เมื่อหยิบหนังสือประวัติศาสตร์ขึ้นมาสักเล่ม เราคงไม่คิดว่าจะได้พบกับภาพบ้านเมืองยุคก่อนในแบบบิดเบี้ยว หรือบุคคลสำคัญแห่งชาติทำหน้าทรงอย่างแบ๊ดแบบในการ์ตูนแน่ ๆ ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเพราะความเชื่อดั้งเดิมของเราที่ว่า ประวัติศาสตร์คือ (หรือควรเป็น) เรื่องจริงที่เล่าออกมาอย่างซื่อตรง ไม่มีการบิดเบือนหรือบิดพลิ้ว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประวัติศาสตร์ถูกเล่าขานและตีความในรูปแบบต่าง ๆ มาตั้งแต่ต้น จนถึงปัจจุบันที่ปรากฏในสื่ออย่างการ์ตูนหรือนิยายภาพ ซึ่งดูเหมือนว่าสไตล์ของมันจะไม่น่าอยู่กับเนื้อหาประวัติศาสตร์ได้เลย (?)

‘2475 นักเขียนผีแห่งสยาม’ คือผลงานนิยายภาพ หรือ Graphic Novel (หรือที่นักเขียนบอกว่าจะเรียกการ์ตูนก็ได้ ไม่ติด) เล่าราวเหตุการณ์การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามให้เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ ผ่านสายตาของนักหนังสือพิมพ์สาว โดยฝีมือของ ‘สะอาด’ (ภูมิ — ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์) นักเขียนการ์ตูนเจ้าของผลงานที่คอการ์ตูนไทยหลงรักอย่าง ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน’ ‘ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต’ ฯลฯ
นิยายภาพเล่มนี้เริ่มต้นท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ร้อนระอุ ด้วยขบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชนเมื่อไม่กี่ปีก่อน ถ่ายทอดผ่านความกังวลและความกลัวในหลายรูปแบบ
มาวันนี้ เราอยู่ในนิทรรศการ ‘2475 Graphic Novel Exhibition: เขียนความหวัง’ ที่บอกเล่าเรื่องราวการ ‘เขียนความหวัง’ ของเขาผ่านหนังสือเล่มนี้ คู่ขนานไปกับเรื่องราวของ นิภา นักเขียนผี ผู้บันทึกความหวังท่ามกลางกระแสปฏิวัติสยามในปี 2475
ความกลัวในการทำความเข้าใจและถ่ายทอดประวัติศาสตร์ผ่านภาษาการ์ตูน รวมถึงความกังวลของนักเขียนการ์ตูนคนหนึ่งต่อวิชาชีพของเขา ในโลกที่ยังไม่เปิดรับศิลปะแขนงนี้อย่างเต็มที่—ทั้งหมดนี้กลับกลายเป็นความหวัง พลังที่แผ่ซ่านไปทั่วนิทรรศการสี่ชั้นในอาคาร KINJAI CONTEMPORARY
และเรายังคงสัมผัสได้ตลอดบทสัมภาษณ์นี้ ที่เขาแสดงให้เห็นว่า ‘World-building’ แบบการ์ตูนสามารถคัดง้างกับประวัติศาสตร์กระแสหลักได้อย่างไร จนถึงที่สุดแล้ว—เราจะมองประวัติศาสตร์เป็นเพียงเรื่องราวของอดีตที่ถูกถ่ายทอดออกมาตรง ๆ ได้เสมอจริงหรือ?

การเดินทางของหนังสือเล่มนี้ดูยาวนานและเต็มไปด้วยความกดดันหลายอย่างมาก พอมองย้อนกลับไปดูช่วงเวลาระหว่างทำแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง? ถ้าบอกอะไรได้กับตัวเองเวอร์ชั่นที่กำลังเขียนหนังสืออยู่ อยากบอกว่าอะไร?
หลังจากทำงานนี้เสร็จไปสักพัก มีประโยคหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวผมว่า— "เห้ย สิ่งที่มึงทำมาทั้งหมดแม่งคุ้มค่ามาก"
ตอนที่เริ่มเขียน ผมเต็มไปด้วยความกังวลและความกลัว ทั้งเรื่องรายได้ที่หายไป และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ต้องเจอ แต่สุดท้ายโปรเจกต์นี้ก็ขายได้ และสิ่งที่เคยกังวล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางกฎหมายหรือเสียงตอบรับจากคนอ่าน ก็ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด
นอกจากความคุ้มค่าในแง่ประสบการณ์ ผมยังได้ร่วมงานกับหลายคน ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมใหญ่ ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน เหมือนเอาทรัพยากรทั้งหมดมาลงกับโปรเจกต์นี้ แล้วรอดูว่ามันจะเวิร์กไหม—และมันก็สำเร็จ
ถ้าจะบอกตัวเองในช่วงที่ยังทำหนังสืออยู่ ก็คงบอกว่า "มันไม่เป็นไรหรอก ทำต่อไป ไม่ต้องกลัวมาก" เพราะเวลาที่เราอยู่หน้างาน เรามักคิดฟุ้งอยู่คนเดียว แล้วความกลัวก็มักจะเกินจริงไปเสมอ

สะอาดเป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของไทย แต่ก็ยังรู้สึกกลัวเวลาทำงานแบบนี้อยู่เหรอ?
เราเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว น่าจะมาจากตอนเด็ก ๆ ที่วาดรูปไม่เก่ง ในวิชาศิลปะก็ได้คะแนนน้อย แถมยังสอบไม่ติดศิลปากรด้วย (หัวเราะ) เรารู้สึกมาตลอดว่าเราไม่ใช่เด็กหน้าห้องในโลกศิลปะ แล้วเพิ่งเริ่มเรียนรู้ที่จะมั่นใจในตัวเองหลังจากทำงานชิ้นนี้เสร็จ
โดยธรรมชาติของคนทำงานศิลปะ ถ้าไม่หลอกตัวเองเกินไป จะเห็นเลยว่ามันเป็นตลาดที่ผันผวนมาก ไม่มั่นคง สมมติวันนี้หนังสือเราขายได้ดี ก็ไม่ได้การันตีว่าผลงานต่อไปจะเป็นแบบนี้
งานนี้เราทำโดยประเมินตามความเป็นจริงว่ามีสิทธิ์เจ๊ง ขายไม่ออก แต่เราเชื่อว่าต่อให้ขายได้น้อย มันก็ยังมีคุณค่าบางอย่างอยู่
เราออกแบบอาชีพตัวเองให้สามารถทำงานที่ไม่ต้องแคร์เรื่องเงินได้ อย่างงานวาดคาแรกเตอร์น่ารัก ๆ ซึ่งหาเงินได้มากกว่า เหมือนบริษัทที่ลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา แม้จะไม่ได้เงินในตอนนี้ แต่ถ้าสำเร็จ มันจะส่งผลดีต่อเราในระยะยาว คนจะรู้จักงานของเรา เชื่อในงานของเรา และสนับสนุนมากขึ้น
หนังสืออาจไม่ได้ทำรายได้มากเท่ากับวาดแมววาดหมูเด้ง คนอาจจะซื้อเพราะชอบแมวชอบหมูเด้ง แต่ไม่ได้รู้จักชื่อสะอาดเลยด้วยซ้ำ การที่มีงานแบบนี้คู่กันไป ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมาก ๆ ในการทำงานวาดการ์ตูน
ไม่ได้ฝืนตัวเองใช่ไหม ร่างหนึ่งวาดคณะราษฎร อีกร่างวาดหมูเด้ง
ไม่นะ ชอบหมูเด้ง ดูอยู่เหมือนกัน

ในฐานะคนเขียน มองว่างานกราฟิกโนเวลที่เนื้อหาหนักและจริงจังแบบนี้ ได้รับความนิยมในสังคมไทยมากขึ้นหรือยัง?
เรารู้สึกว่าตลาดการ์ตูนในไทยมีฐานมาจากคนอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเยอะมาก เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ถ้าดูจากภาพวาดของเราก็เห็นชัดเลยว่าได้รับอิทธิพลจากมังงะมาเต็ม ๆ แต่ในแง่ของการอ่านหนังสือเล่มอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกราฟิกโนเวลที่มีเนื้อหาเข้มข้นหรือจริงจัง ดูเหมือนว่ากำลังเริ่มมีขึ้นมาในไทยอยู่
หนังสือเล่มนี้พอไปอยู่ในตลาด เรารู้สึกว่ามันแปลกมาก เพราะไม่รู้จะวางไว้ในหมวดหนังสือแบบไหนถึงจะเข้า ไปวางในชั้นการ์ตูนญี่ปุ่นก็ดูไม่เข้ากัน ไปอยู่ในหมวดประวัติศาสตร์ก็ดูแปลก หรือจะวางในหมวดวรรณกรรมก็ยังไม่แน่ใจว่ามันเหมาะไหม ซึ่งจริง ๆ แล้วกราฟิกโนเวลในระดับโลกก็ยังถือว่าเป็นสื่อที่ใหม่มาก
เราเพิ่งกดติดตาม Angoulême International Comics Festival ซึ่งเป็นเทศกาลนิยายภาพที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คล้าย ๆ เมืองคานส์ของวงการการ์ตูน แต่เวลาเขาโพสต์อะไรในทวิตเตอร์ กลับมีคนกดไลก์แค่สิบคนเอง (หัวเราะ) คนที่ติดตามงานประเภทนี้มีน้อยมากจริง ๆ โดยเฉพาะถ้าแยกออกจากการ์ตูนกระแสหลักอย่างมังงะหรือซุปเปอร์ฮีโร่
มันคงเหมือนวงการหนัง ที่มีหนังบล็อกบัสเตอร์ยอดฮิต กับหนังที่คนดูน้อยแต่มีศักยภาพของมัน ซึ่งเราว่างานแนวนี้มีพลังไม่แพ้สื่ออื่น ๆ เลย
แล้วทำไมเราถึงควรสนใจงานแนวนี้ด้วย?
จริง ๆ ก็ไม่จำเป็นหรอก (หัวเราะ) คุณสนใจมังงะสนใจวันพีซมันก็ดีแล้ว เราแค่อธิบายว่ามันการ์ตูนแนวนี้อยู่เหมือนกัน ซึ่งก็ไม่ได้ฮิตเหมือนกันทั้งโลก แต่เราในฐานะผู้อ่านก็สนใจมันในแง่ว่างานประเภทนี้มันมีพลังไม่แพ้สื่อประเภทอื่น ๆ เลย

กระบวนการทำงานเล่มนี้เป็นอย่างไร ในฐานะหนังสือที่เป็นทั้งสื่อประวัติศาสตร์และสื่อบันเทิง?
เราเริ่มต้นจากการตกลงกับทีมก่อนว่างานนี้จะเป็นเรื่องแต่งที่อิงประวัติศาสตร์ เพราะข้อมูลหลักฐานของยุคนั้นมีน้อยมาก ไม่สามารถทำเป็นสารคดีแบบเรื่องจริงได้เลย แต่เราพยายามออกแบบให้เป็นเรื่องแต่งที่สมจริงที่สุด
เราใช้คำว่า World-building เพราะมันคือการสร้างโลกขึ้นมาใหม่ ตั้งคำถามว่าสยามในยุคนั้นมีวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ความเชื่อ หรือขนบธรรมเนียมแบบไหน ซึ่งสำหรับคนยุคนี้ การเข้าใจโลกในช่วงปฏิวัติ 2475 ก็เหมือนต้องทำความเข้าใจโลกแฟนตาซีใบหนึ่ง
เราเริ่มจากข้อมูลมหาศาล ส่วนใหญ่ไม่ได้เอามาใช้วาดเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจมัน เราก็จะไม่กล้าวาดมันออกมา

ในฐานะคนที่เรียนวารสารศาสตร์มา การจัดการข้อมูลประวัติศาสตร์เพื่อเขียนกราฟิกโนเวลกับการทำข่าวแตกต่างกันยังไง?
การเขียนการ์ตูนมันจะมีแว่นของการมองหาความสนุกจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และเราคิดว่าแว่นนี้มันสำคัญมาก ๆ — เป็นสิ่งที่จะทำให้ไม่มีใครทำงานชิ้นนี้แทนเราได้ เช่นในการดูว่าปรีดีเป็นคนอย่างไร เรามองหาก่อนว่ามันมีข้อเท็จจริงอะไรบ้างที่สนุก เช่น เราเจอว่าปรีดีเป็นคนจดหวยก็รีบจดไว้เลย มันแปลกดี มันเป็นข้อมูลที่อาจดูเหมือนไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรได้ แต่พอมาเขียนการ์ตูนมันดูมีค่ามาก เราว่าคนอ่านน่าจะชอบ น่าจะสร้างเซอร์ไพรซ์อะไรได้ ถ้าสังเกตุข้อมูลต่าง ๆ ที่เอามาโชว์ในนิทรรศการนี้มันเป็นข้อมูลที่ไม่รู้จะรู้ไปทำไม แต่อ่านแล้วมันสนุกดี
กับตัวละครในประวัติศาสตร์ เราจะมองหาราศี (charisma) ของเขา และในงานเขียนเราก็ต้องมองความหนักแน่นของข้อเท็จจริง ว่าเราบิดได้แค่ไหน ให้การกระทำต่าง ๆ มันเล่นใหญ่นิดหนึ่ง ไปสุดทางนิดหนึ่ง หรือการแสดงสีหน้าต่าง ๆ เพื่อให้เรื่องสนุก ซึ่งก็เป็นการตีความที่มากออกไปกว่าตัวหลักฐาน
บางตัวละครเราศึกษาแล้วรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่เศร้ามาก น่าเห็นใจ หรือบางคนมีบุคลิกแบบทหาร การมองแบบการ์ตูนก็ทำให้เห็นความขัดแย้งของตัวละครในประวัติศาสตร์ชัดขึ้น จากการสังเกตเรื่องสนุก ๆ เหล่านี้
หรือในแง่บรรยากาศสถานที่ เราก็ดีไซน์ว่ามันจะออกมาสะท้อนสิ่งที่เกิดในยุคนั้นได้อย่างไร เช่นเราให้ตัวละครเอกไปอยู่ในหลืบโรงพิมพ์ เพื่อสะท้อนความเป็นผีของเขา ว่าการเป็นนักพิสูจน์อักษรในโรงพิมพ์มันไม่ค่อยมีใครเห็นค่า นักเขียนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายในโรงพิมพ์ก็ดูถูกว่าเป็นแค่คนตรวจคำผิด เขาก็จะอยู่ในมุมแอบ ๆ ผี ๆ ของเขา หรือห้องบรรณาธิการก็จะแยกส่วนไป เหมือนปิดกั้นไม่สนใจคนอื่น ผังพื้นที่ก็จะเอามาจากยุคนั้น เราเข้าไปถ่ายรูปโรงพิมพ์เก่า รวมถึงตัวบ้านเมืองหรือวังในพระนคร เราก็ดีไซน์ตามอารมณ์ในช่วงปฏิวัติ ที่คนมีความโกรธ มีความกลัว ความตึงเครียดในสังคม มันก็จะไม่ใช่โลกที่เป็นอดีตสวยงาม แต่เป็นอดีตที่น่ากลัว มีความสยองขวัญอยู่ มีวัดที่วาดออกมาสไตล์โกธิก
ทั้งหมดนี้มันเกิดจากหลักฐานที่เป็นภาพนิ่ง ซึ่งมันนิ่งมาก ๆ สมัยนั้น อาจจะด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่แบบต้องนั่งนิ่ง ๆ นาน ๆ เลยไม่ยิ้มด้วย ภาพถ่ายในอดีตมันก็ถูกเซ็ตมาอย่างมาก แต่เราใช้การทำงานแบบการ์ตูน ใส่ชีวิตลงไปในอดีตเหล่านั้นด้วย.