คุยกับ กมลรส วงศ์อุทุม ว่าด้วยศิลปะที่เล่าผ่านภาษาความเป็นหญิง อีโมจิ และจิตไร้สำนึก

Post on 16 August

‘🎀’, ‘👟’, ‘🏀’

ถ้ามีใครสักคนตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า “จงจับคู่อีโมจิข้างต้น เข้ากับคำว่า Feminine ให้ชัดเจนที่สุด” คุณคิดว่าจะเลือกอีโมจิอันไหนดี ถึงจะดูเข้ากับความเป็นผู้หญิงในภาพจำของทุกคน? ซึ่ง ‘โบสีชมพู’ ก็อาจเป็นตัวเลือกแรก ๆ เพราะเราคงนึกภาพผู้หญิงผูกโบได้ง่ายกว่า เนื่องจากเครื่องประดับชิ้นนี้ถูกผูกติดกับความเป็นเพศหญิงมาอย่างช้านาน ส่วนรองเท้ากับลูกบาส เราก็คงต้องมานั่งนึกกันต่อไปอีกว่าของแบบนี้ผู้ชายเขาก็ใส่และเล่นได้เหมือนกัน

และสิ่งนี้คือแบบทดสอบแรก ที่ ‘กมลรส วงศ์อุทุม’ ศิลปินสาวผู้ออกตัวว่าเป็นเฟมินิสต์ และศึกษารูปแบบและหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสภาวะความเป็นหญิงมานานหลายปีเลือกใช้ เพื่อท้าทายการรับรู้ของผู้ชม ให้ตระหนักถึงการรับรู้ทางอุดมการณ์และจิตใต้สำนึกทางสังคม ก่อนที่จะเข้ามาชมนิทรรศการไร้ชื่อไร้นาม ที่มีเพียงอิโมจิ ‘🎀’ อย่างเดียวในการอธิบายถึงความเป็นหญิง ซึ่งกระตุ้นให้เรารู้สึกสงสัยว่า เพราะเหตุใดเธอถึงเลือกใช้อีโมจิชิ้นนี้? และจะมีอะไรรอคอยให้เราค้นพบในงานของเธอบ้าง?

แน่นอนว่าพอเกิดความสงสัยขึ้นมาแล้ว ก็คงจะปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ไม่ได้ เลยต้องรีบออกตัวไปเยี่ยมชมนิทรรศการ 🎀 กันให้หายข้องใจ พร้อมถือโอกาสชวนศิลปินมาพูดคุยถึงเบื้องหลังการสร้างงานไปในตัว และเมื่อบทสนทนาของพวกเราเริ่มต้นขึ้นก็ค้นพบว่า ภายใต้อีโมจิแสนธรรมดา มีความลึกลับของ Feminine Motifs, Dark Feminine Energy และ The Third Unconscious เคลือบทับอยู่ในทุกย่างก้าว อีกทั้งยังกระตุ้นให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า นี่เรากำลังรับรู้งานเหล่านี้ด้วยประสบการณ์กับจิตไร้สำนึกของตัวเอง หรือกำลังถูกศิลปินควบคุมผ่านการป้อนข้อมูลที่เธอคัดสรรมาแล้วกันแน่?

เพดานที่เรียกว่า Feminist Theory

สิ่งแรกที่ศิลปินพูดคุยกับเราเป็นการย้อนรอยถึงตัวตนของเธอเองว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้เธอศึกษาเรื่องนี้อย่างไร พร้อมกับพาเราไปทำความเข้าใจถึงเพดานที่เรียกว่า ‘Feminist Theory (ทฤษฎีเฟมินิสต์)’ ว่าไม่ได้มีแค่ข้อดีให้เราศึกษา แต่ถ้าเรายึดติดอยู่กับมัน เราก็จะถูกจำกัดศักยภาพภาพไว้ได้เหมือนกัน

“เราคิดว่าหลายคนคงเริ่มต้นรู้จัก Feminism คล้าย ๆ กัน ของเราจะเริ่มช่วงวัยรุ่นที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ feminism และทฤษฎีเฟมินิสต์ แล้วก็อินกับมันเพราะในวัยนั้นมันคงเหมือนเป็นการขยายความเข้าใจบริบทของตัวเองและโลก ช่วงแรกเราเลยมักจะทำงานศิลปะเชิงวิจัยจากทฤษฎีเฟมินิสต์ แต่พอโตขึ้นก็เรียนรู้มากขึ้น ก็จับอะไร ๆ ในโลกกายภาพที่เป็นจริงมาต่อยอดไปเรื่อย ๆ”

กมลรสเริ่มเล่าถึงสัมผัสแรกที่ได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า feminism ว่า

“ตอนช่วงวัยรุ่น ประมาณป.ตรี เราเริ่มจากการอ่านและดูงานเฟมินิสในศิลปะและงานคลาสสิค ๆ เช่น Simone de Beauvoir, Bell Hooks, Judith Butler, Chris Kraus พอมาอยู่ลอนดอนตอนแรกๆ จำได้ว่าเราชอบอ่าน ติดตามงานและความเคลื่อนไหว ณ ตอนนั้น อย่าง Lola Olufemi, Sara Ahmed, Hannah Black และ Helena Reckitt เหมือนเป็นการศึกษามวลต่าง ๆ รอบตัวเพื่อหาถิ่นที่ของมวลของสิ่งที่เราทำอยู่ ตอนเรียนป.โทที่ Goldsmiths-University of London เราเคยออแกไนซ์การพูดคุยวิจารณ์งานผ่านคอนเซปต์ประมาณนี้ เชิญ Nina Power มาพูดคุยกันทั้งวัน เป็นหนึ่งวันที่น่าจดจำมาก”

“กระบวนการทำศิลปะของเราตอนแรก ๆ นั้นเหมือนอยู่ระหว่างปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงและทฤษฎีเฟมินิสต์ ช่องว่างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างสองสิ่งนั้น ถูกนำเสนอออกมาเป็นชิ้นงาน”

“พอผ่านมาเรื่อย ๆ ผลงานที่เราทำก็เริ่มกระแทกกรอบเฟมินิสต์ตรงนั้นออกมา มันเหมือนเรามองเห็นศักยภาพของภาษาศิลปะแล้วว่า มันสามารถไปไกลกว่าทฤษฎีเฟมินิสต์ได้ ซึ่งทุกคนอาจจะเห็นได้มากขึ้นผ่านงานชุดนี้ของเรา ว่าอยู่ดี ๆ มันก็แตกกระจายออกไปเลย คือมันจะมีเซนส์ของวิชวลคัลเจอร์ผ่านเลนส์ของเราอยู่”

เมื่อเราถามต่อว่าเธอสัมผัสกับมันจริง ๆ ตอนไหน และสิ่งใดที่ทำให้เธอรู้สึกว่า นี่แหละคือเพดานที่ว่านั้น เพดานของการก้าวข้ามไปไกลว่าทฤษฎี กมลรสก็อธิบายว่า

“จริง ๆ มันเป็นโมเมนต์ที่เกิดขึ้นในสตูดิโอเลย เวลาทำงานในสตูดิโอส่วนใหญ่เราจะเริ่มจากการอ่าน แล้วเวลาอ่านก็วาดภาพร่างต่าง ๆ ไปด้วย เรารู้สึกว่าเวลาอ่านทุกทฤษฎีมันจะมีช่องว่างบางอย่างเกิดขึ้นในความคิด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วงานเราจะเริ่มจากตรงนั้น เสร็จแล้วค่อยสรุปความคิดออกมาเป็นงาน แต่มีวันหนึ่ง เรานั่งมองงานที่เราทำแล้วแขวนไว้บนผนังสีขาวในสตูดิโอ เราพยายามลองมองมันด้วยสายตาคนนอก พยายามมองสิ่งที่แขวนอยู่นั้นเหมือนเราเพิ่งเดินเข้ามาในห้อง ๆ นี้ มองมันด้วยภาษาศิลปะ เราก็เออ สิ่งที่เรามองอยู่มันเปร่งข้อความได้แบบนั้นแบบนี้ ซึ่งมันเปร่งได้กว้างกว่าตัวอักษรที่เราเพิ่งอ่านมากเลย”

“ดังนั้น จากเดิมที่งานของเราจะพัฒนามาจากการทำงานวิจัย แต่พอเกิดโมเมนต์ขึ้นที่สตูดิโอวันนั้น เราก็เริ่มมองศิลปะในตัวบทและภาษาของมันมากกว่าการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร (art as a tool)อย่างเดียว พอทำแบบนั้น เราก็เห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ของศิลปะมากขึ้น และก็เห็นเพดานที่เรียกว่า Feminist Theory มันลอยอยู่ ซึ่งเราได้ทลายมันลง ณ โมเม้นท์นั้น”

Feminine Motifs ในภาษาศิลปะ ที่ไปไกลกว่า Feminist Theory

หลังจากรู้ตัวแล้วว่าศิลปะสามารถไปไกลกว่าทฤษฎีเฟมินิสต์ได้ กมลรสก็เริ่มพูดถึง Feminine Motifs ใน Aesthetics โดยเฉพาะ Hyper Feminine Aesthetics และ Dark Feminine Aesthetics ในที่นี้ เพราะเป็นสิ่งที่เธอเริ่มนำมาใช้เป็นสื่อหลักในงานนิทรรศการนี้

“ผลงานในนิทรรศการ 🎀 เราเริ่มมองสิ่งต่าง ๆ จากเลเยอร์แรกก่อน แล้วก็ค่อย ๆ ลามไปถึงโครงสร้างที่มันครอบอยู่ของวัตถุสิ่งนั้น

“หลาย ๆ องค์ประกอบที่เราเลือกใช้ รวมถึงกลิตเตอร์ มันถูกเชื่อมโยงไปถึงเรื่องคุณค่า (value) และภาพแทน (representation) เสียเยอะ การให้คุณค่าและการถูกดูแคลนของสิ่ง ๆ นั้น หากสังเกตดูองค์ประกอบต่างๆในนิทรรศการนี้จะเล่นกับวิภาษวิธีของวัตถุ”

นิทรรศการ ‘🎀’ กับ Dark Feminine Energy

“สำหรับ Dark Feminine Energy (พลังงานด้านมืดของสตรี) มันเป็นเทรนด์หนึ่งใน Tiktok ที่กำลัง Empower ผู้หญิงประมาณหนึ่ง คือในแง่ของสุนทรียะต่าง ๆ แล้ว ก็ถือว่าชัดเจนว่ากำลังพูดถึงอะไร ถ้าลองเสิชภาพดูใน Instagram หรือใน Google มันก็จะเป็นสุนทรียะที่ชัดเจนมาก แบบพูดถึงผู้หญิงที่มีความเป็นผู้นำ สวย เซ็กซี่ รักตัวเอง มั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเผลอ ๆ เราก็อาจจะกำลังโอบรับมันอยู่เช่นกัน

“เราโยง Dark Feminine Energy เข้ามาในงานด้วย เพราะในแง่ประวัติศาสตร์ก่อนที่มันจะถูกทำให้ป็อปใน Tiktok มันปรากฎอยู่แล้วในโลกของจิตวิญญาณซึ่งผูกกับเรื่องของ Divine Feminine และในแง่แม่แบบ (archetype) นั้นที่ชัด ๆ เลยก็อย่างเช่นเมดูซ่า หรือทางศาสนาก็พระแม่กาลี และลิลิธ เราสนใจการหลอมรวมของภาพและพลังงานที่นำมาสู่สุนทรียะและเทรนด์ในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเรามองดูแล้วการเกิดขึ้นของเทรนด์นี้มันก็เหมือนเป็นการผนึกของจิตสำนึกร่วม (the collective consciousness)”

“ความสนใจการรับรู้ผ่านจิตใต้สำนึกในปัจจุบัน มีแรงบันดาลใจมาจากหนังสือ The Third Unconcious ของ Franco ‘Bifo’ Berardi นอกจากด้านทฤษฎีแล้วเราสนใจมุมมองที่เขาต่อยอดจาก Sigmund Freud ผ่านสายตาที่มองในยุคปัจจุบัน เราสนใจในแง่การเปลี่ยนผ่านของเลนส์ เลเยอร์ของเวลาก็เลยจะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญของนิทรรศการนี้เพราะมันสะท้อนการเชื่อมต่อและการบิดเบี้ยวของการรับรู้” กมลรสกล่าว

“ยกตัวอย่างเช่น จะมีงานสามชิ้นใหญ่ที่เป็นเหมือนภาพพิมพ์ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นงานแบบดิจิทัลคอลลาจจากภาพถ่ายและภาพวาดดรอว์อิ้ง แลดูเหมือนกับงานจิตรกรรม แบบถ้ามองใกล้ ๆ จะแทบดูไม่รู้เรื่องเลยว่ามันคือรูปอะไรบ้าง แต่พอถอยออกมามันก็เป็นอย่างนี้ แต่ชิ้นใหญ่จะเห็นพวก Feminine Motifs ชัด ๆ ค่อนข้างเยอะ เช่นหัวใจ ผีเสื้อ โบว์”

“ในส่วนวัตถุ 11 ชิ้นก็เกิดจากการคอลลาจ ถ้าดูไปทีละส่วนแล้วลองมาจิ้มว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะเหมือนกับกำลังแยกสัดส่วนออกมาเลย แบบมันแทบไม่เป็นฟอร์มที่สลักสำคัญอะไรเลย แต่เราก็เอามาทำให้มีคุณค่าเป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง และมีการเขียนถึงมันในแง่ของวัตถุประกอบอยู่ด้วย โดยเชิญนักเขียน Gaby Wilson ผู้เขียนเกี่ยวกับสิ่งของแฟชั่นให้ SSENSE มาเขียนถึงแต่ละชิ้นในฐานะวัตถุ โดยเราให้เธออิงสิ่งที่เธอเห็นกับประวัติศาสตร์ทางสายตา (visual culture) และ วัฒนธรรมประชานิยม (pop culture)”

“แม้นิทรรศการนี้จะเล่นกับการรับรู้ค่อนข้างเยอะ แต่มันก็ยังเป็นการรับรู้ที่ถูกเราเลือกและควบคุมมาแล้วในแง่สุนทรียะ เช่น Hyper Feminine Aesthetics และ Dark Feminine Energy เหมือนเราเป็นคนจัดเตรียมเศษชิ้นส่วนเหล่านี้เอาไว้ แล้วคุณก็รับรู้ได้ คล้ายกับเป็นการทอยเหรียญกลับไปกลับมาในความคิดของคุณ”

The Third Unconcious กับประสบการณ์รับรู้แบบไร้จิตสำนึกและไรโซม

นอกเหนือจากเรื่องของการทำคอนเซปต์ให้เกี่ยวกับ Dark Feminine Energy และการก้าวข้ามเพดาน Feminist Theory ของศิลปินแล้ว ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของนิทรรศการ 🎀 ก็คือเรื่องการรับรู้งานผ่านจิตสำนึกของแต่ละคน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นแกนหลักของงานนี้เลยก็ว่าได้

ก่อนหน้านี้ศิลปินก็ได้เกริ่นไว้แล้วว่า เธอได้รับอิทธิพลการสร้างงานมาจากหนังสือของไบโฟ ที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘จิตไร้สำนึก’ ที่เราไม่มีทางรับรู้เวลา หรือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหลัง และมันสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้เมื่อสิ่งเร้าภายนอกอย่างเศรษฐกิจและการเมืองเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเธอก็ได้ใช้ทฤษฎีนี้มาเป็นตัวตั้ง เพื่อทำงานที่จะสื่อสารกับคนดูผ่านจิตไร้สำนึก

ดังนั้น เธอเลยเลือกใช้อีโมจิมาเป็นตัวแบ่งแยกและทดสอบการรับรู้ในจิตใต้สำนึกของแต่ละคน เพราะเธอมองว่า ถ้าผู้ชายเห็นอีโมจิแบบเดียวกันกับผู้หญิง มันจะเป็นเส้นเวลาคนละแบบกัน เหมือนกับเวลาที่เราใช้อีโมจิแบบเดียวกัน แต่ส่งผ่านคนละแพลตฟอร์ม มันก็อาจจะมีหน้าตาที่เปลี่ยนไป และแปลงเป็นเจตนาอื่นได้โดยที่เราไม่ทันคิด

และนอกจากอีโมจิแล้ว เรายังสังเกตเห็นอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ศิลปินเลือกใส่เข้ามาในงาน คือรูปร่างของ ‘ไรโซม’ (Rhizomes) พืชจำพวกที่มีหัวอยู่ในดิน ที่เรียกกันว่า ‘เหง้า’ อย่างพวก ขิง ข่า และมันเทศต่าง ๆ ซึ่งจากอีโมจิบนโลกอินเทอร์เน็ต พลิกกลับมาเชื่อมโยงกับพืชในดินแบบนี้ ก็กระตุ้นให้เราอยากรู้ต่อทันทีว่า ทำไมเธอถึงต้องเลือกรูปทรงของไรโซมมาผูกเข้ากับอีโมจิ เฟมินิสต์ และการรับรู้ผ่านจิตไร้สำนึกด้วย

“เราว่าไรโซมมันตอบโจทย์คอนเซปต์เรื่องการกระจัดกระจายของเศษชิ้นส่วนที่ปรากฏชัดในนิทรรศการนะ เพราะเหง้าก็คือรากของอะไรบางอย่าง แปลว่าต่อให้ด้านบนมันจะกระจัดกระจายกลายเป็นใบหรือสิ่งใดก็ตาม แต่มันก็ยังมีรากของมันให้เรายึดถืออยู่ว่ากำลังพูดถึงอะไร นิทรรศการนี้มันมีองค์ประกอบหลากหลายเศษชิ้นส่วน (fragments) ซึ่งดูกระจัดกระจายอยู่ในแง่ของภาพ หัวเรื่อง การรับรู้ หรือภาพแทนของศาสตร์ความน่ารักอันดาษดื่น เราเลยรวม ๆ ว่า Cute Rhizome” กมลรสอธิบาย

“เรารู้สึกว่าคนจะรับรู้ได้ว่ามันคือเรื่องของจิตไร้สำนึก โดยที่ไม่ต้องปริปากออกมาเลย คือเหมือนเป็นการรับรู้ร่วมกัน แต่ถ้าบางคนที่ไม่มีความรับรู้ในเรื่องนี้ ไม่เข้าใจเหง้าของมัน ต่อให้เจอสิ่งที่กระจัดกระจายอยู่ด้านบนก็อาจจะนึกไม่ออก ดังนั้นพวกเขาก็จะไม่เก็ทเลยว่าอะไรคือ 🎀 อีโมจิ”

เรียกว่าภายใต้อีโมจิ 🎀 แค่อย่างเดียว ก็สามารถตีความและขยายภาพของความเป็นเฟมินิสต์ได้ครอบคลุม และสอดคล้องกับเรื่องราวของ Feminine Motifs, Dark Feminine Energy และ The Third Unconscious ในนิทรรศการจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่านิทรรศการนี้จะแลดูสาว ๆ แต่กมลรสก็คาดหวังว่าจะมีคนเข้ามาชมนิทรรศการของเธอได้ทุกเพศทุกวัย

กมลรสกล่าวทิ้งท้ายว่า “ถึงแม้ว่าเราจะทดสอบการรับรู้ที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้ชมตั้งแต่การตั้งชื่องานด้วยอีโมจิแล้วว่า ถ้าใครเข้าใจก็จะเข้าใจ แต่เราก็ยังคาดหวังว่าทุกคนจะมาดูนะ ไม่ใช่ว่าพองานดูน่ารักแล้วจะโฟกัสแค่ผู้หญิง งานนี้มันสร้างขึ้นมาสำหรับทุกคนเลยแล้วก็ไม่ได้โฟกัสที่เรื่องเพศ (gender) แต่อย่างใด และถ้าถามว่าอยากให้ผู้ชายมาดูไหม แน่นอน ก็คิดว่าถ้าพวกเขาได้มาดู จะต้องได้ทดสอบโสตประสาทการรับรู้อะไรบางอย่างกลับไปแน่ คือเป็นการเปิดเลนส์อะไรบางอย่างของการรับรู้”

สามารถลองตามไปสัมผัสศิลปะนามธรรมจากภาษาเฟมินิสต์ ที่ศิลปินคัดสรรองค์ประกอบต่าง ๆ มาอย่างตั้งใจ เพื่อท้าทายโสตประสาทการรับรู้ที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของทุกคนด้วยตัวเองกันได้เลย ที่นิทรรศการ 🎀 โดย กมลรส วงศ์อุทุม จัดแสดงที่ Gallery VER ตั้งแต่วันนี้ - 17 กันยายน 2023