอาจจะเป็นคนกลางที่พูดภาษาของฝั่งสตรีทได้ว่าโอเคเราเข้าใจว่าอันนี้ได้อันนี้ไม่ได้ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันสามารถทำภาพลักษณ์ออกมาให้ทางเขาก็ไม่ได้เสีย branding ได้ แล้วทางแกลเลอรี่ก็ยังรู้สึกดีที่จะทำงานได้อยู่ เรารู้สึกว่ามันเหนื่อยแค่การต้องอยู่ตรงกลางนี่แหละ

มีอะไรที่เราอยากนำออกมาสื่อสารเป็นพิเศษไหม จากชุมชนของเรา

หลัก ๆ ก็คงอยากให้รู้ว่าจริง ๆ บ้านเราศิลปินสตรีทเก่งมาก เราเชื่อว่าเวลาเราไปที่อื่นเราไปเจอศิลปินประเทศอื่น เรารู้สึกว่าสกิลไม่ได้หนีกันเลย ต่อให้ไม่ใช่เบอร์ใหญ่ของบ้านเราก็ตาม แล้วเรารู้สึกว่าสกิลบ้านเรามันค่อนข้างระดับโลกอยู่ระดับหนึ่ง คืออาจจะด้วยความที่บ้านเรามันทำยาก อุปกรณ์ก็หายาก มันเลยกลายเป็นความพยายามที่จะทำ การบอกว่าเป็นสตรีทเป็นกราฟิตี้มันไม่ได้แปลว่าเขาจะต้องรุนแรงอย่างเดียว หรือในแง่ของการประกาศศักดาอย่างเดียว จริง ๆ ศิลปินกราฟิตี้หรือสตรีทอาร์ทหลายๆคนก็เรียน fine art มาเหมือนคนทั่ว ๆ ไป แต่แค่อาจจะมี passion ในการแสดงออกที่ไม่เหมือนกันเฉย ๆ

แล้วเราอยากให้มาดูด้วยว่าสตรีทที่มันเข้มข้นที่มัน intensive ขนาดนี้ มันแตกต่างจากอันอื่นยังไง คนที่ดูรุนแรงแบบนี้จริง ๆ มันทำงานที่สวย ๆ ออกมาได้ไม่เหมือนคนทั่วไปเลยนะ อยากให้เขารับรู้ด้านอื่น ๆ ของศิลปินแนวนี้มากกว่า

จะมีวิธีการสื่อสารเรื่องพวกนี้ออกมาในงานอย่างไรบ้าง

เราอยากให้เป็นประสบการณ์ร่วมว่า ถ้าคุณไปพ่น นี่แหละคือวิวที่คุณจะเห็นประจำเป็นเหตุผลว่าทำไมเราอยากทำให้ห้องนี้เหมือนเป็นถนนมาวาง ตึกร้างเข้ามาวางอย่างนี้ แล้วถ้าถามเรื่องความเข้มข้น เรารู้สึกว่าด้วยวิธีการทำงานแบบนี้มันทำให้แพชชั่นที่ใช้ทำงานมันต่างกัน

คือสมมุติว่าเราจะทำงานสตรีทใช่ไหม การที่เราไปพ่น 1 ชิ้น มันคือการต้องซื้อสี สีกระป๋องนึงมันก็ไม่ถูก ส่วนกำแพงมันก็ใช้ต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แล้วรูปแบบการทำงานมันก็คือการที่คุณต้องไปยืนอยู่ที่ที่สาธารณะที่ร้อนมาก แล้วยังต้องมานั่งฝึกควบคุมสีสเปรย์ที่มันไม่ใช่อุปกรณ์สำหรับการวาดรูปตั้งแต่แรก เพื่อทำให้มันได้แบบที่เราต้องการ เราจะรู้สึกว่าวิธีการคิดหรือรูปแบบในการฝึกฝนของศิลปินที่เขา on street มันเป็นความเข้มข้น intensive ที่เรารู้สึกว่ามันมีความเป็นกีฬาเยอะกว่างานประเภทอื่นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงว่ามันดีกว่านะ

เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนทุกวันนี้ที่เขาไม่ได้ทำสตรีทแล้วไปทำเป็นแขนงอื่น แต่ยังชอบแนว ๆ นี้ เราเชื่อว่าเขาก็รู้ตัวว่ามันยาก แล้วเราเชื่อว่าหลายๆคนเคยลอง มันไม่ง่ายกับการที่จะทำสิ่งนี้ โดยเฉพาะหลายคนที่ทำสิ่งนี้มาเป็น 10 ปีที่อาจจะไม่เห็นเงินเลย เราเลยรู้สึกว่า passion ในการทำมันค่อนข้าง pure กว่าพอพูดถึงศิลปินสายนี้

มันก็ได้อิทธิพลมาจากวัฒนธรรมฮิปฮอป ถ้าเทียบกับแรปเปอร์สมมุติเอาพี่เวย์ เอาไทเทเนียม หรือใครสักคนนึงมา แล้วเอานักร้องอีกคนนึงที่แร็ปได้มาแร็ปเปรียบเทียบกัน การแร็ปของศิลปินฮิปฮอปกับงานของนักร้องที่เขาแร็ปเก่ง ความเข้มข้นในเนื้อหามันไม่เหมือนกัน นึกออกไหม ต่อให้สกิลมันจะใกล้กันขนาดไหนก็ตาม

พอมันเป็นงาน sub-culture สิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือมันคือการใช้ชีวิตร่วมกับงานเป็นไลฟ์สไตล์ไปเลย ทุกอย่างที่ออกมาในงานก็คือการใช้ชีวิตของเขา เทคนิครูปแบบทุกอย่างในการนำเสนอแรงบันดาลใจ ทุกอย่างมันจะมาจากการที่เขาใช้ชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่การดีไซน์ มันเลยทำให้เกิดความจริงใจมากๆด้วย

เราอยากให้มาสัมผัสเขาจริง ๆ ว่านี่คือ street culture จริง ๆ ของบ้านเรา แล้วเรารู้สึกว่าเราเชื่อว่าคนจะชอบแล้วก็เห็นมิติหรือความเป็นไปได้ใหม่ๆที่คุณอาจจะไม่เห็น แล้วเราอยากให้มาเจอทั้งงานทั้งศิลปินเลย มาพูดคุยมาดูตัวเขาจริง ๆ แล้วคนเหล่านี้ปกติมันไม่ใช่คนที่เดินอยู่ตามงานทั่วไป หลาย ๆ คนแทบจะไม่ออกสื่อเลยด้วยซ้ำ เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์สำเร็จรูปที่ดีสำหรับคนที่ชอบสตรีท เรารู้สึกว่าอยากให้มาสัมผัสเพราะว่ามันอาจจะไม่ได้มีโอกาสอย่างนี้บ่อย ๆ

อย่างบางคนที่เรา curate มารอบนี้ เราก็รู้สึกว่าถ้าไม่ใช่จังหวะที่ดี เขาก็อาจจะไม่ออกก็ได้ เพราะว่าหลาย ๆ คนที่เป็นยุค pioneer เขาไม่ได้เดือดร้อนจะต้องมาหาที่แสดงงานแล้ว แต่เรารู้สึกว่า อันนี้คือมุมที่คุณอาจจะไม่เห็นเขาในรูปแบบนี้มาก่อน หรือว่าศิลปินบางคนอย่างนี้คุณอาจจะไม่เคยเห็นหน้าเขาเลย คุณเห็นแต่งานเขามาตลอด แล้วรู้สึกว่าคุณลองมาสัมผัสเขาดูจริงๆ มันอาจจะเป็นเสน่ห์หลายอย่างถ้าเรารู้สึกว่าเราชอบได้ขนาดนี้ ถึงขั้นเป็นบ้ามาขนาดนี้ได้ เรารู้สึกว่าน่าจะได้เห็นมันด้วยเหมือนกัน

จำตอนที่ตัวเองเจอศิลปินที่ชอบได้บ้างไหมครับ

เอาเป็นคนแรกที่ได้สัมผัสตัวจริงดีกว่า พี่ BIGDEL เป็นศิลปินคนแรกในวงการนี้ที่เรามีโอกาสคุยด้วย แต่ก็อย่างที่บอก เราเคยเห็นงานเขาบ้าง แต่เราไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร วันแรกที่เจอกันจะพูดว่าตื่นเต้นไหม ก็คงไม่ใช่ความตื่นเต้น เพราะว่าโมเม้นตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเขาคือ BIGDEL เลยด้วยซ้ำ จนเขาแนะนำตัว เรารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งเหมือนกันของสตรีท เราไม่รู้ว่าเขาคือใคร คุณชอบงานเขาก่อนที่คุณจะชอบเขาประมาณนี้ เราก็เลยเป็นความรู้สึกที่อยากให้คนอื่นลองสัมผัสดู

สำหรับคนที่อยากเข้ามาตรงนี้มีอะไรที่อยากบอกพวกเขาไหม

เรารู้สึกว่ามันทำได้แต่เป็นงานประเภทที่คุณต้องลงมือทำ มัน just do it ถ้าใครที่ชอบจริง ๆ เราก็อยากให้ลองอยู่กับมันนานขึ้นแล้วอาจจะเห็นอะไรเยอะขึ้น เดี๋ยวนี้ก็มีกลุ่มคนที่พยายามจะสื่อสารกับคนทั่วไปอย่างเรา มันสามารถหาข้อมูลและเข้าถึงได้มากขึ้นง่ายขึ้น อุปกรณ์ การ support เยอะขึ้น ไม่ได้ต้องเสี่ยงชีวิตเหมือนเมื่อก่อน เพราะฉะนั้นคุณแค่ต้องทำมันอย่างสม่ำเสมอแล้วเรารู้สึกว่ามันจะสำเร็จได้

เรารู้สึกว่าความเป็นไปได้ในยุคนี้มันสูงขึ้น เมื่อก่อนถ้าจะให้คนพูดถึงกราฟิตี้อาจจะไม่มีใครรู้จักเลยว่ามีใครบ้าง แต่เราเชื่อว่าเดี๋ยวนี้ถ้าถามคน เขาก็พยายามรับรู้เยอะขึ้น คนเขาเห็นเยอะขึ้น เรารู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เราคุยเรื่องสตรีทคนเข้าใจเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นแสดงว่าการรับรู้ของคนมันสูงขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นไปได้มากขึ้นในยุคนี้