“ผมคิดว่าสังคมไทยยังไม่สงบง่าย ๆ นะ” คุยกับ ‘มานิต ศรีวานิชภูมิ’ ศิลปินเจ้าของผลงาน Pink Man ในวันที่อารมณ์ขันของเขาหายไป และสังคมไทยเหมือนจะย้อนไปยุคอยุธยา

Post on 28 May

เชื่อไหมว่ามานิต ศรีวานิชภูมิ เป็นศิลปินที่ทำนายอนาคตได้

อาจจะฟังดูกล่าวเกินจริงไปนิด แต่ถ้าคิดว่าผลงานชุด ‘Pink Man’ ที่วิพากษ์ลัทธิบริโภคนิยมของเขา ปรากฏตัวขึ้นแทบจะพร้อม ๆ กับการมาถึงของวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในขณะที่ผลงานชุด ‘Fear’ ที่เขาแสดงความกังวลถึงการเปลี่ยนผ่านสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ก็จัดแสดงในช่วงเวลาก่อนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวในเวลาไม่นาน ก็คงนับได้ว่าเขาเป็นนักสังเกตการณ์สังคมไทย ผู้นำเสนอมุมมองความคิดเห็นที่ออกจะน่าประทับใจอยู่

และในปีนี้เขาก็มากับ ‘อยุธยา ๒๕๖๖’ นิทรรศการภาพถ่าย “พระพุทธรูปหิน” ที่ประกอบขึ้นจากซากแตกหักจากประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งถึงจะเป็นภาพของอดีต เราก็ยังอยากจะมองมันเป็นเหมือนความเห็นหรือคำทำนายของเขาต่อสังคมไทยอยู่ดี และหลังจากได้คุยกับเขา ก็เหมือนว่าจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

“ผมต้องการพูดเรื่องค่านิยมหรือคุณค่าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องคุณงามความดี ศีลธรรม จริยธรรม ไปถึงระบบยุติธรรม ซึ่งสำหรับผม มันล่มสลายไปหมดแล้ว ไม่ต่างกับพระพุทธรูปที่แตกหักแล้วคุณกอบรวมขึ้นมาให้ดูเป็นพระพุทธรูปเท่านั้นเอง แต่โดยสาระแล้วมันก็แตกหัก — คุณลองจิ้มไปเลย เป็นแบบนี้ทุกเรื่องเลย” เขาเล่า

เรานั่งคุยกับเขาในช่วงเวลาไม่นานหลังการมาถึงของ “ข่าวดี” ของหนัง ‘คนกราบหมา’ ที่เขารับหน้าที่กำกับภาพและ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ที่เขาอำนวยการสร้าง กับร่วมกับผู้กำกับสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ซึ่งต่างเพิ่งได้รับอนุญาตให้ฉายในโรงหนังบ้านเราได้ หลังจากที่หนังทั้งสองเรื่องถูกห้ามฉายมานับสิบปี แต่ไม่ทันที่เราจะเรียบเรียงบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เสร็จ หนังคนกราบหมาก็พบกับความท้าทายใหม่ (ซึ่งการที่หนังสักเรื่องจะเข้าฉายในโรงหนัง มัยต้องเผชิญหย่ากับความท้าทายหรือบทพิสูจน์สักเท่าไหร่กัน?) ในรูปแบบของการหั่นรอบฉายจากเครือโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ (ส่วนเชคสเปียร์ต้องตายจะชะตากรรมเป็นอย่างไร โปรดติดตามกันแบบอย่าละสายตา)

นี่จึงเป็นบทสัมภาษณ์ศิลปินที่เต็มไปด้วยคำถามและความเห็นทางการเมือง เรื่องของ “เสรีภาพ” กับศิลปิน เรื่องราวของพระพุทธรูปเก่าและยุคสมัยอยุธยาของเราแต่ก่อน ในภาพถ่ายที่เขาห้อยเลขปี 2566 ไว้ท้ายชื่อ — ถ้าฟังนักรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์วิจารณ์สังคมไทยกันมามากแล้ว นี่คงเป็นตัวอย่างความเห็นหนึ่งจากศิลปิน ที่เราอยากให้ลองอ่านดูบ้าง เผื่อเขาเห็นอะไร ที่เรายังไม่ทันเห็น…

ทำไมถึงได้สนใจพระพุทธรูปจากอยุธยาขึ้นมาได้

ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด เราก็มีเวลาได้เที่ยวในเมืองไทย ก็เลือกไปวัดมหาธาตุที่จังหวัดอยุธยา เป็นที่ที่ถือกันว่าเป็นจุดสำคัญของอยุธยา ทุกคนก็อาจจะรู้จักเศียรพระที่ถูกรากต้นโพธิ์ร้อยรัดไว้ เป็นภาพจำ แต่พอผมไป ก็ลองเดินดูรอบ ๆ ปรากฏว่ามีพระที่แตก ๆ หัก ๆ อยู่ ถูกนำมาจัดเรียงตามโบสถ์วิหาร ก็เลยไปเดินสังเกตดูแล้วก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจดี

สนใจเพราะว่าวิธีการวางพระแต่ละรูปที่แตกหักเนี่ย ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเหลือเศียร พูดง่าย ๆ คือถูกขโมยไปหมดแล้วแหละ เหลือแต่โครงร่างกาย แล้วเวลาเราดูก็รู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมมันไม่เท่ากันเลย รูปส่วนหน้าอกที่ตัวกับฐาน มันเหมือนมาจากคนละองค์ เหมือนกับร่างกายแต่ละส่วนมันมาจากคนละร่างกัน ที่ไม่ใช่ร่างเดียวกันแล้วมาประกอบกันเป็นหนึ่งร่าง บางส่วนที่เอามาประกอบก็ไม่ใช่ร่างกายด้วยซ้ำ เป็นก้อนหินธรรมดา ก็เลยพยายามจะทำความเข้าใจความคิดของคนที่นำเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ นี้มาประกอบ ก็เลยถ่ายภาพเอาไว้ แต่ยังไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร

ทีนี้เมื่อปีที่แล้วมันมีการเลือกตั้งใช่ไหม เราก็เริ่มจับสังเกตบางอย่าง เห็นว่ามันมีเหตุการณ์ทางการเมืองว่าประเทศไทยเนี่ย มีความขัดแย้งกันมาอยู่ ผมคิดว่าคุณก็โตมากับความขัดแย้ง ตั้งแต่เด็กอาจจะมัธยมจนจบมหาลัยมันก็ยังอยู่ ลากยาวมา แต่ทีนี้อยู่ดี ๆ มันเหมือนมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ขั้วที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกัน เหมือนจะตกลงอะไรได้ อ้าว..เมื่อข้างบนเขาแบ่งเค้กอำนาจกันลงตัว แล้วคนที่บาดเจ็บล้มตายเพราะความขัดแย้งของขั้วอำนาจทั้งสองฝ่ายเนี่ย ตายฟรีใช่ไหม?

พูดกันให้ชัดก็คือกรณีของคุณทักษิณกับเพื่อไทยและฝ่ายทหาร ที่เหมือนจะมีการตกลงอะไรกันได้ช่วงการเลือกตั้ง แต่ทีนี้เราก็ต้องคิดว่าอะไรเป็นปัจจัยทำให้คนเหล่านี้ตกลงกันได้ในเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมือง เมื่อเป็นแบบนี้มันหมายความว่ามันมีปัจจัยที่สาม ที่ทำให้ศัตรูสองฝ่ายตกลงกันได้เพื่อจะมาจัดการ ก็คืออนาคตใหม่หรือก้าวไกล ซึ่งก็มองว่าน่าจะเป็นขั้วอำนาจใหม่ที่เขาต้องจัดการ สองขั้วเก่านี่ก็พวกคนแก่ทั้งนั้น ตกลงกันได้ว่าจะจัดการกับคนหนุ่มสาวพวกนี้อย่างไร

ก็เลยเห็นว่าที่ทะเลาะกันมาเกือบยี่สิบปีเนี่ยมันอ้างเรื่องความดีงาม คุณค่าอะไรต่าง ๆ มันไม่มีความหมาย เราเห็นกระบวนการยุติธรรมที่มันกวัดแกว่ง มันเริ่มแสดงตัวตนออกมาอย่างไม่ต้องหลบซ่อน ไม่ต้องละอาย ก็เลยทำให้นึกถึงพระพุทธรูปอยุธยา คือดูทรงก็เป็นพระพุทธรูปนั่นแหละ แต่ว่าถ้าดูในรายละเอียดแล้วมันมาจากไหนบ้างก็ไม่รู้

สิ่งแบบนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงช่วงสภาวะที่อยุธยาล่มสลาย ในช่วงปี 2310 ด้วย จริง ๆ อยุธยากว่าจะล่มนี่ใช้เวลาเกือบสิบ ๆ ปี มีทั้งประเด็นขัดแย้งกัน ทั้งเรื่องกษัตริย์ที่อ่อนแอ เรื่องขุนน้ำขุนนางที่มีความขัดแย้งมีความโลภอะไรต่าง ๆ จนทำให้อยุธยาถึงกาลล่มสลาย แล้วพระพุทธรูปเหล่านี้ก็มาจากการล่มสลายครั้งนั้นที่อยุธยาล่มสลายไป

เวลาไปเมืองเก่าหรือไปค้นเรื่องประวัติศาสตร์เก่า ๆ คุณเข้าไปสำรวจด้วยสายตาหรือมุมมองอย่างไร

เวลาเราไปเมืองเก่า เราไปด้วยความรู้สึกอยากจะรู้จักอดีตของเรา อยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็รู้จักอดีตจากศิลปะวัฒนธรรม สิ่งที่หลงเหลือให้มนุษยชาติได้ศึกษาอดีต ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ ตัวอักษร หรือแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ

แต่แน่นอนในรายละเอียดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งว่ามันจะมีรูปลักษณ์รูปทรงที่มันถูกต้องตามยุคสมัยจริงไหม หรือว่ามันถูกปรุงแต่งโดยคนปัจจุบัน เพื่อที่จะรับใช้แนวความคิดที่จะโฆษณาชวนเชื่อ เช่นเรื่องชาตินิยม ก็เป็นสิ่งที่คนดูงานศิลปะต้องศึกษา มันคือสิ่งที่เราเรียนรู้จากแหล่งโบราณคดีเหล่านั้น และผมคิดว่ามันมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เราสามารถเอามาใช้เป็นแรงบันดาลใจและให้แง่คิดกับเราได้เหมือนกัน

เมื่อก่อนจะเห็นงานของคุณมานิตมีจุดเด่นเลยคือความขำ ความเสียดสี กวน ๆ อย่างชุด Pink Man หรือ Bangkok in Technicolor แต่งานชุดนี้ดูจะมีความนิ่งขึ้น เปิดให้คนดูครุ่นคิด อยากรู้ว่าคุณรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวไหม ว่าอารมณ์ขันลดลง?

เรารู้สึกว่าอารมณ์ขันเราหายไป ผมก็บอกตัวเองว่างานของเราที่ผ่านมามันมีอารมณ์ขันมีความเสียดสี แต่พอมันหายไปก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้จริง ๆ

ตอนนั้นมันเป็นการเย้ยหยันแดกดันมากกว่า เราขำกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา เราอยู่กับมันด้วยอารมณ์ขัน เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ท่ามกลางแรงกดดันหรือสถานการณ์ที่มันไม่เป็นคุณกับเรา

แต่อย่างงานชิ้นที่แตกหักเนี่ย มันก็มีบางส่วนที่ก็คงขำได้นะ ด้วยความไม่สมประกอบกันเนี่ยมันก็เป็นอารมณ์ขันอย่างหนึ่ง เหมือนความพิกลพิการที่มาเจอกัน

แต่ผมก็เข้าใจความตั้งใจของกรมศิลป์เขานะ ที่อยากให้เราคิดถึงอดีตที่เคยรุ่งเรือง แล้วนี่มันเลยเหมือนเป็นอนุสรณ์ของความล่มสลาย แต่ขณะเดียวกันตัวมันเองก็ทำหน้าที่เหมือนกับการโฆษณาชวนเชื่อก็ได้ ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีความรุ่งเรือง

ถ้าถามถึงแนวคิดทางการเมืองตอนนี้เป็นอย่างไร

ส่วนตัวผมยึดถือแนวทางแบบเสรีนิยม เราเป็นศิลปิน เราก็ต้องให้เสรีภาพมาเป็นอันดับต้น ถ้าจะจำกัดเราไม่ให้มีสิทธิ์มีเสียง เราก็คงยอมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของประเพณีหรืออะไรก็แล้วแต่ ในฐานะศิลปิน เรามีหน้าที่ต้องตรวจสอบ ปรับปรุง ปรับแต่งให้เข้ากับชีวิตเรา ไม่ใช่ว่าจะเชื่อตามกันไปโดยไม่ตั้งคำถาม หรือถือว่ามันเป็นประเพณีแล้วจะต้องยึดตามไปตลอด เพราะว่าประเพณีอะไรต่าง ๆ มันก็เป็นสิ่งที่เราคิดค้นกันขึ้นมาทั้งนั้น ต้องมีความคิดว่าสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงได้ เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของเรา คือถ้าเราไม่สามารถจะมีส่วนร่วมได้ สิ่งเหล่านั้นก็จะไม่ได้มีความหมายกับเรา แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นก็ต้องอยู่ด้วยเหตุด้วยผล

คือผมต้องการพูดเรื่องค่านิยมหรือคุณค่า ไม่ว่าจะเรื่องคุณงามความดี ศีลธรรม จริยธรรม อะไรก็แล้วแต่ ไปถึงระบบยุติธรรม สำหรับผมมันล่มสลายไปหมดแล้ว ไม่ต่างกับพระพุทธรูปที่แตกหัก แล้วคุณกอบรวมขึ้นมาให้ดูเป็นพระพุทธรูปเท่านั้นเอง แต่โดยสาระแล้วมันก็แตกหัก คุณจิ้มไปได้เลยทุกเรื่องเลย

เช่นเรื่องระบบยุติธรรม?

ระบบยุติธรรมเนี่ยยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะระบบยุติธรรมทำให้สังคมอยู่ได้อย่างปกติสุข ถ้าคุณไม่สามารถทำให้ระบบยุติธรรมทำงานได้อย่างที่มันควรจะเป็น สังคมมันก็จะนำไปสู่การละเมิด เอารัดเอาเปรียบกัน การคอรัปชั่น แล้วคุณคิดว่าคนเขาจะยอมรับนับถือระบบยุติธรรมตอนนี้เหรอ? ถ้าคนไม่ยอมรับกฎหมาย สิ่งที่มันจะเกิดคืออะไร ก็เป็นความขัดแย้งกันไม่จบสิ้น เพราะสิ่งที่เป็นเส้นใยยึดโยงสังคมเอาไว้ก็คือกฎหมาย แต่คุณทำลายมันไปแล้ว ทีนี้ต่างคนต่างก็เป็นอิสระ แค่เพียงว่าใครมีพวกมีอะไร คุณดูตำรวจระดับบน ๆ สิ ทะเลาะกันจนแทบไม่เหลืออะไรเลย แต่ที่สังคมมันยังอยู่ได้ เพราะคนตัวเล็กตัวน้อยพยายามรักษาคุณงามความดีภายในตัวเอง แต่โครงสร้างใหญ่ ๆ มันไม่เหลือแล้ว

อยากให้ลองทำนายเล่น ๆ ดูหน่อย ว่าหน้าตาสังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ผมถือว่าผมทำงานศิลปะสะท้อนยุคสมัยที่ผมอยู่ ถ้าคุณอยากรู้ว่าสมัยที่ผมเกิดเป็นอย่างไรคุณก็ดูงานศิลปะ “อยุธยา” ของผมในพ.ศ. 2566 นี้ มันคือเวลาที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ต่างกับช่วงอยุธยาล่ม

ผมคิดว่าสังคมไทยยังไม่สงบง่าย ๆ นะ ความขัดแย้งมันคงยังดำเนินไปอีก ตอนนี้มันเหมือนลูกตุ้มเสียบาลานซ์ สองฝ่ายที่รวมกันก็มีน้ำหนักมาก ทำให้บาลานซ์สังคมเสีย เพราะฉะนั้นจนกว่ามันจะกลับมาสู่จุดสมดุลย์ ก็คงจะไม่ได้มาง่าย ๆ อาจจะมีการล้มครืนบางอย่างแล้วเริ่มต้นใหม่ ซึ่งผมก็ไม่อยากเห็นนะ มันอาจจะนำไปสู่ความรุนแรง ประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็นแล้ว