นิ้น — เพชรนิล สุขจันทร์ เมื่อศิลปะสะท้อนบาดแผลของสังคม ศิลปะจึงไม่จำเป็นต้องสวย

Post on 18 April

ทันทีที่ก้าวย่ำลงบนเอกสารแถลงการณ์ที่กองอยู่ทั่วพื้น เสียงการปะทุ เสียงตะโกนร้อง ก็พุ่งเข้ากระแทกรูหู ทั้งที่รอบตัวคือบรรยากาศในแกลเลอรีแอร์เย็นกลางเมือง แต่งานศิลปะที่อยู่รายล้อมกลับส่งเสียงร้องตะโกน พาเราย้อนกลับไปนึกถึงสิ่งเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นบนถนนกรุงเทพฯ เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา

อย่างนี้เป็นศิลปะได้ไหม? มันใช่เวลามารื้อฟื้นเรื่องเก่า ๆ รึเปล่า? นี่เป็นประเด็นที่ติดอยู่ในใจ ‘นิ้น - เพชรนิล สุขจันทร์’ ศิลปินผู้ถูกแจ้งม. 112 จากผลงานศิลปะจัดวางที่เอาอาหารหมาไปไว้กับพระเกี้ยว

ท่ามกลางเสียงเพลงหาเสียงเลือกตั้ง เราชวนนิ้นมานั่งคุยกันเรื่องการทำศิลปะการเมือง ในยุคสมัยที่ความเจ็บปวดดูจะระคายทิวทัศน์การปรองดองที่งดงาม และประสบการณ์หลากอารมณ์ในระบบการศึกษาศิลปะ ที่ทำให้เธอโกรธ เสียใจ แต่ก็น้อยใจด้วยเหมือนกัน

สถาบันศึกษา/สถาบันศิลปะ/สถาบันการเมือง

เด็กผู้หญิงที่ชอบวาดรูปวันนั้นจะคิดกับนิสิตศิลปกรรมที่มานั่งให้สัมภาษณ์กับเราในนิทรรศการที่แสดงงานตัวเองตอนนี้ยังไงก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ ๆ นิ้นคนนี้ไม่ชอบงานในอดีตของตัวเอง ไม่ชอบขนาดที่เอาสีมาทาทับ

เด็กหญิงชอบวาดรูปคนนั้น ในวันนี้กลับเติบโตขึ้นมา และได้พบเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายกับสถาบันการศึกษา และเห็นว่าสถาบันศิลปะมีความเป็นการเมือง

“เราสนใจศิลปะมาตั้งแต่มัธยมแล้ว แต่เพิ่งเริ่มมาทำงานการเมืองตอนปีสอง เมื่อก่อนเราทำสะเปะสะปะมาก จนรู้สึกว่าทำอะไรลงไปวะเนี่ย เหมือนเราไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดมาก่อน คิดแค่อยากวาดอะไรในภาพ คิดเทคนิคว่าจะต้องเป็นสีน้ำมัน แต่คอนเซปต์ค่อยว่ากันทีหลัง คิดแค่ว่าให้มันสวยก็พอ แต่ตอนนี้ในหัวคือ จะสวยหรือไม่สวย ก็ไม่เป็นไร เอาแนวคิดให้ได้ก่อน ปลายทางจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ อาจจะเป็นแค่กระดาษชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นเดียวก็ได้ แต่มันมีเรื่องราว มันท้าทายเรามากกว่า มันสนุกมากกว่า ก่อนหน้านั้นมันไม่มีอะไรเลย”

“ตอนทำชิ้น 'แด่การศึกษา ด้วยรัก และอาลัยยิ่ง' ที่วาดหลังเฟรม อาจารย์ก็เป็นอะไรไม่รู้ เราสื่อเรื่องการต่อต้านการศึกษาที่ตีกรอบให้นักศึกษา เราเรียนศิลปะก็ควรมีเสรีภาพหรือเปล่า ที่จุฬาฯ จะมีคนที่ดัง ๆ ก็จะตามออกมาเป็นพิมพ์นิยมกันหมดเลย คล้าย ๆ กันหมด อาจารย์ก็จะชอบแนะนำให้ทำแต่งานวาดคาแรกเตอร์ เราก็คิดว่าไม่เอาอะ ทำงานประท้วงไปเลยละกัน”

“พอเขาตรวจเราก็อธิบายคอนเซปต์ให้ฟัง เขาก็ช็อคไปเลย แล้วพูดว่า ถ้าคุณเก่งแบบนี้ไม่ต้องเรียนก็ได้นะ ออกไปหาวิชาชีพอื่นเลย แต่เราตอยกลับไปว่า ไม่ อาจารย์ หนูอยากเรียน แต่ขอไม่เรียนแบบถูกตีกรอบได้ไหม”

“เราใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือด่า อุดมการณ์หนึ่งของเราคืออยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม เราคิดว่าตัวเองเป็นนักสื่อสาร ไม่ได้มองว่าเป็นศิลปินสูงส่ง เราไม่เชื่อนะที่คนบอกว่า อย่าเอาศิลปะไปเป็นเครื่องมือ เดี๋ยวมันจะแปดเปื้อน ไม่ศักดิ์สิทธิ์”

“เราโดนคุกคามทางเพศจากอาจารย์ แล้วเรากลัวมาก โดนทั้งคำพูดและลูบขาลูบหลัง ทั้งที่ใส่ชุดนิสิตกระโปรงยาว เสื้อตัวใหญ่ ๆ แต่พอเล่าให้อาจารย์อีกคนฟัง คำถามแรกของเขาคือ วันนั้นใส่ชุดอะไรคะ ทำเหมือนว่าเราที่เป็นเหยื่อเป็นฝ่ายไปยั่วเขาก่อน ทั้ง ๆ ที่กูกลัวแม่งจะตายห่า หลังจากนั้นเราก็ทำงานศิลปะด่ามันต่อ เป็นวิดีโออาร์ต เล่าถึงความหวาดกลัว การที่เราต้องมาเป็นเหยื่อของโรคซึมเศร้า เพราะใครก็ไม่รู้มาทำให้เรารู้สึกแย่”

แต่นอกจากการคุกคามที่ทำให้เธอรู้สึกแย่ อีกเรื่องที่ทำให้เธอเศร้าจริง ๆ คือการ “กลับคำ” ของอาจารย์ ที่มีต่องานไวรัลล่าสุดของเธอในชื่อ ‘ซุกไว้ใต้หมอน’

“งานพระเกี้ยวเป็นวิชาความคิดสร้างสรรค์ คือทำอะไรก็ได้นอกจากพวกวิชาเอกคืองานปั้น เพนต์ ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย หัวข้อคือ ‘หัว/head’ เราก็คิดเป็นศิลปะจัดวาง เล่นเรื่องความทูนพระเกี้ยวไว้เหนือหัว ความศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ เราก็ไปสำเพ็ง ซื้อทุกอย่างมาเย็บเอง ยัดนุ่นเอง ถักหมอนเอง หาซื้อพาน เล่นกับอาหารหมา กับแถลงการณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ แต่สุดท้ายแล้ว งานชิ้นนี้กลายเป็นเรื่องเศร้าเรื่องนึง มันทำให้เรารู้สึกแย่กับอาจารย์ ที่เขากลับคำพูด”

“คือตอนส่งงานทีแรก อาจารย์ก็บอกว่า เยอะได้กว่านี้อีก เอกสารข้อเรียกร้องต่อมหาลัยอะ มันไม่ได้มีแค่ห้าใบ อาจารย์เห็นมันมี 40-50 ใบ อาหารหมาก็เยอะได้กว่านี้อีก ถ้าอยากให้แรงอะ นี่ก็บอก ได้ค่ะ แต่หนูงบหมดแล้ว เขาก็บอกว่า ถ้าอยากต่อยอดความแรง มันทำอย่างนี้ได้อีกไง แต่พอโพสต์ไป ทัวร์ลง อาจารย์โทรมาบอกว่างานเธออะ ตื้นเขิน คนเข้าใจง่ายเกิน แล้วมันดูแรงไป”

“เราก็เอ้า อะไรวะ แต่ก็พอเข้าใจว่าเขาอาจจะโดนอาจารย์ผู้ใหญ่ว่ามาอีกทีนึงแล้วใจเสีย แต่การกลับคำพูดแบบนี้เราก็รู้สึกแย่นิดนึง ทำไมตอนแรกพูดอย่างนึงตอนหลังพูดอีกอย่างนึง”

“ก็น้อยใจนิดนึง เขาไม่ได้มองงานการเมืองเหมือนกับศิลปะอื่น เขาไม่ได้ดันเราเหมือนงานเซอเรียลหรืองานศิลปะแบบอื่น การที่เราได้มาแสดงงานที่แกลเลอรี ต่อให้เรามายืนได้ด้วยตัวเอง คุณก็ควรดีใจกับความสำเร็จเราเหมือนกับที่ดีใจกับคนอื่นไหม? เราเต็มใจนะ ถ้าเขาจะเอางานเราไปเคลม หรือแสดงตัวว่ามีส่วนร่วมในงาน แค่รู้สึกว่าไม่ช่วยอะไรเราเลย อย่างงานของเพื่อนเรา อาจารย์เขาก็แชร์ให้ ไปถ่ายรูป ไปแสดงความยินดีที่งานด้วย ไปทุกงาน แต่พองานเราไม่มีใครโผล่มาเลย”

“เราว่าการได้หรือไม่ได้รับคำชมมันก็เป็นการเมืองเหมือนกัน ในแง่ของความรู้ทางศิลปะ ที่คนจะชมแต่งานสวย ๆ เนี้ยบ ๆ อลังการเพราะมันคือความนิยมในสังคมไทยตอนนี้ ถ้างานไม่ตรงจริตเขา ศิลปินบางคนก็อาจจะยากที่จะเติบโตในประเทศนี้”

ศิลปะ ที่ไม่วิจิตรอลังการ

“งานพระเกี้ยวมันสำเร็จมาก เพราะคนตั้งคำถามว่างานเราคืออะไร เป็นคำถามเกี่ยวกับศิลปะในปัจจุบันด้วยซ้ำว่า ศิลปะต้องสวยงามหรือเปล่า จรรโลงใจหรือเปล่า สำหรับเรา ศิลปะมันจะเป็นเหี้ยอะไรก็ได้ จะจรรโลงใจหรือจะกระทบจิตใจ ก็เป็นศิลปะทั้งหมด”

“มันก็สะท้อนให้เห็นว่างานศิลปะในประเทศไทยมันไปถึงไหนแล้ว คนในสังคมมองมันว่าอยู่ตรงไหน เรารู้สึกว่างานศิลปะไทยมันเหมือนโดนสตัฟฟ์ไว้ตรงยุคเรเนซองส์ สวย อลังการ จบ ใหญ่ ๆ ตามขนบ วิจิตรอลังการ มามั่ว ๆ ซั่ว ๆ แบบนี้ไม่ได้หรอก อาจโดนด่าว่าวาดอะไรของมึง คนเข้าไม่ถึง”

“ล่าสุดเราก็ทำเรื่องนี้แหละ เอางานเก่าเราเมื่อตอนปีสองมาเขียนเท็กซ์สีแดงทับว่า “งานชิ้นนี้มันถูกชมด้วยคนที่ไร้เดียงสา” มันเป็นงานแบบเรียลลิสติกเลย ตอนนี้กลับมาดู ยังงงว่าวาดเหมือนมากขนาดนั้นได้ยังไง แต่ตอนนี้เราไม่ชอบมันแล้ว เพราะสำหรับเรามันยังไม่มีอะไร แต่พอเขียนเท็กซ์ลงไปถึงชอบ มันสร้างคอนฟลิกต์ระหว่างงานด้านหลังกับเท็กซ์ด้านหน้า ตอนนี้เราสนใจเรื่องไม่อยากให้ศิลปะเป็นของสูง”

ศิลปะแห่งการรื้อฟื้น ศิลปะแห่งการจำ

“เราคุยกับคนที่เฉย ๆ กับการเมืองไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าเขาไม่สนใจ” นิ้นตอบเมื่อเราถามว่า ผลงานของเธอที่จัดแสดงในนิทรรศการ ‘P.T.S.D’ (Parliament / Treacherous / Sedition / Dictators) ซึ่งจัดแสดงที่ Cartel Artspace เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานั้น เธอต้องการจะส่งสารถึงใครบ้าง แต่ถึจะพร้อมโยนบทสนทนาเข้าสู่สังคมอย่างไร นิ้นก็ยืนยันว่า เธอสนใจที่จะพูดคุยกับคนที่สนใจประเด็นเหล่านี้ หรือพร้อมจะเปิดใจมาคุยมากกว่า โดยเฉพาะกับงานที่เล่าประสบการณ์ความโกรธแค้น ที่เธอแค่อยากเตือนความจำเราที่ผ่านยุคสมัยแบบเดียวกันมา ให้อย่าลืม และอย่าหลง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ก่อนจะตั้งคำถามกับข้อความนี้ดี ๆ

“ไอเดียหลักของนิทรรศการนี้คือเรื่องการรื้อฟื้นความทรงจำที่รัฐกระทำความรุนแรงต่อเรา มันจะมีวาทกรรมประเภทก้าวข้ามความขัดแย้งเนอะ ช่วงใกล้เลือกตั้งอย่างนี้ แต่เลือกตั้งไปแล้วมันยังไงต่อล่ะ แล้วคนที่คนตาย คนที่ต้องตาบอด จะลืมมันไปหรอ มันลืมไม่ได้ คนที่เขาโดนเขาไม่ลืม ก้าวข้ามความขัดแย้งยังไงล่ะ จะเอาสิ่งที่เขาสูญเสียกลับมาได้หรอ!”

“เราก็ตั้งคำถามกับเรื่องนี้ อยากรื้อฟื้นความทรงจำของเราที่เหมือนกับคนอื่น ให้เขาจำได้อีก เล่าถึงประสบการณ์ที่แต่ละคนได้เจอมาว่าเป็นยังไง เป็นคอนเซปต์ PTSD (อาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง) เหมือนเพื่อนเราคนนึงเป็น ดูคลิปความรุนแรงที่แสดงในงานแล้วก็ร้องไห้ ตอนแรกจะนอนกับเราที่แกลเลอรี เพื่อนเราก็ร้องไห้แล้วก็กลับบ้านเลย เพราะเพื่อเราคนนั้นเขาอยู่ในเหตุการณ์จริง”

“เรามานอนที่นี่ตอนวาด ประมาณสามสัปดาห์แล้วก็แสดงงานเลย แฟนเราเป็นคิวเรเตอร์ให้ เราก็นั่งคุยกัน ตอนนั้นประยุทธ์ทำอะไรนะ ตอนนั้นวาฤทธิ์ สมน้อยโดนยิงตายมันเป็นยังไงนะ พอเห็นคลิปความรู้สึกมันก็มาเรื่อย ๆ ความเจ็บปวด ความทรงจำเก่า ๆ เหมือนเราไม่ได้ไปม็อบนานแล้วความทรงจำก็เลือนราง มาเจอศิลปิน เจอคนมาดูงานในแกลเลอรี่ข้าง ๆ มันก็เริ่มชัดเจนขึ้นเหมือนรื้อฟื้นความทรงจำที่โกรธแค้นออกมา”

“ก็เป็นทั้งเรื่องของเราและเรื่องที่เรารับรู้ อย่างเรื่องวาฤทธิ์ เด็กอายุสิบห้าโดนยิงตายที่หัว มันสมควรไหม เขาแค่เด็กคนนึงที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีอะไรเกิดขึ้นต่อไหม ”

“เราชอบรูปสุดท้ายสุดตรงกลางล่าง มันเกิดจากการที่เราอยู่ที่นี่มาสามสัปดาห์ นี่เป็นรูปสุดท้ายที่วาด จากข้อความที่ว่า Elephant in the room เราก็วาดตัวเองวาดรูป แล้วปล่อยตรงส่วนเฟรมขาวว่าง ๆ ไว้แสดงถึงความขบถ”

“เราโดนสอนมาตลอดว่างานเพนติ้งเว้นขาวคืองานที่ไม่เสร็จ คนไม่ซื้อ เราก็เอามาเล่นเรื่องการเมืองด้วย กับช้างสีน้ำเงินแทนสถาบันฯ ที่พยายามจับพู่กันให้เราวาด งวงมันจับแขนข้อมือเรา แต่เราก็ไม่สนใจมัน ปล่อยว่างไว้เป็นการต่อต้าน ร่างกายคนที่ผอม ๆ ในภาพก็เป็นเหมือนอาวุธเดียวที่เราจะควบคุม และใช้มันต่อสู้ได้ กับอำนาจที่เขามี”

“นิทรรศการนี้เราก็คิดกับแฟนเรา ว่าอยากให้งานศิลปะมันจับต้องได้ เหยียบได้ ก็ไม่ได้แปะป้ายห้ามจับ”

“มีเพื่อนที่เป็นตำรวจ (ฝ่ายซ้าย) มา เราก็ถามว่า รูปไหนน่าจะเข้าข่ายโดนจับได้บ้าง มันก็บอกว่า เข้าข่ายได้ทุกรูปนั่นแหละ ต่อให้รูปเป็ดเฉย ๆ ถ้านายอยากให้เข้าข่าย มันเข้าข่ายได้ทุกรูป ”