เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ ดีไซเนอร์ผู้เปลี่ยนเมาส์ปากกาเป็นมีดครัว และหยิบวุ้นญี่ปุ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะกินได้

Post on 14 July

เรามีโอกาสได้รู้จักกับ พี่เบน หรือ เบญจรัตน์ เอี่ยมรัตน์ ดีไซเนอร์สาวมากความสามารถและอาจารย์พิเศษของน้อง ๆ นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมาหลายปีแล้ว นั่นเป็นสาเหตุที่เราได้เฝ้ามองการเดินทางทางความคิดและกระบวนการสร้างสรรค์ของเธอในฐานะนักออกแบบที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ยังคงตามหาวิธีเล่นสนุกที่สามารถนำมาใช้ถ่ายทอดไอเดียของเธอออกมาในรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกราฟิกดีไซน์ งานคราฟต์กระดาษ หรือล่าสุดกับการทำวุ้นญี่ปุ่นจากเบสวุ้นเอการ์หน้าตาเก๋ที่ดูดีจนแทบอยากเก็บไว้โชว์ตลอดไป

ไม่ว่าคุณจะรู้จักกับเธอในฐานะ ‘พี่เบน’, ‘น้องเบน’, ‘คุณเบน’ หรือ ‘อาจารย์เบน’ แต่เราเชื่อเหลือเกินว่า ทุก ๆ ครั้งที่เธอสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ออกมา ทุกคนน่าจะสัมผัสได้ถึงประกายไฟของความหลงใหลที่เอ่อล้นออกมาจากดวงตาของเธออยู่เสมอ และในครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อเธอหันมาพุ่งเป้าความสนใจไปสู่ ‘Ben Mizu Confectionery’ โปรเจกต์ทำวุ้นถั่วบดโยคัง (Yōkan) และวุ้นกรอบโคฮาคุโตะ (Kohakutou) จากแค่ความสนใจสนุก ๆ ในตอนแรกก็ถูกพัฒนากลายมาเป็นบริการการออกแบบรูปแบบใหม่ที่ขยายขอบเขตไปไกลกว่าแค่กรอบของกราฟิกดีไซน์ แถมยังดูจะมีพื้นที่หยัดยืนในแบบของตัวเองด้วย

เพื่อต้อนรับการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อป Risograph Printing และนิทรรศการ SUNLIGHT CONFETTI ที่เธอทำร่วมกับ Haptic Editions โรงพิมพ์ริโซกราฟขนาดย่อม ๆ ใจกลางย่านสุขุมวิท เราเลยยกขบวนกันไปชวนเบน-เบญจรัตน์พูดคุยถึงแนวคิดและกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะกินได้ที่ผ่าน ๆ มาของเธอว่าจะมีความน่าสนใจอย่างไรบ้างเมื่อถูกมองผ่านเลนส์ของดีไซเนอร์ ที่ออกแบบได้ แถมยังทำขนมเป็น (ไม่) นิดหน่อย

“ทั้งหมดมันเริ่มจากแค่ว่า วันนั้นเราไป CentralWorld แล้วเดินผ่านเวิ้งขายอาหารญี่ปุ่น เราสังเกตเห็นขนมตัวหนึ่งที่มันใส ๆ แต่เราก็ยังไม่รู้หรอว่ามันคืออะไร จนเราเดินลงบันไดเลื่อนมามาเจอ ABC Cooking Studio แล้วไปเห็นว่ามันมีขนมใส ๆ แบบที่เราเห็นเมื่อกี้อยู่บนโบรชัวร์ของเขา ก็เลยเพิ่งรู้ว่า สิ่ง ๆ นี้ที่เราสนใจมันเป็นประเภทหนึ่งของวากาชิ (Wagashi)”

ไม่น่าเชื่อว่า ก่อนจะมาเป็น Ben Mizu Confectionery จุดเริ่มต้นความสนใจในวุ้นญี่ปุ่นของเบน-เบญจรัตน์จะเรียบง่ายเพียงเท่านี้เอง แต่เมื่อเธอได้รู้จักกับศาสตร์ของวากาชิแล้ว เธอจึงเริ่มศึกษามันอย่างลงลึก จนเริ่มได้ทำความรู้จักกับขนมหวานหลากประเภทที่ล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะกับวุ้นถั่วบดโยคังและวุ้นกรอบโคฮาคุโตะที่เธอดูจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งมีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ นี่เองคือที่มาของชื่อ Ben Mizu Confectionery เนื่องจากในภาษาญี่ปุ่น Mizu แปลว่า น้ำ นั่นเอง

ด้วยความหลงใหลในการเลือกหยิบจับวัตถุดิบตามฤดูกาล และการจับคู่รสชาติของวุ้นกับอาหารและเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ ทำให้เธอเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ขนมหวานธรรมดา ๆ สามารถต่อยอดไปได้ไกลกว่าเดิม เมื่อถูกมองผ่านสานตาของ ‘นักเล่าเรื่อง’ แบบเธอ

แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ไม่ได้ยึดติดกับสูตรดั้งเดิมแบบ 100% แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ภายนอก การปริมาณน้ำตาลลงกว่า 10 เท่า หรือการเปลี่ยนวัตถุดิบสำคัญอย่างถั่วแดงให้กลายเป็นถั่วขาวแทน ด้วยสาเหตุง่าย ๆ แค่ว่า… เธอไม่ชอบกินถั่วแดง!

และพอดิบพอดีกับที่เวลานั้นกำลังมีงาน Jakarta Art Book Fair เบน-เบญจรัตน์เลยผุดไอเดียทำซีน Food Touring ที่ทำใต้ร่มโปรเจกต์ Featouring โดย Feat Studio เกิดเป็นงานสิ่งพิมพ์ที่ว่าด้วยการเดินทางของวุ้นมิซุโยคังที่ถูกออกแบบมาจากภาพถ่ายแลนด์สเคปที่เธอได้ถ่ายเก็บไว้ระหว่างการท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ

“ต้องบอกก่อนว่า เราชอบถ่ายรูปธรรมชาติ เราอยากทำผลงานอะไรที่มีความเป็นรูปแลนด์สเคปอยู่แล้ว อย่างเราเห็นภาพนั้น (Rhine II, 1999) ของ Andreas Gursky เรารู้สึกว่า มันคือบทสรุปของภาพที่เราถ่ายมาทั้งหมด เหมือนพอดูภาพถ่ายของตัวเองเยอะ ๆ มันก็จะเห็นว่า มันจะมีรูปแบบนี้อยู่ในเกือบทุกภาพ แล้วเราคิดด้วยว่า ถ้ามันเป็นขนมหรือเป็นอะไรที่กินได้ ภาพ ๆ นี้น่าจะสามารถเอาต่อทำได้ไม่ยาก เหมือนเป็นการเริ่มต้นฝึกทำขนมที่ง่ายที่สุดด้วย ซึ่งพอทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา มันก็เลยทำให้เราเริ่มทำขนมเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย”

ไม่ใช่แค่โปรเจกต์ส่วนตัวเท่านั้นที่เบน-เบญจรัตน์นำความสนใจในวุ้นญี่ปุ่นมาต่อยอดเป็นผลงานชิ้นใหม่ แต่แม้แต่ในงานลูกค้าอย่างโปรเจกต์ Delightfulness ที่จัดขึ้นภายในพื้นที่ของร้าน XXXYYY ที่เธอไปรับหน้าที่เป็นผู้รังสรรค์ขนมมินิไบท์เพื่อจับคู่เพิ่มรสชาติที่ลงตัวให้กับไวน์คุณภาพดีเอง เธอก็ยังคงไม่วาย รับบท ‘นักเล่าเรื่อง’ ที่พร้อมบอกเล่าเรื่องราวผ่านรสหวานละมุนของวุ้นญี่ปุ้นหลากรูปแบบ

“ในโปรเจกต์นี้ เราลองออกแบบเป็นคอร์สอาหารที่มี storytelling ควบคู่ไปกับการดื่มไวน์ขาวและไวน์แดง ซึ่งลูกค้าเขาก็เลือกใช้ขนมมินิไบท์ที่เราทำไปจับคู่กับตัวไวน์ของเขาด้วย ทำให้โปรเจกต์นี้มันได้สร้างประสบการณ์ใหม่เหมือนกัน คือเวลาคนมาดื่มไวน์ เขาสามารถมาดื่มแบบสนุกได้ ไม่ต้องมาเสิร์ฟจริงจังเป็นแบบ Chef’s Table ที่มีความอลังการ ซึ่งงานพวกนี้มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการจับคู่อาหารไปด้วย ทำไปทำมามันก็เหมือนกันโปรเจกต์ออกแบบนี่แหละ เหมือนเราเป็นคนที่ทำ storytelling ซึ่งเป็นการทำตลาดรูปแบบหนึ่งให้กับลูกค้า”

หรืออย่างในโปรเจกต์ Water Prime at MYST, A Temporary Sweet Bar ที่เธอทำร่วมกับ FabCafe Bangkok เอง เธอก็ตั้งใจนำเสนอรสชาติของย่านบางรักผ่านวุ้นญี่ปุ่นของเธอไปพร้อม ๆ กับการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ไม่ได้พบเห็นได้บ่อยนักในแวดวงอาหาร เรียกได้ว่า เป็นการผนวกรวมศาสตร์ของอาหารและการออกแบบเข้าด้วยกันอย่างน่าสนใจ

“จริง ๆ FabCafe เขามีโปรเจกต์อยู่แล้ว แต่เขาเห็นว่าช่วงนี้เรามาทำขนม เขาก็เลยถามเราว่า มันพอจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำอาหาร แล้วขายเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ของเขาไปด้วย ซึ่งที่เขาเลือกเราก็เพราะว่าเราไม่ใช่เชฟ แต่เป็นคนที่เริ่มต้นจากการเป็นดีไซเนอร์แล้วค่อยมาสนใจวงการนี้ เขาอยากเห็นว่า พอเทคโนโลยีมาอยู่กับเราแล้วเราสามารถเอาไปทำอะไรต่อได้บ้าง”

อ่านมาจนถึงจุดนี้ หลาย ๆ คนอาจจะพอเห็นสิ่งที่เหมือนกันบางอย่างในแต่ละโปรเจกต์ที่เบน-เบญจรัตน์ทำมาตลอด นั่นคือการที่เธอเปลี่ยนความสนใจสนุก ๆ ที่เป็นเหมือนเพียงกิจกรรมยามว่างของนักออกแบบคนหนึ่งให้กลายเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่ถูกพัฒนาและต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์จนสามารถสร้างบริการการออกแบบรูปแบบใหม่ที่ขยายขอบเขตไปไกลกว่าแค่กรอบของกราฟิกดีไซน์ แถมยังดูจะมีพื้นที่หยัดยืนในแบบของตัวเองด้วย ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความรู้ที่เธอได้ไปร่ำเรียนมาจากปริญโทสาขาการจัดการวัฒนธรรม (Cultural Management) ด้วย

“อย่างที่ญี่ปุ่นเขาก็มีร้านที่ทำอะไรอย่างเดียวแบบรู้ลึกรู้จริง ถึงร้านจะอายุ 100 ปี หรือ 300 ปีก็อยู่ได้ เพราะว่าเขารู้จักกับสิ่งที่ทำจริง ๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าการที่เราทำ Ben Mizu Confectionery ตอนนี้มันตอบโจทย์เราเหมือนกัน เพราะมันคือ Cultural Management ตรง ๆ เลย

“เพราะเรามองว่า สิ่งเหล่านี้มันต้องใช้ Storytelling Marketing และการออกแบบประสบการณ์ในการนำเสนอ อย่างคนที่ทำงานเชิงพาณิชย์อาจจะเชื่อว่างานออกแบบที่ดีคือทุกคนเห็นแล้วต้องเข้าใจ ต้อง for all แต่ตอนนี้เราไม่ได้มองว่ามัน for all อีกต่อไปแล้ว เรามองว่างานออกแบบมัน for unique มากกว่า”

SUNLIGHT CONFETTI
Haptic Editions x Benjarat Aiemrat

เวิร์คช็อป Risograph Printing รอบพิเศษที่ชวนรู้จักงานพิมพ์ริโซ่กราฟผ่านเนื้อหาที่โฟกัสความไม่เพอร์เฟกต์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
โทร: 086 429 7414
Line: @Haptic Editions

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.instagram.com/ben_mizu.confectionery/