Alexandre Melo : โลกตะวันออกของไทยไปทางไหน? เจาะประวัติศาสตร์ศิลปะ หลังโลกยุคสองขั้ว กับภัณฑารักษ์ ‘How Many Worlds Are We?’

Post on 22 September

ผมเดินทางไปที่บราซิลแล้วคิดว่า นี่มันเหมือนโลกอีกใบเลย! เอ้า แล้วโลกมันมีกี่ใบกันล่ะ?

ตลอดช่วงเวลาต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ มนุษย์แบ่งโลกเป็นฝั่งข้าง แล้วก็มองหาจุดจบของเส้นแบ่งเหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่า โลกที่หนึ่ง-โลกที่สอง โลกทุนนิยม-คอมมิวนิสต์ หรือโลกตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหาพรมแดนโลกเหล่านั้นบนแผนที่โลก (ลองถามตัวเองว่าออสเตรเลียคือโลกตะวันออกหรือตะวันตก) แต่มันเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าถ้าจะมาหาเส้นแบ่งโลกในความคิด “โลกเรามาไกลกว่าการแบ่งเป็นตะวันออก-ตะวันตกแบบเดิม ๆ แล้ว” คือคำตอบของชายที่เรามาคุยด้วยวันนี้ “ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันไม่มีตะวันออก-ตะวันตกจริง ๆ มีแต่โลกหลายใบ กับมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับโลกนี้ต่างหาก”

นั่นคือถ้อยคำของ อเล็กซานเดร เมโล (Alexandre Melo) ภัณฑารักษ์ นักเขียน นักวิจารณ์งานศิลปะ และศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาวัฒนธรรมและทฤษฎีศิลปะ มหาวิทยาลัยแห่งลิสบอน (ISCTE-IUL) หรือที่เขาอธิบายงานตัวเองว่าคือภัณฑารักษ์ ศาสตร์แห่งการภัณฑารักษ์ คลังสะสม และการสะสม (collectors, curators, curatorship, collection, collecting) ผู้พยายามทำความเข้าใจศิลปะในแง่ที่สัมพันธ์กับสังคม การเมือง และบริบททางสถาบันต่าง ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ความงาม

ซึ่งผลจากการรีเสิร์ชข้ามทวีปของเขา คือความ “รู้สึก” กับวัฒนธรรม ความคิด และมุมมองอันหลากหลาย ที่มีอยู่ยาวนานทั่วโลก แต่กลับถูกบดบังโดยยักษ์ใหญ่ทางความคิดที่อาจครอบงำเราโดยไม่รู้ตัวอยู่… “ในทางศิลปะ ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของการมองโลกแบบชาวยุโรปคือ มันตั้งอยู่บนความไม่แยแสต่อโลกที่เหลือทั้งหมด” เขากล่าว

คำถามว่าเราเป็นโลกทั้งหมดกี่ใบ หรือ ‘How Many Worlds Are We?’ คือชื่อนิทรรศการที่ The Jim Thompson Art Center ซึ่งเขาทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ ความหลากหลายของศิลปินจากรอบโลกและผลงานที่จัดแสดงในนี้อาจทำให้หลายคนตะลึง แต่เราเห็นด้วยกับเขา ว่านี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาพูดคุยเจาะลึกกัน เพื่อให้เข้าใจโลก และเข้าใจยุคสมัยที่เราอาศัยอยู่ หรือที่สำคัญ คือเข้าใจมุมมองของกันและกัน ดังที่เขาทำในบทสัมภาษณ์นี้

ประวัติศาสตร์โลก ที่หมายถึงทั้งโลกจริง ๆ

สิ่งที่ภัณฑารักษ์นักวิชาการคนนี้กำลังทำกับนิทรรศการขนาดไม่ใหญ่มากกลางกรุงเทพฯ แห่งนี้ คือการจับมันวางลงบนประวัติศาสตร์ศิลปะอันยาวนาน และตั้งคำถามถึงราก ที่มาจากโลกตะวันตกของมัน

“ประวัติศาสตร์ศิลปะที่สอนกันในยุโรปหรือทวีปอเมริกาเหนือ เริ่มจากกรีกยุคโบราณ แล้วก็เรเนซองส์ในอิตาลี ปารีสในศตวรรษที่ 18 แล้วก็นิวยอร์กในศตวรรษที่ 20 นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ศิลปะ ไปดูนักประวัติศาสตร์ยุโรปคนสำคัญ ๆ เขาจะไม่พูดถึงจีน อินเดีย ละตินอเมริกา แอฟริกา โอเชียเนีย หรือเอเชียอาคเนย์ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการต้านอาณานิคมต่อความคิดทางประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ มันย้อนไปไกลกว่านั้นมาก”

แต่การ “ต้านอาณานิคม” ที่ว่าต้องทำอย่างไร? การหยิบงานศิลปะจากแต่ละท้องถิ่นมาจัดแสดง คงไม่ได้เบิกเนตรเปลี่ยนมุมมองความคิดที่ติดตั้งในตัวเราออกไปได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องเป็นงานศิลปะเหล่านี้นี่แหละ ที่เป็น “อาการ” รูปธรรม ที่ประท้วงระบบคุณค่าแบบชาวตะวันตก ที่คัดกรองความรู้และมุมมองของคนในพื้นที่ต่าง ๆ ออกไป

“งานพวกนี้ไม่ได้โผล่ขึ้นมาจากไหน ที่ผมเขียนไว้ในคำอธิบายนิทรรศการก็คือ มันเป็นเรื่องของการให้ความสนใจและให้ความเคารพกับสิ่งที่จริง ๆ แล้วก็มีอยู่ตรงนี้มาตลอดแต่ถูกมองข้ามไป ทั้งประติมากรรม ดนตรี การเต้นรำ หรือความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งทรงพลังและมีคุณค่าในตัวเองมานาน ซึ่งอาจนานกว่าประวัติศาสตร์ศิลปะของยุโรปเสียด้วยซ้ำ

“ทั้งศิลปะแบบประเพณี ป็อปคัลเจอร์ หรืองานสร้างสรรค์ของศิลปินแบบต่าง ๆ ทั่วโลก งานจากอะเมซอน ออสเตรเลีย หรือที่ไทยที่ถูกมองข้ามไป ไม่ได้ถูกศึกษาและทำความเข้าใจ มันเป็นเรื่องตลกร้ายมากที่ยุคนี้แล้วเรายังเหมือนไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกเลย นอกจากส่วนเล็ก ๆ ส่วนเดียวในโลกตะวันตก ถ้ากรีกมีตำนานของเขา ชาวจีนหรือชาวเหนือไทยก็มีตำนานของตัวเองเหมือนกัน โลกเองก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว วิธีที่เราทำความเข้าใจโลกก็ควรเปลี่ยนไปตาม”

และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่เขาเลือกหยิบเรื่องเล่าของคนหลากเชื้อชาติ รวมทั้งงานป็อป ๆ มาจัดแสดง แบบที่พูดว่าหลากหลายก็ไม่ผิด แต่ทุกงานก็มาสร้างบทสนทนาร่วมกันอยู่ด้วย

“ตอนแรกนิทรรศการนี้จะชื่อ ‘ตะวันออกไกล/ตะวันตกไกล’ (Far East/Far West) เป็นเวอร์ชั่นใหม่ของแนวคิดของชาวยุโรปที่ว่า ยุโรปคือโลกตะวันตก และฝั่งตรงข้ามคือตะวันออก แต่ถ้านิทรรศการนี้ตั้งอยู่ในเมืองไทย แล้วอะไรคือ “ตะวันออก” กันแน่ล่ะ มันต้องกลับกันไหม นิทรรศการอยู่นี่ ศูนย์กลางอยู่นี่ แล้วไอที่อยู่ตรงนู้นคือตะวันตกไกล”

สิ่งที่เขาพูดแสดงออกมาชัดและตลก (ร้าย) มาก ๆ ในงานของวาสโก อาราวโฮ ที่เป็นต้นปาล์ม ในกระถางธรรมดา ๆ แต่ถ้าหยิบหูฟังที่วางไว้กับกระถางมาลองฟังดู จะได้ยินเสียงอุทานด้วยความตื่นเต้นว่า— “Oh so exotic!” แหม มันน่าประหลาดเสียจริง ๆ ซึ่งคนไทยอย่างเราได้ยินแล้วงงจริง ๆ ว่ามันน่าประหลาดใจอะไรขนาดนั้น

“พอมาคิดดูอีกที โลกเรามาไกลกว่าการแบ่งเป็นตะวันออก-ตะวันตกแบบเดิม ๆ แล้ว ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันไม่มีตะวันออก-ตะวันตกจริง ๆ มีแต่โลกหลายใบ กับมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับโลกนี้ต่างหาก มีมุมมองจากละตินอเมริกา จากบราซิล ยุโรป เอเชียอาคเนย์ จีน มันไม่มีศูนย์กลางหรือชายขอบที่แท้จริงอีกต่อไป

“แน่นอนบางประเทศอาจมีอำนาจกว่า หรือร่ำรวยกว่าประเทศอื่น ๆ แต่ทางวัฒนธรรม พวกเขาอาจไม่ใช่ศูนย์กลางเสมอไป ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก เบอร์ลิน อาจเป็นศูนย์กลางในมุมมองของพวกเขาเอง แต่เชียงใหม่ กรุงเทพ หรือเซา เปาโล ก็เป็นศูนย์กลางในมุมของพวกเขาเองเหมือนกัน

“มันไม่สำคัญอีกต่อไปแล้วที่จะพูดเรื่องตะวันออก-ตะวันตก หรือเหนือ-ใต้ และชายขอบอะไร มันไม่สมเหตุสมผลกับความหลากหลายและมุมมองที่แตกต่างกันไปในปัจจุบัน เราต้องไปให้ไกลกว่าคำอธิบายแบบเดิม และอยู่กับความแตกต่างเหล่านี้ให้ได้”

คำตอบครอบจักรวาล vs คำถามครอบจักรวาล

“ส่วนตัวแล้วนิทรรศการนี้เป็นวิธีการเรียนรู้ และก้าวผ่านความเขลาของผม” เขากล่าว และเราอยากเสริมว่าการเดินชมงานนี้ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้และก้าวผ่านความเขลาของพวกเราเองด้วย

“การเดินทางไปพูดคุยทำความรู้จักศิลปินในวัฒนธรรมต่าง ๆ ทำให้ผมต้องมอง ฟัง และให้เวลากับผู้คน เพื่อเข้าใจสิ่งที่เขาทำ วิธีที่พวกเขาคิด และความรู้สึกของพวกเขาต่อเรื่องต่าง ๆ นั่นคือสิ่งที่ผมทำ ในฐานะภัณฑารักษ์และนักเขียน

“จากประสบการณ์ของผม ศิลปินบราซิลกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงจะมีประเพณีต่างกันมาก ฝ่ายหนึ่งมีรากอยู่ที่คนอเมริกาและแอฟริกันรวมถึงทาส ส่วนอีกฝั่งได้อิทธิพลจากชาวอินเดียและจีน รวมถึงประเพณีท้องถิ่นอื่น ๆ แต่ก็มีบางแง่มุมที่สามารถมาสนทนากันได้ คือความสัมพันธ์กับธรรมชาติและจิตวิญญาณ ซึ่งคือสองสิ่งที่พบได้เสมอในทุกวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยโบราณ” นั่นจึงนำมาสู่ธีมหลักที่เป็นเหมือนบทสนทนาโต้ตอบกันตลอดนิทรรศการนี้

“มนุษย์ทุกคนต้องใช้ชีวิตสัมพันธ์กับธรรมชาติและจิตวิญญาณ ความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึก ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทั้งสองเป็นที่มาของศาสนาหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดร่วมที่มนุษย์ต่างก็มีกันทั้งนั้น และเมื่อเรามีฐานเหมือนกัน บทสนทนาก็เกิดขึ้นได้ ศิลปินบราซิล กัมพูชา หรือไทยในนิทรรศการนี้ ต่างก็มีชีวิตอยู่กับเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องบรรพบุรุษ หรือธรรมชาติของพวกเขา ธรรมชาติและจิตวิญญาณเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ที่สร้างบทสนทนาระหว่างกันและกันได้ ไม่เหมือนเรื่องอุดมการณ์ ศาสนา หรือปรัชญา

“ผมสนใจที่จะหาประเด็นพื้นฐานที่จะทำให้มนุษย์คุยกันได้ ผมพยายามหาคุณค่าที่เป็นสากล ที่ใคร ๆ ก็ต้องเจอเหมือนกันทั้งนั้น และศิลปินเหล่านี้มีวิธีที่เฉียบแหลมและสร้างสรรค์สุด ๆ ในการคิดเรื่องความสัมพันธ์กับธรรมชาติ สังคม โลกเหนือมนุษย์ และโลกแห่งอารมณ์ความรู้สึก ผมไม่รู้หรอกพวกเขาจะมีอุดมการณ์แบบไหน เพราะมันไม่เกี่ยวกับบทสนทนาที่เรากำลังสร้างอยู่”

“แน่นอนเรามีงานของ ลีโน วุธ ที่มีประเด็นเรื่องการคุณค่าทางสังคมกับผืนป่า แต่ก็ยังเกี่ยวกับการรวมตัวกัน หรือความสนุกสนานรื่นเริง เราถึงได้เข้าใจระบบคุณค่าต่าง ๆ มากขึ้น เช่นทางศีลธรรมหรือทางอารมณ์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับอุดมการณ์การเมืองเสมอไป”

ถึงตรงนี้เราอดสงสัยไม่ได้ ว่างานที่พูดถึง “คุณค่าที่เป็นสากล” กับความหลากหลายทางมุมมองของมนุษย์ในที่ต่าง ๆ จะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร เพราะฟังดูแล้วเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันเหลือเกิน ซึ่งเขาก็อธิบายไว้อย่างชัดเจนและน่าสนใจ

“ปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นประเพณีนิยมหรือท้องถิ่นนิยมมักจะเกี่ยวกับความอนุรักษ์นิยมสุดโต่งในแง่การเมืองหรืออุดมการณ์ เพราะมันเข้ากันกับวาทกรรมแบบชาตินิยม ภูมิภาคนิยม หรือจักรวรรดินิยมได้ โดยทำเหมือนกับว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต้องรักษาไว้ โดยเฉพาะในทางจักรวรรดินิยม ที่ต้องการครอบงำคนอื่น”

“แนวคิดโมเดิร์นนิสม์เองก็เป็นประเพณีท้องถิ่น ที่ถูกนิยามโดยชาวยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งทำเหมือนกับว่าเป็นอนาคตเดียวของมนุษยชาติ ดังกับถ้าเราก้าวต่อไปก็จะถึงโมเดิร์นนิสม์แล้ว ปัญหาก็คือมุมมองที่มาจากท้องที่ใดอย่างนี้พยายามจะเป็นสิ่งสากลสำหรับทุกคน

“ทีนี้มันจะเริ่มงงแล้ว ตกลงความเป็นสากลคืออะไร? มันคือความหลากหลายของมุมมองที่เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ซึ่งมนุษย์พบร่วมกัน ในกรณีนี้ ความเป็นสากลไม่ใช่ความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติหรือจิตวิญญาณของแต่ละคนแต่ละประเทศ เพราะมันมีโลกหลายใบ มุมมองหลายแบบเหลือเกิน ไม่มีอันไหนเป็นสากลเลย แม้พวกเขาจะแสดงตนว่าเป็นสากลแค่ไหน สิ่งที่เป็นสากลคือตัวประเด็นปัญหาที่มนุษย์ต่างก็ต้องเจอต่างหาก

“มนุษยชาติสัมพันธ์กับธรรมชาติเพราะเราต้องหาวิธีอยู่กับสัตว์และสิ่งอื่น ๆ เราต้องสัมพันธ์กับมิติจิตวิญญาณเพราะเรามีความกลัดกลุ้ม มีอารมณ์ ความรู้สึก ประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องสากล แต่คำตอบเป็นสิ่งที่ต่างกันออกไป

“ปัญหาจะเกิดเมื่อคำตอบแบบหนึ่งพยายามครอบงำและทำลายคนอื่น แต่แม้จะมีความพยายามทำลายแค่ไหนแต่มุมมองวิธีคิดและวัฒนธรรมก็ไม่หายไปง่าย ๆ ทวีปแอฟริกาถูกทำลาย คนนับล้านถูกจับเป็นทาส แต่วัฒนธรรมแอฟริกันยังอยู่ แบบเดียวกันกับอเมริกาใต้และเอเชีย”

“เวลาผมบอกว่าผมชอบเดินทาง ชอบฟัง ชอบดู นั่นคือการเรียนรู้จากการใช้เวลาร่วมกับผู้คน ซึ่งอาจไม่ได้คุยหรือถามคำถามอะไรเลยด้วยซ้ำ เราจะเห็นวิธีที่เขาปฏิบัติต่อกันและกันและต่อธรรมชาติ มันออกมาเองจากตัวเขา และทำให้เราหลุดจากความเขลาที่มาจากการศึกษาใต้มุมมองแบบชาวยุโรป”

ถ้ามันน่าสนใจ ก็ลองสนใจมันสุด ๆ ดู

ถ้าอ่านบทสัมภาษณ์มาถึงตรงนี้แล้วตกใจกับความหนักแน่นของคอนเซ็ปต์งาน เราอยากชวนให้พักใจ แล้วค่อย ๆ มาสำรวจไปทีละนิด “สิ่งที่ผมทำเวลาไปดูนิทรรศการคือ ถ้าผมเจออะไรที่สนใจ ผมจะให้ความสนใจทั้งหมดกับมัน” คำแนะนำจากทางภัณฑารักษ์

“ถ้าเดินเข้าไปในนิทรรศการแล้วมองเห็นงานสักชิ้นที่คุณสนใจ ก็มองมัน ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ หรือถ้าไม่เข้าใจมัน อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไรเวลาอยู่กับมัน เช่นงานของลีโน คุณมองแล้วจะค่อย ๆ เห็น คุณจะไม่เข้าใจเหมือนกับความเข้าใจเวลาอ่านหนังสือหรอก แต่จะเข้าใจความรู้สึกตัวเอง มีอะไรวิ่งมาในความคิดบ้าง

“คุณอาจจะเห็นภาพวาดแล้วนึกได้ “อ๋อ ฉันก็เคยทำอย่างนี้อย่างนั้น” “อ๋อนี่มันเหมือนใบไม้ในป่าเลย” มันกระตุ้นประสบการณ์ของคุณ ความทรงจำของคุณ และนั่นคือบททดสอบสำหรับตัวคุณเอง แล้วมันก็แค่นั้น ถ้าคุณสนใจอีกคุณอาจไปกูเกิ้ลต่อ แล้วอ่านเกี่ยวกับศิลปินคนนี้ อ่านชื่อผลงาน คิดต่อว่ามันหมายความว่าอะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องสนใจมัน แค่มองผ่านไปแบบ “อ๋อ มันสวยดี” แบบนั้นก็แปลว่าคุณไม่สนใจมัน ก็ไม่เป็นไร คนเราไม่ได้ต้องสนใจทุกอย่าง แต่ถ้ามันน่าสนใจ – ก็ให้ความสนใจกับมันสุด ๆ

“ดูงานของ ปรัชญา พิณทอง มันเป็นของง่าย ๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าให้ความสนใจ คุณจะค่อย ๆ เห็นบางอย่างในนั้น “อ๋อมันคือแร่ออบซิเดียน” “เอ้ะออบซิเดียนคืออะไร” หลังจากนั้นคุณอาจพบว่าชาว Aztecs ใช้สิ่งนั้นสิ่งนี้ วัสดุนี้สร้างมาจากระเบิด แล้วค่อยให้ความสนใจมันสุด ๆ ศึกษามัน ศึกษาความหมายของมันและความรู้สึกที่คุณสัมผัสได้จากมัน เงาสะท้อนจากเหล็ก ในสงคราม ในธรรมชาติ อะไรประมาณนั้น ลองดู ”

นิทรรศการ How Many Worlds Are We?
ภัณฑารักษ์ โดย อเล็กซานเดร เมโล
จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 29 ตุลาคม 2566
ที่หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน, แกลเลอรี่ 1-2